ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี ภาคใต้ (3) สรุปประเด็น จาก ลปรร. กิจกรรมดีดี


 

ทพ.สัญญา เพ็ญอำมาศ สรุปเรื่องเล่ากิจกรรมดีดี ... ได้ข้อคิดอะไรบ้างจากการ ลปรร. ในครึ่งแรก

การประชุม ลปรร. ครึ่งแรก แบ่ง 2 กลุ่มคละจังหวัด ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วย ทันตบุคลากร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และองค์กรท้องถิ่น

มีเหตุผลของการแบ่งสองกลุ่ม เพื่อ

  1. ให้ผู้สูงอายุได้ ลปรร. กันได้อย่างเต็มที่ และได้ share ประสบการณ์ได้อย่างจริงจัง โดยมองในมุมผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  2. ส่วนเจ้าหน้าที่ ก็จะได้มาพูดคุย ในเรื่องการให้บริการ

ประเด็นคำถาม มี 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. กิจกรรมในชมรมฯ มีอะไรบ้าง
  2. กิจกรรมที่ดีดีที่คิดว่าดีแล้วดีอย่างไร มาช่วยกัน share และ
  3. กิจกรรมที่อยากทำต่อไปในอนาคต มีอะไรบ้าง

ประเด็นที่พบ จากการพูดคุย คือ

กิจกรรมเรื่องส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ที่ทำในชมรมผู้สูงอายุ ได้แก่

  1. แกนนำมีการตรวจสุขภาพช่องปากตนเอง และเด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  2. การประกวดอุปกรณ์การแปรงฟัน
  3. การแปรงฟันในเด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
  4. ตั้งกลุ่มเก็บเงินเพื่อไปทัศนศึกษา เปลี่ยนบรรยากาศ
  5. การให้ความรู้แก่สมาชิกชมรมแบบปากต่อปาก พูดจาปราศรัย ทักทายตัวต่อตัว
  6. มีการทำข้อมูลพื้นฐานในชมรมผู้สูงอายุ
  7. การไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
  8. การใช้กิจกรรมทางศาสนาเข้ามาเป็นตัวเชื่อมในชุมชน

กิจกรรม ที่เจ้าหน้าที่ ดำเนินการ ได้แก่

  1. งานหลัก คือ การตรวจสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุ ขึ้นกับบริบทของพื้นที่ว่า จะจัดเชิงรุก เชิงรับ
  2. คัดกรองกลุ่ม เป็นกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ต้องเข้ารับบริการรักษา จะมีกระบวนการส่งต่อตามสภาพพื้นที่
  3. บางพื้นที่มีการทาฟลูออไรด์วานิชบริเวณรากฟัน เพื่อป้องกันรากฟันผุ
  4. บางพื้นมีการทำสมุดประจำตัวผู้สูงอายุ
  5. ประกวดชมรมผู้สูงอายุเข้มแข็ง
  6. จัดเวที ลปรร. ในทุกระดับ
  7. บูรณาการงานกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น เช่น อบต. เทศบาล พมจ.

โดยสรุป

  • ผู้สูงอายุ สามารถทำกิจกรรมกันเอง ช่วยเหลือภายในกันเอง จัดประกวดในชมรมได้ ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นผู้ให้บริการ ทำในลักษณะของการบำบัดรักษา หรือการส่งเสริมบริการ แล้วแต่บริบท จึงเห็นว่า สองกลุ่ม ก็คนละมุม คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งเป็นผู้รับและจัดการตนเอง
  • ภาคีเครือข่าย จากที่ share กัน พบว่า เรามีภาคีเครือข่ายเยอะขึ้น ไม่ว่า อบต. เทศบาล ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุน ศพด. กลุ่มเป้าหมายที่ผู้สูงอายุเริ่มไปทำกิจกรรมให้มากขึ้น หลากหลายรูปแบบ พม. อสม. พมจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนา ที่ลืมไม่ได้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพราะจะมีบทบาทมีอิทธิพล ต่อการดำรงชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก และภาคีเครือข่ายย่อยอีกมากมาย
  • พบ จุดแข็ง และต้นทุนทางสังคมที่ดี เช่น ส่วนใหญ่ชมรมผู้สูงอายุ ใจบุญสุนทาน คิดดี ทำดี มีจิตอาสา ผ่านชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ อยากช่วยเหลือผู้คน หลายชมรมมีข้าราชการ นักวิชาการเกษียณ มารวมตัว ทำงานร่วมกัน มีกิจกรรมเข้มแข็ง บางชมรมสามารถดำเนินงานได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ได้พึ่งเจ้าหน้าที่มากนัก เจ้าหน้าที่ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด สามารถสนับสนุนอย่างเต็มที่ อบต. เทศบาล เริ่มสนใจงานสาธารณสุขมากขึ้น ซึ่งเป็นอานิสงค์จากหลายๆ ส่วน ส่วนนโยบายของรัฐ เริ่มให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เพราะว่าประเทศไทยต่อไป จะเริ่มเป็นประเทศของผู้สูงอายุมากขึ้น
  • พบนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น อุปกรณ์การแปรงฟัน เชี่ยนหมากขัดฟัน มะพร้าวขัดฟัน ไม้จิ้มฟัน และอีกหลายๆ อย่าง ที่ ศูนย์ฯ 11 และ 12 อาจจะต้องร่วมมือกันจัดประกวดอุปกรณ์ทำความสะอาดฟัน อย่างจริงจัง เช่น การผลิตยาสีฟัน การจัดตั้งกองทุนแปรงสีฟัน  การใช้ดอกอัญชัญ ย้อมสีฟันก่อนเปรง การแต่งเพลงกระตุ้นการแปรงฟัน หญ้าแฝกป้องกันฟันผุ
  • ปัญหาอุปสรรค เช่น
    - ความห่างไกลของพื้นที่ และที่รับบริการที่อยู่ไกล เช่น อยู่เกาะ จะลำบากในการเข้าถึงบริการ เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่เราจะต้องดูว่า จะบริหารจัดการในส่วนนี้อย่างไร
    - หลายกิจกรรมยังขาดความต่อเนื่อง เช่น ปีไหนที่มีงบประมาณ กิจกรรมก็จะดำเนินการต่อ ปีไหนขาดงบประมาณก็หยุด
    - เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาทันตสุขภาพเป็นเรื่องของพฤติกรรม ในการปรับเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ ของคนเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องพยายาม เพราะว่าเป็นเรื่องของสุขภาพของตนเอง
    - ปัญหา top hit ที่ classic ที่สุด คือ ขาดแคลนทันตบุคลากร ในส่วนบริการปฐมภูมิ ใน รพ.สต. หน่วยงานของรัฐก็พยามแก้ไข แต่ในบางพื้นที่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีความแตกต่าง ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งชมรมได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าต้องเข้าไปวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร และจะต้องไปแก้ไขอะไร
    - บางพื้นที่บอกว่า สภาวะทันตสุขภาพเดิมไม่ดีอยู่แล้ว เหลือฟันไม่กี่ซี่ จะมาดูแลส่วนที่เหลืออยู่ ก็อาจจะลำบาก

แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้น เสนอว่า

  • การสร้างแกนนำต้นแบบทางทันตสุขภาพ เห็นว่า ต้องมีต้นแบบ หรือ Role Model หรือ แกนนำในการดูแลเรื่องทันตสุขภาพ
  • เจ้าหน้าที่ต้องให้บริการเชิงรุกมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ ติดเกาะ หรืออยู่ห่างไกล
  • การดูแลสุขภาพช่องปากรายบุคคล บางครั้งอาจให้ความรู้ทันตสุขภาพแบบไม่เป็นทางการ ไม่จำเป็นต้องมานั่งรวมกัน หรือมาจัดกิจกรรมกัน การให้ความรู้รายบุคคล สามารถทำกิจกรรมได้เร็ว
  • หมุนเวียนเจ้าหน้าที่ในชุมชนที่ขาดแคลน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของบุคลากร เป็นโซน เป็นพื้นที่ ที่มีบุคลากรเข้าไปให้บริการได้
  • การถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง ใครมีอะไรดีมาแลกเปลี่ยน การประชาสัมพันธ์โดยสมาชิกชมรม

โครงการที่คิดจะทำต่อไปในอนาคต

  1. โครงการผู้สูงอายุดูแลกลุ่ม นอกจากกลุ่มตัวเองแล้ว จะดูแลในเด็กเล็กมากขึ้น และผู้สูงอายุที่ติดเตียง
  2. ประกวดผู้สูงอายุฟันดี มีการค้นหา 80/90 ปี ฟันดี ทางภาคใต้ส่งเข้าประกวด 3 ท่าน ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศ อยู่ที่นราธิวาส มีฟันครบ 32 ซี่
  3. ประกวดอุปกรณ์แปรงฟัน
  4. จัดเวที ลปรร. อย่างสม่ำเสมอ ในหลายๆ เวที ระดับจังหวัด เขต หรือประเทศ และอยากให้ผู้สูงอายุมาเป็นแกนนำในการจัดทำตรงนี้ด้วย
  5. ขยายกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ไปในศูนย์เด็กเล็ก
  6. ขยายไปในกลุ่มหญิงมีครรภ์

และมีสิ่งที่น่าสนใจ 2 อย่าง คือ สิ่งที่เห็นตรงกัน กับสิ่งที่มองต่างมุม

สิ่งที่เห็นตรงกัน ได้แก่

  • จุดแข็งว่า ... มีผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ มีความรู้ ทำงานเป็นทีม ทำงานด้วยจิตอาสา ใจบุญสุนทาน
  • ภาคีเครือข่าย ... ยินดี พร้อมใจที่จะสนับสนุน ทั้งคน เงิน ของ เพียงแต่ว่า ช่องทางที่เราจะเข้าไปติดต่อกับเขามีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
  • ปัญหาอุปสรรค ... จะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะมีคน เงิน ของไม่มาก เราจะทำอย่างไร

สิ่งที่เห็นต่างกัน ได้แก่

  • ผลสำเร็จของกิจกรรม ... ผู้สูงอายุ มองในส่วนของการมีสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มองในส่วนของผลการดำเนินงาน บางทีอาจจะต้องปรับให้ตรงกัน
  • นวัตกรรม ... เป็นนวัตกรรมที่ร่วมกันทำ มีหลายอย่างที่เป็นไอเดียของเจ้าหน้าที่ หรือผู้สูงอายุ สามารถผลักดันเข้าสู่เวทีหลักมากขึ้น หรือเป็น OTOP หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ได้
  • แนวทางการแก้ปัญหา สิ่งที่ต้องการ กับสิ่งที่ให้ บางครั้งไม่สมดุลกัน ต้องมีการหันหน้ามาคุยกัน ตกลงร่วมกัน ให้ปลายทาง นำไปสู่ ผลลัพธ์ที่ความต้องการ  คือ ประชาชนมีสุขภาพช่องปากที่ดี

คุณหมอสัญญาได้นำเสนอ ประเด็น สุขภาพ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ซึ่งได้แนวคิดมาจาก วิศวกรที่ออกแบบสร้างบ้าน เขาบอกว่า การแบกรับน้ำหนักของบ้านหลังๆ หนึ่ง จะต้องคำนวณน้ำหนักจากยอดสุด แล้วลงไปสู่ล่างสุด เหมือยอดปิรามิด ในปัจจุบันนี้ การดำเนืนงานทันตสาธารณสุข จะเป็นลักษณะปิรามิด

ความหมายก็คือ ปัญหาสุขภาพช่องปากของประเทศ กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับปัญหาโดยตรง มีกรมอนามัย ต่อมาจากกระทรวง สำนักทันตฯ เป็นผู้ดูแล และมีทันตบุคลากรทุกภาคส่วน แบกรับน้ำหนักของทั้งหมดไว้ โดยมีประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อยู่ข้างๆ ประคองน้ำหนักอยู่บ้าง

จากการทำแผนยุทธศาสตร์ทันตสาธารณสุขเขต 12 พบว่า ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ต้องเข้ามาอยู่ในแท่งปิรามิดนี้ด้วย โดยอยู่ล่างสุด เพราะว่าสุดท้าย ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม จากยอดสุดทั้งหมด จะต้องลงสู่ประชาชน (ตาดำดำ) และต้องเป็นผู้แบกรับน้ำหนักตรงนี้ด้วย

สรุปง่ายๆ คือ ให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมทำแผน เข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา จะทำให้เกิดการดำเนินการอย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง และรับรู้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง และแบกรับปัญหาร่วมกับเราด้วย

รวมเรื่อง ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี

 

หมายเลขบันทึก: 495315เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบสรุป

ให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมทำแผน เข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินการแก้ไขปัญหา จะทำให้เกิดการดำเนินการอย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง และรับรู้ปัญหานั้นด้วยตัวเอง และแบกรับปัญหาร่วมกับเราด้วย

เอาไปใช้ได้กับทุกเรื่อง 

  • แนวร่วมตลอดกาลของเรา
  • ขอบคุณนะคะ
  • มาเทียวกรมอนามัย อย่าลืมแวะมาหาเน้อ

เรียนคุณหมอเพื่อนร่วมทาง

พัทลุงดำเนินการ"ยอน"ให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนตาดำดำ มามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากอยู่ครับ

  • เรียนรู้กระบวนการค่ะ น่าสนใจมากค่ะ ได้เนื้อสาระ ความเพลิดเพลินและกลยุทธ์ดีๆ ไปปรับใช้กับ งานอื่นๆได้เป็นอย่างดีค่ะ ขอบคุณค่ะ
  • Blank ... ชุมชนของพัทลุง เข้มแข็งจริงๆ ค่ะ
  • Blank ... ยินดี ที่ได้ร่วม ลปรร. กันนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท