หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

สารพิษตัวนี้อยู่ใกล้ตัวมากๆ


จะเป็นหน่อไม้ขมหรือหวานหรือจืด ต้องต้มก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยจากสารพิษ เตือนใจไว้เมนูที่ใช้หน่อไม้ทุกรูปแบบ (สด ต้ม ดอง แห้ง) อย่าลืมต้มเดือดอย่างน้อย ๑๐ นาที และอย่าใช้น้ำต้มปรุงอาหารต่อ

เมื่อเดือนที่แล้วมีข่าวในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ชวนชิมเมนูหน่อไม้ใน งานมหกรรมชุมทางอาชีพที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอร์แลนด์ อ่านข่าวแล้วเสียววาบในใจ เพราะว่างานมหกรรมแบบนี้คนจะเยอะ เมนูเด่น เมนูดังจะเป็นเมนูฮอตฮิตติดลมเรียกลูกค้าดีนัก

เมนูเด็ดนี้เรียกแขกตรงที่เกริ่นนำว่า ใช้หน่อไม้พันธุ์ใหม่ๆดิบๆมาปรุงขึ้น  แต่หน่อไม้มีสารต้องห้ามที่ให้โทษถ้าไม่ปรุงให้ดี ลิ้นบอกรสชาติสารตัวนี้ไม่ได้ รู้อีกทีโน่นเลย มีอาการ สารนี้เป็นต้องห้ามตรงคุณสมบัติที่ธรรมชาติมอบพิษไว้ให้พืชป้องกันตัว

เจ้าสารต้องห้ามนี้เคยทำเรื่องไว้หลายรูปแบบให้คนเสียสุขภาพ ร้ายแรงถึงตายไปเลยก็มี จะไม่ให้เสียววาบแทนคนอยากชิมเมนูเด่นนี้ได้ยังไง  มีเรื่องน่าสนใจเหล่านี้อยู่ จึงเก็บมาเล่าสู่กันฟังค่ะ :

ปี ๒๕๔๘ มีเรื่องฮือฮาเกิดขึ้นว่าความนิยมบริโภคสัตว์น้ำ ทำให้มีคนคิดรวยลัดโรยยาเบื่อในทะเลสาปสงขลา เพื่อให้ได้สัตว์น้ำมาขายง่ายขึ้น มากขึ้น ถิ่นแดนที่เกิดเรื่องนี้มากอยู่ที่ ต.ปากรอ อ.ระโนด ต.แหลมโพธิ์ อ.หาดใหญ่ และ ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา การวางยาเบื่อก็ใช้วิธีล้อมอวนเป็นวงกลม ๒๐ เมตร แกว่งสารยาเบื่อลงไปราว ๑๐ นาที ปลาจะหนีตายมาติดอวน ได้ปลาก็นำมาล้างยาเบื่อออกทันที ปลาตัวไหนล้างช้า ยาเบื่อจะซึมเข้าในเนื้อทำให้เน่าเสีย  มียาเบื่อตกค้างทำให้เกิดภาวะน้ำทะเลมีพิษส่งผลต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน เจ้ายาเบื่อตัวนี้ เรียกว่า “โซเดียมไซยาไนด์ NaCN”  เรื่องนี้แก้ได้แค่ไหนไม่รู้ความคืบหน้า

ปี ๒๕๔๙ สำนักงานมาตรฐานสินค้าการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เจอว่าคนบริโภคหน่อไม้ต้มต่อคนต่อวัน เท่ากับ ๑๒๖.๖  กรัม

ปี ๒๕๕๐ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สำรวจปริมาณไซยาไนด์ในหน่อไม้ตามท้องตลาด ๓ ชนิด ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน พบหน่อไม้สดมีไซยาไนด์ ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หน่อไม้ต้มหรือหน่อไม้ปี๊บมี ๑๖.๙ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และหน่อไม้ดอง ๒๒ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ปี ๒๕๕๑ มีเรื่องฮือฮาว่าเหมืองทองคำที่บ้านนาหนองบง ม.๓ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ มีชาวบ้านเดือดร้อน ๑๐๔ ราย  เจ็บป่วย ๖ ราย คนป่วยอายุอยู่ระหว่าง ๓๖-๕๑ ปี เป็นผู้หญิงทั้งหมด เหตุเกิดหลังเหมืองเปิดทำการไปแล้วเกือบ ๒ ปี  แหล่งน้ำนี้เป็นส่วนต้นๆน้ำของ ห้วยฮวยและห้วยผุก น้ำในห้วยมีสารไซยาไนด์และแมงกานีสค่อนข้างสูง วันนี้ดูเหมือนเรื่องนี้ยังไม่จบลง

ปี ๒๕๕๒ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำรวจสารพิษในหน่อไม้ต้ม เจาะประเด็นไปที่สารไซยานิคไกลโคไซด์ พบว่าหน่อไม้ต้มและหน่อไม้ปี๊บตามท้องตลาดมีสารไซยาไนด์ตกค้าง เฉลี่ย ๑๙.๔ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ใช้ข้อมูลจากปี ๒๕๔๙ เรื่องการบริโภคหน่อไม้ต้มมาคำนวณ พบว่าปริมาณไซยาไนด์ที่คนส่งลงท้องเฉลี่ยอยู่ที่ ๐.๐๔๑ กก.ต่อวัน คนไหนกินมากหน่อยก็ได้เข้าไปเฉลี่ย ๐.๐๙๒ มก.ต่อกก.ต่อวัน

ความปลอดภัยอยู่ตรงไหนสำหรับเชื้อสายคนเอเซีย ไม่ปรากฏค่าอ้างอิง พอมีค่าให้อ้างอิงจากอเมริกาและองค์การอนามัยโลกเท่านั้นเขาเรียกว่า ปริมาณที่ร่างกายพอรับได้ต่อวันกำหนด ( ADI- Acceptable Daily Intake) หน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กก.

ค่าที่พอรับได้ของสารไซยาไนด์ กำหนดไว้ ไม่เกิน ๐.๐๕ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน

กลับไปดูข้อมูลภาพรวมของคนไทย ดูเหมือนจะปลอดภัยจากสารตัวนี้ แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในกลุ่มที่บริโภคมากจะพบว่ารับเข้าร่างกายไปเกินกว่าที่ ควรรับ ๑.๘  เท่า

เมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๕ มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีเด็ก ๔ ขวบเสียชีวิตหลังกินมันสำปะหลังทอดพร้อมเพื่อน เหตุเกิดที่จังหวัดราชบุรี เกิดอาการไม่ปกติตอนเย็น ก่อนเข้านอน พบเสียชีวิตตอนเช้า

สารไซยาไนด์เข้าร่างกายได้หลายทาง  เข้าไปมากอันตรายถึงตาย  เข้าไปน้อยไตกรองทิ้งปล่อยออกทางปัสสาวะได้  อันตรายเกิดจากสารนี้ไปแย่งที่เกาะของออกซิเจนที่เม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน

วิธีลดสารตัวนี้ให้ลดลงในมันสำปะหลังเล่าไปแล้ว สำหรับหน่อไม้ มีำแนะนำให้ต้มด้วยอุณหภูมิน้ำเดือดอย่างน้อย ๑๐ นาที ก่อนนำไปเป็นเมนูบริโภครูปแบบอื่นๆ  จะเป็นหน่อไม้ขมหรือหวานหรือจืด ต้องต้มก่อนเสมอ

การต้มด้วยความร้อนที่อุณหภูมิน้ำเดือดอย่างน้อย ๑๐ นาที สามารถช่วยลดระดับสารไซยาไนด์ได้ถึง ๙๐.๕ % 

เพื่อความปลอดภัย เมนูที่ใช้หน่อไม้ทุกรูปแบบ (สด ต้ม ดอง แห้ง) อย่าลืมต้มเดือดอย่างน้อย ๑๐ นาที และอย่าใช้น้ำต้มปรุงอาหารต่อค่ะ

๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 495120เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนคุณหมอเจ๊

ตอนวัยหนุ่ม เคยทำลายธรรมยากรสัตว์น้ำด้วยการเบื่อปลา

แต่ตัวยาที่ใช้คทือ ย่านพาหมี (โลติ๋น หรือหางไหล)

ตอนนี้เห็นคนเอาพาหมี มาผูกเอวผูกคอ บอกว่า แก้รำมะนาด โรคเหงือก ได้ (ไม่ยืนยันแต่เห็นเขาใช้กัน)

เพิ่งรู้ว่าย่านพาหมีนี่คือโลติ๋น เดี๋ยวนี้โลติ๋นหายากนะคะบัง เคยเห็นเมื่อยังเด็กๆว่า เวลาใช้โลติ๋นเบื่อปลา เขาจะเอาย่านมันมาทุบๆๆให้แตกแล้วแช่น้ำ ไม่เคยนึกว่าจะมีคนพิเรน เอาไซยาไนด์มาเบื่อปลา ทำไปด๊ายจริงๆเพื่อเงิน อย่างนี้เงินก็เป็นยาเบื่อที่ควรระวังเหมือนกันเน้อค่ะ เป็นยาเบื่อให้ความดีงามในใจคนหดหาย เฮ้อ

  • น้องศิลาค่ะ อาหารยอดฮิตแหล่งนี้อยู่คู่ผู้คนมานาน สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกให้เราได้ดีนักแล สะท้อนให้เข้าใจธรรมชาติว่ามีบวกก็มีลบทุกคราไป อยากได้บวกก็อย่าลืมชั่งการได้ลบ ธรรมชาติเป็นเรื่องสัมพัทธเสมอเลยนะคะ
  • หมอน้อยทิมดาบเจ้าเสน่ห์ เรื่องอย่างนี้รู้ไว้ใช่ว่า ใส่แบกหามไว้ช่วยคนกันไว้เนอะ
  • ดีใจที่อาจารย์หมอป.แวะมาให้กำลังใจกัน เรื่องพวกนี้หมออย่างเราอ่อนหัดกันมากมาย รู้ไว้ใส่บ่า ใส่หัวเพื่อแบ่งเบาช่วยกันดูแลคนกันดีนักแล
  • อ.จันทร์ที่รัก หญ้าที่สูงที่สุดพันธุ์นี้ มีเรื่องก่อโรคได้มากหลายทีเดียวละคะ ประโยชน์นั้นก็มีมากหลาย หากว่าชอบกินมัน ก็อย่าลืมปลูกต้นย่านางไว้ที่แปลงผักที่บ้านด้วยนะคะ
  • คุณ sr ค่ะ หลายเรื่องราวที่เดินผ่าน ก็บังเอิญได้เก็บเกี่ยวความรู้มา ก็นำมาแลกเปลี่ยน เติมเต็มให้กัน ขอบคุณนะคะที่ยังแวะเวียนมาให้กำลังใจกัน
  • น้องหนูคนสวยที่รัก ไปหมู่บ้านโลกกันหน่อยมั๊ย
  • อ.ธวัชชัยค่ะ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า กินผักสดได้วิตามินแต่มีแถม กินผักสุกได้เส้นใยและความปลอดภัยที่แตกต่างและมีไม่ได้ ทางสายกลางเป็นอะไรที่ชัดเจนว่าต้องเรียนรู้อีกยาวไกลเลยนะคะ
  • อาจารย์ขวัญค่ะ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท