“สอนอย่างไรให้นักศึกษามีจริยธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่อาสา”


นักศึกษา จริยธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่อาสา

              

               เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 เวลา 13.30-16.00 น. สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “สอนอย่างไรให้นักศึกษามีจริยธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่อาสา” ณ ห้องสร้างเสริมสุขภาพและธรราชาติบำบัด โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง โดยมี รศ.ดร.สายพิณ  เกษมกิจวัฒนา เป็นคุณอำนวย และ อ.วรางคณา      อ่ำศรีเวียง เป็นคุณลิขิต บรรยากาศในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นไปด้วยความสนุกสนาน ผ่อนคลาย โดยการเริ่มต้นด้วยเกมส์ “ฝนตก ร้อง ฟ้าผ่า” หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้

อ. อุษา  ได้มีวิธีการสอน คือ ตนเองจะเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี การ

มีจิตใจที่ดี การคิดดีพูดดีทำดี ให้นักศึกษาฟัง เช่น เล่าถึงพฤติกรรมของพยาบาลที่มีการปฏิบัติงานทั้งที่ดีและไม่ดี หลังจากนั้นจะให้นักศึกษาสะท้อนคิดกลับว่าแบบไหนดี แบบไหนที่ไม่ดี ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาคิดได้เอง

รศ.ดร.สายพิณ (คุณอำนวย) ได้ถาม อ.อุษา ว่า ได้มีการประเมินผลกลับบ้างหรือไม่ ว่า

หลังการสอนด้วย วิธีนี้ นักศึกษามีพฤติกรรมที่ดีขึ้นหรือไม่

อ.อุษา ได้ตอบว่า สังเกตจากพฤติกรรมที่แสดงออกมาของนักศึกษา พบว่าดีขึ้นบ้าง เช่น

การหยุดยืนไหว้อาจารย์ การนั่งเรียนที่สำรวมขึ้น ไม่มียกขามาวางไว้ที่เก้าอี้อีก

รศ.ดร.สายพิณ (คุณอำนวย) ถามต่อว่า สร้างแรงจูงใจอย่างไรสำหรับนักศึกษา

อ.อุษา ตอบว่า จะใช้ตนเองเป็นแรงจูงใจ เนื่องจากตนเองจะยกตัวอย่างให้นักศึกษาฟังว่า

เมื่อก่อนตนเองเป็นคนหน้าบึ้ง ไม่ยิ้ม ทำให้บุคลิกภาพไม่ดี แต่เมื่อมีผู้ใหญ่มาเตือนและสอน แล้วตนเองปฏิบัติตาม ทำให้บุคลิกภาพดีขึ้น

อ.สุรย์ฉาย ได้บอกว่า ตัวอาจารย์เองต้องเป็น role model ที่ดีก่อน การพูดจาหรือการ

สอนจะไม่มีการตำหนินักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาจะเกิดการต่อต้าน แต่จะพูดหรือยกตัวอย่างสอดแทรกให้นักศึกษาได้เปรียบเทียบเอง เช่น ในเรื่องของการแต่งกายที่ดีและไม่ดี การพูดจาไพเราะกับไม่ไพเราะ และบอก feed back ไป ทำให้นักศึกษาประพฤติได้ดีขึ้น สำหรับด้านวินัยนั้น จะบอกว่าหากมาที่สำนักวิชาฯ ควรต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ และจะยกตัวอย่างในกรณีที่มีนักศึกษาปฏิบัติตามกฎกับไม่ปฏิบัติตามกฎ ว่าอย่างไหนดูดีกว่ากัน เพื่อให้นักศึกษาได้คิดเปรียบเทียบ ส่วนในด้านซื่อสัตย์  จะบอกนักศึกษาว่า ผิดต้องยอมรับผิด ไม่มีการลงโทษ จะทำให้นักศึกษารู้สึกว่า เมื่อทำผิดแล้ว ต้องยอมรับ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องรุนแรง แล้วตนเองจะ feedback กลับ ใช้หลักเอาใจเขาใส่ใจเรา และด้านใฝ่อาสา  จะสอนให้มีการทำงานเป็นทีม และให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

อ.ภาวดี บอกว่า ตนเองจะเล่าเรื่องที่เจอในชีวิตประจำวันให้นักศึกษาฟัง และถ้าเป็น

advisee ตนเอง จะใช้วิธีให้นักศึกษาได้พูดก่อน เพื่อให้ค่อยๆพูดออกมา หลังจากนั้นจะให้คำชี้แนะที่ถูกต้อง หากเป็นช่วงที่สนในห้องเรียน จะยกตัวอย่างสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม แต่ถ้าจะประเมินนักศึกษากลับนั้นจะเห็นได้ไม่ชัดเจน แต่จะเห็นชัดเจนในวิชาการฝึกปฏิบัติ

          อ.ขนิษฐา บอกว่า ตนเองงจะสอดแทรกในเรื่องของจิตอาสาเข้าไป และคิดว่านักศึกษาจะมีจิตอาสานั้น จะต้องเป็นการทำออกมาจากใจที่แท้จริง จะไม่มีการบังคับนักศึกษาให้ทำ และตนเองจะปฏิบัติเป็นตัวอย่างก่อน เช่น การไปกวาดลานวัด ถ้าไม่มีนักศึกษาไปช่วยเพื่อนคนที่กวาดก่อน ตนเองจะไปกวาด แล้วนักศึกษาคนอื่นจะตามมาเอง หรือเวลาที่นักศึกษาไปเยี่ยมบ้าน แล้วเกิดความสงสารในความยากจนของคนในชุมชน แล้วอยากจะบริจาคเงิน ตนเองจะถามกลับว่ามีวิธีอื่นอีกหรือไม่เนื่องจากเราไม่ได้อยู่กับเค้าตลอดไป นักศึกษาก็จะสะท้อนคิดกลับว่าจะสามารถช่วยเหลือวิธีอื่นได้อีก ที่จะเป็นการช่วยที่ยั่งยืน นอกจากการบริจาคเงิน ทำให้นักศึกษาสามารถหาวิธีช่วยเหลือได้เอง และออกมาจากใจ ความมีจิตอาสาอย่างแท้จริง  สำหรับการประเมินผลนั้น ตนเองจะเห็นได้จากการที่นักศึกษามีความสุขเมื่อได้ทำไป นักศึกษาจะบอกว่าประทับใจที่ได้ทำ

          อ.เกศมณี บอกว่า รู้สึกว่าเป็นเรื่องนามธรรมที่สอนยาก แต่ตัวอาจารย์เองต้องเป็น role model ที่ดี และสังคม จะเป็นตัวสอนนักศึกษาเอง เช่น การปฏิบัติงานของพยาบาล จะมีทั้งที่ดีและไม่ดี มีความขัดแย้งกัน เมื่อนักศึกษาเห็นพฤติกรรมดังกล่าว นักศึกษาจะมาสะท้อนคิดถึงพฤติกรรมดังกล่าวให้อาจารย์ฟัง สำหรับตนเอง ถ้าเป็นการขึ้นฝึกปฏิบัติ จะติดต่อประสานงานกับพยาบาลที่มีการปฏิบัติที่ดีมาเป็นแบบอย่างหรือช่วยสอนชี้แนะให้กับนักศึกษาเวลาปฏิบัติงาน หลังจากนั้นจะให้นักศึกษาสะท้อนคิดเปรียบเทียบระหว่างพยาบาลที่ดีกับที่ไม่ดี ซึ่งนักศึกษาจะบอกว่าจะเป็นแบบพยาบาลที่ดีมากกว่าแบบที่ไม่ดี

          อ.ฉันทนา ได้เสริมว่า ตนเองเห็นด้วยว่า เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม สอนยาก วัดยาก สำหรับการเป็น role model ที่ดีนั้น ตนเองก็ยังไม่มั่นใจว่ามีคุณธรรมจริยธรรมดีเพียงพอหรือยัง แต่ตนเองจะประทับใจอาจารย์ท่านหนึ่งสมัยตอนเรียนอยู่ปริญญาโท ซึ่งอาจารย์ท่านนี้จะเป็นคนตรงต่อเวลามาก เรื่องการเข้าห้องเรียน หากตนเองจะเข้าห้องก่อนเวลาเรียน อาจารย์จะยังไม่ให้เข้าเนื่องต้องมีการเตรียมในการสอนก่อน แต่ต้องเข้าเข้าให้ตรงเวลาสอนพอดีที่อาจารย์พร้อมสอน ซึ่งตนได้นำมาปฏิบัติใช้จริงในการเป็นครู

          อ.แสงเดือน ได้บอกว่า ตนเองจะเน้นเวลาที่นักศึกษาขึ้นฝึกปฏิบัติ เช่น เวลาฉีดยา จะให้นักศึกษาไปเตรียมอุปกรณ์ก่อน แล้วตนเองจึงจะตามไป และเมื่อนักศึกษาเตรียมอุปกรณ์ไม่ครบ จะมีความยุ่งยากในการปฏิบัติ ตนเองจะ feed back กลับถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจากการปฏิบัติของนักศึกษา โดยเฉพาะการทำหัตถการต่างๆที่มีการ contaminate นักศึกษาจะต้องซื่อสัตย์ในการบอกอาจารย์หากมีการ contaminate เกิดขึ้น แต่หากอาจารย์ไม่แน่ใจและไม่เห็นการ contaminate ของนักศึกษา ตนเองจะให้นักศึกษาเปลี่ยนอุปกรณ์หรือทำใหม่เลย นอกจากนี้ในด้านจิตอาสานั้น ตนเองเห็นด้วยกับ อ.ขนิษฐา ที่ว่าต้องออกมาจากใจของนักศึกษาเอง เวลาที่เจอว่านักศึกษาไม่กล้าเข้าหาพี่พยาบาล ตนเองจะให้นักศึกษาสะท้อนคิดว่าถ้านักศึกษาเป็นพยาบาล แล้วอยากให้มีนักศึกษามาช่วยหรือไม่ สำหรับความซื่อสัตย์นั้น ตนเองจะบอกนักศึกษาว่าการทำความผิด ไม่ใช่เป็นสิ่งร้ายแรง จะไม่มีผลต่อคะแนน ซึ่งตนเองจะดูจากความก้าวหน้าของนักศึกษามากกว่า

          อ.วรรัตน์ บอกว่า ด้านระเบียบวินัย ตนเองจะสร้างข้อตกลงในการทำงาน เช่น การส่งงาน โดยที่นักศึกษาจะต้องส่งงานก่อนการรับเวร แล้วจะไม่มีการทวงถาม นักศึกษาจะต้องรับผิดชอบตนเอง ซึ่งตนได้พบว่านักศึกษามีการส่งงานตรงเวลามากขึ้น แต่ก็ยังมีบ้างในบางคนที่ไม่ตรงเวลาอยู่ ด้านความซื่อสัตย์ จะให้นักศึกษาสะท้อนคิดถึงผลกระทบจากการปฏิบัติของนักศึกษาที่เกิดต่อผู้ป่วย ซึ่งนักศึกษาสามารถบอกได้หลายอย่าง นอกจากนี้หากพบว่านักศึกษาทำผิด จะไม่มีการว่ากล่าวนักศึกษาต่อหน้าผู้ป่วยหรือผู้อื่น แต่จะนำมาพูดคุยสองต่อสอง เพราะนักศึกษาจะรู้สึกไม่ชอบหากมีการต่อว่านักศึกษาต่อหน้าผู้อื่น สำหรับด้านใฝ่อาสา ตนเองจะให้คำชมเมื่อพบว่านักศึกษามีการทำงานด้วยความใฝ่อาสา นอกจากนี้หากมีคำชมจากผู้ป่วยหรือญาติ จะนำมาบอกนักศึกษา ทำให้นักศึกษารู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ และอยากจะทำอีก

          อ.วรางคณา บอกว่า ในด้านระเบียบวินัย จะมีการสร้างข้อตกลงร่วมกันกับนักศึกษา ตนเองจะให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งงาน การขึ้นฝึกปฏิบัติงาน และการปฏิบัติงาน และจะให้นักศึกษามีผู้นำในกลุ่ม เพื่อคอยช่วยเตือนในเรื่องวินับ เวลา การส่งงาน เพื่อให้นักศึกษารู้จักรับผิดชอบงานกันเอง แต่วิธีการสอนนี้ตนเองก็พบว่าได้ผลในนักศึกษาบางกลุ่ม ไม่ได้ผลในนักศึกษาบางกลุ่ม ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนต่อไป ด้านความซื่อสัตย์ จะให้อิสระนักศึกษาเวลาปฏิบัติงาน ตนเองจะคอยดูแลอยู่ห่างๆ ให้นักศึกษาได้ฝึกทำเอง แต่หากรู้ตัวว่าทำไม่ได้หรือลืมบางขั้นตอน ให้บอกตนเองแล้วตนเองจะบอกในสิ่งที่นักศึกษาทำไม่ได้ ในกรณีที่มีหัตถการมาก แต่ตนเองไม่สามารถไปดูแลได้ จะปฏิเสธการทำหัตถการนั้นก่อน แล้วให้พยาบาลเป็นผู้ทำได้เลย เนื่องจากต้องป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นเวลาที่อาจารย์ไม่สามารถดูแลได้ สำหรับด้านใฝ่อาสา ตนเองจะใช้วิธีการปฏิบัติให้เป็นตัวย่างก่อน แล้วนักศึกษาจะปฏิบัติตาม หลังจากนั้นในช่วง post conference จะมีการ feed back การปฏิบัติงาน และการสะท้อนคิดจากนักศึกษา

          อ. ทัศนีย์วรรณ บอกว่า อาจารย์ต้องเป็น role model ที่ดี นักศึกษาจึงจะปฏิบัติตาม และในการสอนด้านความซื่อสัตย์ เมื่อพบว่านักศึกษาทำผิด จะไม่ตำหนิหรือต่อว่านักศึกษาต่อหน้าผู้อื่น ด้านระเบียบวินัย จะสร้างข้อตกลงร่วมกันในการเรียน แล้วจะให้นักศึกษาแสดงความเห็นว่าสิ่งไหนสามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ จะได้หาแนวทางแก้ไขตอนนั้น เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันที่นักศึกษาทำได้ และหากพบว่านักศึกษาไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น จะมีการทำโทษ สำหรับด้านใฝ่อาสา จะต้องเป็นจิตอาสาที่ออกมาจากนักศึกษาเอง จะไม่มีการกำหนดเพื่อให้นักศึกษาทำ แล้วจะให้นักศึกษาสะท้อนคิด เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง

          อ.สถิตย์ บอกว่า จะฝีกนักศึกษา เหมือนกับการเลี้ยงลูก จะไม่มาปากเปียกปากแฉะคอยจ้ำจี้จ้ำไช แต่จะปล่อยให้นักศึกษาเป็นอิสระ แล้วให้เรียนรู้ด้วยตนเองในสังคม หากปฏิบัติไม่ดี ก็จะได้ feed back ที่ไม่ดีจากคนในสังคมนั้น ซึ่ง ก็คือ เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลที่หอผู้ป่วยที่นักศึกษาไปฝึกปฏิบัติ หากนักศึกษาปฏิบัติดี ก็จะได้รับคำชมจากบุคลากร ซึ่งนักศึกษาจะรู้สึกมีคุณค่ากว่า นอกจากนี้เวลาที่ฝึกปฏิบัติที่ชุมชน แล้วเจอกับสถานการณ์จริง เช่น บ้านที่ซอมซ่อมีแต่กลิ่นสุรา กับบ้านที่มียายอยู่คนเดียวแต่สะอาดเรียบร้อย ก็จะให้นักศึกษาสะท้อนคิดเองว่าจะเลือกแบบไหน 

อ.จันทร์จิรา บอกว่า ตนเองจะใช้สื่อ เช่น CD, VDO เป็นสื่อในการสอน แล้วให้นักศึกษา

สะท้อนคิดจากสิ่งที่ได้ดู สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ อาจารย์จะต้องเป็น role model ที่ดี  จะไม่มีการสั่งให้นักศึกษาทำ แต่จะปฏิบัติเป็นตัวอย่าง พร้อมทั้งยกตัวอย่างสอดแทรกเนื้อหา เช่น การแช่เท้าให้ผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดี สบายขึ้น แล้วให้นักศึกษาสะท้อนคิดว่าถ้าตัวเองได้รับการแช่เท้าแล้วจะรู้สึกเช่นไร ทำให้นักศึกษารู้สึกอยากทำมากขึ้น

                   ผศ.สมบูรณ์ ได้บอกว่า การสอนด้านจริยธรรมและคุณธรรมนั้น อาจารย์ต้องมีความเมตตากรุณา มีความหวังดีกับนักศึกษา และอย่าไปคาดหวังสูงกับนักศึกษาใหม่ นอกจากนี้วาจาหรือคำพูดที่อาจารย์ใช้ ควรใช้คำพูดที่สุภาพ น้ำเสียงนุ่มนวล ซึ่งอาจารย์จะต้องเป็น role model ที่ดี นักศึกษาก็จะเกิดการเรียนรู้และปฏิบัติตาม ที่สำคัญอีกอย่างคือ อาจารย์ต้องมีอุเบกขาด้วย สำหรับการสอนทางทฤษฎีนั้น จะใช้สถานการณ์แล้วสอดแทรกเนื้อหาในทุกๆด้าน และในการฝึกปฏิบัติ จะสอนให้นักศึกษามีวินัย โดยเฉพาะในเรื่องของเวลาในการส่งงานและการขึ้นรถ จะต้องตรงเวลาเสมอ หากส่งงานไม่ตรงเวลาตามที่กำหนด แต่ไม่นานมากจะไม่มีการหักคะแนน แต่หากเกินกำหนดการส่งงานเป็นเวลานาน จะมีการหักคะแนน นอกจากนี้เวลาที่ออกไปเยี่ยมบ้านแล้วเจอกับสถานการณ์จริง จะกระตุ้นให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์และสะท้อนคิดออกมา ทำให้นักศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สำหรับด้านใฝ่อาสานั้น จะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของนักศึกษาแต่ละชั้นปี เช่น นักศึกษาปี 1 จะยังมีการเกี่ยงกันทำงาน เนื่องจากยังไม่กล้าที่จะทำ ดังนั้นอาจารย์จะต้องมีการมอบหมายงานให้ แต่ถ้าเป็นนักศึกษาปีอื่นๆ จะถามว่าใครจะเป็นอาสาสมัคร แต่ถ้าหากมีคนที่ไม่ทำอยู่บ่อยๆ อาจารย์จะแจ้งกับหัวหน้ากลุ่มให้มีการดูแลจัดการกันเอง โดยอาจารย์จะคอยดูและให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ

          เมื่อการแลกเปลี่ยนครบทุกคนแล้ว รศ.ดร.สายพิณ (คุณอำนวย) ได้สรุปถึงวิธีการสอนที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีการสอนให้นักศึกษาทีจริยธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัย และใฝ่อาสา คือ อาจารย์ต้องเป็น role model ที่ดี เอาใจเขามาใส่ใจเรา และให้นักศึกษามีการสะท้อนคิดเปรียบเทียบ เพื่อเลือกปฏิบัติทางเลือกที่ดีหรือไม่ดี นอกจากนี้ รศ.ดร.สายพิณ (คุณอำนวย) ได้ให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นสิ่งที่แตกต่างหรืออยากเพิ่มเติมอีกครั้ง ดังนี้

          ผศ.สมบูรณ์ ได้เพิ่มเติมว่า ต้องมีการสร้างข้อตกลงร่วมกันเรื่องระเบียบวินัยในการแต่งกายของนักศึกษา หากมีการฝ่าฝืนข้อตกลง จะมีการทำโทษด้วยการหักคะแนน และเนื่องจากยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไป ควรสอนเน้นให้รู้จักการให้เกียรติผู้อื่น รู้จักอาสางาน  นอกจากนี้หากพบว่านักศึกษาคนไหนเริ่มรู้สึกไม่ชอบในการปฏิบัติหรือวิชาชีพ จะมีการเรียกมาคุยเพื่อให้คำปรึกษาหรือชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง

          อ.ภาวดี ได้เพิ่มเติมว่า ตนเองจะเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทและความทุ่มเทของพยาบาลรุ่นเก่าๆให้นักศึกษาฟัง ถึงเรื่องของการมีจิตอาสา และการทำงานด้วยใจ

          อ.สุริย์ฉาย ได้เพิ่มเติมว่า ต้องเน้นเรื่องการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม และการให้นักศึกษาเตรียมตัว ความรู้ก่อนการขึ้นฝึกปฏิบัติ อย่ารอรับจากอาจารย์ฝ่ายเดียว และให้นักศึกษาคำนึงถึงสิทธิของตนเองที่มีสิทธิ์ที่จะทำ แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยด้วย เช่น นักศึกษามีสิทธิที่จะไม่อ่านหนังสือหรือเตรียมตัวก่อนการฝึกปฏิบัติ แต่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติจากผู้ที่มีความรู้ เป็นต้น

          อ.อุษา ได้เพิ่มเติมว่า ไม่อยากให้อาจารย์เน้นแต่ให้ปฏิบัติเฉพาะตอนที่เรียน แต่อยากให้ส่งเสริมให้นักศึกษานำไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

 

 

อ.วรางคณา

(คุณลิขิต)

 

หมายเลขบันทึก: 494637เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 04:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2012 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ตามมาเชียร์การทำงานของคณะพยาบาลครับ
  • เชื่อมั่นว่า
  • ค่อยๆไปจะเนียนในเนื้องานครับ
พงษ์ภัทร์ รัตนสุวรรณ

ให้กำลังใจอาจารย์พยาบาลทุกท่าน

พรสวรรค์ เชื้อเจ็ดตน

อาจารย์ต้องปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี เด็กจึงจะปฏิบัติตาม

เป็นกำลังใจให้อาจารย์ทุกท่านค่ะ เพื่ออนาคตของชาติ

พรสวรรค์ เชื้อเจ็ดตน

ต้องสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ให้นักศึกษาทันทีที่พบกรณีศึกษา จะช่วยให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

พงษ์ภัทร์ รัตนสุวรรณ

ครูต้องมีการสอนสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมทั้งในชั้นเรียน การฝึกปฏิบัติ และจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่การสร้างบุคลากรทางการพยาบาลที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีคุณภาพ

คุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การสอดเเทรกไปในกิจกรรมต่างๆ ของการเรียนการสอน เช่น การเรียนในชั้นเรียน การฝึกปฏิบัติ การจัดโครงการ หรือกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่นักศึกษาต้องเข้าร่วมกับเพื่อนๆ ต่างสำนักวิชา ล้วนแล้วแต่สามารถแทรกข้อคิดต่างๆ ได้ ที่สำคัญอาจารย์ควรเป็นผู้แนะนำและชี้แนะให้นักศึกษาเข้าใจและปลูกฝั่งความคิดด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะ ความซื่อสัตย์ เคารพกติกา และรู้จักเสียสละ เพื่อให้เขาเป็นบุคลากรที่ดี รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ขอให้กำลังใจอาจารย์ทุกท่าน เรียนรู้ร่วมกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท