บูรณาการการภาวนา ถอดบทเรียน และการวิจัย ให้มีพลัง


นอกจากเป็นการได้ไปพบและถอดบทเรียนตนเองด้วยกัน พร้อมกับถือโอกาสสันถวะ เสริมพลังใจกับครอบครัวของพี่ปรีชา ก้อนทอง และพี่วริชฌิตา ปลั่งสำราญ ที่ริเริ่ม ก่อตั้ง และดำเนินการศูนย์ปฏิบัติธรรมเบิกฟ้าธรรมาศรม ที่ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และปรึกษาหารือต่อเนื่องในการที่จะพัฒนาระบบบริหารจัดการต่างๆให้เหมาะสมในระยะยาวในหลายๆด้านด้วยกัน เมื่อเสาร์อาทิตย์ ๓๐ มิถุนายน – ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานี้แล้ว ผมเองนั้น ก็ถูกพี่ๆน้องๆคาดหวังว่าจะช่วยสังเคราะห์และสะท้อนบทเรียน เสริมแนวคิดและเพิ่มพูนทฤษฎีให้เหมือนอย่างที่ผมมักจะต้องทำหน้าที่นี้ไปด้วยอยู่เสมอเมื่อเราได้มีวงพบปะเสวนาสังสันทน์กัน

แต่คราวนี้ สมาชิกขอว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มไม่ใหญ่ อีกทั้งเป็นกลุ่มคนที่นอกจากจะมีประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องในการทำงานวิจัย ประสานงานเชิงวิชาการ รวมทั้งเป็นวิทยากรและผู้จัดกระบวนการ ให้กับเครือข่ายการทำงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็จะต้องออกไปทำงาน ที่ต้องการให้กลมกลืนไปกับการพัฒนาชีวิตด้านในของตนเองและการได้ทำงานอย่างจิตอาสาให้พอดีกับเหตุปัจจัยของตนเองและครอบครัวไปด้วย จึงขอเป็นเวทีวิชาการเพื่อเรียนรู้และถกกันอย่างเข้มข้น รวมทั้งออกปากไหว้วาน ขอให้ฝึกฝนทักษะเชิงกระบวนการ ทั้งทางด้านแนวคิดทฤษฎีและเทคนิคปฏิบัติเพื่อการพัฒนาทักษะเฉพาะตนให้บนกระบวนการทั้งหมด ๒ วันและ ๑ คืน ให้กับทุกคนด้วย

เมื่อเป็นดังนี้ บรรยากาศการนั่งคุยกันพร้อมกับถกแถลงและอภิปรายทางวิชาการ การให้ทรรศนะวิพากษ์ และห้องบรรยายพิเศษกลางลานดิน สนามหญ้า ใต้ร่มไม้ และบนศาลาปฏิบัติธรรมเอนกประสงค์ จึงเกิดขึ้นควบคู่ไปบนกระบวนการต่างๆ ซึ่งก็เข้มข้นแต่มีชีวิตชีวา อย่างกับเป็นห้องบรรยายชุมชนวิชาการในมหาวิทยาลัย แต่เข้ามาอยู่บนสถานการณ์จริงในชีวิตการงานเลยทีเดียว ผมเองนั้นก็สนุกมาก 

ทั้งหมดในกลุ่มมีประสบการณ์จากการทำงานและการปฏิบัติชีวิตด้านในเป็นทุนอยู่กับตนเองมากอยู่แล้ว จึงมีความคุ้นเคยและพิจารณาสิ่งต่างๆได้อย่างรอบด้านทั้งระดับการคิดด้วยใจ การใช้สามัญสำนึก และการพิจารณาด้วยระดับความเป็นวิชาการของคนที่ผ่านการศึกษาในขั้นสูงมาแล้วทั้งกลุ่ม

สมาชิกผู้ร่วมเวทีได้นั่งคุยกันเหมือนบรรยากาศการนั่งอยู่บนชานเรือน ลานบ้าน หรือศาลาชุมชน ทั้งมองย้อนหลังกว่า ๑๐ ปีไปยังชีวิตและการทำงาน รวมทั้งการได้มาทำสิ่งต่างๆให้เกิดความเชื่อมโยงและส่งเสริมเกื้อหนุนกันต่างกรรมต่างวาระ โดยเฉพาะผ่านเวทีชมรมชีวเกษม และการทำงานเชิงสังคมแบบอาสาพากันทำทางด้านต่างๆ  กระทั่งถึงการบอกเล่าอัตภาพ สุขภาวะ ชีวิตและการงาน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทุกคนต่างมีประสบการณ์และคุ้นเคยกับความเป็นนักวิจัย

ขณะเดียวกันก็เป็นมือทำงานเชิงกระบวนการกับชุมชนและกลุ่มคนหลากหลายสาขา จึงคุ้นเคยกับการสนทนาแบบเล่าเรื่องตนเองออกมาจากประสบการณ์และทรรศนะตนเอง หรือ Self-Story Telling ผสมผสานกับการสนทนาด้วยกระบวนการปฏิสัมพันธ์และสื่อสารพูดฟังอย่างลึกซึ้งแบบ Group Dialogue ผมบูรณาการการเรียนรู้ เพื่อเชื่อมโยงมิติสำคัญซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของเครือข่ายนี้ด้วย ๓ มิติ 

ได้แก่ มิติการภาวนาและการพัฒนาชีวิตด้านใน  มิติการขับเคลื่อนด้วยพลังการสื่อสารเรียนรู้และสร้างพลังการจัดการตนเองผ่านกระบวนการถอดบทเรียนและมิติการวิจัย ให้มีความเชื่อมโยง ผสมผสาน และต่างเป็นปัจจัยส่งเสริมกัน ให้ดำเนินไปบนประเด็นที่ปรากฏขึ้นจากการนั่งสนทนากัน และหลังจากนั่งสนทนากันแต่ละครั้ง ก่อนไปกินข้าวหรือทำวัตรสวดมนต์และปฏิบัติภาวนา ก็จะประมวลภาพรวมและสรุปเรื่องราวต่างๆให้แก่กลุ่ม ผมบรรยายและอธิบายเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงชีวิตการภาวนาและการพัฒนาชีวิตด้านใน ทั้งการทำให้แก่ตนเองและการทำงานเชิงสังคมเพื่อสร้างสุขภาวะที่มุ่งให้ออกมาจากชีวิตด้านในอย่างสมดุลกับโลกภายนอก ให้ดำเนินไปด้วยกันได้เป็นอย่างดีกับการทำงาน

นอกจากนี้ ก็เชื่อมโยงกับมิติการวิจัยกับการพัฒนาองค์ความรู้ที่มีพลังต่อการชี้นำการปฏิบัติและสร้างความจริงทางสังคมเพื่อร่วมสร้างสุขภาวะที่พึงประสงค์ในระดับต่างๆที่อยู่บนเงื่อนไขชีวิตและการงานของแต่ละคน อธิบายให้เข้าถึงทฤษฎีความรู้และระบบปัญญามนุษย์ในกรอบทรรศนะที่สำคัญหลายกระบวนทัศน์ เพื่อให้เห็นความรอบด้านและแง่มุมที่จะสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีความหมาย ทั่วถึง สมเหตุสมผล และตลอดสายทั้งในระดับความเฉพาะตน ระดับปรากฏการณ์ ระดับความหมายในบริบทสถานการณ์เฉพาะ ระดับท้องถิ่น และระดับสากล

ขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อน คุณค่าและนัยสำคัญทั้งต่อสังคมไทยกับสังคมภายนอก รวมทั้งทางออกของข้อจำกัดของการที่จะใช้กระบวนการถอดบทเรียนและการวิจัย จัดการความเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน ของชุมชนภาวนากับเครือข่ายชุมชนที่มุ่งพัฒนาชีวิตด้านใน ให้ดำเนินไปกับการสร้างความรู้ พัฒนาสุขภาวะปัญญาและการเรียนรู้ ว่าประเด็นความจำเป็นมากอยู่ตรงไหน และทางออก กับการพัฒนาตนเองไปบนการทำงานและการดำเนินชีวิตที่ดีควรจะเป็นอย่างไร และระเบียบวิธีการถอดบทเรียนกับการวิจัยเชิงสังคมแบบต่างๆจะนำมาใช้กันได้อย่างไร ผมไม่ลืมที่จะวิพากษ์และแจกแจงให้เห็นทั้งความเหมือนและความต่าง ทั้งระดับหลักคิด กลุ่มคนผู้เข้าร่วม การปฏิบัติ และกระบวนการทางความรู้ ระหว่างกลุ่มการถอดบทเรียน กับการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นกลุ่ม (Focus-Group Indepth Interviews) ที่ทุกคนรู้จักคุ้นเคยอยู่ทั่วไปแล้ว

  

การที่สมาชิกและเครือข่ายชุมชน เป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตโดยมุ่งชีวิตด้านใน พัฒนาตนเอง เรียนรู้การดูแลสุขภาพและสร้างสุขภาวะออกจากภายในตนเอง พร้อมกับต้องการทุ่มเทให้กับการทำงาน ทั้งในสาขาการปฏิบัติสัมมาชีพ และการทำงานแบบจิตอาสา เพื่อดำเนินชีวิตแบบต่างเป็นผู้ให้และเรียนรู้เพื่อกล่อมเกลาตนเองอยู่เสมอไปด้วยนั้น จะต้องพัฒนาวิธีปฏิบัติให้เหมาะสมอย่างจำเพาะตน เหมือนเป็นมีดที่ต้องใช้และหมั่นลับความคมไปด้วยอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากโดยทั่วไปนั้น หากเดินตามเทคนิคทางความรู้และเทคนิคการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ในกระบวนทัศน์ของกระแสหลักอย่างปราศจากการวิพากษ์ ทบทวน ปรับปรุงและออกแบบเชิงวิธีวิทยาเสียใหม่อย่างเดียวแล้วละก็ วิถีความรู้และการทุ่มเทชีวิตการงานในลักษณะดังกล่าวก็จะมุ่งพัฒนาการออกไปด้านนอก หากเทียบเคียงกับอรรถาธิบายในบทสวดมนต์ทำวัตรก็คือ เน้นไปที่ มิติกายนอกกาย ซึ่งหากยิ่งเพิ่มพูนให้ลึกซึ้งและกว้างขวางมากไปตามประสบการณ์และความทรงคุณวุฒิที่ย่อมบังเกิดไปตามพัฒนาการของชีวิต ก็จะยิ่งออกไปไกลตัวและเสียสมดุลเข้าหาศูนย์กลางทางวัตถุมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ  

ส่วนอีกทางหนึ่ง ทางด้านชีวิตการภาวนาและการพัฒนาชีวิตด้านในนั้น ยิ่งมุ่งทำให้กับตนเองและปฏิบัติลงลึกมากเท่าใด ก็จะยิ่งแยกตัวออกจากโลกภายนอกเข้าไปอยู่กับตนเองมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งนอกจากจะยิ่งแยกส่วนออกจากการงานและเกิดระยะห่างในการเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริงมากยิ่งๆขึ้นแล้ว หากจะใช้วิธีถอดบทเรียนและทำงานความรู้ หรือทำวิจัยปฏิบัติการซ้อนลงไปด้วย ก็จะยิ่งมีความเป็นกรณีจำเพาะ ในขณะที่การทำงานและการมีความสนใจต่อการสร้างสุขภาวะของส่วนรวมตนเองก็สนใจมากด้วย จะนำบทเรียนและองค์ความรู้ที่สร้างและสั่งสมขึ้นบนชีวิตในลักษณะดังกล่าวไปใช้ทำงานในเงื่อนไขที่หลากหลายได้อย่างไร ซึ่งในทางการวิจัยนั้น ก็จะทำให้เราย่อมทราบกันดีว่า จะแคบและขาดพลังต่อการนำไปใช้กับสถานการณ์ทั่วไป ยิ่งเข้มข้นไปกับการปฏิบัติของตนเองและขึ้นอยู่กับกรณีจำเพาะตนมากเท่าใด ก็จะยิ่งคับแคบ

สภาพดังกล่าว ก็อาจจะถูกตีตราจากสังคมและผู้ที่ไม่ค่อยได้คิดมากนัก รวมทั้งผู้ที่อยู่นอกบริบทของความจริงชุดเดียวกัน ซึ่งมีเครื่องวัดในตนไม่พอ ไม่สามารถรู้และเข้าถึงได้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติและไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตด้านในจำเพาะเรื่องสำหรับใช้เทียบเคียงหยั่งถึงด้วยตนเอง ว่าพวกปฏิบัติธรรมนั้น มักมีทรรศนะต่อสังคมคับแคบ ไม่อยู่กับความจริงของสังคม ไม่แตกฉาน ไม่รอบด้าน ใช้ความรู้และบทเรียน ที่ค้นพบผ่านการใช้ชีวิตส่วนตนของปัจเจก มาชี้นำการปฏิบัติแก่สังคมและอธิบายสภาวการณ์ต่างๆอย่างไม่เป็นระบบ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเป็นที่เชื่อถือ ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น หากไม่มีระเบียบวิธีที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนเพียงพอ ให้สอดรับกับข้อจำกัดดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้สามารถเชื่อมโยงออกไปสู่ความเป็นจริงในพรมแดนความรู้ต่างๆได้อย่างกว้างขวางแล้วละก็ การดำเนินชีวิตทั้งสองด้านนี้ก็จะไม่บูรณาการไปด้วยกัน ไม่สามารถทำได้ในระยะยาวและเป็นมรรควิถีของชีวิต

หากทำได้ด้วยการฝืนทนทำ ก็จะเป็นการทำแบบแยกส่วน ชีวิตและจิตใจไม่ไปด้วย เกิดแรงกดดัน และอาจจะต้องล้มเลิกทางใดทางหนึ่ง ซึ่งทำให้ตนเองเสียโอกาสในชีวิต และสังคมก็เสียโอกาสในการได้คนทำงานเชิงสังคมในแนวนี้ โดยเฉพาะเป็นด้านที่เน้นการจัดความสัมพันธ์กับโลกภายนอกออกมาจากชีวิตด้านในเป็นตัวนำ ซึ่งสังคมไทยควรจะมีคนที่ให้ความสำคัญในอันที่จะสั่งสมและสร้างขึ้นให้หลากหลายมากยิ่งๆขึ้นอยู่เสมอ เพราะเป็นสังคมหนึ่งที่มีต้นทุนวัฒนธรรมทางจิตใจอยู่มาก สามารถชี้นำตนเองและแบ่งปันให้กับผู้คนในสังคมวัฒนธรรมอื่นอย่างเป็นผู้นำให้เขาได้เป็นอย่างดี

ด้วยความเป็นจริงของการปฏิบัติอยู่ในชีวิต ตลอดจนนัยสำคัญมิติต่างๆต่อการสร้างความรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่ๆ รวมทั้งการมีความสำคัญต่อสังคมและชุมชนระดับต่างๆดังที่กล่าวมา ในขณะที่สมาชิกผู้ร่วมกระบวนการเวทีก็ต้องการเรียนรู้และนำกลับออกไปพัฒนาการทำงานด้วย  

ผมจึงได้เล่าให้ฟังถึงพลังของการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการวิจัยเชิงคุณภาพแบบทำบนกรณีศึกษาและการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีเชิงวิพากษ์ กับความเชื่อมโยงกันของทฤษฎีความรู้ ๓ ระดับ ตั้งแต่ความรู้แบบแสดงตนเองของหลักฐานและข้อเท็จจริง ของสิ่งที่จะสามารถวัดและเข้าถึงได้ โดยที่ไม่ต้องมีความรู้และทรรศนะวิพากษ์ของมนุษย์เข้าไปช่วย สิ่งนั้นก็แสดงความจริงและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้ด้วยตนเอง กับระดับความรู้ที่เกิดจากการให้ความหมายและการตีความด้วยทฤษฎีกับความรู้ที่มีใช้ของมนุษย์ ซึ่งเห็นและแสดงความเป็นจริงเพิ่มขึ้นมาได้อีกมิติหนึ่งด้วยสายตาและการมองเห็นด้วยความรู้

จากนั้น ก็เป็นความรู้เชิงระบบเหตุผลและความเชื่อมโยง หรือความมีปัญญาต่อกาลเทศะของสังคมและโลกความเป็นจริง ซึ่งต้องใช้การสั่งสมภูมิปัญญาปฏิบัติในชีวิตและการรู้สังคม สูงกว่า ลึกซึ้ง และแยบคายกว่าการมองด้วยกรอบความรู้แต่เพียงลำพัง

ผมได้ยกตัวอย่าง โดยใช้แจกันดอกไม้และม้วนเทปกระดาษ ทุกคนต่างเห็นอย่างที่มันเป็น มนุษย์และสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะเรียกว่าอย่างไร เทปกระดาษก็แสดงตนเองตามเหตุปัจจัยอย่างนั้น ความรู้และระบบสัญลักษณ์ที่แสดงเป็นตัวเลข สถิติ ข้อความ กราฟ ตารางการวิเคราะห์ด้วยหลักฐานที่เข้าถึงผ่านการชั่งตวงวัดต่างๆได้ก็เช่นกัน เมื่อตกลงกันและรู้จักคุ้นเคยจนเป็นสิ่งสามัญร่วมกันได้แล้ว ไม่ต้องมีคนอธิบาย สิ่งเหล่านั้นก็แสดงความเป็นจริงของตนเองได้อย่างที่มันเป็น

จากนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงอีกมิติหนึ่งของม้วนเทปว่า คนเคยใช้ในการประชุมและใช้เป็นวัสดุสำนักงาน ก็จะบอกว่านี่เป็นกระดาษกาวหนังไก่ ชาวบ้านทั่วไปก็จะบอกว่าเป็นม้วนเทป แต่ไม่สามารถจำแนกแยกแยะได้ ขณะเดียวกัน เด็กเล็กๆซึ่งมีเด็กลูกหลานนั่งอยู่ในกลุ่มพอดี ก็บอกว่าไม่รู้ว่าม้วนอะไร ดังนั้น ความหมายในความเป็นเทปกระดาษกาวหนังไก่นั้น อยู่นอกเหนือการที่ม้วนเทปบอกเล่าตนเองโดยธรรมชาติให้แก่เด็ก และเป็นความรู้เกี่ยวกับม้วนเทปที่ผู้ใหญ่เห็นและอธิบายได้ด้วยความรู้อีกชุดหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในระดับแสดงออกมาด้วยตนเองของม้วนเทป ส่วนผมเองซึ่งเคยใช้ทำงานศิลปะด้วย ก็จะสามารถบอกได้ว่า นี่เป็นเทปกระดาษสำหรับกั้นสีและติดกระดาษบนอบร์ดเขียนภาพ ซึ่งก็ถูกต้องและเป็นความจริงอีกชุดหนึ่งเช่นกัน แต่ม้วนเทปบอกเล่าด้วยตนเองไม่ได้ เพราะความจริงระดับนี้ ต้องเห็นและอธิบายด้วยความรู้

อันดับต่อมา ก็ชี้ให้เห็นอีกมิติหนึ่งว่า หากไปเจอม้วนเทปนี้ ฝังดินอยู่ในกลางทุ่ง เราก็จะยังเห็นความเป็นม้วนเทปอย่างที่มันเป็นอยู่ อีกทั้งเมื่อมีคนรู้จัก ก็จะเห็นความเป็นม้วนกระดาษกาวหนังไก่และเทปวัสดุทำงานศิลปะ ไม่ได้เห็นแบบเหมารวม แต่เห็นความจำเพาะ เห็นชนิดและรายละเอียดการจำแนกแยกแยะด้านที่เทปม้วนนี้มีความต่างจากม้วนเทปทั่วไป กระทั่งสามารถระบุ จัดประเภท บ่งชี้หมวดหมู่และความเป็นสัดส่วนจำเพาะได้

ขณะเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์ พิจารณา และประเมินสภาวการณ์ต่างๆ ให้เห็นถึงความหมายในระดับบริบท เราก็สามารถเชื่อมโยงไปสู่ความเป็นจริงและสถานการณ์ขนาดใหญ่ หรือเชื่อมโยงสู่การอ่านปรากฏการณ์ทางสังคมได้ เช่น เทปแบบนี้ โดยมากไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตของเกษตรกรและคนทั่วไป แต่จะอยู่ในกิจกรรมชีวิตของคนชั้นกลางและคนทำงานในสำนักงาน ดังนั้น ชุมชนในแหล่งที่ค้นพบม้วนเทปนี้ จึงควรจะเป็นชุมชนการทำงานที่ไม่ใช่ภาคเกษตรกรรม ชาวนาและสังคมชาวบ้าน ไม่มีของแบบนี้ใช้ในกิจกรรมชีวิตทั่วไปเป็นแน่

การวิเคราะห์และฉายภาพให้เห็นกว้างออกไปดังตัวอย่างสมมุตินี้ออกมาได้นั้น ก็เนื่องจากมีความรู้และประสบการณ์ทางสังคม ใช้ความรู้และทฤษฎีมองอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีบทเรียนและทุนประสบการณ์อยู่ในชีวิต ไม่ใช่เพียงความรู้จากหนังสือและความรู้แบบทฤษฎีบอก ความรู้สังคมแบบนี้ต้องรู้ผ่านการใช้ชีวิตและสร้างต้นทุนประสบการณ์ต่อสังคมไปบนชีวิตการงาน เท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องลักษณะการทำงานและดำเนินชีวิตของสมาชิกผู้เข้าร่วมเวทีนั่นเอง

ความรู้ที่นำมาใช้ในชุดหลังนี้ ทำให้เทปม้วนเดียว สามารถสร้างข้อมูลและชุดความรู้ให้เข้าถึงความเป็นจริงได้หลายระดับ กระทั่งสามารถใช้อ่านสังคม เชื่อมโยงไปเข้าใจสังคมและโลกกว้างได้ ดังนี้เป็นต้น

ระดับแรก คนทั่วไปที่เห็นความเป็นม้วนเทป ไม่สามารถเห็นมิติอื่นนอกเหนือจากที่หลักฐานและข้อเท็จจริงกรณีเล็กๆได้แสดงตนเอง ก็เป็นการเห็นกรณีเฉพาะแคบๆ ระดับที่สอง คนที่เห็นเทปด้วยและเห็นคุณสมบัติเชื่อมโยงกับการใช้สอยด้วย ก็มีความรู้กว้างขึ้นไปอีก ระดับที่สาม คนที่เห็นเทป รู้จักเทป พร้อมกับเห็นกิจกรรมการใช้งานที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับชนิดของเทป จากนั้น ก็สามารถเห็นผู้คน สังคม ระบบการผลิต บริการ ตลอดจนมิติอื่นๆ ก็จะเป็นคนที่เห็นเทปกับสามารถเห็นโลกกว้างที่บันทึกและสะท้อนอยู่ในความเป็นทั้งมวลของเทป เหมือนกับการเห็นตนเอง ที่จะต้องรู้วิธีเห็นความสะท้อนและความเชื่อมโยงออกจากชีวิตด้านใน ไปสู่สังคมและความเป็นจริงของโลกภายนอก  มีพลังการบอกเล่ามิติสังคมอย่างกว้างขวางด้วย

เมื่อนำเอาระเบียบวิธีและเทคนิคการวิจัย ผสมผสานทั้งวิธีเชิงคุณภาพและปริมาณแบบต่างๆ มาใช้บนกรอบแนวคิดอย่างนี้ ก็จะทำให้การเน้นพัฒนาชีวิตด้านในไม่เป็นการสร้างข้อจำกัดให้ตนเองคับแคบ แต่กลับจะยิ่งลึกซึ้งและมีพลังในการใช้ของจริงที่พิสูจน์ตรวจสอบไปบนการปฏิบัติและการใช้ชีวิตของตนเองไปด้วย สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ

ด้วยกระบวนการและวิธีการทางความรู้ รวมทั้งวิธีถอดบทเรียนและพัฒนาวิธีวิทยาทางการวิจัยในลักษณะนี้ ก็จะช่วยแก้ปัญหา แปรข้อจำกัดที่มีแต่เดิม ให้กลายเป็นพลังความรู้ซึ่งวิธีวิจัยแบบอื่นจะให้ไม่ได้ คนปฏิบัติธรรม เจริญสติภาวนา และพัฒนาชีวิตด้านใน จะไม่เป็นคนความรู้แคบ การถอดบทเรียนและความรู้ที่สั่งสมขึ้นจากกรณีจำเพาะตนอันหลากหลาย ทั้งโดยการถอดบทเรียนกระทั่งยกระดับต่อเนื่องเข้าสู่การวิจัย ก็จะส่งเสริมให้ความรู้เชิงสังคมที่เชื่อมโยงกับการปฏิบัติและพัฒนาชีวิตด้านใน มีพลังต่อการสร้างสุขภาวะสังคม ให้เกิดความหลากหลายและมีความมั่งคั่งยั่งยืนไปกับสภาวการณ์ความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาได้มากยิ่งๆขึ้น

กลุ่มผู้เข้าร่วมกระบวนการได้นั่งถอดบทเรียนตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ๒ วัน ผมก็บรรยายและเชื่อมโยงทฤษฎีให้ในทุกมิติทั้งสองวัน ขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนการ ให้ผสมกลมกลืนไปกับกิจกรรมหลายอย่างที่ควรเป็นโอกาสได้ปฏิบัติ

ปิดท้ายด้วยการให้ทุกคนได้กล่าวขอบคุณ สะท้อนทรรศนะ และกล่าวอนุโมทนา เสริมพลังใจ และแลกเปลี่ยนความบันดาลใจต่างๆในชีวิต ที่จะกลับออกไปสะท้อนสู่วงจรปฏิบัติในอนาคตต่อไป ซึ่งก็ได้เกิดประเด็นความสนใจที่เห็นความเชื่อมโยงกันได้ในหลายเรื่อง ต่างมีความสำคัญและมีต้นทุนอยู่ในประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมเวทีหลายระดับ บางเรื่องมีความสำคัญต่อสังคมในอนาคตและกลุ่มผู้ไร้โอกาสมาก ช่วงท้ายนี้ ทุกคนถือโอกาสเปิดใจให้กันด้วย เลยต่างได้ต่อมน้ำตาแตกตื้นตันใจไปกับแทบทุกคนเลยทีเดียว

เวทีอย่างนี้ผมและกลุ่มไม่จำเป็นต้องสรุปให้เป็นบทเรียนและผูกขาดการชี้นำให้เห็นถึงการบรรลุวัตถุประสงค์เบ็ดเสร็จเชิงเดี่ยวโน้มไปทางใดทางหนึ่ง เพราะเป็นวิธีจัดการความรู้และเป็นกระบวนการเรียนรู้ ที่อยู่บนวงจรการทำงานและการดำเนินชีวิต จะมีอยู่เสมอโดยยืดหยุ่นรูปแบบและกระบวนการไปตามเงื่อนไขและความจำเป็นของแต่ละคน ทุกคนต่างได้เป็นความจำเพาะตนและต่างก็สรุปเป็นบทเรียนที่จะติดตัว นำไปใช้อยู่กับการปฏิบัติของตนเอง ตามบริบทของชีวิตและการงานที่แตกต่างกัน ผมเองก็เช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 494541เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2012 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณท่านอาจารย์ดร.จันทวรรณครับ ด้วยความรำลึกถึงอีกด้วยครับอาจารย์ ทีมของอาจารย์ได้ช่วยประสานงานเรื่องอาจารย์และเครือข่ายถอดบทเรียน Fac ชุมชน CoP ออนไลน์ จะไปนำเสนอบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวันที่ ๒๔ กค.นี้ที่สงขลาด้วยแล้วครับ ผมเสียดายมากอย่างยิ่งที่ไม่ได้ไปร่วมด้วยตนเองโดยตรง คงส่งไปร่วมได้ด้วยเอกสาร 

อันที่จริงนั้น ในช่วงนั้นผมจะอยู่ทางใต้และที่นครศรีธรรมราชพอดีครับ ตอนเดินทางไปสงขลาอาจจะพออาศัยรถของท่านอาจารย์ดร.วัลลาจากวลัยลักษณ์ได้ แต่ตอนกลับจะกลับไม่ทันไปทำหน้าที่วิทยากรและผู้กำกับกระบวนการถอดบทเรียนและติดตามให้การสนับสนุนทางวิชาการร่วมกับทีมอาจารย์และนักวิจัยอีกหลายคน ให้กับเครือข่ายวิจัยสุขภาพชุมชนกับสุขภาพปฐมภูมิ ที่ศูนย์สุขภาพภาคประชาชนภาคใต้และ สกว สนับสนุนให้กับ รพส ตและเครือข่ายจังหวัดต่างๆในภาคใต้อยู่

แล้วก็แต่เดิมนั้น ผมจะสามารถไปได้ครับ แต่หลังจากที่หลายท่านสลับเวลากันได้ลงตัวแล้ว ก็ตรงกับช่วงที่ผมลงพื้นที่ครั้งนี้พอดี ลองประสานงานที่จะขยับแทนกันดูแล้วครับ แต่มีผู้นำชุมชนและคนทำงานในพื้นที่ในจังหวัดต่างๆเยอะ กำลังทำงาน และหาเวลาทำอย่างนี้ไม่ค่อยได้ เลยต้องถือเอาวาระของชาวบ้านกับกลุ่มที่ไม่ค่อยมีโอกาสมากเป็นหลักก่อน เสียดายมากครับ อยากได้เรียนรู้ไปกับทุกท่านที่ได้ไป แต่ก็คิดว่าจะยังมีการทำงานที่ต่อเนื่องและได้เชื่อมโยงการทำสิ่งต่างๆด้วยกันได้อยู่ต่อไป เลยคิดว่าคงจะมีโอกาสได้ร่วมกระบวนการดีๆอย่างนี้อีกนะครับ

ขอบคุณคุณสุทธิพงศ์ที่แวะมาเยือนกันนะครับ
สบายดีนะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท