หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ว่าด้วยการศึกษาดูงานสู่การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ อบต.หนองบัว


การศึกษาดูงาน เป็นกระบวนการที่มุ่งสู่การเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ในสถานที่อื่นๆ ที่สามารถเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้แจ่มชัดมากขึ้นกว่าเดิม เป็นการเรียนรู้ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา หรือแต่ต้องสัมผัสได้ ก่อเกิดเป็นความเข้าใจที่มากขึ้นกว่าเดิม สามารถนำกลับมาปรับประยุกต์ใช้กับเรื่องที่ตนเองสนใจได้อย่างเป็นรูปธรรม

การศึกษาดูงาน (Study tour)  เป็นกระบวนการหนึ่งที่ถูกนำมาขับเคลื่อนในกิจกรรม “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”

กรณีดังกล่าวนี้  ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา  ผู้รับผิดชอบหลักโครงการ “จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว” ของสาขาสารสนเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ ก็ได้นำเอากระบวนการ “ศึกษาดูงาน” เข้ามาหนุนเสริมกิจกรรมหลักด้วยเช่นกัน  โดยในวันที่ 29  มิถุนายน 2555  ได้นำบุคลากรจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม  จำนวน 30 คนเข้ามาศึกษาดูงานเรื่อง “การจัดเก็บและสืบค้นสารสนเทศท้องถิ่น”  ในศูนย์อีสานสิรินธร ณ สำนักวิทยบริการ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 

 

 

โครงการ “จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว”  ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ (1)  จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน  (2) รวบรวมเผยแพร่ ความรู้ภูมิปัญญาของชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สถานที่สำคัญ สถานที่ท่องเที่ยว วิถีชีวิต และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน การดำรงชีวิต การสร้างงาน อาชีพ  พัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันในชุมชน (3) พัฒนาระบบการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศในศูนย์การเรียนรู้ชุมชน

ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงการ หรือกิจกรรมดังกล่าว  เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมอันหลากหลายที่คณะวิทยาการสารสนเทศได้บูรณาการสหสาขาวิชา (Inter-discipline)  ต่างๆ ลงสู่ชุมชน อบต.หนองบัวด้วยกันทั้งหมด  เป็นต้นว่า

  • จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน  (สาขาสารสนเทศศาสตร์)
  • การผลิตสื่อมัลติมีเดีย  (สาขาสื่อนฤมิต)
  • อบรมการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันและติดตั้งศูนย์ไอที  (สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์)
  • ทักษะการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (สาขาภูมิสารสนเทศ)
  • ทักษะการประชาสัมพันธ์องค์กร (สาขานิเทศศาสตร์บัณฑิต)
  • การใช้ระบบสารสนเทศที่จำเป็นต่อการเรียนการสอน  (สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)

 

 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า  โครงการดังกล่าวได้เริ่มต้นด้วยกระบวนการที่แตกต่างไปจากโครงการอื่นอยู่ไม่ใช่น้อย  เนื่องจากส่วนใหญ่มักกำหนดให้กิจกรรม “ศึกษาดูงาน”  (ทัศนศึกษา)  เกิดขึ้นในห้วงระยะสุดท้ายของการดำเนินการ  เป็นการหนุนเสริมพลังความคิดและแรงบันดาลใจหลังจากขับเคี่ยวกับการเรียนรู้ใน “ภาคทฤษฎี หรือเชิงปฏิบัติการ” มาแล้วระยะหนึ่ง  เมื่อไปศึกษาดูงานก็จะช่วยให้มองภาพ “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” หรือเรื่องราวต่างๆ ได้แจ่มชัดมากขึ้น 

 

หากแต่ครั้งนี้กลับกลายเป็นการพาชาวบ้านมาศึกษาดูงานก่อน  จากนั้นก็กลับสู่พื้นที่  เพื่อปั้นแต่งรูปแบบ (Model) อันเป็น “ศูนย์การเรียนรู้”  ของตนเองอีกครั้ง  แต่ไม่ว่าจะจัดให้มีการศึกษาดูงาน “ก่อน”  หรือ “หลัง”กระบวนการทั้งหมด  ต้องยอมรับในเนื้อแท้ว่าการศึกษาดูงานคือกลไกหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถของคน (Capacity Building)  ส่วนจะถูกกำหนดไว้ในระยะใดของการขับเคลื่อนกิจกรรม  ย่อมอยู่ที่แนวคิดการออกแบบแต่ละโครงการฯ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ  “...เมื่อศึกษาดูงานแล้ว ย่อมหลีกไม่พ้นการ “ถอดบทเรียน”  เพื่อให้เห็น “องค์ความรู้” ที่จะนำกลับไปประยุกต์ใช้กับชีวิตและการงานของตนเอง...”

 

 

ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่าการศึกษาดูงาน (Study tour)  "...เป็นกระบวนการที่มุ่งสู่การเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ในสถานที่อื่นๆ ที่สามารถเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้แจ่มชัดมากขึ้นกว่าเดิม เป็นการเรียนรู้ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา หรือแต่ต้องสัมผัสได้  ก่อเกิดเป็นความเข้าใจที่มากขึ้นกว่าเดิม สามารถนำกลับมาปรับประยุกต์ใช้กับเรื่องที่ตนเองสนใจได้อย่างเป็นรูปธรรม..."

 

สำหรับการศึกษาดูงานในครั้งนี้  เห็นได้ชัดว่าการปรับแผนด้วยการเดินทางมาศึกษาดูงานก่อนกระบวนการอื่นใดนั้น  จะช่วยให้ชาวบ้านเห็นความเป็นรูปธรรมของ “ศูนย์เรียนรู้” ที่อยากให้มีขึ้นในชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อกลับสู่ระบบการเรียนรู้ในพื้นที่  ซึ่งอาจเต็มไปด้วยทฤษฎีและการปฏิบัติ หรือแม้แต่การรวบรวมข้อมูล เพื่อแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่างๆ  จึงย่อมง่ายต่อการสร้างความเข้าใจและนำกลับไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น  มิหนำซ้ำยังจะเกิดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการปกป้อง “มรดกทางวัฒนธรรม” ของชุมชน หรือท้องถิ่นของตนเองไปอย่างเสร็จสรรพ

เสมือนการดูละคร แล้วย้อนกลับไปดูตัวเองดีๆ นั่นเอง

 

 

โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่า...

        "...การสร้างศูนย์เรียนรู้ในชุมชนนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญและยิ่งใหญ่เป็นอย่างยิ่ง  เพราะศูนย์การเรียนรู้จะเป็นฐานที่มั่นอันสำคัญในการจารึก หรือตอกย้ำให้ชาวบ้านได้ประจักษ์และตระหนักในคุณค่าของ “มรดกทางวัฒนธรรม” หรือ “รากเหง้า” อันเป็นประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของตนเอง   การเรียนรู้จากวัตถุจริงที่ตั้งแสดงอยู่ในแหล่งเรียนรู้  ย่อมกระตุ้นให้เกิดความกระหายใคร่รู้,กระตุ้นการเกิดความคิดสร้างสรรค์  เกิดความรักและผูกพันกับเรื่องราวหรือท้องถิ่น นอกจากนี้แล้วศุนย์การเรียนรู้ยังเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงในทางสังคม  เพราะจะเป็นพื้นที่ๆ ผู้คนหลากวัย หลากสถานะได้สัญจรเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกัน  ทั้งในมิติของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และในมิติของการพักผ่อนบันเทิงใจ ก่อเกิดเป็นเครือข่ายหนุนเสริมกันและกัน ก่อเกิดความสัมพันธ์เชิงบวกในสังคมไปโดยปริยาย..."

 

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ต้องดำเนินไปด้วยความมุ่งมาดปรารถนาของชุมชนเป็นที่ตั้ง  หากชุมชนไม่เห็นความสำคัญ หรือยังมองไม่เห็นความสำคัญ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมไปโดยปริยาย  และเมื่อเป็นเช่นนั้นจริง ศูนย์เรียนรู้ที่จัดทำขึ้น จึงยากต่อการเติบโตเป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้”

 

 

เหนือสิ่งอื่นใดโครงการ “จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว” ที่ว่านี้ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ในการขับเคลื่อน  เพราะศูนย์การเรียนรู้คงไม่ใช่แค่การจัดกระทำกับข้อมูลที่มีอยู่ หรือการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ เป็นหมวดหมู่เท่านั้น  แต่คงต้องคำนึงถึงการปรับแต่งให้ศูนย์การเรียนรู้มี “ชีวิต” สามารถบูรณาการความเป็นวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้อย่างลงตัว  มีระบบข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน สืบค้นได้รวดเร็ว มีเนื้อหาครอบคลุมบริบทในท้องถิ่น สื่อให้เห็นถึง “รากเหง้า” ของท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่าการเสนอข้อมูลที่ไม่เป็น “อัตลักษณ์” ของชุมชนและท้องถิ่น  จนพลอยให้เกิดความรู้สึกที่ว่าเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ที่ไร้ราก...” 

 

ยิ่งเป็นโมเดลที่ต้องอาศัยการบูรณาการสหสาขาวิชาต่างๆ จากภายในคณะ  ออกสู่การเรียนรู้และสร้างสรรค์สังคมแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน  ผมว่านั่นแหละคือโจทย์ที่ท้าทายที่มหาวิทยาลัยกับชุมชนต้องจับมือกันขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและทำกันอย่างเป็นระบบ  รวมถึงการไม่ละวางที่จะสร้างความเข้าใจในสถานะของการให้และรับ (Give and Take)  อย่างถูกต้องไปพร้อมๆ กัน

  • ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า “ไม่เกินแรงของมหาวิทยาลัยและชุมชนจะรังสรรค์ขึ้นได้”

 

หมายเหตุ :
ภาพโดย  สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

หมายเลขบันทึก: 493533เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2012 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท