เวทนานุปัสสนาเป็นจุดเปลี่ยนซึ่งมีความสำคัญที่สุดในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4


         เพิ่งกลับจากไปอบรมปฏิบัติธรรมหลักสูตรสติปัฏฐาน(22มิย.-1 ก.ค.) ที่ศูนย์อบรมซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาแถวอำเภอสังขละบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี  ช่วงดังกล่าวมีฝนตกตลอดวันตลอดคืนจึงทำให้อากาศเย็นสบาย ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ ทำให้รู้สึกเหมือนมาพักที่รีสอร์ท
        จะเข้าอบรมหลักสูตรนี้ได้ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน(10 วัน)อย่างน้อย 3 ครั้ง  ดังนั้นผู้เข้าอบรมจึงล้วนเป็นศิษย์เก่าที่ผ่านการปฏิบัติมานานพอสมควร  และครั้งนี้มีพระคุณเจ้าร่วมปฏิบัติด้วย 8 รูป ท่านนั่งสงบนิ่งอยู่เบื้องหน้าร่วมกับเราวันละไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง รวมทั้งภาพของผู้ร่วมปฏิบัติทุกคนที่มีวิริยะสูงและรักษาวินัยความสงบเงียบได้อย่างดี  ช่วยเพิ่มพลังจิตการสั่นสะเทือนของเวทนาในขณะทำอานาปานสติและวิปัสสนาให้ แหลมคมรวมทั้งสามารถวางอุเบกขาได้ชัดเจนมากขึ้น
        การอบรมตามหลักสูตรนี้ก็ยึดหลักตามมหาสติปัฏฐานสูตร  4 ประการคือ  กายานุปัสสนา(การเฝ้าดูกาย)  เวทนานุปัสสนา(การสังเกตเวทนาในกาย)  จิตตานุปัสสนา(การสังเกตจิต)  และธัมมานุปัสสนา(การสังเกตธรรมหรือสิ่งที่อยู่ในจิต)
         สาระสำคัญก็ใกล้เคียงกันกับการวิปัสสนา(จิตดูกายตามขันธ์ 5) และโพชฌงค์(ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ) จะต่างกันก็เพียงรายละเอียดย่อยเท่านั้น  ดังนั้นวิธีปฏิบัติตามหลักสูตรนี้จึงปฏิบัติคล้ายกับหลักสูตรวิปัสสนานั่นเอง แต่จะมีคำสอนในพระสูตรที่ลึกซึ้งเพิ่มขึ้นมาเท่านั้น
          อาจารย์ที่สอนหลักสูตรนี้บอกว่า  ในมหาสติปัฏฐานสูตรทั้ง 4 ประการนั้น  พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับเรื่องเวทนานุปัสสนามากที่สุด  เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้เราสามารถหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหาได้หรือไม่ ซึ่งต้องอาศัยวิริยะสูงมาก
         กล่าวคือ ในการพิจารณารูป(กาย)กับนาม(จิต)ตามขันธ์ 5(รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ) เพื่อความหลุดพ้นนั้น  เมื่อมีผัสสะมากระทบที่กาย  ตัววิญญาณจะทำหน้าที่รับรู้ก่อน  จากนั้นสัญญา(ความจำได้หมายรู้)ก็จะประเมินความรู้สึกนั้นตามความเคยชินว่า  เป็นความรู้สึกที่ดีหรือไม่(ทุกขเวทนาหรือสุขเวทนา)ตามการรับรู้เดิมที่สั่งสมไว้  และจะกระตุ้นให้เกิดเวทนา(ความรู้สึก)ขึ้นตามที่สัญญาประเมิน  ถ้าเมื่อเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีหรือที่ดีขึ้นแล้วจิตไปปรุงแต่ง(สังขาร)มีปฏิกิริยาโต้ตอบตามความเคยชินก็จะเป็นการสั่งสมกิเลสให้พอกพูนมากขึ้นนั่นคือต้นเหตุของความทุกข์ทั้งมวล  ดังนั้นทางที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ก็คือ  เมื่อเกิดเวทนาขึ้นต้องฝึกการวางอุเบกขา (วางเฉย)ไม่ไปปรุงแต่งมัน ดูมันไปเฉยๆ  ดูความเป็นอนิจจังที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป อย่างมีสติและมีสัมปชัญญะ(ปัญญารู้ตัวทั่วพร้อม)โดยไม่ไปโต้ตอบกับมันก็จะทำให้เราสามารถขจัดกิเลส ตัณหาให้เบาบางและหลุดพ้นจากความทุกข์ไปได้ ในที่สุด ซึ่งต้องใช้ความเพียรพยายามสูงมาก
          จะเห็นว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดก็คือเวทนานั่นเอง   บันทึกฉบับต่อไปผมจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตามความจริงกับตัวผมเองในการปฏิบัติครั้งนี้ครับ



หมายเลขบันทึก: 493061เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท