หมออนามัย โรคจิตเภท


หมออนามัย โรคจิตเภท

นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ

 

โรคจิตเภท เป็นโรคทางจิตเรื้อรังซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ความคิด thinking ความรู้สึกfeeling และพฤติกรรม behavior โรคจิตเภท คือ กลุ่มอาการของโรคจิต ที่มีความผิดปกติของความคิด มีลักษณะอาการแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ ลักษณะอาการทางบวก และลักษณะอาการทางลบ กลุ่มลักษณะอาการทางบวก หมายถึง อาการที่มีเพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่

1. ประสาทหลอน เช่นได้ยินเสียงคนพูดคุย ได้ยินเสียงคนพูดตำหนิ พูดโต้ตอบเสียง นั้นเพียงคนเดียว

2. อาการหลงผิด เช่นคิดว่ามีเทพวิญญาณอยู่ในร่างกาย คอยบอกให้ทำสิ่งต่างๆ

3. ความคิดผิดปกติ เช่นพูดไม่เป็นเรื่องเป็นราว พูดไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนเรื่องพูด โดยไม่มีเหตุผล

4. พฤติกรรมผิดปกติ เช่นอยู่ในท่าแปลกๆ หัวเราะหรือร้องไห้ สลับกันเป็นพักๆ

กลุ่มลักษณะอาการทางลบ หมายถึง อาการที่ขาดหรือบกพร่องไปจากคนปกติทั่วๆไป ได้แก่

5. สีหน้าอารมณ์เฉยเมย ชีวิตไม่มีจุดหมาย ไม่มีสัมพันธภาพกับใคร ไม่พูด ไม่มีอาการยินดียินร้าย อาการโดยรวมที่พบได้ในภาวะความเจ็บป่วยของโรคนี้ ได้แก่

1.มองโลกผิดไปจากความเป็นจริง ผู้ป่วยโรคจิตเภทมักมองโลกผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วๆไป ผู้ป่วยอาจจะมีอาการวิตกกังวล รู้สึกสับสน อาจจะดูเหินห่าง แยกตัวจากสังคม บางครั้งอาจนั่งนิ่งเป็นหิน ไม่เคลื่อนไหวและไม่พูดจาใดๆ เป็นชั่วโมงๆ หรืออาจเคลื่อนไหวช้า ทำอะไรช้าๆ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ อยู่ตลอดเวลา

2. ประสาทหลอน ผู้ป่วยอาจคิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ตนทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน มาเตือน หรือมาตำหนิในเรื่องต่างๆ ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีคนพูดหรือไม่มีต้นกำเนิดเสียงเหล่านี้เลย ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่า หูแว่ว ผู้ป่วยบางคนอาจมองเห็นคน ผี หรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีสิ่งเหล่านี้และไม่มีใครเห็นเหมือนผู้ป่วย เราเรียกอาการนี้ว่า เห็นภาพหลอน

3.ความคิดหลงผิด เป็นความเชื่อของผู้ป่วยที่ผิดไปจากความเป็นจริงและไม่ได้เป็นความเชื่อในวัฒนธรรมของผู้ป่วย ซึ่งความคิดหลงผิดในผู้ป่วยจิตเภทนี้มักจะแปลกประหลาดมาก เช่น เชื่อว่าพฤติกรรมของเขาหรือของคนอื่นๆถูกบังคับให้เป็นไปด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากต่างดาว เชื่อว่าความคิดของตนแพร่กระจายออกไปให้คนอื่นๆที่ไม่รู้จักรับรู้ได้ว่าตนคิดอะไรอยู่ หรือเชื่อว่าวิทยุหรือโทรทัศน์ต่างก็พูดถึงตัวผู้ป่วยทั้งๆที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น

4. ความคิดผิดปกติ ผู้ป่วย จะไม่สามารถคิดแบบมีเหตุมีผลได้ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยพูดคุยกับคนอื่นไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อคนอื่นคุยกับผู้ป่วยไม่ค่อยเข้าใจก็มักจะไม่ค่อยคุยด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยถูกแยกให้อยู่คนเดียว

5. การแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสม ผู้ป่วยมักจะแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับเรื่องที่กำลังพูด เช่น พูดว่าตนกำลังถูกปองร้ายจะถูกเอาชีวิต ซึ่งขณะพูดก็หัวเราะอย่างตลกขบขัน (โดยไม่ใช่คนปกติที่ต้องการทำมุขตลก)พบได้บ่อยเช่นกันที่ผู้ป่วยจิตเภทจะไม่ค่อยแสดงสีหน้า หรือความรู้สึกใดๆ รวมทั้งการพูดจาก็จะใช้เสียงระดับเดียวกันตลอด ไม่แสดงน้ำเสียงใดๆ ซึ่งอาการของผู้ป่วยจิตเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื้อรังมีบ้างในบางคนที่มีอาการเพียงช่วงเวลาสั้นๆและสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ก็มักต้องการการรักษาที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเหมือนๆ กัน

6.ในเรื่องของการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่เป็นอันตรายมากสำหรับผู้ป่วยจิตเภท ถ้าผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายหรือมีการวางแผนที่จะทำอย่างนั้น ควรจะต้องให้การช่วยเหลืออย่างรีบด่วน เพราะผู้ป่วยจิตเภทมีการฆ่าตัวตายสูง

 อะไรคือสาเหตุ เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของสมองบางส่วน โดยอาจขาดการกระตุ้นให้ทำงาน จากสารสื่อสารของใยประสาทในสมอง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในปัจจุบันยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของโรคจิตเภท ดูเหมือนว่ากรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคนี้พอๆกัน นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ตรงไปตรงมาว่ายีนอะไร สารเคมีตัวไหน หรือความเครียดแบบใดที่เป็นสาเหตุของโรคจิตเภทนี้โดยตรง

โรคจิตเภทมีสาเหตุ มาจากปัจจัยทางด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งทางร่างกายนั้นเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมองในการสร้างสารบางอย่างที่มีปริมาณมากหรือน้อยเกินไป ส่วนทางด้านจิตใจนั้น เกิดจากความเครียดในชีวิตประจำวันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้น ดังนั้นหากสงสัยว่าท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ขอแนะนำให้รีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้ให้การบำบัดรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก สาเหตุ เป็นโรคทางพันธุกรรมทำให้มีการพัฒนาของระบบประสาทผิดปกติ เมื่อมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมก็เกิดโรคนี้ ได้แก่ การที่เกิดขาอออกซิเจนในระหว่างการคลอด มารดาเป็นไข้ในตั้งครรภ์ไตรมาสที่2 มารดาเป็นไข้หวัดใหญ่ในขณะตั้งครรภ์

อาการแสดง จะแบ่งเป็นสองระยะได้แก่

อาการนำก่อนป่วย  อาการนำก่อนป่วยในผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาการชัด บางคนอาการไม่ชัด อาการนำมักจะเกิดขณะวัยเรียน อาการนำอาจจะมีอาการเป็นเดือนก่อนเกิดปรากฏอาการทางจิต แยกตัวเล่น ไม่ยุ่งกับใคร แปลกประหลาด ไม่สามารถปฏิบัติตนให้สมบทบาทได้ เช่นบทบาทของการเป็นเพื่อน ลูก ไม่ดูแลตัวเอง เช่นไม่อาบน้ำหรือหวีผม บุคลิกเปลี่ยนจนเพื่อนสังเกตเห็น มีความคิดแปลกๆ ห่วงใยรูปร่างหน้าตา ชอบดูกระจก กลัวผิดปกติ มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม

อาการทางจิต ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันได้มาก แม้แต่ผู้ป่วยคนเดียวกัน ต่างเวลาอาการของเขาก็อาจจะแตกต่างกันอาการที่ทำให้ผู้ป่วยพบแพทย์

อาการทางจิต ผู้ป่วยจะมีอาการ ประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ตาฝาด ระแวง กลัวคนทำร้าย คิดว่ามีคนสะกดรอยตามปองร้าย แปลความหมายเหตุการณ์รอบตัวผิดจากความเป็นจริง เช่นเพื่อนรูปหน้าแปลว่าหน้าด้านไม่รู้จักอาย อาละวาด ทำลายข้าวของ พยายามฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายผู้อื่น

ความสามารถในการดำเนินชีวิตเสื่อมลง การเรียนเลวลง หรือเรียนไม่ได้ การงานบกพร่อง ทำงานไม่ได้เท่าที่เคยทำ เกียจคร้าน ความสัมพันธ์กับบุคลอื่นไม่ราบรื่น เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ระแวง คิดแปลเจตนาของผู้อื่นในทางลบ หงุดหงิด ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง ไม่อาบน้ำ ไม่แต่งตัวให้เรียบร้อย ไม่หวีผม ห้องนอนสกปรก

ผู้ป่วยบางรายมาหลังจาก ดื่มเหล้ามาก ใช้สารเสพติด การป่วยทางกาย ลักษณะทั่วไป ผู้ป่วยจะมีกริยาท่าทางประหลาด แต่งตัวไม่เรียบร้อย สกปรก มีกลิ่นเหมือนไม่อาบน้ำแปรงฟัน การเคลื่อนไหว บางคนหยุดนิ่งไม่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวน้อย หรือไม่อยู่นิ่ง ลุกลน พฤติกรรมทางสังคม เก็บตัว แยกตัว หรือวุ่นวายเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่ควร การพูดมีหลายแบบ พูดจาได้ความดี พูดไม่รู้เรื่อง พูดน้อย หรือไม่พูดเลย อารมณ์ บางคนสีหน้าราบเรียบ ไม่แสดงอารมณ์อะไร บางรายสีหน้าไม่สอดคล้องกับเรื่องราวที่พูด และบางรายสีหน้าปกติ ความคิด Though ผู้ป่วยบางรายไม่มีความคิดออกมาเลย บางรายมีความคิดหลั่งไหลออกมารวดเร็วและบางคนคิดเหมือนคนปกติ ความคิดมักจะไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนเรื่องก่อนที่เรื่องกำลังกล่าวจะจบ มีอาการหลงผิด เช่นหวาดระแวงว่าคนจะทำร้าย หูแว่ว ตาฝาด และประสาทหลอน และมักจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารทั้งการรับและการส่ง เช่นโกรธอย่างรุนแรงโดยไม่มีเหตุผลหรือเฉยไม่ตอบสนองเมื่อมีคนพูดด้วย

การดำเนินของโรค ผู้ป่วยจะเริ่มด้วยอาการนำ แล้วตามมาด้วยอาการของโรคอาจจะเกิดแบบเฉียบพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไป อาการสงบลงสลับกับกำเริบขึ้นอีกเป็นครั้งคราว ผ่านไปหลายปีอาจจะมีอาการหลงเหลืออยู่เช่นเดียวกับอาการนำ

 การวินิจฉัยโดยอาการเป็นสำคัญ ผู้ป่วยมีลักษณะดังต่อไปนี้

มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ป่วยเรื้อรัง ความสามารถในการดำรงชีวิตเสื่อมถอย เช่น ทำงานไม่ได้ พึ่งตนเองไม่ได้ เมื่อป่วยแล้วไม่หายเป็นปกติเหมือนก่อนป่วย ต้องวินิจฉัยแยกโรคต่อไปนี้

โรคนี้เวลาหายจะเหมือนคนปกติ การป่วยบางครั้งเป็น โรคจิตเพราะพิษสุรา หรือสารเสพติด เช่น ยาบ้า กัญชา ยาลดความอ้วน โรคทางกาย เช่น SLE โรคลมชัก โรคเนื้องอกในสมอง

การรักษา ทำได้ 3 ทางด้วยกัน

รักษาอาการให้หาย เป็นการใช้ยาในการรักษายาที่ใช้ได้แก่  Haloperidol Resperidone Clozapine ป้องกันมิให้กลับเป็นซ้ำ หากกินยาสม่ำเสมอการกำเริบจะน้อย สาเหตุที่กำเริบคือการถูกตำหนิติเตียนเป็นประจำ การป้องกันไม่ให้โรคกำเริบคือ กินยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง อย่าบ่นว่า ตำหนิ วิจารณ์ซ้ำซาก สิ่งที่สำคัญในการรักษาคือผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีแนวโน้มในการฆ่าตัวเองสูง ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวเองสูงมีลักษณะดังต่อไปนี้ ญาติและผู้ป่วยคาดในความสำเร็จสูง ปรับตัวรับสภาพโรคจิตไม่ได้ ช่วงเวลาที่ต้องระวังในการฆ่าตัวเองคือ ขณะที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาล ระยะ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล มีการสูญเสีย เช่นหย่า ตกงาน เปลี่ยนแพทย์ผู้รักษา อาการดีขึ้นหลังจากป่วยหนักและรู้ว่าตัวเองเป็นโรคจิต สัญญาณบ่งบอกว่าจะฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวเอง มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ มีแรงกดดันผู้ป่วยมากได้แก่ ขาดที่พึ่ง ตกงาน ญาติโกรธ ถูกไล่ออกจากบ้าน อาการกำเริบ หูแว่ว หวาดกลัว รู้สึกมีคนปองร้าย  

ฟื้นฟูจิตใจและฝึกอาชีพ เนื่องจากผู้ป่วยพลาดการเล่าเรียน และการเรียนรู้ชีวิต การต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรค ทางครอบครัวและผู้รักษาต้องประคับประคองให้เขาเรียนรู้วิธีแก้ปัญหา และการฝึกอาชีพ โรคจิตเภทสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ การรักษาโรคจิตเภท ผู้ป่วยควรต้องกินยา อย่างต่อเนื่อง ตามแพทย์สั่ง อาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ยาจะ ช่วยควบคุมอาการและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับเข้าสู่สังคมได้ ดูแลตนเองและทำงานได้          การดูแลผู้ป่วยให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้

1. กระตุ้นให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ซักผ้า

2. ให้ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ เช่นรดน้ำต้นไม้ ถูบ้าน ล้างชาม

3. ให้ประกอบอาชีพเดิมที่เคยทำอยู่ตามความสามารถของผู้ป่วย เช่น ค้าขาย ทำสวน

4. ให้ประกอบอาชีพใหม่ใกล้บ้านตามความสนใจและตามความถนัด

ญาติมีส่วนช่วยในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท

ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตนั้น สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ญาติต้องให้ความเข้าใจ และ เห็นใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยมิได้มีเจตนาจะสร้างความเดือดร้อน ความรำคาญให้กับญาติ ควรให้อภัยและไม่ถือโทษโกรธผู้ป่วย ไม่ควรขัดแย้งหรือโต้เถียงกับผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิตเหล่านั้น พร้อมทั้งเสนอความช่วยเหลือแก่เขา ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก อันดับต่อไปคือให้การดูแลเรื่อง การกินยา การดูแลสุขภาพอนามัย การพาไปพบแพทย์ตามนัด และหากในระหว่างอยู่บ้าน ผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้น ก็ให้ขอคำแนะนำปรึกษาจากแพทย์ หรือพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้านเพื่อผู้ป่วยจะได้รับการดูแล ที่เหมาะสมต่อไป ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรเพิ่ม หยุด หรือลดยาเอง ช่วยพาผู้ป่วยไปรับการบำบัดรักษาให้สม่ำเสมอ ตรงตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่ให้การดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ ถ้าผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดูสับสน วุ่นวาย ดื้อ ไม่ยอมกินยา ไม่ยอมมาพบแพทย์ ญาติควรจะมาติดต่อกับแพทย์ เพื่อเล่าอาการของผู้ป่วยให้แพทย์ทราบซึ่งญาติจะได้รับคำแนะนำเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วย ถ้าพบความผิดปกติ เช่น พูดพร่ำ พูดเพ้อเจอ พูดคนเดียว เอะอะ อาละวาด หงุดหงิด ฉุนเฉียว หัวเราะหรือยิ้มคนเดียว เหม่อลอย หลงผิด ประสาทหลอน หวาดกลัว ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

จัดหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำโดยเฉพาะในเวลากลางวัน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยคิดมาก ฟุ้งซ่าน แต่ก็ไม่ต้องถึงกับบังคับมากเกินไป โรคจิตเภทมักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาจะไม่หายเอง ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรม ที่เป็นปัญหา ก้าวร้าว อาละวาด ตีคน บางรายถูกจับล่ามโซ่เพราะญาติไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่ออายุมากขึ้นอาการ มีพฤติกรรมที่ผิดปกติที่เกิดขึ้น จะค่อยๆลดลง ผู้ป่วยจะอาละวาดน้อยลงแต่จะเหลืออาการ พฤติกรรมที่ปกติหายไป มากขึ้น ผู้ป่วยจะไม่อาบน้ำ เนื้อตัวสกปรก บางรายเร่ร่อนเที่ยวเดินคุ้ยขยะ ผู้ป่วยบางรายมีอาการดีขึ้น เมื่อแก่ตัวและเริ่มรู้ว่าชีวิตทั้งชีวิตหายไปโดยไม่ได้เรียนรู้วิชาชีพ หรือทำอะไรขึ้นมาเลยและเกิดภาวะซึมเศร้า บางรายถึงกับฆ่าตัวตาย

 

คำสำคัญ (Tags): #โรคจิตเภท
หมายเลขบันทึก: 493058เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท