สร้าง PLC ครู : เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จ.ยะลา


          มาอีกหนึ่งจังหวัด ที่การเริ่มต้นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี จ.ยะลา   วันที่ 13-15 มิ.ย. 2555    ผอ. ณรงค์  ชูเพชร (ผอ.กองการศึกษาฯ อบจ.ยะลา)  เป็นผู้จัดการเครือข่ายของจังหวัดยะลา   และมีทีมวิทยากรพี่เลี้ยงจากส่วนกลางโครงการฯ คือ คุณจตุพร  วิศิษฏ์โชติอังกูร และคุณวีระพงศ์  ทวีศักดิ์  มาช่วยเริ่มต้นค่ะ

 

2 Day Basic Facilitator Training & 1 Day Sharing Network

            13-14 มิถุนายน 55 กับการฝึกทักษะพื้นฐาน facilitator ของอาสาสมัครแกนนำครูสอนดี จ.ยะลา 17 คน ด้วยกิจกรรมหลักๆ คือ

  1. ฝึกทักษะการฟังและเล่าเรื่อง ผ่านการจับคู่เล่าเรื่อง “ความสุขของชีวิต หรือ ความทรงจำที่เป็นความสุข”  
  2. กระตุ้นแรงบันดาลใจ ปรับเปลี่ยนแนวคิด ในตัวครู โดยคุณวีระพงศ์ ใช้สื่อวิดิโอ และกิจกรรมเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ครูต้องมีความสุขและเกิดความพร้อมในตัวเองก่อน จึงจะไปสร้างสิ่งเหล่านี้ให้แก่เด็กได้  และความทุกข์มักเกิดจาก 2 สิ่ง คือ อุปสรรค กับ ปัญหา ถ้าเรามองปัญหาในชีวิต คือ การทำให้เราได้ฝึกทักษะชีวิต (ให้มองเหมือนการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ที่เมื่อเราได้เจอโจทย์เยอะ เราก็จะได้ฝึกแก้ได้เยอะ)     ทุกครั้งที่เราเจอปัญหา ที่ต้องแก้คือ ทัศนคติ..ความคิดที่ผิด ทำให้เราทุกข์  ทุกข์จากสิ่งที่เราอยากมี...แต่ไม่มี,  ทุกข์จากสิ่งที่เราไม่อยากมี    แต่มี    ให้หันกลับมามองบางสิ่งที่เรามี  แต่ที่ผ่านมาเรากลับมองไม่เห็นคุณค่า (เท่ากับเราไม่มี)   เพียงแต่เราปรับทัศนคติ 2-3 ข้อ เราก็จะมีความสุขมากขึ้นทันที  เช่น การทำสิ่งที่มีคุณค่า (ทำด้วยหัวใจที่เห็นคุณค่า)   เหมือนกับการเป็นครูสอนลูกศิษย์นับสิบ  (ครูกำลังทำงานที่มีคุณค่า แต่บางทีตัวเองมองไม่เห็นคุณค่า)
  3. เรียนรู้ตัวเอง และเข้าใจผู้อื่น เห็นความแตกต่างหลากหลายในคน จากกิจกรรมกงล้อสี่ทิศ วิธีคิดสี่แบบ
  4. ช่วยกันมอง  “โอกาสในการพัฒนา และปัจจัยเอื้อ รวมถึงต้นทุนที่สำคัญต่างๆ ในการจัดการศึกษา จ.ยะลา”    และ  “ปัญหา/ข้อจำกัด/อุปสรรค ในการจัดการศึกษา จ.ยะลา” 
  5. พูดคุย ตีความผ่านประเด็น  “อยากเห็นเด็กยะลา เป็นอย่างไร?”  พบว่าเป้าหมายที่แท้จริงของคุณครูแกนนำยะลา ไม่ได้มีอยู่แค่ต้องการให้เด็กสอบได้คะแนนดี  เพราในพื้นที่เสี่ยงภัยก่อการร้ายภาคใต้ของไทย  ยกตัวอย่างสิ่งที่คุณครูเขียนมาว่าอยากเห็นเด็กยะลา ในอนาคต เช่น สามารถปรับตัวอยู่ในสังคม อยู่ในพื้นที่เสี่ยงนี้ได้อย่างมีความสุข เกิดความรัก ความเข้าใจและร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างสันติสุข มีคุณธรรม น้ำใจ เคารพในสิทธิตนเองและผู้อื่น ซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นตลอดจนสังคม ใฝ่เรียนรู้และสามารถเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา มีความคิด มีสติ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีต่อชาติ ไม่เข้าไปอยู่ในอบายมุข และมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี   (นี่จะเป็นการตีความ ทักษะอนาคตในศตวรรษที่ ๒๑ ของครูแกนนำยะลา  ที่อิงกับบริบทพื้นที่)

           ดังนั้นบทบาทของคุณครูยะลา จะอยู่ที่การสอนแบบเดิมที่ให้แต่เนื้อหาความรู้คงไม่ได้ บทบาทของครูควรต้องเปลี่ยนไป? เป็นประเด็นที่ชวนให้กลุ่มครูแกนนำคุยกันเพื่อหาทางเปลี่ยนแปลง

 

 

          6. ดูคลิปวิดิโอ “วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑”  6  นาที  และเชื่อมโยงสิ่งที่ทีมครูแกนนำ ยะลาอยากเห็น กับทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และบทบาทครูที่ต้องเปลี่ยนไปไม่เน้นการสอน  แต่เน้นการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL  เป็นแนวทางที่กลุ่มครูแกนนำค่อนข้างเห็นด้วยที่จะช่วยกันสร้างเครือข่ายการพัฒนานี้

          7. กิจกรรมแบ่งกลุ่มทดลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตีความทักษะอนาคตในศตวรรษที่ ๒๑  และ  PBL จากเรื่องราวตัวอย่างจริงในคลิปวิดิโอที่นำมาฉาย  โดยให้มีอาสาสมัครหนึ่งคนเป็น facilitator ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

           8. งานสุดท้ายของการฝึกกลุ่มครูแกนนำให้เป็น facilitator  คือ นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาออกแบบเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี  ที่จะมีขึ้นในวันถัดมา (15 มิ.ย.55) กับผู้เข้าร่วมครูสอนดีเพิ่มอีก 100 คน  ดูกลุ่มครูแกนนำตื่นเต้นแต่ก็ตั้งใจกันดีทีเดียว มีการแบ่งส่วนงานการเตรียมในแต่ละกิจกรรมและขอความช่วยเหลือบางช่วงเวลากับทีมวิทยากรพี่เลี้ยง

  

        เสียดายที่ตัวผู้บันทึกเอง ไม่สามารถอยู่สังเกตการณ์ต่อได้ในวันที่ 15 มิ.ย.55  วันจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ครูแกนนำเป็นคนจัดว่าผลออกมาเป็นเช่นไร (คงต้องรอการบอกเล่าจากพื้นที่และทีมวิทยากรพี่เลี้ยง)  เพราะต้องรีบเดินทางกลับจากยะลา และต่อไปยัง จ.บุรีรัมย์  ที่กำลังจะเริ่มจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูสอนดี  จ.บุรีรัมย์ ครั้งที่ 1 เช่นเดียวกัน

 

คำสำคัญ (Tags): #plc#ครูสอนดี
หมายเลขบันทึก: 492839เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท