ประเพณีฟังธรรมปลาช่อน


การฟังธรรมปลาช่อนนี้ เป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นของล้านนา ซึ่งมีการสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มหาดูได้ยากเต็มที

 

 

 เรื่องเล่าจากบ้านแม่ตาด :

ประเพณีฟังธรรมปลาช่อน

 

 เครื่องประกอบพิธีกรรม

 

(๑)


 

          เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2555  ชาวบ้านแม่ตาดและชาวตำบลห้วยทรายได้ร่วมกันจัดพิธี "ฟังธรรมปลาช่อน" ขึ้น ณ บริเวณฝายหลวงของบ้านแม่ตาด ซึ่งพิธีกรรมนี้ถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ

          โดยประเพณีฟังธรรมปลาช่อนนี้ ชาวบ้านแม่ตาดและชาวตำบลห้วยทรายได้ร่วมกันจัดขึ้นทุกปี ในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 (เดือนทางภาคเหนือ) เพื่อ "ขอฝน" บูชาผีขุนน้ำหรือบูชาสายน้ำที่ได้ประทานความชุ่มชื้นและความอุดมสมบูรณ์มาให้กับชุมชนตลอดทั้งปี เป็นการสืบชะตาให้กับสายน้ำ แสดงความกตัญญูต่อสายน้ำที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวชุมชน ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านได้ช่วยกันสืบสานต่อๆ กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เพื่อช่วยกันอนุรักษ์สายน้ำต่างๆ ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป

          การฟังธรรมปลาช่อนนี้ เป็นประเพณีหรือวัฒนธรรมท้องถิ่นของล้านนา ซึ่งมีการสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มหาดูได้ยากเต็มที

          ทั้งนี้  พิธีกรรม "ขอฝน" นั้น มีอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย เพียงแต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันและมีรูปแบบพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป เช่น  พิธีแห่นางแมว พิธีสวดขอฝน และประเพณีแห่บั้งไฟ เป็นต้น  ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับการขอฝนหรือดินฟ้าอากาศทั้งสิ้น

 

 

(๒)

 

 

          อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ  แห่งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้กล่าวถึงประเพณีฟังธรรมปลาช่อนเอาไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้ว่า.....


          "......ในพิธีกรรมขอฝนตามความเชื่อของชาวล้านนา สิ่งที่นิยมปฏิบัติคือ สวดพระปริตร์ คาถาขอฝนและคาถามหาเมฆ ตามด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง "พญาปลาช่อน" หรือชื่อเต็มคือ "มัจฉาพญาปลาช่อน" ซึ่งเป็นหัวใจของงาน

          พระธรรมเทศนาดังกล่าวเป็นคัมภีร์ประเภทชาดก เนื้อเรื่องผูกขึ้นโดยมีพญาปลาช่อนเป็นตัวละครเอกบำเพ็ญสังคหวัตถุธรรมจนสามารถช่วยเหลือบริวารให้รอดพ้นจากภัยแล้งได้สำเร็จ เรื่องนี้เมธาจารย์ผูกเรื่องไว้ดังนี้

         ในครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นราชาปลาช่อน ได้ปกครองบริวารปลาทั้งหลายในสระแห่งหนึ่ง ซึ่งแวดล้อมด้วยไม้นานาพันธุ์ ครั้งหนึ่งเกิดภาวะแห้งแล้งไปทั่ว ข้าวกล้าพืชพันธุ์เหี่ยวเฉาตาย น้ำในแหล่งน้ำแห้งขอด เหล่ามัจฉาชาติและสัตว์น้ำถูกบรรดาแร้ง เหยี่ยว กาและนกกระยางโฉบลงมาจิกกินเป็นอาหาร ปลาและสัตว์น้ำต่างได้รับความเดือดร้อน ราชาปลาช่อนเห็นดังนั้นก็ออกมาตั้งจิตอธิษฐาน พร้อมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ประกาศคาถาว่า แม้นตนจะเกิดมาในฐานะที่บริโภคสัตว์ด้วยกันก็จริงอยู่ แต่ตนก็มิเคยเบียดเบียนสัตว์ใด ด้วยสัจจะดังกล่าวขอให้ฝนตกลงมา เพื่อสงเคราะห์สัตว์ที่กำลังเดือดร้อนด้วยเถิด

         ด้วยอานุภาพแห่งสัจจาธิษฐาน ทำให้แท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระอินทร์ร้อนและแข็งกระด้าง เมื่อพระอินทร์ทราบเหตุก็บัญชาให้เทพบุตรชื่อ วลาหกเทพบุตร ลงมาบันดาลให้ฝนตก โดยห่มคลุมกายด้วยผ้าสีเขียวเหมือนเมฆ ขับเพลงอันมีชื่อ "เมฆคีตะ" ผินหน้าเฉพาะทิศตะวันตก พลันเหล่ามวลเมฆก็แตกเป็นเสี่ยง เกิดเสียงกึกก้องทั่วจักรวาลเกิดเป็นฝนห่าใหญ่เนืองนองทั่วท้องปฐพี

          จากเนื้อหาของเรื่อง จึงนิยมนำคัมภีร์นี้มาอ่านแสดงเป็นพระธรรมเทศนาประกอบพิธี ซึ่งพิธีจะประกอบด้วยกิจกรรมโดยสังเขปคือ หาสถานที่ที่เหมาะสม เช่น บริเวณต้นน้ำ ลำธารใหญ่ หรือแม่น้ำที่อยู่ทิศตะวันออกหรือทิศเหนือของหมู่บ้าน ขุดสระจำลองขึ้นโดยให้กลางสระเป็นเกาะสำหรับประกอบพิธี รอบๆ สระมีการขัดราชวัตรประดับธงทิว พร้อมต้นกล้วย อ้อย ข่า ตระไคร้ ใบขิง แกะรูปสัตว์ปีก คือ กา นกกระยาง เหยี่ยว และแร้ง เกาะจับตามกิ่งไม้โดยให้กาอยู่ทิศตะวันออก นกกระยางอยู่ทิศใต้ เหยี่ยวเกาะทิศตะวันตกและแร้งจับกิ่งไม้ทิศเหนือ จัดหาปลาช่อนตัวใหญ่ไว้สองตัว พร้อมสัตว์น้ำนานา อาทิ กุ้ง ปู หอย ไว้จำนวนหนึ่ง

          เมื่อถึงวันงาน พระสงฆ์จะเจริญพุทธมนต์บนเกาะกลางสระ จากนั้นพระเถระรูปใดรูปหนึ่ง อ่านคัมภีร์พญาปลาช่อน พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แล้วปล่อยปลาช่อน และสัตว์น้ำท่ามกลางเสียงฆ้องกลองประโคมไปทั่วอาณาบริเวณ

          ด้านรายละเอียดของพิธี แต่ละถิ่นอาจมีข้อปฏิบัติแปลกแยกออกไป บางแห่งมีการเชิญพระอุปคุต บูชาพระปัชชุนเทวบุตรหรือสรงน้ำพระพุทธรูปฝนแสนห่า เป็นต้น

          คัมภีร์พญาปลาช่อน เป็นคัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ปกติเก็บรักษาไว้ในหีบพระธรรม ปีใดเมื่อจะประกอบพิธีขอฝน คัมภีร์ดังกล่าวจะถูกนำมาอ่านในพิธีเสมอมา....."

 

 

         วันนี้ ก็เลยนำภาพตอนที่ชาวบ้านแม่ตาดร่วมกันจัดพิธีกรรมหรือประเพณีฟังธรรมปลาช่อนมาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้ชมกันนะครับ

 

 

 

 

          ถ้าหากท่านใดอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับ "ประเพณีฟังธรรมปลาช่อน" เพิ่มเติม  ก็สามารถเข้าไปค้นคว้าและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่นี่นะครับ

          http://www.thainews70.com/news/news-culture-sanon/view.php?topic=235

          http://www.sri.cmu.ac.th/~elanna/elanna51/cere/cere1-02.html

 

 

 

 ชาวบ้านช่วยกันทำปลาชนิดต่างๆ จาก "ไม้น้ำนอง" ซึ่งเป็นไม้หายากชนิดหนึ่ง

ปลาอะไรบ้าง  ก็ลองจินตนาการเอาเองนะครับ   555

ศาลผีขุนน้ำ

 หลังจากเตรียมงานเสร็จ ก็ทานอาหารร่วมกันอย่างเอร็ดอร่อย

 

 

 จัดพิธีขึ้นบริเวณริมฝายหลวงบ้านแม่ตาด

 ฝายหลวงบ้านแม่ตาดที่ลำห้วยแม่ตาดไหลผ่านและมีน้ำตลอดทั้งปี

 พระสงฆ์กำลังเจริญพระพุทธมนต์

 

 ฟังไป ขำไป

 กลุ่มแม่บ้านมาช่วยเตรียมอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมงาน

 บรรยากาศแถวนี้ขลังไม่เบาน่ะ.....จะบอกให้

 ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ตาดกำลังถวายสังฆทานแก่พระสงฆ์

 หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ก็ช่วยกันนำปลาที่ทำจากไม้ปล่อยลงน้ำ

 สงสัยปลา(ไม้)คงจะว่ายไปไกลแล้วล่ะ   555

 ถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ที่มาร่วมทำพิธีกรรม

 

 

เพลง  "แห่นางแมว"

ศิลปิน   "ไวพจน์   เพชรสุพรรณ"

 

หมายเลขบันทึก: 491513เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 04:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่เคยได้ยินประเพณี "ฟังธรรมปลาช่อน" มาก่อนเลยค่ะ

ขอถามนิดนึงนะคะคุณอักขณิช.. ทำไม.. ไม่ใช้ปลาช่อนตัวจริงคะ

เพราะถ้าปล่อยลงน้ำคงจะดี

 

สวัสดีครับ คุณ kunrapee

 

* ประเพณีนี้มีเฉพาะในท้องถิ่นล้านนานะครับ แม้แต่คนท้องถิ่นล้านนาเองบางส่วนก็ไม่รู้จักประเพณีนี้เลยนะครับ เพราะมีอยู่เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้นเอง ยิ่งเด็กสมัยใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งไม่รู้จักใหญ่เลย

** เป็นการสมมติขึ้นมานะครับ ส่วนสาเหตุที่ไม่ใช้ปลาช่อนจริงๆ มาประกอบพิธีนั้น อาจจะเป็นเพราะว่าหาปลาช่อนตัวโตๆ ได้ยาก และอาจจะเข้าข่ายทรมานสัตว์ด้วย เนื่องจากต้องใช้เวลาทำพิธีกรรมนานมาก กว่าจะเสร็จพิธีปลาก็แห้งตายพอดีเลย 555

ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ดิฉันว่าการบันทึกประเพณีของไทยลงในโลกอินเทอร์เน็ตจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักและสนใจความเป็นไทยยิ่งขึ้นค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

 

* คนไทยทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าส่วนใหญ่จะรู้จักประเพณีหลักๆ หรือสำคัญๆ เท่านั้นเองนะครับ ส่วนประเพณีย่อยหรือประเพณีท้องถิ่นนั้น มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รู้จัก และมีเพียงส่วนน้อยที่เข้าใจเนื้อหาได้อย่างละเอียด....กรณีของประเพณีฟังธรรมปลาช่อนนี้ คนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นเองก็ไม่รู้จักเลยนะครับ มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่รู้จักและเข้าใจเรื่องราวได้อย่างดี

** ผมจะพยายามนำเรื่องราวเหล่านี้มานำเสนอเรื่อยๆ นะครับ เพื่อจะช่วยทำให้ประเพณีท้องถิ่นของไทยเรามีคนรู้จักและสนใจมากยิ่งขึ้น

คุณอักขณิชค่ะ...ดีจังค่ะได้รับความสุขเพลิดเพลินไปกับภาพและเรื่องเล่าว แสดงความร่วมมือของชุมชน สืบสานประเพณีดีๆเช่นนี้..ว่าแต่ว่า..ไม้น้ำนอง ก็ช่างจะถูกเลือกมาทำปลา "ช่อน" ..ความหมายก็คงจะดีด้วยนะค่ะ ..น้ำนอง..:-)) แต่ถ้าให้ผู้สาวช่วยประดิษฐ์ไม้ให้เป็นปลาช่อน อาจจะดู อ่อนหวานขึ้นก็ได้น๊่ะ....ยังไงจากภาพ เห็น ผู้บ่าวนั่งตั้งหน้าตั้งตา..เหลาไม้.. แฮ่ๆ ..ก็ใช้ได้อยู่...ปลาช่อน...ดูจากเกล็ด..อิอิ..พยากรณ์ว่า ปีนี้น้ำจะ "พอดี" .ไม่มากเกินไม่น้อยเกิน.. ใช่ไหม๊เอ่ย??

...ชอบเพลงนี้จังเลย..จ้ะ..แห่นางแมว..ได้.เห็น.อารมณ์..คนไทย..จ้ะ..ยายธี

  • เพิ่งเคยเห็นครับ
  • ที่บ้านผมถ้าขอฝนจะเอาปลัดขิก
  • มาวางไว้ที่ทาง 4 แพร่งครับ

สวัสดีครับ อาจารย์ kwancha

 

* ปลาไม้ที่เห็น ชาวบ้านช่วยกันทำสุดฝีมือแล้วนะครับ ฝีมือผู้ชายล้วนๆ เลยดูไม่ค่อยอ่อนหวานเท่าที่ควร 555.....แม่บ้านหรือผู้หญิงจะถนัดเรื่องอาหารมากกว่านะครับ เรื่องประดิษฐ์ปลาจากไม้ไม่ค่อยถนัดเลย.....ยังไงๆ ก็ลองจินตนาการให้ลึกๆ นะครับ แล้วจะมองเห็นเองว่า ปลาและสัตว์น้ำทุกตัวที่เห็นนั้นล้วนสวยงาม มีชีวิต และมีจิตวิญญาณสิงอยู่ในนั้นด้วยแหละ 555

** จากที่เห็นในภาพ ปลาช่อนเกล็ดน้อยอย่างนี้ พยากรณ์ได้ว่า ปีนี้ฝนจะตกน้อยนะครับ จนทำให้น้ำแห้ง ปลาช่อนก็ต้องตะเกียกตะกายหาแหล่งน้ำใหม่ จนเกล็ดหลุดไปเป็นแถบอย่างที่เห็น 555

สวัสดีครับ คุณยายธี

 

บทเพลงบางเพลงสามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตแบบไทยๆ ออกมาได้อย่างชัดเจนเลยนะครับ ต้องนับถือเลยจริงๆ

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต ฝอยทอง

 

แถวภาคอีสานบ้านผมเขาใช้ท่านปลัด(ขิก)สำหรับไล่ผีแม่ม่ายนะครับ

เพิ่งทราบจากอาจารย์คราวนี้เองว่าสามารถใช้ท่านปลัด(ขิก)ขอฝนได้ด้วย

สุดยอดแห่งนวัตกรรมเลยนะครับเนี่ย 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท