ความกลัวเป็นเหตุแห่งความทุกข์...


 

ความกลัว ความวิตกกังวลกลายเป็นคนคิดมาก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความทุกข์รบกวนจิตใจ...

Large_td5413


ทุกคนเป็นห่วงอนาคตของตัวเอง ของลูกหลาน ญาติพี่น้องของตัวเอง…


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่าไม่ให้เราห่วงเรื่องอนาคต เพราะว่าความจน ความรวย ความเจริญ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันเราทำดี เราพูดดี เราคิดดี เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดกาล อนาคตดีแน่ เพราะว่าอนาคตมันมาจากผลการกระทำในปัจจุบัน ทุกสิ่งทุกอย่าง มันขึ้นอยู่ที่การกระทำของเราอยู่ที่ปัจจุบัน อนาคตมันเป็นผลของการกระทำของเราในปัจจุบัน


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไม่ให้วิตกไม่ให้กังวลไม่ให้กลัว ถ้าเราจะกลัวให้เราเกรงกลัวต่อบาป


อะไรคือบาป...?


บาปก็ได้แก่ความขี้เกียจขี้คร้าน ไม่อยากทำความดี ไม่อยากเสียสละ ผู้หวังความเจริญน่ะ ต้องละความขี้เกียจขี้คร้าน ไม่อยากทำก็ต้องทำ เราจะเอาชอบใจไม่ชอบใจของเราไม่ได้


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่า “ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...”


ที่ผ่าน ๆ มา ทุกคนมันขี้เกียจขี้คร้านนะ มันถึงมีปัญหา


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เอากายมาฝึกใจ...


อย่างการรักษาศีลนี้เป็นการเอากายมาฝึกใจ เพราะว่าใจของเรามันไม่มีตัวไม่มีตน มันต้องอาศัยกายเป็นเครื่องฝึก อย่างฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิด พูดจาไม่ชอบ ดื่มน้ำดองของเมานี้ ดู ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของกายทั้งหมดที่ฝึกใจ


เพราะว่าถ้าเราไม่ให้กายมันทำแล้วใจมันก็ไม่มีพลัง ถึงจะใจเป็นคนสั่งก็จริง แต่คนที่ถูกสั่งไม่ทำถือว่าไม่เป็นผู้ผิด


การปฏิบัติธรรมเบื้องต้น พระพุทธเจ้าถึงให้เราเน้นไปทางเรื่องศีล เพื่อให้จิตใจมันหยุด จิตใจมันอ่อนกำลังลง เพื่อตัดขบวนการที่มันจะทำงานต่อเนื่อง การรักษาศีลการปฏิบัติศีล ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อทุก ๆ คนที่ยังไม่หมดกิเลส สิ้นอาสวะ เมื่อเรารักษาศีลได้ ปฏิบัติศีลได้ จิตใจของเรามันถึงจะหยุด เย็น เป็นสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ ตัวสัมมาสมาธินี้แหละ มันจะอาศัยความสงบ อาศัยความเย็น อบรมบ่มปัญญา ความร้อนรน รุนแรง มันจะได้หมดกำลัง หมดพลังไป

 

Large_tt8029


สมาธิก็คือตัวดับทุกข์ในชีวิตประจำวัน...

 


รถยนต์คันหนึ่งประกอบด้วยอะไหล่ต่าง ๆ อะไหล่ที่สำคัญที่ให้เราปลอดภัยได้แก่เบรกนะ รถนี้ต้องเบรกดี ต้องเบรกมาตรฐาน เบรกของคนนี้ก็ได้แก่ “สัมมาสมาธิ...”


คนเราถ้าจิตใจไม่มีสมาธิคือจิตใจไม่มีพลัง เป็นจิตใจที่ป่วย ที่ไม่สบาย สมาธิต้องดีนะ ต้องเอาตัวเองให้อยู่ต้องเบรกตัวเองให้อยู่ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ให้ตัวเองผิดพลาด เรามันเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน


เราใคร่ครวญตัวเองดีแล้วว่าความขี้เกียจขี้คร้าน เราจำเป็นที่จะต้องกำจัดหรือจัดการ ต้องอาศัยสัมมาสมาธินี่แหละ คือความตั้งใจจริง ตั้งใจชอบ จิตใจมีพลังมาก พลังมหาศาล ไม่กลัวความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบาก เพราะความกลัวหรือความวิตกกังวล มันทำลายความดีของเรา ทำลายศักยภาพของเรา


สิ่งไหนที่มันดี ๆ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรากลัว ไม่ว่ามันจะเหน็ดเหนื่อยยากลำบากเพียงใด ถือว่ามันเป็นหนทางที่จะต้องผ่าน ถ้าเรากลัวก็มีแต่แพ้กับแพ้ ในอดีตที่ผ่านมาเราแพ้มาแล้วจนเราเกิดความท้อใจ แพ้แล้วแพ้เล่า เรื่อย ๆ มามีแต่แพ้กับแพ้


พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เรากลัวนะ


อุปสรรคความยากลำบาก เป็นสิ่งที่เราทุก ๆ คนต้องผ่าน ถ้าไม่ผ่านมันจะไปได้อย่างไร...?


ความดีเป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนต้องทำ ให้ทุก ๆ คนมีความเชื่อมั่นในความดี เชื่อมั่น ในตัวเองว่าตัวเองนี้ทำได้ปฏิบัติได้ ให้ยากกว่านี้ ให้ลำบากกว่านี้ก็ปฏิบัติได้ ที่อาการของจิตใจ ที่ทุกคนกำลังสู้อยู่นี้ เผชิญอยู่นี้มันไม่ใช่สิ่งภายนอกนะ คือการสู้กับใจของตัวเองสู้กับความกลัว ความกังวลของตัวเอง


พระพุทธเจ้าท่านอธิษฐานจิตเลยนะ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า


พระพุทธเจ้าท่านเอาหญ้าคา ๘ กำมือของนายโสตถิยะ มานั่งขัดบัลลังก์อธิษฐานจิตเลยว่า “แม้หนังเอ็นกระดูกเท่านั้นจักเหลืออยู่ เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปก็ไปที ถ้าข้าพเจ้า ไม่ตรัสรู้ธรรมก็จะไม่ลุกออกจากอาสนะนี้”


บรรดาเหล่าพญามาร เสนามาร บุตรมาร ลูกหลานมารเยอะแยะเลย มาให้พระพุทธเจ้า ได้ผจญมาร พระพุทธเจ้าท่านก็คิดว่ามารมันก็ได้แก่จิตใจของเรานี่เอง


คนเรานะ เวลาทำความดีมันมีอุปสรรคเยอะ มันมีปัญหาเยอะ ทุกคนต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นานา

 

Large_syzygiummalaccense3


สิ่งสำคัญมันอยู่ที่จิตใจนะ ถ้าใจของเราไม่มีปัญหา ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ไม่มีปัญหา เราจะไปกลัวมันทำไม


เรารู้จักแล้วเราใคร่ครวญชัดเจนแล้วว่า เราทำไปมันถูกต้องมันดี เราติดสุขติดขี้เกียจ ขี้คร้านนี่มันไม่ดี เราจำเป็นที่จะต้องละ ต้องปล่อย ต้องวาง เราจะไปหวงมันไว้ทำไม เอาไว้ทำไม เรายังไม่ตายเราต้องตกนรกทั้งเป็นนะ


คนยากคนจนเค้าเรียกว่าตกนรกทั้งเป็นนะ เป็นเพราะว่าเราติดสุขติดสบายติดขี้เกียจ ขี้คร้าน จิตใจของเราที่มันไม่ดีนี้เราต้องแก้ไขนะ เราจะเลือกเอาแต่สิ่งที่เราชอบมันไม่ได้ เราต้องผ่านให้มันไปหมดทั้งชอบไม่ชอบ


การที่เราไปไม่ได้ก็คือเราติดอยู่ เราติดอยู่ก็คือเราไปไม่ได้


นี่เห็นมั๊ยที่เราติดอยู่เราไปไม่ได้เพราะว่ารามันขี้เกียจขี้คร้าน ลูกคนรวยมันก็ติดขี้เกียจ ขี้คร้าน ลูกคนจนมันก็ติดขี้เกียจขี้คร้านนะ ใจมันอยากได้อย่างโน้น อยากดีอย่างนี้ แต่เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เป็นคนไม่ขยัน ขยันนิดหน่อยมันก็จะตายซะแล้ว

ความขยันนี้มันต้องปฏิบัติเป็นปฏิปทาในชีวิตประจำวัน


ในปัจจุบันนี้ กรรมของเราที่มันเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ผลงานของเรามันออกมาไม่ดี เรายิ่งเป็นคนคิดมาก ยิ่งเป็นคนวิตกกังวล เดี๋ยวโรคอาหารไม่ย่อยมันจะตามมา เดี๋ยวโรคประสาทมันจะตามมา เดี๋ยวโรคจิตมันจะตามมา มันขบวนเดียวกัน มันเป็นพรรคพวกเดียวกัน


พระพุทธเจ้าท่านให้เราผ่านไปเถ๊อะ...!


ผ่านการขี้เกียจขี้คร้านนี่ ผ่านการติดสุขติดสบายนี่ ให้มีความสุขมีความพอใจ มีความยินดี ทำแต่สิ่งที่ดีที่ถูกที่ต้อง เราอย่าไปกลัวความสุขมันหายไปจากเรา ความสุขนี้มันมีแก่เราแน่ ในอนาคต แต่เดี๋ยวนี้เราต้องผ่านอุปสรรค เราต้องฝ่าฟันศัตรู อาศัยกายเป็นเครื่องฝึก มันทุกข์กายไม่เป็นไร ลำบากกายไม่เป็นไร


พระพุทธเจ้าท่านให้เราพอใจในการสร้างความดี สร้างบารมี เราจะไปโทษใครไม่ได้นะ เพราะเรามันโง่เอง พระพุทธเจ้าว่าเรามันโง่เองนะ ให้เราฉลาด ๆ หน่อย

Large_tt8034

 


เทคโนโลยีเค้าพัฒนากันไปไกลแต่ว่าหัวใจคนนี้ไม่ได้พัฒนา พยายามที่จะแก้ไขแต่ภายนอก


พระพุทธเจ้าท่านให้เราแก้ไขภายนอกแล้วก็แก้ไขจิตใจของเรา เอาความกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัวออกจากใจของเรา


ความกลัวเป็นอาการของจิตใจชนิดหนึ่ง เป็นอาการของเปรตชนิดหนึ่งชื่อว่า “อสุรกาย”


ถ้าเราพากันกลัว ไม่กล้าทำความดี เราก็เป็นลูกหลานของเปรตอสุรกายนะ...
ลูกหลานเปรตอสุรกายมันกลัวไปหมด กลัวผี เป็นคนหวาดสะดุ้งตกใจง่าย เป็นคนสติสัมปชัญญะน้อย ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว


พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไม่ให้กลัว ถ้าสิ่งไหนดี ๆ ต้องรีบทำต้องรีบประพฤติปฏิบัติ ความแก่เราก็ไม่กลัว เราจะกลัวมันทำไม กลัวมันก็ต้องแก่อยู่แล้ว ความเจ็บเราก็ไม่กลัว เราจะกลัวมันทำไม กลัวมันก็ต้องเจ็บอยู่แล้ว ความตายเราก็ไม่กลัว เพราะกลัวมันก็ต้องตาย อยู่แล้ว ไม่ตายเร็วก็ตายช้า มันเป็นเรื่องปกติ


แต่เรามีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิดมันเลยกลัว ความกลัวมันมีทุกข์นะ ทุกข์จนนอน ไม่หลับ มันทรมาน ทำไมมันถึงกลัวล่ะ เพราะว่าเราตามอารมณ์ไป ตามความคิดไป คิดไป จนมันกลัว ความคิดนี้ให้ทุกคนรู้จักนะ เราจะไปตามความคิดไปไม่ได้นะ


ถ้าสิ่งไหนมันจะเป็นทุกข์ มันผุดคิดขึ้นมา...


พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักแล้วอย่าไปตามความคิดไป เห็นมั๊ยที่เรากลัวในสิ่งต่าง ๆ สิ่งที่สมควรกลัว เพราะว่าเราตามความคิดไป คิดจนมันกลัวน่ะ


วิธีที่เราจะแก้ความกลัวแก้ความคิดนี้ ให้เรากลับมาหาตัวเอง ด้วยการหายใจเข้าหายใจออกให้มันชัดเจน รู้ตัวทั่วพร้อมให้มันชัดเจน รู้จนจิตใจเป็นหนึ่ง ไม่ส่งออก ไม่ตามอารมณ์ไป จิตใจเป็นตัวของตัวเอง รู้จนสิ่งอื่นมาปั่นหัวจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

Large_syzygiummalaccense1

 


ผู้ที่ไม่มีความกลัวก็ได้แก่พระอรหันต์ เพราะว่าท่านไม่ได้วิ่งตามความคิด ไม่ได้วิ่ง ตามอารมณ์ ท่านรู้อยู่แล้วว่าความคิดอย่างนี้มันไม่มีประโยชน์ จะคิดมันทำไม คิดแล้ว มันมีปัญหาเสียศักยภาพ ผู้ที่มีจิตใจกังวลมันมีความกลัวซ่อนอยู่


พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักตัวเองนะ เราไม่ต้องกลัวมันอีกแล้ว เราทำดี ๆ เราพูดดี ๆ เราคิดดี ๆ ชีวิตของเรามันก้าวไปด้วยใจด้วยการกระทำ เราจะไปกลัวมันทำไม วิตกมันทำไม ถึงเวลานอนก็ให้เรานอนให้มีความสุข ตื่นขึ้นเราก็จะได้มีเรี่ยวแรง มีศักยภาพทั้งทางกาย ทั้งทางจิตใจ


ธรรมะที่ทำให้ใจเรามีกำลัง ๑. ได้แก่ความพอใจในการทำความดี พอใจในการเสียสละ พอใจในการละความเห็นแก่ตัว มีความสุขมาก มีความเบิกบานมากในการทำความดี มีความเพียร มีความบากบั่น มีความพยายามไม่ท้อแท้ท้อถอย ถือเอาอุปสรรคนั้นเป็นการ สร้างความดี สร้างบารมี ให้ถือคติว่าถ้าไม่มีความยากลำบาก มันก็ไม่ได้สร้างบารมีนะ


ความเพียรต้องทำติดต่อ ต่อเนื่อง เพียรทั้งทางกาย วาจา ทั้งจิตทั้งใจ


ความเพียรเท่านั้นที่จะนำเราออกจากทุกข์ เพราะเราใคร่ครวญดูแล้ว ถูกต้องแล้วว่า สิ่งเหล่านี้แหละเป็นสิ่งดับทุกข์ให้เราได้แน่นอน นอกเหนือจากนั้นไม่มี
มีความตั้งใจ ที่เราผิดพลาดในชีวิตเพราะเราไม่เอาจริงเอาจัง ที่นี้เราพร้อมแล้ว ที่จะเอาจริงเอาจัง

 


เราใคร่ครวญดูแล้วถูกต้องแล้ว สิ่งใดที่มันได้มาโดยง่าย มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ


ทุกอย่างมันต้องได้มาจากการกระทำของเราเอง ถ้าเราคิดอย่างนี้เราตั้งใจอย่างนี้แหละ จิตใจของเรามันมีพลังนะ เราต้องสร้างเหตุปัจจัยอย่างนี้แหละ ว่ากันเป็นวินาที ๆ ไป หลายวินาทีเป็นนาที หลายนาทีเป็นชั่วโมง หลายชั่วโมงเป็นหนึ่งวัน “ความดีเท่านั้นที่จะทำให้เราได้ดี”


กรรมก็คือการกระทำของเราเอง...


การบูชาอะไรก็สู้กับการนำตัวเองประพฤติปฏิบัติที่ฝืนจิตฝืนใจ ฝืนอารมณ์ให้เหนือชอบเหนือไม่ชอบนี้ไม่ได้


พระพุทธเจ้าท่านให้เราเหลียวแลมองดูตัวเองนะ ว่าพวกเรากำลังมัวทำอะไรกันอยู่ ท่านตรัสถามว่าพวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ว่าพวกเรากำลังเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เดินตามรอยพระอรหันต์หรือยัง...?


ทุกคนน่ะต้องได้แก้ไขตัวเองหมด ถ้าไม่มากก็น้อย


ถ้าเราไม่ปฏิบัติตัวเอง แก้ไขตัวเอง อย่าหวังเลยว่าชาตินี้ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลง มันมีแต่จะตกต่ำ


อยากรวยมันก็ไม่รวยหรอก อยากบรรลุธรรมมันก็ไม่บรรลุธรรม เพราะว่าเราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง นิสัยเก่า ๆ นิสัยเดิม ๆ ที่มันเป็นอนุสัยนอนเนื่องอยู่ในสันดาน เราต้องเปลี่ยนต้องเปลี่ยนให้ได้ อย่าให้ตัวเองติเตียนตนเองได้ อย่าให้คนอื่นเค้าดูถูกดูแคลนเราได้ “ตั้งใจทำ เอาจริงเอาจัง…”


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเป็นคนเหยาะแหยะไม่เอาจริง

 


พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าถ้าเราจะทำอะไรต้องทำจริง เอาจริง ท่านเปรียบเหมือนบุรุษ ที่ถอนหญ้าคา การถอนหญ้าคาต้องกำให้แน่น ถ้ากำไม่แน่นแล้วมันถอนหญ้าคาไม่ขึ้น เพราะหญ้าคารากมันแน่นมันเหนียว ต้องจับให้แน่น ถ้ากำไม่แน่นแล้วดึงกำหลวม ๆ พอเราดึงหญ้าคามันก็บาดมือ ถ้าเราไม่เอาจริงเอาจังสม่ำเสมอ นิสัยเก่า อนุสัยเก่าเดี๋ยวมัน ก็กลับมาเหมือนเดิม


อินทรีย์บารมีทุกคนน่ะ พระพุทธเจ้าถือว่าบารมีของเรามันยังอ่อน เราจะเอาใจของเราเป็นใหญ่ไม่ได้ ต้องปรับเข้าหาทางสายกลาง ถือศีลมีความตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ


เราใคร่ครวญดูแล้วว่า สิ่งเหล่านี้มันดีมันถูกต้องมันไม่ผิด


พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้จักผีนะ รู้จักเปรต อสุรกาย มันไม่อยู่ไกลหรอก มันอยู่ในใจ ของเรานี่แหละ มันคอยหลอกคอยหลอนเราอยู่ตลอดเวลา เราอย่าไปกลัวผีข้างนอก ผีไกล ๆ อย่าไปกลัว “ความเห็นผิดความเข้าใจผิดมันกลัวความดี”


ให้เราเอาตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เอาตัวอย่างของพระอรหันต์


ตัวอย่างก็มีอย่างวัด ๆ หนึ่งเค้าฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียวอย่างนี้ เราเห็นเค้าทำ เราก็ต้องทำได้ เรายังเห็นต่อไปอีกว่า มีพระอดข้าว ๗ วัน เมื่อเราเห็นเราก็ทำได้ เรายังเห็นเค้า ๓ เดือนถึงฉันข้าวครั้งหนึ่ง เราเห็นเค้าทำเราก็ทำได้
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอาตัวอย่าในสิ่งที่ดี ๆ ให้เลือกเอาแต่สิ่งที่ดี ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา มันมีตัวอย่างทั้งดีไม่ดีให้เราเห็น สิ่งที่มันไม่ดีเอาอย่าเอาเป็นตัวอย่างนะ อยู่ในโลก ในสังคม ส่วนใหญ่มันมีแต่ตัวอย่างไม่ดี


ทำไมถึงไม่ดี...?


เพราะคนส่วนใหญ่อินทรีย์บารมียังไม่แก่กล้า มันจะดีได้อย่างไร


เราเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เอาพระธรรมเป็นที่ตั้ง เอาพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นที่ตั้ง เพราะสิ่งที่มันไม่ดีมันมีมาก เราก็มองไปให้มันเป็น อย่างเราเป็นญาติโยมนี้ เราเอาตัวอย่างที่มันดี ๆ


ครั้งพุทธกาลน่ะที่เค้าเป็นพระอรหันต์ได้ในบ้านในเมืองในสังคมเต็มไปหมด

เค้าก็พากันปฏิบัติได้ นางวิสาขา นายอนาถปิณฑิกเศรษฐี เค้าก็เป็นฆราวาสญาติโยมเค้าก็ปฏิบัติได้ เพราะว่าธรรมะถ้าใครนำไปประพฤติปฏิบัติมันก็บรรลุถึงความดีด้วยกันทุกคน เรามอง แต่สิ่งที่ดี ๆ สิ่งไหนมันไม่ดี เราก็ไม่เอามาเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นตัวอย่าง


ทุกคนก็อยากเป็นคนดี คนรวย คนมีคุณธรรม แต่ว่ามันปฏิบัติยากปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าถ้าใครไม่เอาจริงเอาจังมันทำไม่ได้


พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ไปมองใครทำไม่ดีทำไม่ถูก ท่านให้เราเจริญเมตตามาก ๆ เราถึงจะเข้าได้กับคนทุก ๆ คน


คนมีเมตตามากมันเข้าได้กับคนทุก ๆ คน ไม่ว่าคนจนไม่ว่าคนรวย เด็ก ผู้ใหญ่
ถ้าเรามีเมตตาเราก็เข้าได้กับคนทุก ๆ คน ที่เราเข้ากับคนอื่นไม่ได้เพราะเราคิดว่า เค้าเป็นคนอื่น เราคิดว่าเค้าไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่พี่ใช่น้อง


พระพุทธเจ้าท่านให้เรามองเค้าเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องเป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายในวัฏฏะสงสารด้วยกัน


เค้ามีความทุกข์ทั้งทางกาย ต้องบริหารร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆนานา มีความทุกข์ ในการหาเลี้ยงชีพ มีทุกข์มาก มีทุกข์หลาย มีทุกข์จริง ๆ นะ เค้ามีทุกข์เรื่องญาติพี่น้อง วงศ์ตระกูล ลูกน้องพ้องบริวาร เมื่อเค้ามีทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราไม่มีเมตตาต่อเค้าก็เรียกว่าเราใจร้าย เราไปซ้ำเติมเค้า

 


ทุกท่านทุกคนนี้ต้องเจริญเมตตา ทั้งเมตตาตนเองด้วยการนำตนเองทำความดี ทั้งเมตตาคนอื่นสงสารเค้า อย่าได้ถือว่าเค้าเป็นคนอื่น


เราอย่าไปกลัวว่าเค้าจะคิดอย่างไรกับเรา เค้าจะพอใจเราหรือเปล่า


พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดว่าเราเกิดมาเพื่อเป็นผู้เสียสละ เพื่อเป็นผู้ให้ ผู้อนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ทั้งวัตถุข้าวของเงินทอง ให้ทั้งคำพูดที่ดี ๆ สิ่งไหนที่จะช่วยเหลือเค้าได้แนะนำ เค้าได้ เราก็ช่วยเหลือแนะนำ อย่างน้อยเราก็เป็นตัวอย่างที่ดี ๆ ให้เค้าได้ดูได้เห็น เค้าเห็น คนใจดี ๆ อย่างเราเค้าก็มีความสุข ว่าในโลกนี้ก็มีคนดี ๆ อย่างเรา


การเจริญเมตตาต้องเริ่มต้นจากการเมตตาตนเองก่อนด้วยการทำความดี แล้วก็เมตตา ผู้ใกล้ชิดเรา คุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้อง ลูกน้องพ้องบริวาร


เราจะไปเมตตาแก่คนที่ไกล ๆ โน่น ตัวเราเองไม่เมตตาตนเอง ญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล ก็ขาดการเมตตา


ถ้าเราเมตตาอย่างนี้แสดงว่าเราเมตตาผิด ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอด ญาติพี่น้องเราเอง ไม่ช่วยเหลือ ยังไปช่วยคนอื่น แสดงว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติผิด เป็นโรคทางใจ ต้องแก้ที่ตัวก่อน แก้ที่ครอบครัวก่อน


ถ้าเราเจริญเมตตามาก เรามองเห็นอะไรมันก็ดีไปหมด ถ้าเราเมตตาน้อย เห็นอะไร มันก็แย่ไปหมด เห็นต้นไม้ เห็นหมามันก็อยากเตะ


เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก เมตตาตนเองนี่แหละแล้วค่อยขยายไปสู่พี่น้องวงศ์ตระกูล


ทุกท่านทุกคนต้องตรวจดูตัวเองนะ ว่าตัวเองนี้มีเมตตาแล้วหรือยัง...?


ถ้าเราไม่เจริญเมตตา เราจะเข้ากับคนอื่นได้ยาก เพราะเราเป็นคนที่มีโลกส่วนตัว อยากจะอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ไม่พูดไม่จากับใคร เป็นคนเข้ากับใครไม่ได้ คนเราต้องเข้ากับ คนอื่นได้ ถ้าเข้ากับใครไม่ได้แล้วมันมีความทุกข์นะ


ถ้าเราเป็นคนไม่มีเมตตา ใคร ๆ ก็ไม่อยากคบค้าสมาคมกับเรา เพราะความโกรธนี้ มันเป็นของร้อน ที่ว่าไฟที่มันลุกเป็นกองเพลิง เผาอะไรไม่เหลือพินาศไปหมด ยังสู้ไฟความโกรธของเราไม่ได้


ยิ่งเราเป็นคนอายุมาก เป็นคนเฒ่า เป็นคนแก่ เป็นคนชรา ถ้าเราเป็นคนไม่มีเมตตาแล้ว เอาแต่ว่าเอาแต่บ่นใครเค้าจะอยากเข้าใกล้ ไม่มีใครเค้าอยากจะเข้าใกล้นะ เพราะเข้าใกล้แล้วมันร้อนมันไม่มีความสุข ไม่อยากฟังคนจู้จี้ขี้บ่น ฟังมากก็รับเอามากมันก็เครียดนะ

 


เรายังไม่แก่เราก็ฝึกเจริญเมตตาไว้ เพราะอีกหลายปีข้างหน้าเราต้องแก่อยู่แล้ว
พระพุทธเจ้าท่านให้เราวางแผนไว้หลาย ๆ ปีนะ เราปลูกเมตตาไว้ในใจของเรา อีกหลายปีมันก็ใหญ่โต ถ้าเราไม่ได้สร้างเหตุสร้างปัจจัย มันจะมีเมตตาได้อย่างไร..?


ทุกคนต้องสร้างทุกคนต้องปฏิบัตินะ เมตตานี้มันดีจริง ๆ มันมีประโยชน์จริง ๆ มันทำให้เรามีความสุข คนอื่นมีความสุข มันเป็นที่รักของทุก ๆ คนเลย เราสวดมนต์ทุกครั้งเวลา เราจะสวดจบเราก็แผ่เมตตา


ถ้าเราสวดแต่ปากแต่จิตใจเราไม่แสดงออกเราก็ไม่ได้แผ่เมตตานะ...!


ที่บทสวดมนต์ให้แผ่เมตตาก็หมายถึงให้ทุกคนน่ะเจริญเมตตาให้มาก ๆ น้อมมาใส่ตัวเอง


ที่พระพุทธสอนเราให้หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็สบายหายใจออกก็สบาย จนจิตใจมันมีปิติมีสุข จนจิตใจของเราเป็นเอกัคตาเป็นหนึ่ง นี่เรามาคิดดูแล้วมันเป็นการสร้างความเมตตาในตัวเราอีกวิธีหนึ่ง


ในชีวิตประจำวันที่เราเดินเหินนั่งนอน พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราลืมหายใจเข้าให้มันสบายหายใจออกให้มันสบายไว้ เพื่อจะให้เราแผ่เมตตาให้กับตัวเอง มันมัวหมกมุ่นอยู่กับอารมณ์ กับความคิด ร่างกายมันบอบช้ำหมด เลยลืมแผ่เมตตา


พระพุทธเจ้าท่านให้เราแผ่เมตตาให้กับตัวเอง เราทำงานไปมีความสุขกับการทำงาน กับการเสียสละ แล้วอย่าลืมหายใจเข้าสบายออกสบายด้วยนะ


ไม่ใช่เราหายใจเข้าสบายออกสบายอยู่ตลอดเวลา


เราทำงานซักพักสลับกับการหายใจเข้าออกสบาย เพื่อเราจะได้ผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้เราเครียดมากเกิน เค้าเรียกว่าพักยกให้เวลากับตัวเอง


เราทำอย่างนี้แหละปฏิบัติอย่างนี้ ความจริงชีวิตของเรามันเป็นอย่างนี้นะ โลกธรรมสิ่งภายนอกมันเกิดกับใจของเราตลอด


พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันรู้จัก อย่าให้มันมาครอบงำจิตใจของเรา ถือว่ามันมาให้เราฉลาด มันมาให้เราได้ทำจิตทำใจ เราอยู่ที่ไหนมันก็หนีโลกธรรมไปไม่พ้น โลกธรรมนั่นแหละ ที่มาให้เราได้พัฒนาใจนะ เราอย่าได้พากันกลัวนะ กลัวจะไปพบปัญหาอย่างโน้นกลัวจะไปพบปัญหาอย่างนี้ เราอย่าไปกลัวนะ


ความกลัวนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไข เป็นหนทางที่เราจะต้องผ่าน ความเมตตานี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป


หวังว่าทุกท่านทุกคนจะได้นำเอาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประพฤติมาปฏิบัติมาแก้ไขตัวเองให้ได้

 Large_tt8017

 

พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
เช้าวันอังคารที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 488990เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท