โครงการเสริมสร้างความรู้ในการใช้ระบบ Web-Based Service


บอกกล่าวข่าวอบรม / เรื่องดี ๆ ที่ชุมพร / ร่วมสร้างสรรค์บ้านเมือง

ผมได้รับหนังสือเชิญจากสำนักงานจังหวัดชุมพรลงนามโดยท่านรองผู้ว่าฯ นายพินิจ เจริญพานิช ขอเชิญเป็นวิทยากรฝึกอบรม โครงการเสริมสร้างความรู้ในการใช้ระบบ Web-Based Service แก่บุคลากรภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีไปสนับสนุนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นใน วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2549 เวลา 9.00 16.00 น. ณ ห้องโสตทัศนศึกษา ชั้น 2 อาคาร 5 โรงเรียนศรียาภัย โดยทางผู้จัดได้เชิญบุคลากรจากหน่วยราชการต่าง ๆ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในจังหวัดชุมพรซึ่งมีอยู่มากถึง 170 หน่วยงานเข้าร่วมในการฝึกอบรม

ต้องบอกว่าปฏิบัติการครั้งนี้เผยแพร่ข่าวสารออกไปได้รวดเร็วมาก เพียง 1 วันจากที่ผมได้รับหนังสือเชิญเมื่อเจอเพื่อนข้าราชการก็ถูกตั้งคำถามทันทีว่า Web-Based Services คืออะไร ? อาจารย์จะพูด-จะแสดงอะไรให้ดูบ้าง ? ขอเข้าร่วมรับฟังในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้หรือไม่ ? ฯลฯ

ขอตอบคำถามสุดท้ายก่อนนะครับเพราะตอบง่ายที่สุด คือ ท่านที่สนใจคงจะต้องติดต่อไปที่ กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดชุมพร โทรศัพท์ 077-503975 ขอเตือนว่าต้องเผื่อความผิดหวังไว้สักหน่อย ผมทราบมาว่าที่นั่งมีจำกัดเพียง 140 ที่ อาจจะต้องสำรองไว้ให้หน่วยงานเป็นหลัก แต่ก็คงจะมีกติกาให้หน่วยงานตอบรับภายในเวลาที่กำหนด เพราะถ้ามาไม่ได้ผู้จัดจะได้นำไปให้กับผู้ที่มีความสนใจ

ที่มาของการสร้างระบบ Web-Based Service ของจังหวัดชุมพรในครั้งนี้ ขอยกให้เป็นเครดิตของระบบการบริหารราชการแบบ CEO เพราะมีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ที่มุ่งตรงไปยังประเด็นสำคัญของการพัฒนาระบบราชการอย่างรอบด้าน, ทั่วถึง และเกิดสมดุลครบทั้ง 4 มิติของการบริหารราชการสมัยใหม่ คือ  ประสิทธิผลตามยุทธศาสตร์, คุณภาพการให้บริการ, ประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ และการพัฒนาองค์กร เป็นระบบที่เรียกกันติดปากว่า Balanced Scorecard

การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศ เป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกกำหนดอยู่ในมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร โดยจังหวัดจะต้องจัดเก็บข้อมูลและนำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล (Database) อิเล็กทรอนิกส์ของ ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด (POC : Provincial Operating Center) ต้องเก็บอย่างถูกต้อง, ครบถ้วน, เป็นปัจจุบัน และทันสมัย จึงจะถือว่าผ่านเกณฑ์ตัดสิน

กระทรวงมหาดไทยและสภาพัฒน์ ได้ร่วมกันกำหนดหัวข้อ / รายการข้อมูลเหล่านี้ โดยพิจารณาถึงความสำคัญต่อการนำไปใช้พัฒนาและแก้ปัญหาเรื่องราวต่าง ๆ ในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ, การศึกษา, การเกษตร, การท่องเที่ยว ฯลฯ ผมนั่งวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างข้อมูลพบว่ามีมากกว่า 250 รายการ (นี่ขนาดยังไม่ได้เปิดรับความคิดเห็นที่ต่อไปจะต้องหลั่งไหลเข้ามาอีกมากจากทุกภาคส่วนที่เข้ามาใช้ประโยชน์ข้อมูล)

นอกจากนี้ สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์ CEO ของจังหวัดชุมพรยังได้พิจารณาเห็นว่า ควรเพิ่มรายการข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารยุทธศาตร์เข้าไปในระบบนี้ด้วย เพื่อความสมบูรณ์แบบของฐานข้อมูลจังหวัดชุมพรมากยิ่งขึ้น

การบริหารระบบฐานข้อมูลจะต้องมีการตรวจสอบ (Verify) ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (Update) สำรวจความต้องการ, ประมวลผลและนำเสนอข้อมูลออกมาเป็นรูปกราฟ แผนภูมิ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจของผู้บริหารระดับต่าง ๆ

ทั้งหมดนี้ ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชุมพร (POC) จะต้องให้บริการข้อมูลแก่ทุกภาคส่วนในรูปแบบ Web-Based Services ติดต่อเข้าใช้ประโยชน์ข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ท โดยการสร้างเว็บไซต์ที่มีรูปแบบและแนวทางการบริหารที่เป็น Web-Services อย่างชัดเจน

Web-Services กับรูปแบบเว็บธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไป ต่างกันมากครับ...ต่างกันอย่างไร ? เราในฐานะคนชุมพรจะเข้าไปใช้ได้หรือไม่ / อย่างไร ? และถ้าเราจะเข้าไปมีส่วนร่วมออกความคิดเห็นส่งผ่านเรื่องที่เป็นประโยชน์เพื่อบ้านเพื่อเมืองของเราจะต้องทำอย่างไร ?

คำตอบส่วนหนึ่ง...หาได้จากเวทีนี้ วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2549 ครับ.

คำสำคัญ (Tags): #web-based#services
หมายเลขบันทึก: 48894เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2006 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สนใจครับ
  • ยกหัวแม่โบ้งให้อาจารย์ทั้งสองโบ้งเลย
จ.ส.ต.พรเทพ จันวิลัย

ได้อบรมแล้ว ได้รับความรู้มากแต่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้เลยหาโฮสฟรีที่รองรับไม่ได้ 

-มีรูปถ่ายที่อบรมหรือไม่ ช่วยลงเว็บให้หน่อยครับ หรือส่งมาทางอีเมล์ [email protected] ก็ได้ครับ จะนำไปใช้เป็นผลงานในตัวชี้วัดที่ 15 ครับ

ขอบคุณครับ

จ.ส.ต.พรเทพ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท