บัตรประชาชนในฝัน...ที่คนฝันอยากจะมี


สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าการทำหน้าที่ของบัตร Smart Card ก็คือ การให้บริการของบุคลากรในหน่วยงานของรัฐ ที่ควรเป็นไปตามหลักการให้บริการของส่วนราชการที่ว่า “ที่เดียว ทันใด ทั่วไทย ทุกเวลา ทั่วถึง เท่าเทียม และ ธรรมาภิบาล”

           และแล้ว ในตอนสายๆ ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 GotoKnow ก็กลับคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ แจ้งว่า “สรอ. ขอความรู้” เป็นโครงการในความร่วมมือระหว่าง GotoKnow และ สรอ. (EGA) เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการให้ความรู้และข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนาระบบบริการเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิคส์ [สรอ.] ซึ่งเป็นองค์การมหาชน ในกำกับของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ [E-Government] ของประเทศไทย ซึ่งในช่วงวันที่ 18-31 พฤษภาคม 2555 ทางโครงการได้เชื้อเชิญให้สมาชิกเขียนบันทึกลงบล็อกใน GotoKnow ด้วยการตอบคำถามว่า "ท่านฝันอยากใช้ประโยชน์จากบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดอย่างไรบ้าง?"

           จากคำชี้แจงที่ของดร.จันทวรรณ ที่ว่า จะเขียนกี่บันทึกก็ได้ เขียนอย่างไรก็ได้ตามสไตล์ที่ถนัด เน้นที่ว่า ทาง สรอ. จะสามารถนำประโยชน์จากบันทึกไปใช้ต่อได้ ผู้เขียนซึ่งตั้งใจจะร่วมเขียนบันทึกแต่มีเวลาเพียงแค่ 1 วันสำหรับการนี้ เนื่องด้วยพอทราบข่าวก็ต้องอยู่บนเครื่องและพอลงจากเครื่องก็ต้องไปอยู่ในที่ๆ ไม่สามารถใช้ Internet ได้ และพอกลับไปอยู่ในที่ๆ ใช้ได้ก็ต้องสะสางงานก่อนเดินทางไปเกาหลีในอีกวันสองวันนี้ จึงขอเขียนในสไตล์ที่อาจไม่ใช่ความถนัด แต่เป็นเพราะไม่ทราบจะเขียนอย่างไรจึงจะไม่ซ้ำกับประเด็นที่หลายท่านได้เขียนไปก่อนแล้ว โดยเลี่ยงไปเขียนแบบรวบรวมและวิเคราะห์เนื้อหาจากบันทึกของสมาชิกจำนวน 10 เรื่อง โดยคัดเลือกมาจาก 35 เรื่องที่ลงไว้ระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2555 ดังชื่อผู้เขียนและหมายเลขบันทึกข้างล่าง (เลือกบันทึกของสุภาพสตรี 5 เรื่อง สุภาพบุรุษ 5 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ และมีส่วนที่แตกต่างไปจากท่านอื่นๆ ทั้งนี้ ได้ขออนุญาตไว้แล้วในบันทึกของทุกท่านที่เลือกมา)

           ก่อนอื่น ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า แม้ผู้เขียนจะเป็นผู้สูงวัย (ที่ไม่ได้แปลว่าแก่) แต่ก็มี Smart Card ที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักกับเขาเหมือนกัน สำนักบริหารงานทะเบียนให้ข้อมูลว่า หลักที่ 1 หมายถึงประเภทบุคคล ซึ่งมี 8 ประเภท เช่น ประเภทที่ 1 คือ คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา เป็นต้น หลักที่ 2-5 หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนที่เจ้าของบัตรมีชื่อในทะเบียนบ้านในขณะให้เลข สำหรับเด็กเกิดใหม่จะหมายถึงถิ่นที่เกิดเลยทีเดียว โดยหลักที่ 2 และ 3 หมายถึงจังหวัดหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงอำเภอหรือเทศบาล หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10 หมายถึงกลุ่มที่ของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก หรือหมายถึงเล่มที่ของสูติบัตรแล้วแต่กรณี หลักที่ 11 และ 12 หมายถึงลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภทหรือหมายถึงใบที่ของสูติบัตรแต่ละเล่มแล้วแต่กรณี หลักที่ 13 คือ ตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลข 12 หลักแรก ผู้เขียนได้ใช้งานบัตรประชาชนครั้งล่าสุด คือ ใช้ในการ Checked in ที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ในวันที่ 13 พ.ค. 2555 สนามบินสุวรรณภูมิ 15 และ 18 พ.ค. และสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ 17 พ.ค. และจะใช้อีกทีในการ Check in ที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ในเช้าวันที่ 23 พ.ค. 2555 ส่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิในกลางคืนวันที่ 24 พ.ค. ที่จะเดินทางไปเกาหลีต้องใช้ Passport แทน ค่ะ     

 

            สำหรับการวิเคราะห์ความต้องการของสมาชิก GotoKnow จะขอเริ่มด้วยบันทึกเรื่อง “บัตรประชาชนที่มีอยู่แล้ว ขอเพียงให้ใช้ได้เต็มความสามารถของบัตรก็พอ” ของ "คุณโอ๋-อโณ" เพื่อเป็นการให้สารสนเทศ (Information) เกี่ยวกับลักษณะในปัจจุบันของ Smart Card  หรือ บัตรประจำตัวประชาชนเอนกประสงค์ ซึ่ง "คุณโอ๋-อโณ" ชี้ว่า รุ่นใหม่ล่าสุด  (รุ่นที่ 6)  เป็นบัตรอัจฉริยะ ใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ บัตรเดียวบรรจุข้อมูลหลายประเภทจากหลายหน่วยงานไว้ และสามารถใช้แทนบัตรต่างๆ ได้  เนื่องจากบนตัวบัตรจะมีไมโครชิพฝังอยู่ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์สำหรับจัดเก็บข้อมูลสำคัญของแต่ละบุคคลเอาไว้ในบัตร และประมวลได้ภายในตัวเอง สามารถกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลทั้งการอ่านและการเขียนได้อย่างดี ตลอดจนสามารถป้องกันการปลอมแปลงบัตรได้ 100%  เนื่องจากมีกลไกในการใช้งาน และระบบการป้องกันที่รัดกุม (แสดงว่า ที่ "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์" กังวลเรื่องการปลอมบัตรประชาชนและเสนอว่า “ถ้าในบัตรประจำตัวประชาชนของเรามีลายนิ้วมือเราเก็บอยู่ด้วย เพื่อเป็นการแสดงตัวตนที่แท้จริงเรื่องการปลอมบัตร” ก็ไม่ต้องกังวลแล้วสินะคะ ถ้าได้ใช้บัตรรุ่นล่าสุด) 

             "คุณโอ๋-อโณ" ได้ยกตัวอย่างข้อมูลที่มีปรากฏในไมโครชิพว่า ได้แก่ ข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น บัตรประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพ  ข้อมูลเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ด้านภาษีอากร ข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์ ข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ วันเดือนปีเกิด  ระบบข้อมูลที่อยู่ในบัตรของแต่ละบุคคล ได้รับการออกแบบและระบบ ให้เชื่อมโยงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนตามที่เจ้าของบัตรอนุญาต   สามารถพัฒนาใช้แทนหนังสือเดินทาง ในการเดินทางไปต่างประเทศ (ซึ่งเป็นความต้องการของ "ดร.ขจิต ฝอยทอง") วิธีการใช้งานบัตร  Smart Card คือ นำบัตรของตนไปสัมผัสกับเครื่องอ่านบัตรและใส่รหัสบุคคล (Pin code) 4 หลัก ประกอบกับสัมผัสลายนิ้วมือกับเครื่องอ่านลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อเป็นการยืนยันตัวบุคคล จากนั้นระบบ โปรแกรมการทำงานต่างๆ ที่มีอยู่ จะเริ่มดำเนินการตรวจสอบสิทธิ โดยการประมวลผลในตัวบัตรเองโดยอัตโนมัติ หากเป็นเจ้าของบัตรที่ถูกต้องและมีสิทธิอย่างไร บัตรก็จะดำเนินการให้ตามสิทธินั้นๆ หรือปฏิเสธการใช้งานทันที หากพบสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่มีสิทธิในการใช้งาน

           ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากบัตร  Smart Card คือ 1) คนไทยทุกคนจะได้รับการบริการจากรัฐเท่าเทียมกัน 2) สามารถใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชนได้มากขึ้น  ได้แก่ ใช้แสดงตน ใช้เลขประจำตัวประชาชน เพื่อเข้าสู่บริการแบบเครือข่ายของภาครัฐและเอกชนในสาขาต่างๆ (One Number Multi Services: ONMS) ใช้แทนบัตรสมาชิกและทะเบียนเกี่ยวกับบุคคลประเภทต่างๆ  (Thailand Master Card/ Master Key : TMCK) ใช้เป็น ATM Card (กับธนาคารที่เข้าร่วมใช้งานบัตรประจำตัวประชาชน : ตอบสนองความต้องการของ "ดร.ขจิต ฝอยทอง") ใช้เป็นเดบิตการ์ดและเครดิตการ์ด (กับธนาคารที่เข้าร่วมใช้งานบัตรประจำตัวประชาชน) 3) ประชาชนมีความสะดวกและปลอดภัยในการใช้งานข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ โดยมีรหัสส่วนบุคคล ( Pin Code) ใช้ในการรับ-ส่ง E-mail  และยืนยันตัวบุคคล ก่อนเข้าสู่ระบบบริการภาครัฐสามารถขอนำ  PKI (Public Key Infrastructure) ส่วนบุคคลไปใช้ในการทำลายมือชื่ออิเล็กทรอนิคส์เพื่อจัดทำธุรกรรมพื้นฐานกับภาครัฐ (E-Government) หรือภาคเอกชน (E-business) หรือรับ-ส่ง E- mail ที่มีผลผูกพันผู้รับและผู้ส่งในกรณีที่ต้องการความปลอดภัยเป็นพิเศษ

           ในส่วนของการให้บริการทางสาธารณสุขนั้น "คุณชลัญธร" ได้เขียนถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านคนหนึ่งที่ไปขอทำแผลเปลือกหอยบาดฝ่าเท้า แต่พยาบาลขอดูบัตรนั่นบัตรนี่แล้วก็ต้องกลับไปเอาบัตรที่บ้านตามที่พยาบาลเรียกดูก่อนที่จะให้บริการ สุดท้ายชาวบ้านดังกล่าวก็ถูกรถชนเสียชีวิตระหว่างรีบไปหาบัตรมาแสดง เธอจึงชี้ว่า ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขควรให้ความสำคัญต่อสุขภาวะของคน มากกว่าจะเรียกร้องให้แสดงบัตรก่อนจึงจะได้รับบริการ และการมีบัตรเดียวที่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของบัตร ด้าน "อาจารย์หมอปัทมา"ได้เขียนบันทึกเรื่อง “ข้อมูลสุขภาพอะไรควรบรรจุไว้ในบัตรประชาชน?” ระบุความต้องการที่จะให้ Smart Card เก็บข้อมูลพันธุกรรมด้วย แต่เมื่อทราบว่าความจุข้อมูลของบัตรน่าจะไม่พอ เธอจึงลำดับความสำคัญข้อมูลที่ควรบรรจุใน Smart Card ไว้ดังนี้ คือ 1) ข้อมูลสิทธิประกันสุขภาพ 2) ข้อมูลโรคและยาประจำตัว และ 3) ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเลือดและอาการผิดปกติเกี่ยวกับเลือด แต่ก็ให้แง่คิดว่า  เมื่อข้อมูลผู้ป่วยถูกเข้าถึงด้วยการอ่านจาก Card แล้ว แพทย์จะกลายเป็น "I-doctor" จิ้มๆ กดๆ ก้มๆ เงยๆ อยู่หน้าคอมฯ แทนที่จะเป็น "Your-doctor" ทำให้เป็นห่วงว่า จะมีการพูดคุยสร้างความไว้ใจ จนผู้ป่วยยอมเปิดเผยการใช้ประสาทสัมผัส ตรวจร่างกาย เพื่อค้นหาปริศนาหรือไม่ (สภาวะเช่นนี้ ในทางจิตวิทยาเรียกว่า "การขัดแย้งแบบบวก-ลบ [Positive-Negative Conflict] คือ มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเลือกเดียว ทำให้บุคคลตัดสินใจได้ยากที่สุด ว่าจะเลือกหรือจะไม่เลือกตัวเลือกนั้นๆ)            

           ในประเด็นการบรรจุข้อมูลต่างๆ ลงในบัตรประชาชนนั้น มีทั้งผู้ที่ต้องการให้บรรจุข้อมูลทุกด้าน อย่างเช่น "คุณ nmintra" และ  "คุณรัชดาวัลย์ (อิงจันทร์)" ซึ่งท่านหลังได้แสดงความต้องการที่จะให้บัตรเดียวใช้ได้ทุกโรค ทั่วโลก ทุกสถาบันการเงิน ทั้งบ้าน (ระบุคนในครอบครัว)  ทุกเส้นทาง (แทนใบขับขี่) ตลอดชีพ และเสมอภาค ส่วน "คุณ ธ.วัชชัย"  บอกว่า บางท่านอาจจะต้องการบรรจุข้อมูลส่วนตัวที่ครบถ้วน แต่ผมขอให้ใส่ข้อมูลเท่าที่จำเป็น เพราะกลัวเรื่องการขโมยข้อมูล เช่นเดียวกับ  "ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม" ที่แสดงความเห็นด้วยที่จะให้บัตรแสดงสิทธิบางประการ เช่น เป็นใบขับขี่  เป็นบัตรข้าราชการ พนักงานของรัฐ  และเห็นว่า เรื่องที่ยังไม่ควรบรรจุลงไปเพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยหากมีการรั่วไหลของข้อมูล หรือบัตรหายไป หรือการโจรกรรมข้อมูลต่างๆ ได้แก่ การบันทึกประวัติส่วนตัว เช่น การศึกษา สุขภาพ อาชญากรรม ฯลฯ เรื่องที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงิน เช่น Credit ATM หรือข้อมูลด้านหนี้สิน การใช้ชีวิต เช่น ข้อมูลการใช้จ่าย ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว หรือประสบการณ์ชีวิต และทิ้งท้ายว่า “อย่ายึดมั่นว่า บัตรประชาชนต้องเป็น บัตรแข็งๆ  เพราะรูปแบบปัจจุบันถูกตีกรอบด้วยขนาดของกระเป๋าเงิน อย่าตีกรอบว่า บัตรประชาชนทุกคนต้องมีแบบฟอร์มหรือรูปแบบเหมือนกันหมด อย่ายึดว่า บัตรประชาชนต้องทำอะไรได้หลายอย่าง แทนทุกบัตรที่เคยมีได้....เพราะแนวคิดการรวมแบบนั้นเกิดจากความรำคาญในการพกบัตรหลายใบ เป็นเพียงความต้องการความสะดวกสบายของคนไทย ต้องห่วงใยความปลอดภัยให้มาก อย่าเชื่อว่า การทำให้บัตรประชาชนแก้ไขข้อมูลต่างๆ ได้ยากและหลายขั้นตอนเป็นเรื่องดี เพียงเพราะป้องกันการปลอมบัตร เพราะวัตถุประสงค์หลักคือแสดงสถานะปัจจุบันของเจ้าของบัตร จึงควรออกแบบให้แก้ไขได้รวดเร็ว แต่ปลอดภัย อย่าเชื่อว่าทำให้บัตรฉลาด "สมาร์ทการ์ด" แล้วคนจะฉลาดขึ้น.....ตรงข้าม คนจะโง่ลงเรื่อยๆ และถ้าเรียนรู้ไม่ทันจะกลายเป็นเหยื่อ" 

        สมาชิกที่เสนอความต้องการ โดยการคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) ได้แก่ "ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์" ที่ได้แสดงความเห็นในบันทึกเรื่อง  “คิดถึงบัตร คิดถึง App มองบัตรประชาชนตามการใช้งาน” สรุปความได้ว่า เราใช้งานบัตรเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูล (Storage Device) และเสนอให้มีการพัฒนา "Storage is in the Card" (ข้อมูลอยู่ในบัตร) ไปเป็น "Storage is in the Cloud" (ข้อมูลอยู่ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์) เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ต้องพกบัตร เพียงแค่จำเลขประจำตัวประชาชนของตัวเองให้ได้เท่านั้น และสมาชิกที่แสดงความต้องการแบบคิดนอกกรอบมากที่สุด คือ "คุณ nmintra" ในบันทึกเรื่อง “บัตรประชาชนในฝัน…แค่ฝัน” (การคิดนอกกรอบเป็นอย่างไร ผู้เขียนได้เขียนอธิบายไว้ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487729 และที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485963?refresh_cache=true )ในบันทึกดังกล่าว  "คุณ nmintra" บอกว่าต้องการ 1) บัตรประชาชนแบบไม่ต้องพกพา เป็นที่รวมของข้อมูลทุกชนิดที่จะอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ โดยเป็นไมโครชิฟฝังไว้ที่นิ้วมือหรือการยิงแสงเลเซอร์อะไรสักอย่างเพื่อฝังไว้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอาจอยู่ในรูปของลายสักเล็กๆ ข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถเชื่อมโยงกับดาวเทียมได้ด้วย นั่นหมายความว่า หากเด็กคนหนึ่ง/คนมีความจำเสื่อม ฯลฯ ถูกลักพาตัว/พลัดหลง/สูญหาย เราจะตามหาเขาเจอในเวลารวบรัด และรหัสชิฟนี้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เฉพาะเราเท่านั้น ยกเว้นว่าเราจะอนุญาตให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ของเรา เราสามารถเชื่อมต่อกับทรัพย์สินเช่นรถ บ้าน หรืออะไรก็ตามที่เราคิดว่าเป็นทรัพย์สินของเราได้ เช่นลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ ฯลฯ  2) บัตรตามข้อ 1) มีแม่เหล็กฝังไว้ นั่นหมายความว่า หากรังสีอำมหิตของผู้ไม่หวังดีผ่านเข้ามา เช่น โจร ฆาตกร ฯลฯ แรงไฟฟ้าของแม่เหล็กจะกระตุ้นให้เรารู้ตัวได้ หรืออาจรุนแรงถึงขนาดที่ผลักไม่ให้เขาเข้ามาประชิดตัวเราได้ ขณะเดียวกัน อาจกลายเป็นอาวุธป้องกันตัวเหมือนไฟฟ้าจากปลาไหลไฟฟ้า กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกลัวภัยเท่านั้น ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับไฟฟ้าที่ผ่านออกมาจากสมองด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายสำหรับผู้อ่อนแอในโลกแห่งการบีบรัด 3)  บัตรนี้เป็นบัตรไร้พรมแดน หมายถึง ไม่ต้องมีสิ่งอื่นนอกจากบัตรนี้เท่านั้น ทันทีที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาเป็นมนุษย์ เขาจะได้รับการตีตราว่าเป็นมนุษย์บนโลกนี้ และสามารถเข้าถึงทรัพยากรของโลกได้เท่าเทียมกัน และ 4) บัตรนี้มีกล้องถ่ายภาพเก็บเสียงได้อย่างไม่จำกัด โดยเชื่อมต่อกับตาและหูของผู้นั้นบันทึกไว้ในชิพ ทั้งนี้จะเป็นข้อมูลบอกเราว่า ทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้น เพื่อความเข้าใจกันและกันนั่นเอง (ก็ ดร.จันทวรรณ บอกว่าให้สมาชิก GotoKnow เขียนตอบคำถามว่า "ท่านฝันอยากใช้ประโยชน์จากบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดอย่างไรบ้าง?" "คุณ nmintra"  ก็เลยตอบโจทย์ด้วยการฝันเฟื่องเต็มสูบเสียเลย เสียดายว่า ผู้เขียนไม่มีมีเงินถุงเงินถัง ไม่เช่นนั้นคงได้จับมือกับท่านนำความฝันไปทำเป็นหนังแนววิทยาศาสตร์หลุดโลกไปแล้ว)

            นอกจากความต้องการดังที่ได้กล่าวไปแล้ว "ดร.ขจิต ฝอยทอง" ยังแสดงความต้องการที่จะให้บัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสียบเข้าคอมพิวเตอร์แล้ว เพิ่มข้อมูลได้ เช่นข้อมูลการทำความดี ข้อมูลที่เป็นความสุขที่สามารถถ่ายโอนไปให้คนอื่นๆ อ่านได้ เพื่อให้มีกำลังใจในการทำความดีต่อไป และ"คุณ ธ.วัชชัย" อยากได้บัตรที่ผลิตจากวัสดุที่ทนทาน กันสิ่งที่ทำให้เสียหายได้ อยากให้เจ้าของบัตรสามารถอ่านข้อมูลในบัตรได้ และชี้ว่า ที่สำคัญที่สุด ไม่เกี่ยวกับบัตร แต่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐที่ต้องเรียกบัตรจากเรา ขอให้บริการอย่างญาติมิตร ขาดเหลืออย่างไรก็คุยกันได้ ไม่ต้องหงุดหงิดกัน โดยเฉพาะการติดต่อกับหน่วยงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ โรงพยาบาล ฯลฯ เหล่านี้หนักหนาสาหัสมาก (ผู้ที่เกี่ยวข้องเคยได้ยินเสียงบ่น และก่น บ้างหรือเปล่า ลองนึกถึงใจเขาใจเรา อะไรที่ยากก็เป็นเรื่องง่าย)

            และผู้เขียนเองก็เห็นว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าการทำหน้าที่ของบัตร Smart Card ก็คือ การให้บริการของบุคลากรในหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตาม หลักการให้บริการของส่วนราชการที่ว่า ที่เดียว ทันใด ทั่วไทย ทุกเวลา ทั่วถึง เท่าเทียม  และ ธรรมาภิบาล 

                                 ขอบคุณ GTK            EGA ร่วมสร้างสรรค์

                          โครงการดีมีรางวัล            มากำนัลผู้ร่วมคิด 

                                 ใช่จะหวังซึ่งเงินตรา   ปรารถนาเพียงฝึกจิต

                           ให้สมองได้ครุ่นคิด           พิชิตชัย ห่างไกล Alzheimer เอย

               

 

 

หมายเลขบันทึก: 488749เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 23:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (44)

บัตร 1 ใบใช้ได้ทุกเรื่อง ครบเครื่องทุกอย่างนะคะ

ขอบคุณมากคะ สำหรับบทความดีๆ ที่แบ่งปัน

อ่านบันทึกเดียวได้ทุกความเห็นดีๆทั้งนั้นเลยค่ะ..ขอให้ฝันเป็นจริงค่ะ..

ครบรสเลยค่ะอาจารย์แม่

สวัสดีค่ะ

  • ขอบพระคุณค่ะที่นำบันทึกของครูอิงค์ และของท่านอื่นมารวมไว้ ได้อ่านบางบันทึกที่ยังไม่ได้อ่านด้วยค่ะ
  • แต่ถึงอย่างไรก็จะตามไปให้ดอกไม้กำลังใจให้ผู้เขียนบันทึกทุก ๆ ท่านค่ะ

ขอบคุณสำหรับการรวบรวมและวิเคราะห์ให้เห็นภาพบัตรประชาชนในฝันครับอาจารย์

วิเคราะห์ได้อย่างตรงใจเลยค่ะ  สามารถอ่านของสิบเอ็ดความคิดได้จากที่นี่ที่

เดียวเลยนะคะ

อาจารย์วิเคราะห์ได้เห็นภาพรวมชัดเจนมากเลยครับ

  •  ขอขอบคุณ กัลยาณมิตรทั้ง 11 ท่านเป็นอย่างยิ่งนะคะ ที่กรุณาแวะมาอ่านและให้กำลังใจ

    "พี่ใหญ่ Ico48"   "อ.นุIco48"   "พี่ชายวอญ่าIco48"   "คุณ Somsri Ico48"   "คุณ kruguiIco48

    "คุณรัชดาวัลย์ (อิงจันทร์ Ico48"   "คุณชลัญธรIco48"   "ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์Ico48"  

    "ครูอ้อย แซ่เฮIco48"    "คุณ BowlingIco48"   และ "ศูนย์วิชาการเอดส์Ico48"

"...ที่เดียว ทันใด ทั่วไทย ทุกเวลา ทั่วถึง เท่าเทียม และ ธรรมาภิบาล..."

I thought of a border crossing, in places where there is no electricity and when id card is held by an authority... smarycard is dead there. Ummmh, how do we satisfy this 100%?

ทึ่งในความสามารถของอาจารย์ที่อ่านบทความแล้วจับใจความ นำมาร้อยเรียงเป็นภาพใหญ่  น้อยคนที่ละเอียดอ่อนพอนำความคิดต่างผู้คนมาถักทอได้อย่างนี้ค่ะ
วันนี้มีอีกหลายบันทึกที่ชื่นชอบ เช่น ของคุณปริม Khunrapee..ทำให้เข้าใจคำว่า "Collaboration" จริงๆค่ะ

...

ที่คุณ Sr ว่า "Smart card is dead if there is no electricity" ทำให้นึกถึง เย็นวันหนึ่งที่ทำงาน ต้องซ่อมไฟฟ้า คอมดับหมด ณ ตอนนั้น เหมือนเป็นอัมพาต ดู lab ไม่ได้ สั่งยาไม่ได้ แม้แป๊บเดียว แต่ก็รู้สึกได้ว่าสมัยนี้ คอมเป็นปัจจัยที่ 6 ซะแล้ว

  • ขอขอบคุณ กัลยาณมิตรทั้ง 8 ท่านเป็นอย่างยิ่งนะคะ ที่กรุณามาแวะมาอ่าน และให้กำลังใจ

  • คืนวันที่ 18 พ.ค. 2555 ผู้เขียนบินจากกทม.ถึงอุบลฯ ออกจากสนามบินประมาณสองทุ่ม หลังทานอาหารเย็นในเมืองแล้วก็เดินทางเข้าฟาร์มเลย พอตื่นเช้าเปิดประตูพบกอบัวหน้าบ้านมีดอกแย้มบานราวกับจะต้อนรับการกลับสู่ฟาร์มของผู้เขียน รู้สึกสดชื่นและมีความสุขมากค่ะ เลยขอนำภาพแห่งความสุขมาฝากทุกท่านด้วยนะคะ 

                         "ท่าน srIco48"  "อาจารย์หมอป.Ico48"  "คุณหมอทิมดาบIco48"  

            "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์Ico48"  "น้องอินIco48"  "คุณ Hanna สุวิญญา ธนสีลังกุลIco48  

                                            "คุณปริมIco48"  "ดร.ขจิต ฝอยทองIco48"    

                             

  • ขอบคุณ "คุณ SomsriIco48" กัลยาณมิตรผู้เปี่ยมน้ำใจ คล่องแคล่วว่องไว แวะไปให้กำลังใจกับทุกๆ คน
  • และขอขอบคุณที่ช่วยประเทืองปัญญา ด้วย "ผังมโนทัศน์องค์ประกอบของบัตรประชาชนในฝัน" นี้                                             
  • ขอบพระคุณ "พี่ใหญ่Ico48" มากค่ะ ที่มอบภาพในอดีตให้น้องได้ดู น้องได้นำมาจัดเรียงตามลำดับสถานภาพ ดังนี้นะคะ
  • ขอบคุณมากค่ะ "คุณชลัญธรBlank" ที่ได้บันทึกตอกย้ำการเป็นผู้มีจิตวิญญาณในการให้บริการ ให้ได้นำมาเป็นหนึ่งในบันทึกที่นำมาวิเคราะห์ในบันทึกนี้
  • อ.วิต้องเป๋นฝ่ายขอบคุณ "ครูอิงค์Blank" มากกว่าค่ะ ที่เขียนบันทึก ให้อ.วิมีสารสนเทศที่จะนำมาวิเคราะห์
  • ขอบคุณ "ศูนย์วิชาการเอดส์Blank" เช่นกันค่ะ ที่กรุณาแวะมาอ่าน ให้กำลังใจ และพูดคุยกัน

เก็บภาพดอกบัวสัตตบงกชที่บ้านมาฝาก..ช่วงนี้ผลัดกันออกดอกทุกกระถางค่ะ

  • ยินดีมากค่ะ ที่ได้รู้จัก "kruguiBlank" ชาวหางดง เพิ่งไปพักที่หางดงมาไม่นานนี้ค่ะ
  • ขอบคุณและดีใจมากค่ะ ที่ "Krigui" บอกว่า วิเคราะห์ได้ตรงใจ

  • ตอนแรกก็กังวลเหมือนกันนะคะ ว่า "ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์Blank" จะมองว่า หยิบประเด็นที่อาจารย์กล่าวถึงมาไม่ครบหรือเปล่า แต่พอได้รับ Feedback ว่า "อาจารย์วิเคราะห์ได้เห็นภาพรวมชัดเจนมากเลยครับ" ก็โล่งอกค่ะ ขอบคุณมากนะคะ

  • Certainly,  "khun srBlank" in places where there is no electricity, smart card or any IT  hardware or software will be dead. For that reason, the slogan "ที่เดียว ทันใด ทั่วไทย ทุกเวลา ทั่วถึง เท่าเทียม และ ธรรมาภิบาล" would not be achieved 100 %.
  • Thanks for telling the truth.
  • ขอบคุณมากค่ะ สำหรับปิยวาจาของ "อาจารย์หมอป.Blank" ทึ่งในความสามารถของอาจารย์ที่อ่านบทความแล้วจับใจความ นำมาร้อยเรียงเป็นภาพใหญ่  น้อยคนที่ละเอียดอ่อนพอนำความคิดต่างผู้คนมาถักทอได้อย่างนี้ค่ะ"

  • บันทึกของคุณปริม Khunrapee ก็ได้อ่านแล้วเช่นกันค่ะ

  • เห็นด้วยเลยค่ะว่า "คอมเป็นปัจจัยที่ 6 ไปแล้ว" เพราะงานทุกอย่างอยู่ในนั้นหมด ตอนอบรมครูปลายเดือนที่แล้วเครียดเลยค่ะที่พายุเข้าต้นไม้โค่นทับสายไฟทำให้ไฟดับวันครึ่ง เพราะสื่อที่จะใช้เป็น IT แทบทั้งนั้น ยกเว้นกิจกรรมที่ให้ปฏิบัติ แต่ก็ต้องให้ดูตัวอย่างที่เป็นภาพเคลื่อนไหวอยู่ดีค่ะ

  • ขอบพระคุณมากค่ะ "พี่ใหญ่Blank" สำหรับภาพดอกบัวหลวงหรือสัตตบงกช (Lotus) ที่สุดสวย ดีจังเลยค่ะที่บ้านพี่ใหญ่มีบัวหลวงหลายกระถางผลัดกันออกดอกให้ชม ของน้องมีกระถางเดียวที่มีดอกหลายรุ่น เดิมทีบ้านไอดิน-กลิ่นไม้ มีบัวหลวงสองกระถาง อีกกระถางเป็นดอกสีขาวแต่ตายไปแล้ว ไปหาซื้อมาปลูกแทนก็หาไม่ได้ค่ะ แต่ละสวนในอุบลฯ ขายแต่ที่มีดอกสีชมพูกันทั้งนั้น เลยเปลี่ยนเป็นอ่างเลี้ยงปลาสอด สีขาว สีแดง และสีดำไปแล้วค่ะ 
  • น้องชอบบัวทุกชนิดเลยค่ะ หลังเกษียณวางโครงการไว้ว่าจะปลูกบัวทุกชนิดในท่อยาว แทนท่อกลมที่ปลูกบัวไทย (Thai Water Lilly) และบัวอเมริกัน ค่ะ

 

  • มาอ่านครับผม ขอบคุณครับ กับข้อมูลเต็มๆ

โอ้โย่ ประมวลความเห็นได้ชัดเจน อ่านเพลินทีเดียว ขอบคุณมากครับ

  • ขอบคุณ "kunrapeeBlank" มากค่ะ ที่แวะมาให้กำลังใจ
  • ขอบคุณ "คุณ nmintraBlank" ที่เขียนความฝันหลุดโลก ให้ได้นำมาสร้างสีสันให้กับบันทึกนี้ และขอบคุณที่แวะมาอ่านและพูดคุยกัน ค่ะ
  • และขอบคุณ "คุณ ธ.วัชชัยBlank" ที่เขียนความต้องการแบบซื่อๆ และจริงใจ สร้างบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยในสังคมไทย และขอบคุณที่แวะมาอ่าน ให้กำลังใจและพูดคุยกันในบันทึกนี้ ค่ะ

       ขออนุญาตลากัลยาณมิตร เตรียมตัวเดินทางไปท่องเที่ยว "เมืองกิมจิ" และขอฝาก "ดอกบัวหลวง : สัตตบงกชหน้าบ้านไอดิน-กลิ่นไม้" (บ้านซึ่งจะเป็นที่อยู่อาศัยหลักของผู้เขียนหลังเกษียณอายุราชการ)        เพื่อความรู้สึกสงบเย็นของมวลมิตร แล้วพบกันใหม่วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2555 นะคะ 

แค่ชื่อเรื่องและลงท้ายท่านก็กินใจชาว GTW ถ้าผมเป็นกรรมการจะให้ท่านได้ที่ 1 (555)

บัตรเพียงใบเดียว ประกอบด้วยข้อมูลทุกอย่างของเจ้าตัว ราวกับแฟ้มประวัติ จดหมายเหตุของเจ้าตัว คงดีมากครับ หากบัตรเป็นเสมือนธนาคารความดีที่สั่งสมไว้ได้เหมือนที่อาจารย์ขจิตเปรยไว้...ผมว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว

ท่าน ผศ.วิไล ช่วยเล่าเรื่องการไปเที่ยวเกาหลีบ้างเด้อ

  • กลับมาแล้วค่ะ ตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับกัลยาณมิตรในวันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2555 ว่า "แล้วพบกันใหม่วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2555 นะคะ"

  • พรุ่งนี้ (พุธที่ 30 พฤษภาคม 2555) ขอเชิญชวนให้กัลยาณมิตรไปทำความรู้จักกับประเทศเกาหลีใต้ ในมุมมองที่อ.วิได้ไปพบเห็นมา ผ่านประสบการณ์ตรงเกือบ 5 วันที่ได้ท่องเที่ยวไปในดินแดนกิมจิกับลูกสาวและ Group Tour (ผู้ที่จะเกษียณอายุราชการจากมรภ.อุบลฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2555 จำนวน 5 ท่าน ลูกทัวร์อื่นๆ 19 ท่าน และมัคคุเทศก์จากประเทศไทย 2 ท่าน รวม 26 ชีวิต) ผนวกกับข้อมูลที่ได้รับจากมัคคุเทศก์ และการสืบค้นสารสนเทศเพิ่มเติมทาง Internet ค่ะ

  • วันนี้ ขอนำภาพหลักประกอบบันทึก มาเชิญชวนก่อนนะคะ หวังว่าจะได้รับความเมตตาจากมวลมิตรเข้ามาเยี่ยมเยียนกันเช่นเคย ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ 

  • ขอบคุณ "ท่านผศ.เดชาBlank" มากนะคะ ที่แวะมาทักทายพูดคุยและให้กำลังใจ

  • และขอบคุณที่ท่านบอกว่า "แค่ชื่อเรื่องและลงท้ายท่านก็กินใจชาว GTW (เดี๋ยวก็ถูกยกมือประท้วงหรอกค่ะ ว่าท่านรู้ใจชาว GotoKnow ได้อย่างไร) ถ้าผมเป็นกรรมการจะให้ท่านได้ที่ 1 (555)" ก็อย่างที่เรียนไว้ในตอนท้ายของบันทึกนี้นะคะ ว่า "ใช่จะหวังซึ่งเงินตรา   ปรารถนาเพียงฝึกจิต ให้สมองได้ครุ่นคิด พิชิตชัย ห่างไกล Alzheimer เอย" คือ ที่ร่วมเขียนบันทึกนี้ก็เพื่อ 1) เป็นการฝึกสมาธิให้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่เขียน เปิดโอกาสให้สมองได้จดจำสารสนเทศที่ได้อ่านในแต่ละบันทึก และได้นำสารสนเทศทั้งหมดไปวิเคราะห์-สังเคราะห์ เพื่อที่อาการสมองเสื่อม (Alzheimer) จะได้ไม่ถามหา 2) เป็นการให้ความร่วมมือกับ GotoKnow ที่ได้จัดเวทีที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ ความคิดและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน อีกอย่าง อ.วิ ก็เป็นคนที่ไม่ชอบการแข่งขันกับใคร จะชอบแข่งกับตัวเองเท่านั้น และกติกาที่ดร.จันทวรรณ แจ้งไว้ คือ "คัดเลือกบันทึกตามกติกาและใส่คำสำคัญว่า "บัตรประชาชน" ที่ได้รับดอกไม้มากที่สุด 250 บันทึกเพื่อมาสุ่มจับรางวัล" นะคะ ไม่ใช่ให้คะแนนการเขียนแล้วจัดอันดับเป็นที่ 1, 2, 3 ค่ะ

  • ที่ท่านเดชาบอกว่า "ท่าน ผศ.วิไล ช่วยเล่าเรื่องการไปเที่ยวเกาหลีบ้างเด้อ" พรุ่งนี้ติดตามอ่านนะคะ
  • เห็นท่านบอกว่าจะเขียนบันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมที่ไปอุบลฯ ไม่ทราบว่า ลงบันทึกแล้วยัง เดี๋ยวจะเข้าไปดูนะคะ
  • ขอบคุณ "ลูกแผ่นดินBlank" มากนะคะ ที่เข้ามาอ่าน ให้กำลังใจและให้ความเห็น

  • ความเห็นของลูกแผ่นดินที่ว่า "...คงดีมากครับ หากบัตรเป็นเสมือนธนาคารความดีที่สั่งสมไว้ได้เหมือนที่อาจารย์ขจิตเปรยไว้...ผมว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว" อาจารย์แม่ว่า สาธุชนคนทั่วไปคงให้การสนับสนุนความคิดดังกล่าว แต่กับพวกทุรชนคนชั่วร้าย คงไม่ยกมือสนับสนุน เพราะไม่อยากให้ปัตรประชาชนเป็นธนาคารประจานความเลวร้ายของตน

  • อาจารย์แม่ชอบบันทึกเรื่อง "โรงเรียนแห่งความสุข : ส่งใจมาด้วยศรัทธาและความผูกพัน" ของลูกแผ่นดินมากค่ะ

                           ขอบคุณกัลยาณมิตรมากนะคะ ที่กรุณาเข้ามาให้กำลังใจ

  • สวัสดีค่ะ
  • บันทึกนี้เป็นประโยชน์มากเหลือเกินจะบรรยาย
  • ส่วนที่อาจารย์อธิบายไว้ลำดวนขอก๊อปไว้ใช้เป็นข้อมูลการนิเทศนะคะ
  • จากที่อาจารย์ถอดบทเรียนจากแนวคิดของเพื่อนๆทุกคน...
  • ทำให้ได้แนวคิด วิธีคิด โดยเป็นประโยชน์มากๆค่ะ
  • ที่สำคัญนะคะลำดวนจะแอบจำแนวคิดที่ถอดบทเรียนนี้ไป้ใช้กับการทำงานค่ะ
  • ขอบคุณมากๆจริงๆ

เรียนท่าน ผศ.วิไล ตอนนี้กำลังทำบันทึกภาคสนามตอนไปอุบลใหเล้วเสร็จ...จึงจะถึงคิวเขียนบันทึกไปอุบลฯ

  • รู้สึกเป็นเกียรติ และปลื้มปิติมากค่ะ กับคุณค่าที่ "ท่านศน.ลำดวนBlank" มอบให้กับบันทึกนี้
  • อ.วิรู้สึกชื่นชมจริงๆใน "บุคลิกภาพแแบบรวงข้าว" ของท่านศน.ซึ่งเป็นผู้ที่มีทั้งภูมิรู้และประสบการณ์สูง แต่กลับไม่ถือตัวว่ารู้แล้ว เก่งแล้ว และเปิดโอกาสในการเรียนรู้อยู่เสมอ...เป็นสิ่งที่ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และครูอาจารย์ควรนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง
  • ขอบคุณมากๆ จริงๆ เช่นกันค่ะ 

        ไหนช่วงสองสามวันก่อนอ.วิไปเกาหลี "ท่านผศ.เดชาBlank" บอกว่าจะลงบันทึกเกี่ยวกับอุบลฯ ในวันสองวันไงคะ เอาเถอะเมื่อมีงานด่วนกว่าก็ต้องทำก่อน ลงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น จะรออ่านนะคะ 

 

  • อ.วิต้องขออภัยกัลยาณมิตรเป็นอย่างมาก ที่ได้เชิญชวนให้อ่านบันทึกใหม่ที่จะลงในวันที่ 30 พ.ค. คงจะต้องเลื่อนเป็น 2 มิ.ย. ด้วยเหตุนี้ค่ะ

           อ.วิได้รับเชื้อหวัดมาจากลูกสาวตอนที่ไปเกาหลี สองวันแรกไม่เป็นอะไร วันที่สามเริ่มมีอาการจามและน้ำมูกไหลไม่หยุด อาการแสดงออกมากในวันที่จะเดินทางกลับ  ตอนกลับถึงกทม.วันที่ 29 พ.ค.มีอาการหายใจหอบ ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งที่ก็เคยเป็นไข้หวัด และยิ่งตอนที่เดินจากจุดเช็คอินที่สนามบินสุวรรณภูมิไปรอขึ้นเครื่องกลับอุบลฯ ในวันที่ 30 ซึ่งต้องเดินไกลมาก ก็ยิ่งหอบมาก กลับถึงอุบลฯ ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะแค่เดินไม่กี่เมตรก็หอบแล้วเลยต้องนอนอย่างเดียว ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 31 ตื่นขึ้นมาพบว่าอาการหอบหายแล้ว เลยขับรถไปตลาดเพื่อซื้อกับข้าวมากิน หลังจากที่ไม่ได้กินมาตั้งแต่เที่ยงวันที่ 30

          ช่วงนี้เดินทางบ่อยมาก ในรอบสองสัปดาห์ขึ้นเครื่อง 8 เที่ยว และใช้แรงเดินขึ้นเขาทั้งตอนที่ไปเที่ยวเชียงใหม่และเที่ยวเกาหลี กลางคืนก็นอนน้อยร่างกายเลยอ่อนแอสู้กับโรคไม่ไหว ถ้าอยู่ที่ฟาร์มไอดินฯ หรือบ้านเรือนขวัญ ในแต่ละมื้ออาหารจะทานพืชผักสมุนไพร 80 % ทานโปรตีน 20 % ทำให้พร้อมสู้โรค แต่อยู่ที่เกาหลีวันเต็มๆ อาหารเป็นเนื้อสัตว์ 85 % ผัก 15 % ร่างกายคงจะปรับตัวไม่ได้ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์มากราบขอบพระคุณในความกรุณาให้ข้อคิดและแนะนำการเขียนบทความค่ะ ดิฉันได้เข้ามาแวะอ่านแล้วก็รีบปั่นงานต่อไป มาครั้งนี้มีเวลาแล้วค่ะ เรียนผ่านไป ผลการเรียนก็ออกมาแล้วค่ะได้ เกรด A ได้นำไปเป็นแนวทางได้ดีเยี่ยมเลยค่ะ ที่อาจารย์ได้แนะนำไว้ และกำลังจะเดินหน้าในเรื่องการเสนอหัวข้อ IS ค่ะ ที่คิดจะทำทักษะคิดวิเคราะห์ แต่ก็เปลี่ยนใจค่ะ ได้ทำโครงร่าง วางกรอบไว้ในเรื่อง "การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน" ค่ะ จึงมาติดตาม "คิดนอกกรอบ" จากบล็อกอาจารย์อีกแล้วค่ะ ทันสมัยมากๆเลยนะคะ ขอบคุณค่ะ

  • ยินดีด้วยนะคะ "หนูรินดาBlank" ที่ได้ A
  • ปลื้มใจที่หนูรินดานำคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ของ อ.วิไปใช้
  • ขอให้ IS ที่หนูวางกรอบไว้ เกี่ยวกับ "การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน" ดำเนินไปด้วยความราบรื่นนะคะ
  • ขอบคุณมากค่ะที่ติดตามอ่านเรื่องการคิดนอกกรอบ และชมว่าทันสมัยมาก
  • ภาพที่นำมาฝาก ทางเหนือเรียก "ตุุง" หรือเปล่าคะ ทำเองเเหรอ สวยสะอาดตาจริงๆ ค่ะ

เรียน ผศ.วิไล รักษาสุขภาพบ้างนะครับ..อย่าหักโหมงานมาก..พวกเรามัน สว.แล้วนะ

เห็นด้วยกับผศ.เดชา สว่างวงศ์ค่ะอาจารย์แม่(ขออนุญาตเรียกตามอาจารย์ขจิตนะคะ)

บัตรประชาชนใบเดียวสารพัดประโยชน์มาก เห็นด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท