สมาสแบบสันสกฤต (อย่างง่าย)


สมาส เป็นวิธีการสร้างคำในภาษาบาลีสันสกฤต (รวมทั้งภาษาอื่นๆ ในตระกูลนี้ แต่อาจจะเรียกชื่อต่างออกไป) อันที่จริง สมาสนั้น ไม่ใช่อะไรที่ประหลาดพิสดาร สมาสคือ การสร้างคำประสมนั่นเอง

ในภาษาไทยเราก็มีการนำศัพท์บาลีสันสกฤตมาสมาสจนเกิดความนิยมสมาสศัพท์มากขึ้น จะเห็นได้ว่าศัพท์ใหม่ๆ ที่บัญญัติขึ้นในภาษาไทยนั้นมาจากการสมาสก็มาก

คำสมาสที่ใช้ในภาษาไทยก็เช่น ราชพฤกษ์  ราชการ บรรณารักษ์ กุศโลบาย อุทกศาสตร์ อุทกวิทยา มหาวิทยาลัย ปรมาจารย์ ฯลฯ หมายความว่า คำเหล่านี้เรานำศัพท์บาลี/สันสกฤตมาประกอบขึ้นเอง โดยคนไทย เพื่อคนไทย มาเป็นคำไทย ในภาษาเดิมไม่มี

 

     ขอนอกเรื่องนิดหนึ่ง

     เมื่อพูดถึงสมาส นักเรียนมักจะนึกถึงสนธิ และเกิดความสับสน อันที่จริงหลักในภาษาบาลีและสันสกฤตนั้นจำได้ง่ายๆ ดังนี้…

     *สนธิ คือ คำที่อยู่ใกล้กัน แล้วเชื่อมเสียงกัน โดยที่คำนั้นมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ก็ได้ เช่น ราชา อาทิตฺยะ มาอยู่ใกล้กัน กลายเป็น ราชาทิตฺยะ แต่ความหมายก็ยังเหมือนเดิม แค่ออกเสียงให้กลืนๆ กันเฉยๆ

     *สมาส คือ การนำคำมารวมกันเป็นคำเดียว, การรวมกันนั้น อาจรวมคำหรือนำคำมาติดกัน (เช่น ราช+พฤกษ์ = ราชพฤกษ์) หรือรวมกันแล้วมีการเชื่อมเสียงกันก็ได้ (เช่น กุศล + อุบาย = กุศโลบาย) และมีความหมายเกิดขึ้นใหม่

 

มาพูดถึงสมาสกันต่อ

     เรามักจะคุ้นเคยกันว่า คำสมาส มีคำหลักอยู่ข้างหลัง การแปลสมาส จะต้องแปลจากหลังไปหน้า เช่น คณบดี หมายถึง ผู้เป็นใหญ่แห่งคณะ แต่ความจริงแล้วสมาสในภาษาสันสกฤต(และบาลี)นั้นไม่จำเป็นที่คำหลักจะอยู่ข้างหลังเท่านั้น คำหลักอาจอยู่ข้างหน้าก็ได้…

     สมาสมีตั้งหลายแบบ

     มาดูกันนะครับ

 

1. สมาสแบบสองคำเสมอกัน

     สมาสแบบนี้ คำทั้งสองมีน้ำหนักเท่ากัน ไม่มีคำใดขยายคำใด ความหมายว่า “และ” นิยมแปลจากคำหน้าไปคำหลัง เช่น

     ราม + ลกฺษมณ = รามลกฺษฺมณ แปลว่า พระรามและพระลักษมณ์

     มาตา + ปิตฺฤ = มาตาปิตฺฤ แปลว่า แม่และพ่อ (ภายหลังหมายถึงบิดามารดาในความหมายรวมๆ ไม่เจาะจงว่าต้องบิดาและมารดาเท่านั้น ตรงกับ parents ในภาษาอังกฤษ)

     หสฺต + ปาท = หสฺตปาท แปลว่า มือและเท้า

     *สมาสแบบนี้ในภาษาสันสกฤตมีไม่น้อย และเวลาแปลดูให้ดี ไม่อย่างนั้นจะเข้าใจว่าคำหลังเป็นคำหลัก คำหน้าเป็นคำขยาย อย่างที่เราคุ้นเคยในภาษาไทย

 

2. คำหน้าขยายคำหลัง

       แบบนี้มีมาก และที่ใช้ในภาษาไทยก็เป็นแบบนี้แทบจะทั้งหมด แบ่งได้ย่อยๆ อีกหลายชนิด โดยที่คำหลักอยู่ข้างหลัง แต่เพื่อมิให้คนอ่านหนีไปเสียก่อน ก็ขอเล่าย่อๆ แบบนี้ เช่น

       ราช+ ปุตฺร = ราชปุตฺร แปลว่า บุตรของพระราชา อย่างนี้คำหน้าเป็นนาม

       สุ + กลฺยา = สุกลฺยา แปลว่า หญิงงาม คำหน้าเป็นคำคุณศัพท์ 

       ตฺริ + โลก = ตฺริโลก แปลว่า โลกทั้งสาม คำหน้าเป็นคำบอกจำนวน

 

3. คำหลังขยายคำหน้า

       คำแบบนี้ก็ใช้ไม่มาก

       นร(คน) + วร(ประเสริฐ) = นรวร แปลว่า คนผู้ประเสริฐ (คนดี)

       นร(คน) + สึห = นรสึห แปลว่า คนเหมือนสิงห์

 

4. สมาสแปลว่า ผู้มี...

        สมาสนี้แปลกหน่อย และเราไม่คุ้นกัน เพราะศัพท์ที่ได้จะแปลว่า ผู้มี... แต่แปลจากหลังไปหน้า ดูตัวอย่างเลยดีกว่า

        อสิ (ดาบ) + ปาณิ (มือ) = อสิปาณิ  ไม่ได้แปลว่า มือที่ถือดาบ หรือ มือที่เหมือนดาบ แต่แปลว่า “ผู้มีดาบในมือ”  ดังนั้น คำว่า ปทฺมปาณิ จึงหมายถึง ผู้มีดอกบัวในมือ ทำนองเดียวกับ วชฺรปาณิ ผู้มีสายฟ้าในมือ

        อินฺทฺร + ศตฺรุ = อินฺทฺรศตฺรุ แปลว่า ผู้มีศัตรูคือพระอินทร์ (ไม่ใช่ ศัตรูของพระอินทร์) บูรพาจารย์ท่านอธิบายว่า พระอินทร์ไม่มีศัตรู จึงแปลเช่นในวงเล็บไม่ได้

        จนฺทฺร (พระจันทร์) + โศภา (ความงาม) = จนฺทฺรโศภา แปลว่า ผู้มีความงามเหมือนพระจันทร์

        อ+ปุตฺร = อปุตฺร แปลว่า ผู้ไม่มีบุตร (ไม่ได้แปลว่า ผู้ไม่เป็นบุตร) คำนี้ตามตำราบอกว่าต้องแปลว่า ผู้มีบุตรหาไม่ คือ สมาสแบบนี้ ต้องแปลว่า “ผู้มี....” เอาไว้ก่อน

        (ความจริงแล้วสมาสแบบนี้ เอาไว้ขยายคำนามอื่นอีกทีก็ได้)

 

        **บางท่านเห็นคำแปล หรือวิธีการแปลแปลกๆ แล้วก็พาลเบื่อ อันที่จริงนี่เป็นเพียงวิธีการเรียนการสอน ที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจตามหลักการเท่านั้นเอง การแปลจริงๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องตามแบบแผนอย่างนี้ ขึ้นกับความเหมาะสมของภาษาที่เราจะใช้ เช่น สมาสแบบที่สี่ แปลว่า ผู้มี... นักเรียนก็จะได้ทราบความหมาย และการใช้สมาสชัดเจน หากแปลไปตามใจฉัน ก็อาจจะหลงทางได้**

 

       เห็นตัวอย่างกันแล้ว คงพอนึกภาพออกว่าการประสมคำในภาษาสันสกฤต (ก็คือ สมาส นั่นแหละ) นั้นมีหลากหลายแบบ คำสมาสที่เราเห็นคำหนึ่ง อาจแปลความหมายได้หลายอย่างก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะพิจารณาอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องตรงกับเกณฑ์ หรือวิธีการสร้างคำที่กำหนดเอาไว้

       หากท่านเจอคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาไทย แล้วแปลความหมายประหลาด ก็อย่าเพิ่งไปทึกทักว่าเขาแปลผิด เพราะคำนั้นเอาจจะไม่ได้เข้าหลักสมาสที่เราคุ้นเคยก็ได้ อาจจะเป็นสมาสชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 3 ที่ 4 ก็ได้

       สมาสในภาษาสันสกฤตจริงๆ นั้นมีรายละเอียดมากกว่านี้หลายเท่า นี้ยกมาพอให้เห็นเป็นของเล่น เผื่อนึกสนุก จะได้ไปศึกษากันต่อนะครับ...

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สนธิ#สมาส
หมายเลขบันทึก: 488747เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สวัสดีค่ะคุณครู

บทเรียนนี้ไม่ยากค่ะ อย่างนี้ค่อยมีกำลังใจเรียนหน่อย

ตอนเด็กๆเรียนคำสมาส สนธิ ก็ท่องแค่ว่า สมาสชน(คำ) สนธิต่อ (คำ) เหลือแค่นี้เองค่ะ
ชอบที่บันทึกนี้ให้ความรู้เรื่องการสมาสเพิ่มขึ้นอีกหลายกรณีด้วย

ความรู้เรียนไม่่รู้จบจริง ๆ ด้วย

ขอบคุณค่ะ

อาจารย์คะคำว่าดาบนี่ พวกนี้ใช้ได้ไหมคะ เป็นคำนามเพศชาย นิยมใช้กันไหม

खङ्ग - ขงฺค कृपाण - กฤปาณ

จะว่าไปอยากท่องศัพท์ง่ายๆพื้นฐานให้ได้ก่อน อาจารย์จะแนะนำอะไรดีคะ ขอบพระคุณคะ

สวัสดีครับ คุณIco48 sr

บันทึกนี้ เล่าแค่ภาพกว้างๆ ครับ ไม่ต้องจำอะไรมาก ให้ได้ทราบว่า สันสกฤตเขามีสนธิหลายอย่างนะ แค่นี้เอง ;)

 

สวัสดีครับ คุณ Ico48 หยั่งราก ฝากใบ

คราวหน้าจะได้เล่าฉบับยากต่อครับ

มีอะไรให้เรียนรู้เยอะจริงๆ

 

สวัสดีครับ อ. Ico48 ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

ผมย่อลงมาเหลือสัก 1/10 เองครับ ;)

 

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คุณ ศรี บรมอีศวรี

ว้า... อย่าเพิ่งร้อง

คำว่า ดาบ ที่พบบ่อยก็คือ อสิ และ พาณ ครับ, อสิ นี่ฮิตมากเลย

ส่วน ขงฺค, ขฑฺค และ กฺฤปาณ ก็มีบ้าง แต่น้อยกว่ามาก

ศัพท์เบื้องต้นควรรู้

นาม เพศชาย ลงเสียงอะ

1. गज คช

2. नर นร

3. राज ราช

4. देव เทว

5. पुत्र ปุตฺร

6. राम ราม

7. असुर อสุร

8. आदित्य อาทิตฺย

9. आचार्य อาจารฺย

10. शिष्य ศิษฺย

คงไม่ต้องแปล...

คราวหน้าจะได้ลองอ่าน/เขียนกัน

การสมาสก็สนุกดีนะครับ แต่บางครั้งมันทำให้งงไปหน่อย เพราะคำที่สมาสกัน สามารถแปลออกมาได้หลายแบบ

อาจารย์คะ หนูลองถอดเป็นโรมันช่วยดูหน่อยว่าถูกหรือเปล่าคะ

ปฺรสฺตาวสทฺฤศํ วากฺยํ สฺวภาวสทฺฤศํ ปฺริยมฺ| อาตฺมศกฺติกํ โกปํ โย ชานาติ สปณฺฑิตะ||

prastāvasadṛśaṁ vākyaṁ savabhāvasadṛśaṁ priyaṁ

ātamaśaktikaṁ kopaṁ yo jānāti sapaṇḍitaḥ

ขอบพระคุณคะ

สวัสดีครับ คุณ Ico48 Sanskrit Lover

ก็สนุกนะครับถ้าสมาสสองคำสามคำ ถ้าเยอะกว่านั้นเริ่มไม่ง่ายแล้วล่ะ อิๆๆ

 

คุณ Ico48 คุณ ศรี บรมอีศวรี ครับ

ขยันจังเลย

เขียนถูกหมดครับ ยกเว้น สฺวภาว..

คำนี้มีจุดใต้ ส เพราะมาจาก สฺว(ตัวเอง)+ภาว

โรมันต้องเป็น svabhāva...

อาจารย์คะ ตัวอักษรเทวนาครีที่มีจุดใต้พยัญชนะ หมายถึงอะไร คืออะไรคะ และต่างจากที่ไม่มีจุดอย่างไรคะ ขอบคุณคะ

เทวนาครีที่มีจุด ก็มี ง (ङ) ตัวเดียวครับ

นอกนั้นถ้ามีจุด เป็นอักษรสำหรับใช้ในภาษาฮินดี หรืออูรดู

เช่น ज = ช, ज़ = ซ จะออกเสียงคล้ายเดิม แต่มีคุณภาพเสียงแตกต่างไปบ้าง

 

อาจารย์คะ คำนี้เขียนเป็นอักษรไทยถูกไหมเอ่ย pīḍāṁ - ปีฑำ แล้วมันจะออกเสียงยังไงอะคะ เจอคำแบบนี้เยอะมาก

คำนี้อีกคะ piṁgalo - ปิํคโล ออกเสียงยังไงคะ หนูเขียนถูกหรือเปล่า

raudro - เราโทฺร หนูเขียนแบบนี้ได้ไหมคะ หรือมันควรจะเป็น เราทฺโร

กับ putro ปุโตฺร หรือ ปุตฺโร

ขอบคุณคะ

pīḍāṁ - ปีฑำ  ถูกแล้ว  ออกเสียง ปีดาม, เสียงไม่ตรงหรอก แต่ออกเสียงให้ฟังไม่ได้ ;)

piṁgalo - ปึคโล (ป สระอิ + นิคหิต) ออกเ้สียงว่า ปิม(เสียงขึ้นจมูก) กะ โล หรือ ปิง กะ โล

raudro = คนเก่านิยมใช้ เราโทฺร แต่บางคนก็เขียน เราทฺโร ผมว่าไม่จำกัดตายตัว

putro ก็เหมือนกัน เพราะคำที่มีจุด เราไม่ออกเสียงสระ อยู่ตรงไหนมันก็เหมือนกัน

สวัสดีค่ะอาจารย์คือหนูจบเอกภาษาไทยมานานและพอดีจะไปสอบครูผู้ช่วยเลยแวะเข้ามาหาความรู้เพิ่มเติม ขอบพระคุณสำหรับบทความที่เต็มเปี่ยมด้วยเนื้อหาสาระค่ะ

สวัสดีครับ อ.Blank หมูจ๋า

ผมก็จบเอกภาษาไทยเหมือนกันครับ

พักหลังเรื่องวรรณคดีไทยชักจะเลือนๆ เพราะมัวแต่อ่านสันสกฤต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท