บันทึกงานศพยาย ที่ปัตตานี (2/2)


เสี้ยวหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ปลายสุดด้ามขวานของไทย

20  พ.ค. 2555 

          บันทึกงานศพยายตอน 2 ขอเล่าถึงกระบวนการทำศพของคนที่ ตำบลทุ่งคล้า  อำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  ที่มีลักษณะวิถีเฉพาะของตนเอง

         เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน  จะมีการบอกข่าวไปให้สมาชิกของชุมชนทั้งหมดทราบ  โดยไม่ต้องมีการ์ดเชิญแต่อย่างไร  ทุกคนเมื่อทราบข่าวก็จะไปรวมกันที่วัดเพื่อช่วยเหลือกัน ทุกคนจะละจากงานประจำ  ยิ่งเป็นญาติใกล้ชิดจะวางมือจากงานของตนเองทั้งหมด  ไปอยู่ช่วยงานที่วัดจนกระทั่งทำการเผาศพเป็นที่เรียบร้อย การไปงานศพนั้นจึงเรียกกันว่า  “ไปถามข่าว”    

          ลักษณะของการจัดงานศพของชาวไทยพุทธที่ตำบลทุ่งคล้า  อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในปัจจุบันนั้น (20 พ.ค. 55)  ขอสรุปเป็นประเด็นเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ

 

 1.  พิธีกรรม

          พิธีการเมื่อมีคนตายก็จะให้ลูกหลานอาบน้ำศพเหมือนที่อื่นๆ เมื่อก่อนนี้นิยมตั้งศพที่บ้าน  แต่ปัจจุบันจะนำไปไว้ที่วัดหมดแล้ว  เพราะที่ทางกว้างขวางสะดวกสบาย  รถราจากญาติต่างตำบลที่ห่างไกลมาถามข่าวได้สะดวก

          หลังจากอาบน้ำศพแล้วก็มัดตราสังข์  ห่อศพ  และ ตั้งศพไว้ที่ศาลามีสับปะเหร่อเป็นผู้ทำพิธี ประดับดอกไม้โลงศพ  จุดธูปหน้าศพไว้ตลอด  มีการสวดอภิธรรมทุกคืน  สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนที่อื่นๆ  ตามประเพณีชาวไทยพุทธ จนกระทั่งวันเผา  นิยมตั้งศพสวด  3  วัน  ถ้าเจ้าภาพฐานะดีก็อาจเอาไว้ถึง  5 คืนก็มี   การเผาก็ใช้เตาเผาถ่านไม้ที่เมรุหลังวัด  ก็สะดวกมากขึ้น  เมื่อ  15  กว่าปีก่อนตอนทำศพให้คุณพ่อ  ยังไม่มีเมรุต้องเคลื่อนศพ (โดยใช้รถลาก) ไปยังป่าช้า(เปล๊ว)  ซึ่งห่างจากวัดประมาณ  2.5 กิโลเมตร  โดยมีพระเบิกทางไปตลอด  ทำการเผากันสดสดบนเชิงตะกอน   ลูกหลานต้องอยู่เฝ้าสุมไฟกับสับปะเหร่อตลอดจนกระทั่งไหม้หมดจริงๆ  แต่เดี๋ยวนี้สบายมากขึ้นสับปะเหร่อจัดการคนเดียวได้    

          ก่อนการเผาจะเปิดโลงศพออกให้ลูกหลานญาติพี่น้องได้ดูเป็นครั้งสุดท้าย  ผมเฝ้าดูคุณยายตลอดเวลาเห็นท่านนอนอมยิ้มน้อยๆ อยู่  คงไปด้วยความสุข  เพราะน้องที่อยู่ด้วยบอกว่าตอน 05.00 ยังคุยกันอยู่เลย  พอไปเตรียมอาหารเช้าเสร็จนำมาให้รับประทานก็สิ้นไปแล้ว  ตอนนี้สับปะเหร่อจะทำพิธีเอาผ้าปิดตาออก  และ ยื่นมาให้ผมเก็บเอาไว้  ด้วยเห็นว่าผมเป็นผู้ชายและอาวุโสที่สุดในกลุ่มหลานของยาย (ลูกยายมี 2 คนรวมทั้งคุณแม่ของผมได้เสียชีวิตไปก่อนคุณยายแล้ว  .. ท่านยังเคยบ่นเลยว่า “กรรมใดหนอ  ให้ผมขาวมาส่งผมดำ” )  ถือว่าเป็นมงคลชีวิต  จากนั้นก็วางดอกไม้จันทน์และจัดการเผา  รอจนกระทั่งวันพรุ่งนี้ก็มาทำพิธีเก็บกระดูกกัน

          ในพิธีเก็บกระดูกนี้  เริ่มด้วยสับปะเหร่อจะดึงล้อเลื่อนที่เผาศพยายในเมรุออกมา  ก็เหลือแต่กระดูกที่ไม่ไหม้  กระดูกของคุณยายมีแต่สีขาวกับสีชมพู   ปริมาณเหลืออยู่ไม่มากเมื่อเทียบกับของคนอื่นๆ ที่เคยเห็น  อาจเป็นเพราะอายุมากแล้วกระดูกจึงบาง  อีกทั่งเป็นคนตัวเล็กด้วย   ตอนนี้สับปะเหร่อจะนำผ้าขาว  (ผ้าคนตาย) มาปิดบนกระดูกแล้วทำพิธีสวดเล็กน้อย  แล้วดึงผ้าออกไป  แล้วเปลี่ยนเป็นผ้าลายตาหมากรุกเหมือนผ้าขาวม้า (ผ้าคนเป็น) มาปิดบนกระดูก  ทำพิธีสวด  แล้วดึงผ้าออกมาให้ผม  บอกเก็บไว้อายุจะยืน  (ผมเลยได้มา 2 ผืน จากงานศพคุณยาย ผ้าปิดตาแบ่งให้ลูกชายเก็บไว้) 

          หลังจากนี้ก็นำเอากระดูกไปใส่ในโกศ  ทำพิธีสวดบังสุกุลใหญ่อีกครั้งก่อนพระฉันเพล  ก็เป็นอันจบพิธีเกี่ยวกับสงฆ์ที่เริ่มตั้งแต่สวดวันแรก  สวดพระอภิธรรม  เทศน์หน้าศพ  นำทางเคลื่อนศพ  เรื่อยมามาจนถึงตรงนี้   หลังจากนั้นสับปะเหร่อพร้อมลูกหลานญาติสนิทจะนำกระดูกไปทำพิธีใส่บัว

         บัว  เป็นเจดีย์เล็กๆ สำหรับเก็บกระดูกคนที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  ไม่นิยมนำกระดูกไปลอยน้ำที่เรียกว่า “ลอยอังคาร” กัน   ในวัดทุ่งคล้ามีบัวขนาดใหญ่สร้างไว้ในอาคารกันแดดฝนอย่างดี  ปูพื้นด้วยหินแกรนิต  สำหรับบรรจุอัฐิเจ้าอาวาสที่ล่วงลับไปแล้ว  มีจำนวนบัวเท่าจำนวนองค์เจ้าอาวาสที่ล่วงลับไป มีอยู่จำนวน  7 องค์  ประชาชนที่นี่จะมากราบไหว้เป็นประจำให้คุ้มครอง  โดยเฉพาะเวลาต้องเดินทางจากบ้านไปไกล  ส่วนด้านหลังของอาคารก็จะเป็นบัวของชาวบ้านทั่วไป  มีเป็นจำนวนมากแล้วแต่ลูกหลานใครจะสร้างแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการดูแล  ส่วนใหญ่จะสร้างองค์หนึ่งสำหรับญาติพี่น้องในสายเลือดที่เกี่ยวพันกัน  การสร้างสำหรับครอบครัวเดี่ยวๆ ไม่นิยมกันนัก  ทั้งนี้เพราะต้องมาคอยดูแลรักษาให้สะอาดอยู่เสมอๆ จากตะไคร่น้ำ  ต้นโพธิ์ต้นไทรที่นกนำมา  รวมทั้งหญ้าโดยรอบ  ก็เป็นภาระไม่ใช้น้อยเช่นกันสำหรับคนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน  ลักษณะเหมือนการดูแลฮวงซุ้ยของชาวไทยเชื้อสายจีนนั่นเอง   สำหรับคนที่ไม่สะดวกในภารกิจเหล่านี้ด้วยเหตุใดก็ตาม  ก็จะมีบัวขนาดใหญ่ 1 องค์ สำหรับเก็บกระดูกของคนทุกคนในหมู่บ้าน  กระดูกของคุณยายก็ใส่ไว้ในนี้   กระดูกของคนทั้งหมู่บ้านจึงอยู่ด้วยกันทั้งหมดในบริเวณหลังบัวของเจ้าอาวาสนั่นเอง   ทุกๆ ปีในวันว่าง  1 วัน ของเทศกาลสงกรานต์  คนทั้งหมู่บ้านรวมทั้งลูกหลานที่อยู่ห่างไกลซึ่งได้เดินทางกลับบ้านก็จะพากันมารวมตัวในบริเวณที่ตั้งของบัวในวัดนี้เองเพื่อร่วมทำบุญใหญ่อุทิศส่วนกุศลไปยังผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  ลูกใครหลานใครที่ไม่เคยได้พบเห็นกันมานานด้วยจากบ้านไปไกล  ด้วยวัยที่เปลี่ยนไป  ด้วยรูปร่างที่เปลี่ยนไป  ก็จะทักทายปราศรัยกัน  ถือโอกาสสร้างความรู้จักมักคุ้นซึ่งกันและกัน

 

2. ภารกิจ      

          คนที่นี่เมื่อรู้ข่าวว่ามีคนตายจะแบ่งออก  2 ระดับ  คือ  คนที่เคารพนับถือ ญาติสนิทใกล้ชิด  จะวางมือจากงานทันที แล้วมุ่งหน้าไปที่วัด  ทำงานตามถนัดของตน   ส่วนที่เหลือจะทำภารกิจที่ค้างในวันนั้นให้เสร็จก่อนแล้วตามมาภายหลัง  อาจเลยจนถึงมาฟังพระสวดตอนค่ำเลยก็มี  อย่างไรก็ตามทุกอย่างในงานจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ  ทุกคนรู้ว่าตนเองมีภารกิจอะไร  สังคมวางภาระอะไรไว้กับตน  ตัวอย่างเช่น 

                .....   กางเต็นท์  ใช้เวลาไม่เกิน  1 ชั่วโมง  ทุกอย่างเรียบร้อย  (งานผู้ชายหนุ่มแน่น)

                .....   หาฟืน  ต้องใช้ฟืนจำนวนมาก เพื่อการนึ่งข้าว  การทำอาหารต่างๆ  ใช้แก๊สน้อยมาก  ใช้เฉพาะอาหารที่ทำจำนวนไม่มาก  นอกนั้นใช้ไม้ฟืนเป็นหลัก   (งานผู้ชาย)

                .....   นึ่งข้าว  คนนึ่งข้าวจะมาทันทีที่รู้ข่าว  จะเป็นคนเดิมๆ (ผู้ชาย 5 คน)  อยู่ตั้งแต่เริ่มงานจนจบ   ข้าวเป็นข้าวเจ้าไม่ใช่ข้าวเหนียวนะครับ  แต่ไม่หุงจะใช้วิธีการนึ่งเอา  โดยใช้กระทะขนาดใหญ่ใส่น้ำเกือบเต็ม  วางโครงไม้ลงในกระทะ  โครงไม้นี้ทำเป็นชั้นๆ โปร่ง  แต่ละชั้นสูงเพียงให้ถาดใส่ข้าวสอดได้เท่านั้น  นำถาดขนาดใหญ่มาใส่ข้าวสารพร้อมน้ำลงไปพอท่วมข้าวสัก  1 ข้อมือ  แล้วนำไปวางบนโครงไม้  จากนั้นจึงปิดด้วยฝาครอบขนาดใหญ่ (ประมาณถัง 200 ลิตร  ทำด้วยสังกะสี)  ครอบลงไปจนถึงน้ำในกะทะ  คนนึ่งข้าวก็จะเฝ้าดูไฟไปเรื่อยๆ จนข้าวสุก   ทำทุกวันทึกงานไม่มีเว้น  (เจ้างานมักให้สินน้ำใจ และ เสื้อผ้าตอบแทนการช่วยงาน  เพราะคนเหล่านี้แอบเวียนหนีไปทำงานของตนไม่ได้)

                .....   จีบผ้าหน้าศพ  จีบผ้าที่นั่งพระ  จัดดอกไม้หน้าศพ  (งานผู้หญิง) 

                .....  ทำกับข้าว  (งานผู้หญิง)  ช่วยกันทำ  เวียนกันทำ  มี 2-3 คน เป็นตัวหลักในการปรุงอาหาร  ส่วนหนึ่งจะนอนอยู่ที่ครัวนี่แหละ  ไม่กลับบ้านกันแล้ว  เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตีห้า

                .....  ล้างจาน  (งานผู้หญิง)  ช่วยกันทำ   บางคนอายุ  70 – 80 แล้วก็มี

                .....  ล้างแก้ว  (งานเด็กๆ ผู้หญิง) 

                .....  จัดอาหารถวายพระ  (ผู้ชายผู้หญิงปะปนกัน)

                .....  จ่ายกับข้าว  (ผู้หญิง)          

                  ฯลฯ 

         มีงานเล็กๆ น้อย จุกจิกอีกมากที่ช่วยๆ กันทำด้วยจิตอาสา  ไม่มีการบังคับ  แต่ทุกคนรู้ว่าตนเองควรทำอะไร  วนเวียนกันทำ  ช่วยเหลือเป็นลูกมือให้คนอื่นเมื่อตนเองว่าง  เหนื่อยก็บอกว่าเหนื่อยของีบหลับก็ไม่ว่ากัน  แม้กระทั่งการออกไปหาใบกระพ้อเพื่อมาทำข้าวต้มสามมุม  หาใบกล้วยมาทำข้าวต้มมัด   หาหยวกมายำมาแกง   ก็ชักชวนกันไป  ช่วยๆ กันไป

       อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ข้าวสาร  ที่ใช้ในงานนั้นเป็นข้าวสารที่ทุกๆ คนนำใส่หม้อหิ้วเล็กๆ ตามกำลังมาเทรวมกันในโอ่งขนาดใหญ่ที่ครัวของวัด  เจ้าภาพไม่ต้องหาซื้อแต่อย่างใด

 

3. การกิน – การเลี้ยง    

        งานศพที่นี่เจ้าภาพจะรับแขกตลอดเวลา  ซึ่งมีทั้งแขกประจำที่เป็นคนบ้านเดียวกัน  แขกที่มาจากต่างถิ่น   แขกมาถึงเมื่อไรจะต้อนรับโดยการให้กินข้าวทุกครั้ง  และ ทุกคนก็กินกันเป็นเรื่องปกติ  มาถึง 10 โมงก็กิน 10โมง  มาถึงบ่าย 3  ก็กินบ่าย  3  ตั้งสำรับตลอดให้แก่แขกแดนไกล  แต่แขกในหมู่บ้านหรือที่มาช่วยงานก็ตักกินกันเองเหมือนบุฟเฟต์  หรือ สะดวกตักใส่ถ้วยมาร่วมโต๊ะกันเองก็ตามสบาย   อีกทั้งคนที่มาช่วยงานตลอดยังนำข้าวปลาอาหารกลับไปให้คนที่อยู่ที่บ้านอีกด้วย   ถ้าเป็นญาติใกล้ชิด  คนสนิท  เป็นอันว่า 3 วัน 5 วัน ที่มีงานไม่ต้องเตรียมอาหารที่บ้านแล้วไปเอามาจากในงานนั่นแหละ  แต่ถ้าไม่สนิทนักก็อาจเอาบ้างในบางมื้อ    ทำไมทำเช่นนี้เพราะการทำงานทุกอย่างเกิดขึ้นจากที่เพื่อนบ้านต้องวางมือจากงานประจำของตนมาช่วยโดยไม่มีค่าตอบแทน   ไม่มีเวลาหาอาหารให้ครอบครัว  ดังนั้นเหมือนการพึ่งพาซึ่งกันและกัน     

          .....  กับข้าว  เป็นกับข้าวพื้นบ้านที่มาจากฝีมือแม่ครัวพื้นบ้าน  แต่อร่อยไม่แพ้เชฟใหญ่แน่นอน  โดยเฉพาะความสามารถในการดัดแปลงวัตถุดิบที่หาได้จากพื้นบ้านมาเป็นเมนูเด็ด  เช่น  ยำหยวก  ยำมะม่วงหิมพานต์ (เนื้อของผลมะม่วงหิมพานต์นะครับไม่ใช่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์)  ยำผักกูด   แกงขี้เหล็ก  แกงกะรอก (เมนูพิเศษ .. แพงและหายากกว่าหมู  กะรอกที่นี่เป็นศัตรูพืช  มีมากมายยิงกันไม่หวาดไม่ไหวในสวนมะพร้าว)  น้ำพริก  น้ำบูดู  แกงขี้เหล็ก  แกงบอน  แกงปลาต่างๆ  ปลาแห้งทอดกรอบ  เป็นต้น   อาหารหลัก (กับข้าว)ที่ต้องมีตลอดเวลาทุกมื้อ  คือ หมูหวาน  น้ำบูดู และ ผักจิ้ม 

          .....  ขนมหวาน  น้ำหวาน  โอเลี้ยง  มีตลอดเวลา  

          .....  ผลไม้  มีเฉพาะตอนถวายอาหารแด่พระสงฆ์

          .....  ข้าวต้มสามมุม  ข้าวต้มมัด  เป็นอาหารที่ต้องทำในวันสุดท้ายของงานเพื่อใส่บาตร

          .....  เหล้ายาปลาปิ้ง  มีมุมเลี้ยงตลอดงานเช่นกัน


4. ค่าใช้จ่าย    

          เนื่องจากเลี้ยงตลอดเวลา  ดังนั้นค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูงตามไปด้วย  อย่างเช่นงานศพของคุณยายครั้งนี้ทั้งหมดรวมทั้งเงินถวายพระด้วย  ในเวลา  3  คืน  เป็นเงิน  154,745  บาท  ตกประมาณ  คืนละ  50,000  บาท  ได้เงินค่าช่วยเหลือทำบุญเป็นเงิน  93,550  บาท   ดังนั้นเจ้าภาพต้องหาเงินมาเพิ่มจำนวน  61,195  บาท  แต่ทั้งนี้ไม่ได้วิตกกังวลมากนักเพราะผู้ตายได้ระบุให้มรดกส่วนหนึ่งเป็นส่วนทำศพ  ซึ่งเรียกกันว่า “ส่วนกระดูก”  เพื่อใช้ในการจัดงานศพและตอบแทนคนที่เฝ้าดูแลบริบาลยามแก่เฒ่า  กลายมาเป็นประเพณีหนึ่งของสังคมเมื่อยามมีการแบ่งมรดก  จะมีส่วนหนึ่งแยกออกมาเพื่อเป็นส่วนนี้  ไม่ได้นำมาคิดรวมในมรดกที่ต้องแบ่งปันกัน  อย่างคราวนี้คุณยายกำหนดไว้เป็นสวนมะพร้าวพื้นที่  18 ไร่  ซึ่งน่ามีราคาประมาณหนึ่งล้านบาท  น้องคนที่เลี้ยงดูยายก็ได้รับไป  ก็ไม่น่าหนักใจแต่อย่างไร   แต่คนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติที่เป็นที่ดิน  ดำรงชีวิตด้วยรับจ้าง (การรับจ้างที่นี่แบ่งครึ่งกับเจ้าของ  ไม่ใช่ค่าแรงรายวัน  ดังนั้นรายรับไม่ได้ด้อยแต่อย่างไร  มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่  300 บาทต่อวันอีกด้วย)  ต้องสะสมเงินไว้ให้ดีและจัดการให้ดีไม่ให้ถูกผลาญหมดก่อนสิ้นอายุ  มีเงินก้อนทิ้งไว้ลูกหลานที่อยากได้ก็เฝ้าดูแลอยู่  สามารถดำรงชีวิตบั้นปลายอยู่ได้เหมือนคนอื่นๆ ในสังคมแห่งนี้       


        ทั้งหมดนี้เป็นเสี้ยวหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ปลายสุดด้ามขวานของไทย  มีทั้งส่วนที่ดี  คือ จิตอาสา  ความสามัคคี  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  แต่ต้นทุนการเสียชีวิตค่อนข้างสูง  ต้องมีการวางแผนชีวิตที่ดี         

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 488603เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้นทุนชีวิต แตกต่างจาก ต้นทุนชีวิต พื้นที่อื่นๆ นะคะ ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีๆ เช่นนี้นะคะ

ขอบคุณครับที่ให้กำลังใจ คนที่นั่นเป็นสังคมที่แปลกแยกจากที่อื่นๆ ทำให้ลักษณะทางสังคมมีส่วนแตกต่างจากชาวไทยทั่วๆ ไปอยู่บ้างครับ มีหลายๆ อย่างที่กลืนหายไปในกระแสวัฒนาธรรมกลางและตะวันตกอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งได้รับการบันทึกไว้น้อยมาก
... วันหลังจะพยายามบันทึกถึงคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท