เข้าถึงความเป็น “พระ...”


 

พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาให้ญาติโยมทุก ๆ คนให้เป็นพระ พระแปลว่า “ผู้เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร”

พระคือผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร ที่จะต้องเคารพกราบไหว้


Large_sche032


สุปฏิปันโน ไม่ได้หมายถึงพระสงฆ์ หมายถึงตัวเราที่เป็นญาติโยมที่ปฏิบัติดี
อุชุปฏิปันโน หมายถึงเราที่เป็นญาติโยมที่ปฏิบัติตรงต่อศีลต่อธรรมวินัย
ญายะปฏิปันโน หมายถึง เราที่เป็นผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์ ออกจากวัฏฏะสงสาร ที่มันเวียนว่าย ตายเกิด เกิดแล้วเกิดอีก ไม่มีที่จบไม่มีที่สิ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีเมืองพอ หมดเรื่องนี้ ก็มีเรื่องนั้นต่อไปเรื่อย มันมีวันจบสิ้น พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามีศีล มีข้อวัตรปฏิบัติ เพื่อสร้างเหตุ สร้างปัจจัยเพื่อออกจากทุกข์
สามีจิปฏิปันโน หมายถึง เป็นผู้ปฏิบัติสมควรกราบ สมควรไหว้ ก็ได้แก่ ตัวของเราเองถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เราก็กราบตัวเองได้ ไหว้ตัวเองได้...


พระพุทธเจ้าท่านให้เน้นมาที่ตัวเราเอง เพราะปัญหาต่าง ๆ มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราไปแก้ข้างนอกมันไม่มีวันจบ


ให้พวกเรามาสร้างจิตสร้างใจ สร้างตัวเราเอง เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร ให้ทุกท่านทุกคนพิจารณาตัวเอง ว่าตัวเองเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควรแล้วหรือยัง


เราอยู่ที่บ้าน อยู่ที่สังคม อยู่ในสิ่งแวดล้อม มีทั้งดี มีทั้งไม่ดี มีทั้งการแข่งขัน แย่งชิงทรัพยากร แย่งชิงลาภ ยศ สรรเสริญกัน จนเกิดความเครียด ความชุลมุนไปหมด ญาติโยมทั้งหลายเลยคิดว่า มันคงรักษาศีลไม่ได้ ปฏิบัติธรรมไม่ได้

 

Large_tt918


พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราปฏิบัติธรรมได้ เรารักษาศีลได้ มันเหมาะ มันสมควรแก่เราทุกคน ทุกท่านที่จะต้องปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้ เราก็ไม่มีโอกาสรักษาศีล ไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรมนะ


มันเป็นความเหมาะสม เป็นความหมดจดสำหรับเราที่จะได้พากันประพฤติปฏิบัติ


เราแก้ปัญหาทั้งภายนอก เรื่องธุรกิจหน้าที่การงานถือว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เป็นปัญหาชั่วคราว ที่ทุกคนอยู่ในโลกนี้ต้องอาศัยปัจจัย ๔ ข้าวของเงินทอง ยานพาหนะ สำหรับใช้สันจรไปมา สะดวกแก่การทำการทำงานไปในที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะไปทำธุระอะไร มันก็ต้องอาศัยยานพาหนะ เป็นสิ่งที่จำเป็น เราจะขาดเสียไม่ได้


ปัจจัย ๔ เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทุกอย่าง นี่มันเป็นเรื่องของกาย มันเป็นเรื่องเฉพาะหน้า ทุกท่านทุกคนต้องทำหน้าที่ ต้องทำงาน มันเป็นเรื่องของกายนะ ถือว่ามันเป็นเรื่องชั่วขณะ ชั่วคราว...


พระพุทธเจ้าท่านให้เราเน้นมาที่จิตที่ใจ เพราะกายของเรานี้มันเป็นยานพาหนะที่เป็นเครื่องมือของจิตของใจเรา กายของเรามันเป็นทุกข์ตามธาตุ ตามขันธ์ แต่ทุกข์แท้ ๆ มันเป็นเรื่องของจิตของใจ เช่นเราเจ็บป่วยไข้ไม่สบาย กายของเราเป็นทุกข์ ถ้าเรามาปรับใจของเรา มาฝึกใจของเรา กายให้เป็นเรื่องของกาย ใจก็ให้เป็นเรื่องของใจ มันก็เป็นทุกข์เฉพาะเรื่องกาย...

 

 


“เราทุกวันนี้มันเป็นทุกข์ทั้งทางกาย ทุกข์ทั้งทางใจ มันเป็นทุกข์ซ้อนทุก” เพราะเราไม่ได้ฝึก ไม่ได้ปฏิบัติ เราเลยเจ็บไข้ไม่สบายทั้งกายทั้งใจ


เราเป็นโรคทางกายก็ทุกข์พอสมควรอยู่แล้ว เรายังมาเป็นโรคทางใจให้ทุกข์ซ้อนไปอีก เพราะคนเราใจมันไม่สงบ ไม่หยุด ไม่นิ่ง ใจมันวิ่งกระโดดไป กระโดดมา ยิ่งกว่าที่เรามองเห็นลิง มันกระโดดไป กระโดดมาอีก


เราทำงานใจของเราก็ไม่อยู่กับการทำงาน เรานั่งสมาธิใจก็ไม่อยู่กับการนั่งสมาธิ เราทำอะไรอยู่ ใจก็ไม่ได้อยู่กับสิ่งเหล่านั้น ใจกับกายไม่ได้อยู่ด้วยกันมันเลยไม่เกิดสมาธิ

 

 


การทำงานก็เป็นการเจริญสมาธิอย่างหนึ่ง ถ้าเราทำงานแล้วใจอยู่กับการทำงานชื่อว่าใจมีสมาธิ ...

Large_tt7432

 


คนมีสมาธินี้ใจมันสงบ ใจมันสบาย เราก็ได้ทั้งงานได้ทั้งความสงบ การกระทำของเรามันเลยเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญาไปในตัว


การประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา อันไหนมันเป็นบาป ผิดศีล ผิดธรรม เราก็ไม่คิด เราก็ไม่พูด ให้เราเลือกเฟ้นเอาแต่สิ่งที่ดี ๆ ให้กับตัวเรา ปฏิบัติอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม


อนาคตเป็นสิ่งที่มองเห็น เห็นว่าทุกท่านทุกคนต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกันไปทุก ๆ คน


อนาคตเป็นสิ่งที่มองเห็น ถ้าเราทำดีวันนี้ แล้วก็ทำดีในวันต่อไป ไปเรื่อย ๆ มันก็ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป


พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกท่านทุกคนมีกรรมเป็นของของตน จะหลีกหนีลุล่วงไปไม่ได้

 

 


ทุกท่านทุกคนให้ปฏิบัติตนเอง คอนโทรลตัวเอง มีระเบียบวินัยในความคิด ในการคิดนั้น อันไหนคิดได้ อันไหนคิดไม่ได้ ต้องมีระเบียบ ไม่ใช่คิดมั่วไปหมดทุกอย่าง สิ่งที่ไม่น่าคิดก็ยังไปคิดมัน ไปสร้างบาปสร้างกรรมทางความคิด “หนังก็ไม่ได้นั่ง เนื้อก็ไม่ได้บริโภค สร้างบาปสร้างกรรม เอากระดูกมาแขวนคอตัวเองอีก...”


พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีระเบียบมีวินัยในการคิด ให้ทุกคนจำไว้ในใจให้ดี ให้มีระเบียบมีวินัย ในความคิด แล้วก็ให้มีระเบียบวินัยในการพูด


การพูดนี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกพูด หรือว่าปฏิบัติธรรมในเรื่องพูด อย่าได้มักง่าย ในเรื่องพูด เราเกิดมากจากพ่อจากแม่ จากถิ่นฐานต่าง ๆ เราก็ดูเขาก็จำเขา ว่าเขาพูดอย่างนั้นจนเป็นความเคยชิน จนเป็นที่ยอมรับของถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน มันยังเป็นคำพูดที่ยังไม่ได้ขัด ไม่ได้เกลาสำนวน และน้ำเสียง

 


พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกเราปฏิบัติกัน เพราะเราอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนในสังคม ของประเทศชาติ มันต้องอาศัยคำพูดเป็นสื่อกลาง ต้องอาศัยคำพูดถึงจะเข้าใจกัน ถ้าอยู่ด้วยกัน คนละประเทศ คนละภาษา มันก็ไม่มีความสุข พูดกันไม่รู้เรื่อง แม้แต่คนหูหนวก คนใบ้ ก็ยังฝึกภาษาใบ้เพื่อการสื่อสาร


คำพูดอันใดที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน แตกแยก แตกความสามัคคี พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราพูด คำพูดอันใดที่จะทำให้ตัวเองมีความทุกข์ ที่มันจะเกิดแก่เราในอนาคต ท่านก็ไม่ให้เราพูด เพราะคำพูด มันเป็นการขุดหลุมพรางให้เราไปตก


บางทีเราก็เป็นคนพูดมากเกิน จะให้แต่คนอื่นฟังเรา แต่เราไม่ฟังคนอื่น คำพูดนี้สำคัญ ก่อนพูด เราเป็นนาย พอเราพูดจบเราต้องกลายเป็นบ่าว


ท่านให้เรามีสติในการพูด ปรับปรุงในเรื่องการพูด คนอยู่ใกล้กับเราที่สุดนั้นสำคัญ เพราะว่า เป็นที่รองรับคำพูดจากเรา จะเป็นลูก เป็นหลาน เป็นพี่ เป็นน้อง เพื่อน ๆ ที่ทำงาน เขาเป็น คนรองรับอารมณ์ของเรา


พระพุทธเจ้าท่านให้เราสำรวมระวัง ปรับปรุงใหม่ อันไหนไม่ดีจะได้แก้ไข เมื่อมันพูดไปแล้ว มันแก้ไขไม่ได้ เราก็มาเสียอกเสียใจ มันเป็นอดีตไปแล้ว แก้ไขไม่ได้


การกระทำของเรา พฤติกรรมของเราที่เราทำมาตั้งแต่อดีต พระพุทธเจ้าให้เราดูเราให้ดี ๆ พิจารณาตัวเองให้ดี ๆ เราเป็นคนปฏิบัติดีหรือยัง ปฏิบัติตรงหรือยัง ปฏิบัติสมควรหรือยัง จะได้ปรับปรุงแก้ไข มันเป็นประโยชน์สำหรับเราโดยเฉพาะ และก็เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น


ความเคยชินของเราทุกคน มันเคยชินนะ มันเคยชินจนเป็นอัตโนมัติ


การประพฤติปฏิบัติจนเคยชินบางอย่างมันก็ไม่ดี บางอย่างมันก็ดี สิ่งที่ไม่ดีนี้แหละเราต้องหยุด เราต้องแก้ไข เราต้องได้รับการแก้ไขด้วยตนเอง มันเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเรา แต่มันก็แก้ไขได้

 

 


พระพุทธเจ้าท่านให้เราเพิ่มสติ เพิ่มสมาธิ เพิ่มปัญญา เพิ่มความไม่ประมาทให้กับตัวเอง คติของพระพุทธเจ้า ท่านไม่มีความประมาทท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านไม่ประมาท ท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์

 


ทุกท่านทุกคนที่จะแก้ไขตัวเอง ต้องเป็นผู้มีสติไม่ประมาท ต้องหยุดตัวเองในการกระทำอย่างนั้น เป็นเรื่องฝืน เรื่องอด เรื่องทน เรามาสร้างความเคยชินในทางที่ดี ในสิ่งที่ดี

 


คนเรามันเคยทำไม่ดี มันจะมาทำดีมันก็กระดากตัวเอง มันละอาย มันละอายเพื่อน เช่นพระก็ ไม่เคยกราบเคยไหว้ นั่งสมาธิก็ไม่เคย รักษาศีลก็ไม่เคย เข้าวัดเข้าวาก็ไม่เคย มันเก้อมันเขิน มันอายเพื่อน


สิ่งที่ดี ๆ เราทำไปเดี๋ยวมันก็ดีเอง มันก็ไม่เก้อไม่เขิน...


บางคนเวลาพูดกระโดก กระเดก ไม่สำรวม มีปากอยากจะพูดอะไรก็พูดไป เมื่อฝึกพูดดี ๆ มันอายเขา


ไม่ต้องไปอาย...! ปฏิบัติดี ๆ ให้มันเคยชิน เช่นเราทุกท่านทุกคนมันมีความขี้เกียจขี้คร้านกันทุกคน มันต้องขยัน ต้องฝืน เพื่อสร้างความเคยชินให้กับตัวเอง ต้องบังคับตัวเอง เราจะสะเปะสะปะไม่ได้


ถึงเวลานอนก็ต้องนอน ไม่ใช่ทำอะไรสะเปะสะปะ มัวแต่ไปดูทีวี เล่นอินเทอร์เนท จนดึกดื่น เที่ยงคืน ค่อนคืน ก็ไม่ยอมนอน


เราไม่ได้ฝึกตัวเอง บังคับตัวเอง ศักยภาพของเรามันก็ตกไป การงานของเรามันก็ผิดพลาด คนไม่ฝึกตัวเอง ไม่บังคับตัวเอง มันมีโอกาสที่จะเป็นโรคประสาทได้นะ



วันพระวันธรรมสวนะวันนี้ ให้ทุกท่านทุกคนน้อมมาหาตัวเองว่า พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตากับเรา ให้เราทุกท่านทุกคนเข้าถึงความเป็นพระในการประพฤติปฏิบัติทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งจิตใจ ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ที่ไหน ให้เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติสมควร เป็นทางดำเนิน ให้นำเอาข้อวัตรเป็นทางปฏิบัติของท่านทุก ๆ คน


พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตากับเรา กลัวเราจะลืมความดี ลืมคุณธรรม อาทิตย์หนึ่งถึงให้มีวันพระ ครั้งหนึ่ง ความเป็นจริงแล้วเราต้องทำความดีไปทุกวัน เน้นให้เป็นวันพระวันอุโบสถศีล เป็นวัน ถือเนกขัมมะ เข้าถึงศีลของพระอนาคามี เพื่อฝึกจิตฝึกใจ เราจะได้ดับทุกข์ทางจิตทางใจ

Large_tt884

 


แต่ส่วนใหญ่มันเอาความสุขทางกาย ถ้าหิวก็พากันบริโภค บริโภคสิ่งต่าง ๆ ที่มันเป็นอารมณ์ ของสวรรค์อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ทำจิตให้สงบ อยู่กับความสงบ ปราศจากนิวรณ์ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีแต่ส่งจิตส่งใจออกไปข้างนอก


วันพระเป็นวันธรรมสวนะ เป็นวันอุโบสถ ท่านให้เราถือศีล จำศีล เพื่อที่จะหยุด จะละ จะเลิก เป็นความดี เป็นบารมี เป็นคุณธรรมของเรา เป็นสมบัติของเรา เป็นอริยทรัพย์ เป็นการพัฒนาจิตใจ ให้สติ ให้สมาธิ ให้ปัญญาแก่เรา


สิ่งภายนอกมันมากมายก่ายกอง ยากที่จะไม่ลุ่มหลง คนเราส่วนใหญ่เกิดมาแล้ว พระพุทธเจ้า ตรัสว่ามันยากจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกเพราะมันหลง ยิ่งเราเป็นคนร่ำคนรวย มันมีทรัพย์สมบัติมาก มันติดสุขติดสบาย มันติดอารมณ์ของสวรรค์ “พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนพวกนี้ส่วนใหญ่ เวลาตาย ไปเกิดเป็นสัตว์นรกเพราะว่าพากันตั้งอยู่ในความประมาท ลืมความดี ลืมคุณธรรม”


คนเรานะ มันหลงตัวเองยังไม่พอ มันยังหลงลูกหลงหลาน หลงทรัพย์สมบัติ หลงลาภ หลงยศ หลงคำสรรเสริญ มีความเห็นผิด คิดว่าตัวเองสบาย จะไปทำความดีทำไม ไปปฏิบัติทำไม อยู่อย่างนี้ ก็สบายอยู่แล้ว


แทนที่เราเกิดมาเป็นผู้มีบุญมีกุศล เรามีโอกาส เรามีความเพียบพร้อมในการประพฤติปฏิบัติ กลับมากันมาหลง หลงเงิน หลงทอง มันหน้ามืด หน้ามัว ถ้าหลงลาภ หลงยศ ยิ่งมึนไปหมดนะ “คนเมามันเป็นอย่างไร คนหลงก็เป็นอย่างนั้นแหละ...”


พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราเป็นผู้ประเสริฐแล้วที่ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้มีโอกาส สร้างความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป วันพระถึงเป็นวันสำคัญแก่เราทุกคน ถ้าใครจะถือศีล ๘ ได้ทุก ๆ วันก็ยิ่งดี เราจะได้เป็นผู้ที่เข้าถึงความเป็น “พระ...”

 Large_tt885

 

 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
วันจันทร์ที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 487678เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท