ช่องปากไม่ดีทำเสี่ยง 7 โรค+วิธีป้องกัน


สำนักข่าว Dailymail ตีพิมพ์เรื่อง 'Don't forget your toothbrush... it may be a lifesaver' = "อย่าลืมแปรงฟัน (แปรงสีฟันของคุณ)... มันอาจเป็นเครื่องช่วยชีวิต" = "แปรงฟันดีๆ ช่วยคุณอายุยืน", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
[ wikipedia ]
.
ภาพที่ 1,2: แผนที่โลกแสดงความชุกของโรคปริทนต์อักเสบ (ปริ = รอบๆ; ทันตะ = ฟัน; รวม = เนื้อเยื่อรอบโคนฟัน รวมเหงือก เส้นใยยึดฟันคล้ายกับลวดสลิงที่พยุงเสาวิทยุไม่ให้ล้ม เนื้อเยื่ออ่อน หลอดเลือด) [ wikipedia ]
.
ภาพแสพงหน่วยเป็นช่วงชีวิต (ปี) ที่มีป่วยเป็นโรค เช่น เหงือกร่น-เส้นใยยึดฟันหายไปจนฟันโยก หรือฟันหลุด ต่อ 100,000 คน จะพบว่า เอเชียใต้ ได้แก่ อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน-อินเดีย-บังคลาเทศ และติมอร์ตะวันออก เป็นมหาอำนาจด้านโรคปริทนต์อักเสบ ตรงนี้เป็นโอกาสของเมดิคัลทัวร์ในไทยเช่นกัน
.
[ parkcedardentistry ]
.
ภาพที่ 3: ภาพซ้ายแสดงฟัน เหงือก-เนื้อเยื่อรอบโคนฟัน-กระดูกเบ้าฟันที่มีสุขภาพดี; ภาพขวาแสดงคราบพลัค (plaque = เศษอาหาร-คราบจุลินทรีย์เหนียวหนึบเกาะฟัน) และคราบน้ำมันดิน (tartar = น้ำมันดินจากบุหรี่) ที่เกาะคอฟันส่วนใกล้แนวเหงือก [ parkcedardentistry ]
.
การอักเสบเรื้อรังทำให้เหงือกร่น ทำลายเนื้อเยื่ออ่อนรอบโคนฟัน (ปริทนต์), เส้นใยยึดฟัน เหงือกสึก ฟันขาดเส้นใยยึดโคนฟัน ฟันโยก และเสียฟันก่อนวัยอันควรได้
.
คนทั่วโลกเป็นโรคเหงือกอักเสบครึ่งหนึ่ง นั่นคือ 7,007 ล้านคนเป็นโรคเหงือกอักเสบ 3,504 ล้านคน [ Census ]
.
ศ.ดาเมียน วาล์มสเลย์ จากสมาคมทันตกรรมสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ข่าวดี คือ สาเหตุโรคเหงือกเกือบทั้งหมดป้องกันได้ และรักษาให้ดีขึ้นได้โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธีด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ลดอาหาร-เครื่องดื่มเติมน้ำตาล ลดการกินจุบจิบระหว่างมื้อ หยุดสูบบุหรี่ และไปตรวจฟันกับอาจารย์หมอฟันอย่างน้อยทุก 2 ปี
.
เหงือกอักเสบ-ปริทนต์ (เนื้อเยื่อรอบโคนฟัน) อักเสบเรื้อรังอาจเพิ่มเสี่ยงโรคต่อไปนี้
.
(1). โรคหัวใจและสโตรค (stroke = กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต)
.
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สเตท พบว่า การรักษาเหงือก-ปริทนต์อักเสบช่วยลดระดับสารแสดงการอักเสบ (C-reactive protein) และสารเพิ่มเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือด (fibrinogen) ในเลือด ซึ่งน่าจะช่วยลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
.
การศึกษาจาก รพ.ทันตกรรมซิดนีย์พบว่า การถอนฟัน (ที่หมดสภาพ-โยกคลอนจากโรคเหงือก-ปริทนต์รุนแรง) แล้ว ทำให้สารก่อการอักเสบ และสารเพิ่มเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในเลือดลดลง
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ เชื้อโรคจากเหงือกอักเสบแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อขนาดจิ๋วที่อวัยวะสำคัญๆ หรือทำให้ผนังหลอดเลือดแดงอักเสบได้
.
การศึกษาที่ทำในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 9,000 ราย ติดตามไป 15 ปี พบวา ผู้หญิงที่มีแอนตีบอดี (antibodies = สารภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค-สิ่งแปลกปลอม) ต่อเชื้อ P. gingivalis ซึ่งเกือบทั้งหมดพบในโรคปริทนต์อักเสบเพิ่มเสี่ยงสโตรค (stroke = กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองแตก-ตีบตัน) 2 เท่า
.
(2). ความดันเลือดสูง
.
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์พบว่า คนที่เป็นโรคปริทนต์อักเสบเรื้อรังเพิ่มเสี่ยงโรคความดันเลือดสูง
.
(3). โรคปอด
.
มีการศึกษาที่พบว่า คนที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดีเพิ่มเสี่ยงโรคทางเดินหายใจอุดตันเรื้อรัง (COPD) เช่น ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ คนเรามีโอกาสสำลักน้ำลายไปในปอดเป็นครั้งคราว ทว่า... คนที่มีสุขภาพช่องปากไม่ดีมีเชื้อโรคในน้ำลายมากกว่าคนทั่วไป เพิ่มเสี่ยงหลอดลมอักเสบ-ปอดอักเสบ
.
(4). เบาหวาน
.
คนที่มีโรคเหงือกอักเสบเรื้อรังเพิ่มเสี่ยงเบาหวาน 3 เท่า
.
การศึกษาจากสถาบันเบาหวานและโรคไตแห่งชาติสหรัฐฯ พบว่า คนที่เป็นเบาหวานเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นถ้ามีโรคปริทนต์อักเสบเรื้อรัง
.
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลพบว่า เบาหวานเพิ่มเสี่ยงโรคปริทนต์อักเสบ และตรงกันข้ามโรคปริทนต์อักเสบก็ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น (เบาหวานแย่ลง)
.
(5). คลอดก่อนกำหนด
.
การศึกษาจากมหาวิทยาลัยอลาบามา สหรัฐฯ พบว่า โรคเหงือกอักเสบเพิ่มระดับสารที่กระตุ้นการคลอด (เช่น พรอสทาแกลนดิน ฯลฯ) เพิ่มเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
.
และถ้ารักษาโรคเหงือกอักเสบดีๆ ก่อนอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ จะลดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้ 84%
.
(6). กระดูกโปร่งบาง-กระดูกพรุน
.
ปริทนต์(เนื้อเยื่อรอบโคนฟัน)อักเสบเพิ่มเสี่ยงเหงือกสึก ฟันโยก ฟันหลุด กระดูกเบ้าฟันสึก, คนที่มีโรคกระดูกโปร่งบาง-กระดูกพรุนร่วมกับปริทนต์อักเสบ, จะเกิดฟันโยก-ฟันหลุดเร็วขึ้น
.
(7). กลับบ้านเก่า
.
การศึกษาทำในกลุ่มตัวอย่างคนอเมริกันอายุเกิน 30 ปี 11,000 คนพบว่า คนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรง มีโอกาสกลับบ้าน (เก่า) ก่อนอายุ 64 ปี เพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่เหงือกดี
.
วิธีป้องกันโรคเหงือก-ปริทนต์(เนื้อเยื่อรอบโคนฟัน)อักเสบได้แก่ [ NIDCR ]; [ parkcedardentistry ]; [ UMM ]; [ nytimes ]; [ ADA ]
.
(1). ไม่สูบบุหรี่ + ไม่หายใจเอาควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบ (ควันบุหรี่มือสอง) เข้าไป + ไม่เคี้ยวยาสูบ
.
(2). ป้องกันเบาหวานด้วยการควบคุมน้ำหนัก ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ กินอาหารสุขภาพ เช่น เปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง ฯลฯ > เบาหวานเพิ่มเสี่ยงเหงือก-ปริทนต์อักเสบ, และเหงือก-ปริทนต์อักเสบก็ทำให้เบาหวานแย่ลงเร็ว
.
(3). ไม่สำส่อนทางเพศ (ที่สำคัญ คือ ไม่ดื่มหนักจะได้ไม่หลวมตัว) > เอดส์เพิ่มเสี่ยงเหงือก-ปริทนต์อักเสบ
.
(4). ดื่มน้ำให้มากพอ (2 แก้วหลังตื่นนอน, ดื่มบ่อยๆ ในช่วงกลางวัน, ถ้าดื่มน้ำพอ... สีปัสสาวะจะออกเหลืองจาง และปวดปัสสาวะทุก 2 ชั่วโมง) > ภาวะขาดน้ำทำให้ปริมาณน้ำลายลดลง ช่องปากเป็นกรดมากขึ้น เชื้อโรคโตได้ง่ายขึ้น
.
น้ำลายมีฤทธิ์เป็นด่างอย่างอ่อน ช่วยป้องกันฟันผุ ป้องกันเชื้อโรคในช่องปากที่มักจะโตได้ดีในภาวะช่องปากเป็นกรด) จะลดลงในภาวะขาดน้ำ และลดลงตามอายุ, การฝึกพกขวดน้ำ ดื่มน้ำเล็กน้อยทุกๆ 1/2 ชั่วโมงช่วยให้สุขภาพช่องปากดีขึ้น ป้องกันคอแห้ง เจ็บคอ
.
(5). ตรวจช่องปากทุก 1-2 ปี และก่อนตั้งใจจะตั้งครรภ์
.
(6). เรียนวิธีแปรงฟันให้ถูกวิธีจากอาจารย์หมอฟัน-ทันตาภิบาล, ใช้แปรงขนอ่อน (soft) หรืออ่อนมาก (extra-soft), แปรงเบาๆ ให้ถูกวิธีด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์, หลังแปรง... ให้คว่ำแปรง เคาะด้ามแปรงกับขอบอ่างล้างหน้า 3-4 ครั้ง เพื่อสะบัดน้ำออก, เปลี่ยนแปรงทุก 2-3 เดือน หรือเมื่อขนแปรงบานออก
(7). หลังกินอาหารที่มีกรด (เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ผลไม้ ฯลฯ) หรือด่าง (เช่น ยาน้ำลดกรด ฯลฯ), เคลือบฟันจะอ่อนลง และสึกง่ายชั่วคราว... ควรบ้วนปากหลายๆ ครั้งทันที (ลดเชื้อโรคได้ 30%), เคี้ยวหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล และดื่มน้ำบ่อยๆ รอจนครบ 30-60 นาที ค่อยแปรงฟัน (ถ้าแปรงฟันช่วงเคลือบฟันอ่อน... ฟันจะสึกง่าย)
.
(8). ใช้ไหมขัดฟัน 1 ครั้ง/วัน
(9). แปรงลิ้นหลังแปรงฟัน เพื่อลดเศษอาหาร เชื้อโรคสะสม กลิ่นปาก
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 16 เมษายน 55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 487670เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอาจารย์หมอ ขอบคุณที่นำข้อมูลมาให้เรียนรู้ และจะได้นำไปปฎิบัติ รักษาฟันซี่สุดท้ายเอาไว้ และนำไปเป็นข้อมูลในการ ให้ความรู้เรื่องสุขภาพช่องกับผู้สูงวัย ที่ทำอยู่กับ ชมรมผู้สูงอายุที่พัทลุง(ทันต์พัทลุง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท