อยู่ดีมีสุข ๓ : สวรรค์บนดินที่นามะเฟือง (ทำงานในชุมชน vs ทำงานกับชุมชน)


การทำงานด้วยฐานของความรู้และทักษะ แม้จะเดินคนละเส้น แต่ก็มาบรรจบกันได้

 

คุณหมอแบงค์  ทันตแพทย์ณัฐพงศ์  กันทะวงศ์  ดำเนินการเสวนาต่อบนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทันตสาธารณสุขในชุมชน   ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์  เชียงใหม่  หลังวันแรงงานแห่งชาติ ปี ๒๕๕๕ 

 

ยังอยู่ในหัวข้อ การทำงานในชุมชน VS ทำงานกับชุมชน

 

เดอะสตาร์รุ่น ๔  พี่แป้น  ณัฎฐพัชร  คงผดุง  หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลนามะเฟือง  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองบัวลำภู  ใช้ VCD  ๘  นาที  ที่ถ่ายทำ  ๔ – ๕ ปี  แล้ว    เกริ่นนำให้เห็น  “สวรรค์บนดิน”  ที่ตำบลนามะเฟือง  และยังคงต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

วิถีชนบทอีสาน  ตื่นตั้งแต่มืด  กวาดถนนหน้าบ้านตนเองทุกบ้าน  เตรียมรับการมาบิณฑบาตของพระสงฆ์ .....  ไม่ใช่ณเดช  ไม่ใช่ญาญ่า  แต่เห็นตัวละคร  เห็นฉาก  ความเป็นไป  ในพื้นที่ของเราเอง 

 

พี่แป้นส่งความภาคภูมิฉายชัดถึงการจัดการโดยชุมชน  ด้วยศักยภาพของชุมชนอย่างแท้จริง 

 

จากสถานะหัวหน้าสถานีอนามัย (ขณะนั้น) ที่เผชิญทุกข์เพียงลำพัง  อัตราป่วยด้วยไข้เลือดออกสูงถึง  ๒๕๕  ต่อประชากรแสนคน  ปีที่สองก็ยังสูงเกินเป้าหมายของจังหวัดและกระทรวง  โดนว่าทุกการประชุม  จำต้องร้องไห้  วางตัวตน  เปลี่ยนแว่น  เปลี่ยนมุมมอง  ค้นหาผู้ที่จะช่วยได้ 

 

พ่อกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  พ่อแม่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)   คือ ผู้นำทางความคิดที่มีสัมมาทิฐิ  ช่วยกอบกู้ความมั่นใจ  ให้พี่แป้นสร้างเครือข่ายส่งต่อความคิด  และจากรุ่นสู่รุ่น  ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ 

 

มีเฉพาะหัวหน้าสถานีอนามัยที่มีเงินเดือน  นอกนั้น คือ จิตอาสาที่มาคุยกันทุกเช้า  ๒  ครั้งต่อเดือน 

 

พ่อสดเป็นประธาน อสม.  แสดงศักยภาพพัฒนาการเมืองภาคประชาชน  คุยกันแต่ละครั้งมีสรุปการประชุม  คราวหน้าเกี่ยวข้องกับภาคส่วนใด  เชิญเข้าร่วมประชุม  เช่น  นายกเทศมนตรี  นายก อบต.นามะเฟือง  (ตำบลนี้มีการปกครองส่วนท้องถิ่น  ๒  รูปแบบ)  ครู  เป็นต้น

 

แต่ละครั้งที่กลับมาสถานีอนามัย  ก็มาประชุมทีมคุยกับน้อง ๆ  ระดมความคิด  ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะภาคความรู้  ที่จะเสริม  เติม  ต่อยอด  ติดตามให้ อสม.รู้ทันการเปลี่ยนแปลง  มีสอบเทียบความรู้ อสม.ทุกปี

 

ทีมชุมชน  ทีม อสม.เข้มแข็ง  ดำเนินการปราบปราม  แก้ไขเรื่องไข้เลือดออกได้ดีเยี่ยม  ไม่มีลูกน้ำ  ไม่มีผู้ป่วย 

 

ความสุขกลับมาอีกครั้ง 

 

ความรักเป็นตัวตั้งในการอยู่ร่วมกัน  ค้นหาต่อไปสิ่งทีทำให้ชุมชนเป็นสุขมากขึ้น  ปัญหาร่วม คือ การทะเลาะวิวาทของวัยรุ่น  ร่วมคิดจนได้กิจกรรมเข้าค่าย  ทั้งพ่อแม่และเด็กต่างหมู่บ้านมาอยู่ร่วมกัน  ผู้ใหญ่ทำดีให้เด็กดู  เมื่อครอบครัวมีปัญหาให้รักษาด้วยการกอด 

 

ทำงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ ต่อเนื่อง  สามารถออกมาตรการสังคมสงบสุขระดับตำบล  ที่พื้นฐานความเข้าใจของกลุ่มวัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง.....มาจากชุมชน

 

ถึงวันนี้ที่ย้ายสายงานมาทำที่เทศบาลตำบลนามะเฟือง  เริ่มที่กองสาธารณสุข  เรียนเพิ่มจนจบรัฐศาสตรมหาบัณฑิต  พี่แป้นจึงปรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักปลัดเทศบาล 

 

การทำงานด้วยฐานของความรู้และทักษะ  แม้จะเดินคนละเส้น  แต่ก็มาบรรจบกันได้  ด้วยการฟังกัน  ทำงานชั่วชีวิต  ควบคุม KPI (Key Performance Indicator)  โดยคำนึงถึงการยังประโยชน์ให้ทั่วถึง  คือ ความสุขนั่นเอง

 

 

 

คุณหมอแบงค์ปิดท้ายช่วงของพี่แป้น  จงทำงานในความขาดแคลน

 

 

ยัง  ยังไม่หมดกลเม็ด  นอกจากเคล็ดการสร้างเครือข่ายจากนามะเฟือง  หนองบัวลำภูแล้ว  ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านฝาง  จังหวัดขอนแก่นบอกว่า “พี่เถ่า”  เป็นเบอร์ ๑ ของการสร้างคนที่ CUP (Contracting Unit for Primary Care)  อำเภอบ้านฝางนั้น  หมายความว่าอย่างไร

 

โปรดติดตามตอนต่อไป

ขอบคุณนะคะที่เข้ามาอ่านและฝากร่องรอยแห่งมิตรภาพ

ราตรีสวัสดิ์  หลับฝันดีนะคะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 487560เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2012 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

จะ เข้ามาอ่านและฝากร่องรอยแห่งมิตรภาพ อีก ;-)

พ่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อแม่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) คือ ผู้นำทางความคิดที่มีสัมมาทิฐิ ช่วยกอบกู้ความมั่นใจ ให้พี่แป้นสร้างเครือข่ายส่งต่อความคิด และจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗

นี้คือนักสร้างสุขตัวจริง ที่มีความมั่นคงและยั่งยืนในการสร้างสุขภาำวะชุมชน

นอกจากการทำงานเพื่อสุขภาพแล้ว บุคคลท่านเหล่านี้ยังแบกหย้าที่ของนักพัฒนาท้องถิ่นไปด้วยอย่างเต็มภาคภูมินะคะ จะแก้ปัญหาด้านสุภาพจริงๆแล้วต้องแก้ปัญหาสังคมก่อน...

ขอบคุณเรื่องเล่าที่สร้างแรงบันดาลใจค่ะคุณหมอ

คืนข้อมูลให้ชุมชน จัดการโดยชุมชน ด้วยศักยภาพของชุมชนอย่างแท้จริง

.. ชื่นชมกระบวนทัศน์นี้มากค่ะ ทำงานในชุมชน VS ทำงานกับชุมชน จุดต่างอยู่ตรงนี้หรือเปล่าค่ะ

ขอบคุณร่องรอยมิตรภาพจาก คุณ 

Ico48

  นะคะ

สมกับเป็นคนของชุมชน ในชุมชน คนชุมชนตัวจริงเสียงจริงนะคะ ... ท่านลุงบัง เข้าใจอย่างแท้จริง ขอบคุณมากค่ะ

ทีมร่วมใจ ชุมชนเข้มแข็งและเป็นสุข ชื่นชมค่ะคุณหมอ

บางทีก็เหมือนไก่กับไข่น่ะค่ะ...คุณปริม

ปัจจัยของชีวิตทางด้านสังคม เศรษฐกิจ จะมาก่อนหรือหลังสุขภาพ....บอกยาก

ชนชั้นกลางขึ้นไป ไม่น่าห่วง อย่างไรเสียก็มีทางเลือกในชีวิตหลายทาง

แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่รายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน การศึกษา (ตามระบบ) น้อยกว่าระดับเฉลี่ยของคนส่วนใหญ่

จะโดดเข้าไปทำงานแง่มุมสุขภาพในมิติแบบเดิม ๆ (ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพ) ไม่พอหรอกนะคะ ที่จะเข้าใจความเป็นไปของชีวิตและการเปลี่ยนแปลงของสังคม สิ่งแวดล้อม...จนนำถึงสุขภาวะ

การทำความเข้าใจ เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเราเอง...เรียนรู้ที่จะทำงานกับผู้นำ แกนนำชุมชนตัวจริง ที่เป็นนักพัฒนาชุมชนของท้องถิ่นตนเอง นั่นน่ะเป็นทางเลือก...ของนักพัฒนาสุขภาวะกลุ่มนี้ กลุ่มคนที่มาร่วมประชุมคราวนี้กำลังทำกันเป็นส่วนใหญ่นะคะ

เอาใจช่วยกันหน่อยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

Ico48

อาจารย์หมอ ป.  คะ  อยากจะสารภาพว่า  ตอนที่พี่สุรัตน์ติดต่อให้ไปขึ้นเวทีเสวนาในหัวข้อนี้  กระทั่งลงจากเวที  ก็ยังไม่ได้นิยามแน่ชัด  แค่พอจับใจความจากผู้ร่วมเสวนาด้วยกัน...พอเป็นเลา ๆ

แต่บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้จัดนะคะ (สำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย)  ขอแค่ได้กระตุกต่อมคิดของนักพัฒนาสุขภาวะที่เข้าประชุมว่า  งานของตนเองเข้าได้กับแนวคิดใด

จะเริ่ม "ใน"  หรือ "กับ"  ชุมชนก่อน  หรือทั้งคู่  ก็ได้ทั้งนั้น

ขอให้รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่  ทิศทางเป้าหมายไปทางไหน

ขอบคุณอาจารย์หมอ ป. มากค่ะ  ที่แวะมาฝากสายใยมิตรภาพชัดเจน

 

 

ขอบคุณมิตรภาพฉายชัดจากใจ...พี่อุ้ม เสมอมานะคะ ^_,^

โอ๊ยยยย พี่อ้อ

ช่วยให้ อยู่ดีมีสุข4 ออกมาเร็วๆ ผมจะอดใจไม่ไหวแล้ว หลังจากติดตาม ไตรภาค อิอิ

ฟังพี่แป้นซะอึ้ง ไม่ทันตได้จดอ่า ต้องมา ตามอ่าน

  • คุณหมอเพรียงเธอ  ก็ช่างกระไร  นั่งฟังเฉย ๆ ไม่จดเลยหรือ
  • พี่เตรียมเรื่องไปเล่าน่ะไม่ยาก  แต่คัดคำพูดให้ได้ภายใน  ๑๕ - ๒๐  นาที  ก็ไม่ง่ายนัก
  • ทั้งฟัง  แล้วยังต้องมาเล่าต่อให้ได้ใจความ
  • แหม.....กดดันพี่ดอกอ้อนะเนี่ย   ^_,^

การเผยแพร่สื่อสารกับสังคมกับการคืนข้อมูลสู่ชุมชน ในงานเชิงพื้นที่ของนามะเฟืองกับหลายโครงการของคุณหมอและคณะนี่ เป็นอีกด้านหนึ่งที่เด่นมากเลยนะครับ เวลาได้ติดตามอ่านนั้น นอกจากได้เห็นกรณีตัวอย่างและข้อมูลที่เป็นบทเรียนภาคปฏิบัติที่น่าสนใจมากอยู่เสมอแล้ว ก็สนใจและประทับใจกระบวนการต่างๆที่คุณหมอนำมาถ่ายทอดและแบ่งปันมากเลยเลยครับ เป็นการบันทึกรวบรวมข้อมูลไว้ทำงานความรู้ในโอกาสต่างๆต่อไปอีก พร้อมกับเป็นการช่วยสื่อสารเคลื่อนไหวกระบวนการเรียนรู้ประสบการณ์ตนเองของชุมชน เป็นสื่อส่งเสียงเสริมกำลังความคิดริเริ่มและความร่วมแรงร่วมใจกันของชุมชนกับเครือข่ายคนทำงานที่พากันลงไปทำงาน ซึ่งช่วยเป็นภาพสะท้อนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการที่คนซึ่งค่อยๆคิดและทำงานกันไปในพื้นที่ จะเกิดแรงหนุนให้มีกำลังในการพึ่งตนเองทางการปฏิบัติและร่วมมือกันยกระดับการจัดการตนเองให้เกิดสุขภาวะต่อส่วนรวมของตนเองในแง่มุมต่างๆ ซึ่งระหว่างนั้น ก็จะเป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นการได้เพิ่มพูนทุนประสบการณ์และทุนการจัดการชุมชน ที่จะเป็นผลดีต่อระบบสุขภาพชุมชน ที่จะสามารถเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆในวิถีชีวิตชุมชนไปด้วย

เมื่อถึงระดับหนึ่ง ก็เชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงและย้อนกลับสู่การยกระดับงานสุขภาพทางด้านต่างๆ และพัฒนาระบบดำเนินการที่อิงไปกับการมีพัฒนาการเป็นระยะๆ สามารถคิดริเริ่มในการทำสิ่งต่างๆลงไปบนสิ่งที่มีอยู่ในตนเองได้ดียิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้น หลังจากกระบวนการคืนข้อมูลสู่ชุมชนแล้ว ก็เชื่อว่าวงจรการเกิดศักยภาพในการมีส่วนร่วมและศักยภาพในการริเริ่มด้วยตนเองเพื่อสร้างสุขภาวะสาธารณะของชุมชน ในด้านหนึ่ง ก็จะย้อนกลับเป็นทุนเครือข่ายชุมชน ให้ภารกิจของหน่วยสุขภาพที่อยู่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตชุมชน เป็นต้นว่า การเป็นหน่วยส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพตนเองในระยะยาวของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นกรณีของผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยหลังการผ่าตัด ผู้ที่ต้องได้รับการดูแลรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากทำได้ที่บ้านก็จะดีกว่าขยายการบริการรองรับให้ในโรงพยาบาลหรือหน่วยสุขภาพ เหล่านี้ ก็คงจะมีทางออกที่ดีๆและมีความเหมาะสมมากยิ่งๆขึ้นเพราะกระบวนการคืนข้อมูลสู่ชุมชนทำให้ชุมชนมีต้นทุนความรู้สำหรับสร้างการคิดและตัดสินใจได้ดียิ่งๆขึ้น

เครื่องมือและวิธีการสำหรับคืนความรู้ให้กับชุมชนของทีมคุณหมอหลายอย่างนี่ก็น่าสนใจมากเลยครับ ผมขอร่วมให้ข้อสังเกตเผื่อว่าทีมจะใช้เป็นแนวปฏิบัติการและเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้ทำงานและสะสมบทเรียนทางด้านนี้ไปด้วยบนกระบวนการทำงานสัก ๒-๓ วิธีที่เห็นและมีความน่าประทับใจมากครับ

  • ทักษะสื่อบุคคล การเรียนรู้ไปบนการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อให้เครือข่ายคนทำงาน ตลอดจนเครือข่ายร่วมดำเนินการต่างๆ มีความเป็นเครือข่ายและกลไกคืนข้อมูลและความรู้สู่ชุมชนไปด้วยนั้น คนทำงานต้องได้มีโอกาสทบทวนบทเรียนและได้รับการสะท้อนภาพในความเป็นผู้มีวิธีทำงานที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์แบบสองทาง จิตใจเปิดกว้าง บางเรื่องตนเองเป็นศูนย์กลาง บางเรื่องชุมชนเป็นศูนย์กลาง และบางเรื่องต้องเท่ากัน ปรึกษาหารือกัน ถ่ายทอด แบ่งปัน พูดและรับฟังอย่างลึกซึ้ง มีความจริงใจ ซึ่งเมื่องทำงานต่างๆ ก็จะทำให้ความรู้และข้อมูลที่ต้องการคืนสู่ชุมชน เกิดการถ่ายทอดสื่อสารออกไปอย่างเป็นธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ทุกคนของโรงพยาบาลและหน่วยสุขภาพ หากมุ่งฝึกฝนการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวนี้ด้วย ก็จะสามารถเป็นตัวแทนขององค์กร รว่มถ่ายทอดและคืนความรู้กลับไปสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดีที่สุด
  • กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในชุมชนนั้น พลังของการสื่อสารและบอกกล่าวกันเองของชาวบ้านแบบปากต่อปาก ยังนับว่ามีบทบาทมาก ความเป็นจริงและจุดแข็งในเชิงวัฒนธรรมชุมชนในลักษณะดังกล่าวนี้ สามารถส่งเสริมให้เข้ามามีบทบาทในระบบบริหารจัดการอย่างมีพลวัตร โดยให้ชุมชน เช่น อสม ผู้นำชาวบ้าน และคนที่อยู่ในชุมชน ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับให้ได้มีประสบการณ์ ตลอดจนจัดทำสื่อและสิ่งสนับสนุน ให้นำติดไม้ติดมือไปได้ วิธีอย่างนี้ก็จะเพิ่มโอกาสให้เรื่องราวต่างๆ เกิดการถ่ายทอดคืนสู่ชุมชนในวิธีของชาวบ้าน ซึ่งในแง่ของการพัฒนากระบวนการสื่อสารเรียนรู้นั้น วิธีอย่างนี้เป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจ ในอันที่จะวิจัยและพัฒนาขึ้นบนความเป็นจริงของชุมชนไทยในพื้นที่ต่างๆมากเลยครับ เพราะการเกิดคลื่นนำกลับไปพูดคุยและสื่อสารกันเองของชาวบ้านนั้น จะทำให้ความรู้และเรื่องราวต่างๆ เกิดมิติทางสังคม ที่วิธีการอย่างอื่นจะทำไม่ได้ ชุมชนจะเลือกสรรเรื่องราวต่างๆที่จะพูดคุยกลสื่อสาร เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพไปบนระบบคุณค่าและความหมาย ที่อยู่ในวิธีคิดชุมชนและบริบททางวัฒนธรรมของชุมชน ผสมผสานความมีกาลเทศะของชุมชน
  • การนำเสนอสู่เวทีวางแผนชุมชน หากมีโอกาสทำอย่างเป็นระบบ และมียุทธศาสตร์ทางการจัดการชุมชนได้ดีขึ้น ก็สามารถจัดเวทีทำแผนร่วมกับชุมชน คืนข้อมูลและสร้างกระบวนการเรียนรู้สาธารณะให้กับเครือข่ายชุมชน จากนั้นก็จัดกระบวนการปรึกษาหารือ ระดมความคิด พัฒนานโยบายจำเพาะ พัฒนามาตรการเชิงยุทธศาสตร์ และคิดแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงความรู้ แนวคิด และแนวนโยบายที่ได้ ไปสู่การปฏิบัติ วิธีนี้ก็เป็นการคืนความรู้สู่ชุมชนที่เป็นระบบ สามารถพัฒนารูปแบบและวิธีทำงานไปตามเงื่อนไขชุมชนได้เยอะเลยครับ

ในงานเชิงพื้นที่ของคุณหมอและทีมมีกระบวนการลักษณะนี้ผสมผสานอยู่มากเหมือนกันครับ เลยขอร่วมคืนความรู้ที่ได้จากการติดตามอ่าน สู่ผู้ออกแรงนำมาเขียนบันทึก ถ่ายทอดและแบ่งปันให้กันน่ะครับ

  • เห็นภาพของทีมนามะไฟ เอ้ยมะเฟืองได้เลยครับ
  • ขอชื่นชมทีมทำงานครับ
  • กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ
    Ico48
  • ดีใจที่อาจารย์มาต่อยอดให้เขียวชอุ่มนะคะ
  • เป็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้ได้ต่อไปอีก
  • เพื่อน ๆ ที่เข้ามาอ่าน  ก็น่าจะนำไปใช้กับงานตนเองได้
  • ชอบจัง ๆ  มีกำลังใจออกแรงเขียนบันทึกอีกนะคะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต

เวลาไปเยี่ยมที่นามะเฟือง เจ้าบ้านจะต้อนรับด้วยน้ำมะเฟือง ฝานมะเฟืองเป็นรูปดาว (Star) ตามชื่อภาษาอังกฤษ ปักขอบแก้วมาด้วยนะคะ

น่าดื่มมาก อร่อยด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท