พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สรุปประเด็น การสอบข้อเท็จจริงเพื่อลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 ของนายวิษณุ บุญชา ประเด็นปัญหา "ความเป็นบุคคลคนเดียวกัน" และ "ความสัมพันธ์มารดาและบุตร" เมื่อชื่อในเอกสารแตกต่างกัน


สรุปประเด็นเมื่อวันที่ 2 พ.ค.55 จากหนังสือชี้แจงความคืบหน้าการพิจารณาลงรายการสัญชาติไทยของนายวิษณุ บุญชา จากสำนักเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ ลงวันที่ 24 เมษายน 2555

สรุปประเด็น การสอบข้อเท็จจริงเพื่อลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ของนายวิษณุ บุญชา

 ประเด็นปัญหา "ความเป็นบุคคลคนเดียวกัน" และ "ความสัมพันธ์มารดาและบุตร"  เมื่อชื่อในเอกสารแตกต่างกัน

กรณีนายวิษณุ บุญชา บุคคลที่มีสิทธิในสัญชาติไทย ตาม ม.23 เพราะเกิดในประเทศไทย ปี พ.ศ.2537 จากมารดาที่เกิดในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2513 ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ต่อสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ โดยทางเทศบาล คือ คุณกิตติ์ธเนศ หัวหน้างานทะเบียนราษฎร ได้สอบปากคำพยาน ในประเด็น เรื่อง การอยู่อาศัยจริงในประเทศไทย และเป็นผู้มีความประพฤติ ตามองค์ประกอบใน ม.23 และสอบปากคำเพิ่มเติมในประเด็นที่ “เอกสารที่นำมาแสดงนั้นมีความขัดแย้งกัน” โดยสามารถสรุป ประเด็นการสอบปากคำพยานได้ดังต่อไปนี้

                1.รับรองการอาศัยอยู่จริงในประเทศไทยของนายวิษณุ บุญชา

                2.การเป็นผู้มีความประพฤติดีของนายวิษณุ บุญชา

                3.ความขัดแย้งในพยานเอกสาร เนื่องจาก “นามสกุลของนายวิษณุ” ในเอกสารแต่ละชิ้นนั้นแตกต่างกัน คือ ใช้นามสกุลว่า “ศรีสายหยุด  ,บุญชา  และ “ไม่มีนามสกุล””

                4.ความเป็นมารดากับบุตร เนื่องจากในพยานเอกสารที่แสดงความความสัมพันธ์มารดากับบุตร มีชื่อมารดาของนายวิษณุ ที่แตกต่างกันหลายชื่อ เช่น หนังสือรับรองการเกิดของนายวิษณุ บุญชา ระบุว่ามารดาชื่อ “นางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี ชื่อสกุล ศรีวาร”  แต่ในเอกสารประจำตัวของมารดานายวิษณุ กลับระบุชื่อที่แตกต่างกันคือระบุว่า “ชื่อนางปัจจรา ไม่มีนามสกุล”  ส่วนในเอกสารจากสถานศึกษาของนายวิษณุ บุญชา ระบุชื่อมารดาว่า “นางปัญจรา บุญชา” จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลคนเดียวกันจริงหรือไม่

 

                ทางเทศบาลได้เรียกพยานบุคคล ดังต่อไปนี้มากสอบปากคำ

                1.นางบุญมี หรือ นางปัจจรา (มารดาวิษณุ) -- สอบปากคำในประเด็น เรื่อง การมีหลายชื่อ

                2.นายเล็ก บุญชา (บิดาวิษณุ)–สอบปากคำประเด็นที่นายวิษณุ มีหลายนามสกุล และประเด็นที่มารดาวิษณุมีหลายชื่อ

                3.นางมณฑา คล้ายสมบูรณ์ อายุ 60 ปี(กว่า) คนสัญชาติไทย ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพ มีภูมิลำเนาในอำเภอพระสุมทรเจดีย์ – สอบปากคำในประเด็นเรื่องการอาศัอยู่จริง และการเป็นผู้มีความประพฤติดีของนายวิษณุ และความเป็นมารดา กับบุตร ของนายวิษณุ และนางบุญมีหรือนางปัจจรา

                นางมณฑายืนยันได้ว่า เห็นนายวิษณุมาตั้งแต่เด็ก และเห็นว่าอยู่กับแม่ที่ชื่อบุญมี นางมณฑาไม่ได้รู้จัก “มารดาของวิษณุในนามว่า นางปัจจรา”

                4.นายสำรวย ศรีสายหยุด อายุ 40 ปี(กว่า) คนสัญชาติไทย ประกอบอาชีพทำสวน ค้าขายผลไม้ –สอบปากคำในประเด็นเรื่อง การรับรองการอาศัยอยู่ และประเด็นเรื่อง นามสกุลของนายวิษณุ

                5.อาจารย์สถาพร แก้วสัมฤทธิ์ คนสัญชาติไทย อาจารย์ประจำโรงเรียนป้อมนาคราชฯ และเป็นผู้ประสานงานรับนายวิษณุ บุญชา เข้าศึกษาในโรงเรียน –สอบปากคำรับรองการอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย การเป็นผู้มีความประพฤติดี และกรณีนามสกุลของนายวิษณุ

                อาจารย์สถาพร จะรู้จักมารดาของวิษณุในนามของนางปัจจรา หรือนางปัญจรา ซึ่งพานายวิษณุมาฝากเข้าเรียน แต่ไม่รู้ว่ามารดาของวิษณุใช้ชื่อ บุญมี ด้วยหรือไม่

               

                ทางเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ได้บันทึกการสอบปากคำ และเสนอให้นายอำเภอพระสมุทรเจดีย์พิจารณาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 โดยทางอำเภอไม่ติดใจในประเด็น การเกิดและการอาศัยอยู่ในประเทศไทย การเป็นผู้มีความประพฤติดี การมีหลายนามสกุลของนายวิษณุ บุญชาอีกต่อไป

                แต่ทางอำเภอเห็นว่า พยานเอกสารและพยานบุคคลที่เสนอยังไม่เพียงพอต่อการยืนยัน ความเป็นมารดากับบุตร เนื่องจาก

1.ในพยานเอกสารที่ระบุชื่อมารดา ก็ปรากฎชื่อหลายชื่อแตกต่างกัน

2.พยานบุคคลที่มาให้ปากคำนั้น มีเพียงผู้ที่แสดงตนว่าเป็นมารดานายวิษณุ  และนายเล็ก บุญชา (บิดานายวิษณุ) เท่านั้นที่ให้ข้อเท็จจริงได้ว่า มารดาของนายวิษณุ คือใคร และทำไมจึงมีหลายชื่อ  (ซึ่งทางเทศบาลเห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย)

ส่วนพยานบุคคลอื่นๆ แม้จะให้ปากคำว่า รู้จักนายวิษณุ และเห็นความสัมพันธ์ในลักษณะมารดา กับบุตรของบุคคลทั้งสองมาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่มีผู้ใด ที่ยืนยันในเรื่องข้อเท็จจริงการมีหลายชื่อ ของมารดานายวิษณุได้ชัดเจน

               

                นอกจากนี้ทางอำเภอ ยังเห็นว่า พื้นที่อำเภอสังขละบุรี ที่ออกหนังสือรับรองการเกิดของนางปัจจรา (ผู้ที่แสดงคนว่าเป็นมารดานายวิษณุ) ว่าเกิดในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2513 เป็นพื้นที่ ที่มีข่าวการทุจริต ดังนั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อการลงรายการสัญชาติไทย ตาม ม.23 ของนายวิษณุ โดยอาศัยข้อเท็จจริงเรื่องการเกิดของมารดา ควรจะดำเนินการให้ชัดเจนและมีน้ำหนักมากกว่านี้  (โดยประเด็นความถูกต้องแท้จริงของหนังสือรับรองการเกิดนี้ ทางเทศบาลอาจจะส่งเรื่องตรวจสอบไปยัง อำเภอสังขละบุรี ต่อไป)

 

            ดังนั้นอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จึงส่งเรื่องกลับให้ทางเทศบาล สอบสวนพยานเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่า นางปัจจรา หรือปัญจรา หรือบุญมี นามสกุลศรีวารเป็นบุคคลเดียวกัน และเป็นมารดาของนายวิษณุ บุญชา จริง อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีพยาน หลักฐานอื่นๆ มายืนยัน เพื่อประกอบการพิจารณา ก็น่าจะต้องตรวจ DNA ต่อไป

 

                ข้อหารือและข้อเสนอแนะจากทางเทศบาล กรณีพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันในประเด็นข้างต้น

                ทางเทศบาลแจ้งว่า ควรหาพยานบุคคลมายืนยันว่า นายวิษณุและผู้แสดงตนว่าเป็นมารดานั้น มีความสัมพันธ์เป็นมารดาและบุตรกันจริง และยืนยันว่าคนที่มีหลายชื่อ ในเอกสารแต่ละชิ้นนั้นเป็นบุคคลคนเดียวกัน(ซึ่งเป็นมารดานายวิษณุ) ทั้งนี้เพื่อ หักล้างความไม่ตรงกัน ของชื่อในเอกสาร

                โดยทางเทศบาลเพิ่มเติมว่า ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะองค์กรกลางที่เคยลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง แสวงหาพยานหลักฐานเรื่องชื่อมารดาของนายวิษณุ ก็อาจจะส่งคณะทำงานมาให้ปากคำกับทางเทศบาลก็ได้  หรืออาจจะทำเป็นหนังสือรับรองข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้มายังเทศบาลแทน ก็ได้  เพราะจะทำให้การยืนยันมีน้ำหนักมากขึ้นว่า “หญิงซึ่งมีหลายชื่อในเอกสารต่างๆ รวมทั้งเอกสารของนายวิษณุ บุญชา เป็นบุคคลเดียวกันจริง”

 

                อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ข้อโต้แย้งดังกล่าวจากทางอำเภอ ทางโครงการบางกอกคลินิกฯ เอง ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน พยานหลักฐานสำหรับการขอลงรายการสัญชาติไทยของ นายวิษณุ อยู่เช่นกัน เพราะถ้าพยานหลักฐานที่นายวิษณุเสนอไปนั้น มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และสามารถพิสูจน์ประเด็น เรื่อง “ความเป็นบุคคลเดียวกัน”  และ ประเด็น “เรื่องความสัมพันธ์มารดาและบุตร” ได้แล้ว ข้อโต้แย้งจากทางอำเภอเพื่อเรียกร้องพยานหลักฐานเพิ่มเติม ตลอดจนผลการตรวจพิสูจน์ DNA ก็ไม่สามารถเรียกร้องได้

 

               

หมายเลขบันทึก: 487547เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท