อุปสรรค ปัจจัย อะไรเอ่ย


อุปสรรค ปัจจัย เป็นศัพท์เทคนิคทางไวยากรณ์ของภาษาบาลีสันสกฤต อันที่จริงภาษาอื่นๆ ในตระกูลเดียวกันนี้ก็มีเหมือนๆกัน

               เฉลยกันเลย ไม่งั้นจะมีคนหนีไปเสียก่อน “อุปสรรค” เป็นคำจำพวกหนึ่งที่ใช้เติมหน้าคำอื่น โดยปกติมีความหมายในตัวเอง แต่ใช้เดี่ยวๆ ไม่ได้ คือไม่อยู่ลอยๆ คอยแต่จะเกาะคนอื่น ส่วน “ปัจจัย” นั้น ก็เป็นคำเติมเหมือนกัน แต่เป็นเติมหลัง

               “การเติม” คำพวกนี้ ภาษาเก่าๆ เรียกว่า “ลง” เช่น ลงอุปสรรค, ลงปัจจัย แต่เราๆ อยู่นอกวัด เรียกว่า เติมอุปสรรค เติมปัจจัย เติมอาคม ก็ได้

 

ภาษาอังกฤษสักหน่อย

               ก่อนจะไปดูรายละเอียด เอาศัพท์ภาษาอังกฤษไว้สักหน่อย เผื่อเปิดตำราฝรั่ง จะได้เข้าใจตรงกัน

               อุปสรรค ภาษาอังกฤษเรียกว่า prefix

               ปัจจัยว่า ภาษาอังกฤษเรียกว่า suffix

               อาคม ภาษาอังกฤษเรียกว่า infix หรือ augment

               ทั้งหมดทั้งปวงนี้เรียกว่า affix  

               การเติมคำเหล่านี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า affixation

               นักไวยากรณ์อาจเรียกคำพวกนี้ว่าหน่วยคำ ที่มีความหมายติดอยู่ แต่ใช้เดี่ยวๆ ไม่ได้ ส่วนอาคม น่าจะเป็นแค่หน่วยเสียง เพราะไม่มีความหมาย อธิบายอย่างชาวบ้านก็อาจจะบอกว่า เพื่อให้ออกเสียงสะดวก

              ไม่ยากใช่ไหมครับ เอ่อ ในขั้นต้นก็เว้ากันสั้นๆ แค่นี้ก่อน...

 

อุปสรรค ปัจจัย และตัวเติมอื่นๆ

               มาดูคำเติมแต่ละชนิดกัน

 

               1. อุปสรรค คำพวกนี้เอาไว้เติมหน้าทำอื่น หน้าคำนามก็ได้ หน้าธาตุ*ก็ได้ เช่น อุป อา นิ วิ อว ฯลฯ เมื่อเติมแล้วก็จะกลมกลืนเสียงกันไปตามระเบียบ เช่น อเปหิ ก็มาจาก อป + อิ(ธาตุ) + หิ  ในที่นี้ อป เป็นอุปสรรค, อนุชา ก็มาจาก อนุ + ชา อุปสรรคคือ อนุ, อุปสรรคพวกนี้มีความหมาย แต่การใช้งานนั้นกว้างขวาง อุปสรรคบางคำอาจจะบอกความหมายได้ยาก เช่น อุป มีความหมายว่า ใกล้, ชฺญา มีความหมายว่ารู้  อุปชฺญา หมายถึง ค้นหา, ประดิษฐ์, ยืนยัน เมื่อแปลความหมายของศัพท์ที่มีอุปสรรค ก็ไม่ต้องจริงจังกับความหมายของอุปสรรค บางครั้งก็มีการใช้อุปสรรคมากกว่า 1 ตัว เช่น อนเวกฺษ มาจาก อุปสรรคสองตัว เช่น สเมตฺย มาจาก อุปสรรค “สมฺ” และ “อา” เติมหน้าธาตุ “อิ” แล้ว ตามด้วยปัจจัย “ตฺย”

               เขียนอุปสรรคนี้ เป็นแบบสันสกฤต บาลีใช้ว่า อุปสัคค  

 

               2. ปัจจัย  คำนี้ไว้เติมข้างหลัง หลังกริยา หลังนามก็เป็นปัจจัยทั้งนั้น แต่อาจเรียกชื่อต่างกันอีกก็ได้ เช่น ถ้าเติมหลังคำนามเพื่อเปลี่ยนการก อาจเรียกว่า วิภักติ (ภาษาไทยอาจเรียกว่า วิภักตินาม), ที่เติมหลังเค้ากริยาเพื่อระบุประธาน ก็เป็นวิภักติเหมือนกัน (ภาษาไทยอาจเรียกว่า วิภักติกริยา), ที่เติมหลังธาตุ ตามคณะหรือหมวดของธาตุเรียกว่า วิกรณ์ ทีนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ก็ยังเรียกว่าปัจจัย แต่แบ่งเป็นตามหน้าที่ หรือความหมาย เช่น ปัจจัยกฤต ปัจจัยตัทธิต ปัจจัยนู่น ปัจจัยนี่ ฯลฯ

คำว่าปัจจัย นี้เป็นศัพท์บาลี, ภาษาสันสกฤตเรียกว่า ปรัตยยะ 

 

               3. อาคม เป็นคำพิเศษ เติมหน้า หรือ เติมหลังคำหลัก แล้วอาจมีคำอื่นมาเติมทับอีกที นักไวยากรณ์จึงมักบอกว่า อาคม เอาไว้แทรกตรงกลาง เช่น กริยาอดีตกาล จะต้องมี อ เติมหน้าธาตุก่อน แต่ไม่เรียกว่า อุปสรรค เรียกว่า อาคมนี่แหละ ทีนี้ ถ้ามีอุปสรรคจะเติม ก็ต้องเติมข้างหน้าเจ้าอาคมอีกที ดูตัวอย่างดีกว่า

               อุป + ชฺญา แปลว่า ยืนยัน, ค้นหา  ถ้าจะทำเป็นอดีตกาล ต้องเติม [อ] หน้า ชฺญา อย่างนี้

               อุป + [อ] + ชฺญา = อุปาชฺญา

            เวลาประกอบศัพท์ เราจะประกอบตัวที่ใกล้กันก่อนจะประกอบ อุป+ชฺญา แล้วมาแทรก อิ ตรงกลาง ก็ทำลำบาก

               ถามว่า อ แปลว่าอะไร  อาจารย์บอกว่าไม่แปล ใส่ไว้เป็นเครื่องหมายเฉยๆ 

              คำว่าอาคม แปลว่า มา (ตรงข้ามกับ คม แปลว่าไป คงหมายถึง เข้ามาแทรกนั่นเอง)

 

สรุป

               สรุปนิดหนึ่งว่า ศัพท์แสงในภาษาสันสกฤตนั้นอาศัยการเปลี่ยนเสียง หรือเติมเสียงมากมาย ตัวที่เข้ามาเติมนั้น เรียกง่ายๆ ว่า อุปสรรค (เมื่อเติมหน้า), เรียกว่าปัจจัย (เมื่อเติมหลัง) ทั้งอุปสรรคและปัจจัยจะมีความหมายในตัว ส่วนที่เรียกว่า อาคม นั้น ใช้เติมเพื่อเอาเสียง โดยไม่มีความหมายในตัว ซึ่งอาจมีอุปสรรคหรือปัจจัยอื่นมาทับอีกทีก็ได้

               จบ..

 

หมายเหตุ

* ธาตุคือหน่วยพื้นฐานของกริยา แต่ยังไม่เป็นกริยา

หมายเลขบันทึก: 487544เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อาจารย์คะเรื่องธาตุที่อาจารย์ว่าคำหนึ่งต้องมีการแจกธาตุ แยกธาตุออกมา โดยปกติแล้วใน Dictionary จะมีบอกละเอียดขนาดนั้นไหมคะ ในกรณีถ้าเราจะดูตรงเรื่องธาตุ ที่มาที่ไป ที่อาจารย์บอกว่าเป็นตัวสัญลักษณ์คล้ายๆกับสแควร์รูทอะคะ

√mad-ta > matta 'เมาแล้ว'

พจนานุกรมบางเล่มก็บอกละเอียด บางเล่มก็ไม่ละเอียดครับ

ถ้าบอกละเอียด เขาจะต้องบอกหมวดหมู่ของธาตุ (1-10) และบอกการใช้แบบพิเศษมาด้วย เช่น

√mad+ta = matta เมาแล้ว ยินดีแล้ว

√มทฺ + ต = มตฺต

เพราะ -ต ที่เติมเข้ามา จะบังคับให้ ท เปลี่ยนเป็น ต ไปด้วย

อันนี้เป็นหลักสนธิเบื้องต้นครับ (ต้องเรียน)

อ้าว อาจารย์คะ comment ข้างบนหนูหายไปไหน ?

อาจารย์คะ ถ้าเป็นในส่วนของ ร หัน -รร อักษรโรมันและอักษรไทยจะเขียนยังไงคะ ขอบคุณคะ

อ้าว อะไรหายครับ..

स्वर्ग svarga สฺวรฺค แบบนี้ครับ

รฺ ถอดเป็น ร หัน

แต่ถ้าถอดมาเป็นแบบ "ไทยๆ" (คือแบบไม่มีจุด) ก็จะเป็น สวรรค์ หรฺษ เป็น หรรษะ

 

สรุป ถ้าถอดสันสกฤตโดยตรง ไม่มีคำว่า ร หัน มีแต่ ร จุด ครับ

 

 

อาจารย์คะ คำนี้เขียนเป็นอักษรไทยว่าอะไรกันแน่ jyotiṣa - ชโยติษ หรือ โชยฺติษ

กับโยคปฎฺฎ เขียนเป็นเทวนาครีว่าอะไรอะคะ

ขอบพระคุณคะ

ชฺโยติษ ครับ (บางคนนิยมเขียน โชฺยติษ)

แต่ผมว่า ชฺโยติษ อ่านง่ายกว่า

 

योगपट्ट โยคปฏฺฏ (มีจุดใต้ ฏ ตัวแรก) เป็นคำนามเพศชายนะ (สมาสด้วย โยค+ปฏฺฏ)

 

อาจารย์คะ หนูขอยกท่อนนี้มาหน่อยนึง

โอมฺ ตฺรฺยมฺพกํ ยชามเห สุคนฺธึ ปุษฺฏิวรฺธนมฺ | อูรฺวารุกมิว พนฺธนานฺมฤตฺโยรฺมุกฺษีย มา’มฤตาตฺ ||

คำว่า มา แล้วมีเครื่องหมายเป็นขีดข้างบน ในบรรทัดที่สองตอนสุดท้ายหมายถึงอะไร ไม่ค่อยได้เห็น แล้วคืออะไรคะ ขอบพระคุณคะ

มา เป็นศัพท์ใช้ปฏิเสธหน้ากริยา(บางชนิด)

เครื่องหมาย ‘ ถอดจากเครื่องหมาย อวครหะ (อวคฺรห) แปลว่า ตัวแยก

ใช้แทนเสียง อ ที่หายไปเมื่อสนธิกับเสียงสระ อา ที่อยู่ข้างหน้า

เดิมเป็น มา อมฺฤตาตฺ

 

มนตร์นี้ บางทีเขียน "มามฺฤตาตฺ"  โดยไม่ต้องมีเครื่องหมายอวครหะก็ได้ครับ

 

ถอดให้ถูกระบบ ก็จะเป็น

โอมฺ ตฺรฺยมฺพกํ ยชามเห สุคนฺธึ ปุษฺฏิวรฺธนมฺ ฯ

อูรฺวารุกมิว พนฺธนานฺมฺฤตฺโยรฺมุกฺษีย มา‘มฺฤตาตฺ ๚

(พยัญชนะหน้าสระฤ มีจุดข้างใต้)

 

มนตร์นี้มาจากฤคเวทครับ

สวัสดีครับ คุณ Ico48 Sanskrit Lover

ดีเลยครับ มีอะไรก็มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

ที่มาของหลายๆ คำน่าสนใจมาก

อาจารย์คะ หนูอยากได้ดิกชันนารีออนไลค์ที่เราพิมพ์คำไหนลงไปก็ได้ แล้วออกเสียงให้เราฟังได้ด้วยอะคะ อาจารย์พอจะทราบไหมคะ

สวัสดีครับ ดิกชันนารีภาษาสันสกฤต ยังไม่เคยเจอเล่มไหนออกเสียงเลยครับ ;)

อาจารย์คะหนูยังไม่เข้าใจอนุสวาระได้ดีพอเท่าไหร่คะ ไม่รู้ว่าที่ร่างมาจะถูกแค่ไหน รบกวนอาจารย์ช่วยตรวจดูให้ด้วยคะ

ra แล้วก็เอ็มจุดล่าง - รํ - รำ

raṁ - รมฺ - รัม

ta แล้วก็เอ็มจุดล่าง - ตํ - ตำ

taṁ - ตมฺ - ตัม

va แล้วก็เอ็มจุดล่าง - วํ - วำ

vaṁ - วมฺ - วัม

อิอิ .. ไม่รู้จะถูกหรือเปล่า เดาๆเอา หนูยังไม่อยากข้ามไปเรื่องอื่นกะว่าจะเอาพื้นๆให้แน่นเลยคะ ขอบพระคุณอาจารย์สำหรับความกรุณา ที่มีต่อเด็กโง่ๆมากคะ .. ^^

อนุสวาระ เป็นอย่างนี้ครับ

raṁ= รํ, แต่ ram = รมฺ

taṁ = ตํ แต่ ram = รมฺ

vaṁ = วํ, แต่ vam = วมฺ

 

แปลง ṁ เป็น อนุสวาระ เท่านั้นเองครับ

ดีแล้วครับ ไปช้าๆ สม่ำเสมอๆ จะจำแม่น ตอนท้ายๆ จะเรียนได้เร็ว

 

อาจารย์คะ วิภัตติกับปัจจัยสำคัญต่อภาษาสันสกฤตอย่างไรคะ แล้วความหมายของสองคำคำนี้จะนิยามอย่างไร หนูทราบแค่ว่า การมีวิภัตติกำกับ ทำให้กวีลำดับคำในประโยคได้หลายแบบ กวีจึงสามารถรักษาฉันทลักษณ์ได้เคร่งครัด ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท