โรงเรียนในฝัน ตอนที่ 9 ผลงานวิชาการงานอาชีพ


ครูโดยทั่วไปจะเก่งในการสอนบางวิชาที่ครูเรียนมาเป็นวิชาเอกมา เช่น เกษตร คอมพิวเตอร์ บัญชี ธุรกิจ คหกรรม เด็ก ๆ จึงมีโอกาสที่จะเลือกในสิ่งที่ชอบและอยากเรียนได้ยาก จึงต้องจำใจเรียน ในส่วนที่มีเวลาเรียนน้อยก็ไม่สามารถสอนให้ลึก ๆ ได้ การสอนสาระนี้ ถ้าจะให้ดีต้องมีครูที่จบเรื่องการจัดการความรู้สาระการอาชีพ ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีแล้วหรือยัง ที่จะช่วยให้มีความสามารถในการจัดการให้นักเรียนในเรื่อง ที่อยากเรียน ตรงนี้คือช่องว่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยลูก

ตอนที่ 9 ผลงานวิชาการงานอาชีพ

จากวีดิโอ  เด็ก ๆ ได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ มาเสนอ กรรมการผู้ประเมินได้ซัก ได้ถาม         เพื่อพิสูจน์ความรู้จริงของนักเรียน ก็ลองคลิ๊กดูก่อนนะครับ        https://www.youtube.com/watch?v=nRvjL8X104M

ครอบครัวในฝัน : ข้อเสนอแนะสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง

วิชาการงานอาชีพอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ การงานอาชีพและเทคโนโลยี  ที่มุ่งหวังให้นักเรียนมีความรู้  ทักษะ และเจตคติ ในการทำงาน  การจัดการ การดำรงชีวิต  การประกอบอาชีพ  และการใช้เทคโนโลยี เรียนแล้ว เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพและการศึกษาต่อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   โดยมีสาระสำคัญ  ดังนี้ 

  •  การดำรงชีวิตและครอบครัว   เป็นสาระเกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวัน  ช่วยเหลือตนเอง   ครอบครัว   และสังคมได้ในสภาพเศรษฐกิจที่พอเพียง   ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม   เน้นการปฏิบัติจริงจนเกิดความมั่นใจและภูมิใจในผลสำเร็จของงาน  เพื่อให้ค้นพบความสามารถ  ความถนัด และความสนใจของตนเอง
  • การออกแบบและเทคโนโลยี   เป็นสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถของมนุษย์อย่างสร้างสรรค์   โดยนำความรู้มาใช้กับกระบวนการเทคโนโลยี    สร้างสิ่งของ  เครื่องใช้  วิธีการ  หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต
  • เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เป็นสาระเกี่ยวกับกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศ   การติดต่อสื่อสาร  การค้นหาข้อมูล   การใช้ข้อมูลและสารสนเทศ    การแก้ปัญหาหรือการสร้างงาน  คุณค่าและผลกระทบของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
  • การอาชีพ    เป็นสาระที่เกี่ยวข้องกับทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพ   เห็นความสำคัญของคุณธรรม  จริยธรรม  และเจตคติที่ดีต่ออาชีพ  ใช้เทคโนโลยีได้เหมาะสม   เห็นคุณค่าของอาชีพสุจริต   และเห็นแนวทางในการประกอบอาชีพ

ผลงานวิชาคอมพิวเตอร์ ที่เสนอไว้แล้ว อยู่ในกลุ่มสาระนี้ด้วย   ผลงานที่เด็กระดับประถม และมัธยม นำเสนอในวีดิโอ  อยู่ในสาระ การอาชีพ   สาระนี้คนรุ่นเก่า ๆ  มักรู้จักกันในชื่อต่าง ๆ  ที่ลงท้ายด้วยกรรม ได้แก่  เกษตรกรรม  อุตสาหกรรม คหกรรม ศิลปะหัตถกรรม (เย็บปักถักร้อย ดอกไม้ใบตอง งานประดิษฐ์) รวมถึงวิชาธุรกิจ การบัญชี   เป็นวิชาที่ทุกคนเรียนได้ไม่ยาก หากตั้งใจเรียน และบางคนสามารถเรียนได้ดี  มีความโดดเด่นได้   เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ  สังคมศึกษา ภาษาไทย  มักจะไม่ค่อยสนใจวิชาเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นวิชาพื้นฐานที่จะช่วยให้ชีวิตประจำวันสามารถอยู่รอดได้ ดังที่หลายท่านเคยเห็นมาแล้วหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ  จนทำให้คนไทยที่เป็นลูกจ้างเอกชน หรือ คนรวย ต้องหันกลับไปจับวิชาเหล่านี้มาทำ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด

สาระการอาชีพ ผมมีข้อกังวล ตรงที่มีเวลาเรียนน้อย  และการสอนของคุณครูที่ยากลำบากในการสอนให้ตอบสนองความมุ่งหวังของหลักสูตร ที่ให้นักเรียนมีความรู้  ทักษะ และเจตคติ ในการทำงาน  การจัดการ การดำรงชีวิต  การประกอบอาชีพ  และการใช้เทคโนโลยี เรียนแล้ว เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพและการศึกษาต่อ เพราะครูโดยทั่วไปจะเก่งในการสอนบางวิชาที่ครูเรียนมาเป็นวิชาเอกมา เช่น  เกษตร คอมพิวเตอร์ บัญชี ธุรกิจ คหกรรม  เด็ก ๆ จึงมีโอกาสที่จะเลือกในสิ่งที่ชอบและอยากเรียนได้ยาก จึงต้องจำใจเรียน   ในส่วนที่มีเวลาเรียนน้อยก็ไม่สามารถสอนให้ลึก ๆ ได้  การสอนสาระนี้  ถ้าจะให้ดีต้องมีครูที่จบเรื่องการจัดการความรู้สาระการอาชีพ ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีแล้วหรือยัง  ที่จะช่วยให้มีความสามารถในการจัดการให้นักเรียนในเรื่อง ที่อยากเรียน  ตรงนี้คือช่องว่างที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยลูก

ท่านที่ทำงาน กิจการใดอยู่แล้ว ก็ต้องให้ลูกช่วยด้วย  แม้โรงเรียนจะไม่ให้คะแนนในการสอบ  ลูกก็จะได้อะไรที่มากกว่าโรงเรียนสอนเสียอีก

ท่านที่รับราชการ หรือเห็นคุณค่าของวิชาเหล่านี้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จะใช้วิธีการของผมก็ได้  ตอนลูกเรียนชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น อยากให้มีวิชาว่าด้วยการขายติดตัวบ้าง แม่จึงทำถั่วเคลือบโกโก้ให้ไปขายที่โรงเรียน แรก ๆ ก็ ขายส่ง ให้เพื่อนที่ขายเก่งไปขายต่อ ได้เงินเท่าไรก็มอบให้เข้าบัญชี ต่อมาเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายก็ให้ร่วมกับเพื่อน ตามดำริของครูประจำชั้น  ขายลูกชิ้นปิ้ง ขายไปยอดขายลด ก็ให้คิดว่าจะทำอย่างไร ดีเขาบอกว่า หมูยอทอดก็น่าจะขายดี ก็ไปซื้อหาให้ไปขาย  อย่างน้อย ๆ เขาก็ได้แนวคิดการขายติดตัวไปบ้าง

วิชาการงานอาชีพนั้น จะเหมาะสำหรับ นักเรียนทุกคน ในส่วนที่จะช่วยสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นอย่างดี  รวมทั้งการคิดวิเคราะห์ด้วย  ในวีดิโอที่ผมให้เด็ก ๆ จำแนกแยกแยะประเภทของสิ่งประดิษฐ์ ที่กองกันอยู่นั้น  นั่นคือการวิเคราะห์และสังเคราะห์  ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  และยังนำไปช่วยให้คิดเก่ง คิดคล่องในวิชาอื่น ๆ ด้วย

สำหรับโรงเรียนมัธยม ในตอนที่ให้คำแนะนำกับครูนั้น จะถามว่าได้สอนให้ เด็ก ๆ ขาย ผ่านทางเว็บไซต์กันบ่างแล้ว หรือ ยัง  ทำได้ไหม อย่างน้อยก็พอให้เด็ก ๆ เห็นเป็นแนวทาง แต่ครูการงานอาชีพก็ทำยังไม่ค่อยจะได้ อันนี้ทำให้เด็ก ๆ ขาดโอกาสการเรียนรู้ ที่จะไปอยู่กับสังคมในอนาคต ทั้งไทย และใน ASEAN  

มีอยู่หลายโรงเรียน ที่เด็ก นำผลงานเมนูอาหารคาวหวานมานำเสนอ เช่น โรงเรียนหนึ่ง      มีเด็ก ๆ นำผลงานการทำถั่วเน่า หรือ กะปิที่ทำกับถั่วเหลือง เป็นแผ่นกลม ๆ  อาหารพื้นเมืองมาเสนอ ผมก็จะถามว่า มันคืออะไร ทำไมเขาจึงตั้งชื่ออย่างนั้น ทำอย่างไรให้มันเน่า  เน่าแล้วจะดีตรงไหน  มีส่วนประกอบอะไรบ้าง มีขั้นตอนการทำอย่างไร ขายถุงละได้เท่าไร จากต้นทุนเท่าไร ไปขายที่ไหน ขายใคร ใครไปขาย ถั่วเน่าที่พวกหนูทำนี่เป็นสูตรโบราณใช่ไหม  หนูทำสูตรใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมได้ไหม ทำอย่างไรถึงจะจะแตกต่างไปจากเดิม  แตกต่างด้วยส่วนผสม ได้ไหม แตกต่างจากแบบกลม ๆ  เป็นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม กลมเล็ก หรือ ใหญ่กว่าเดิมได้ไหม  หีบห่อละ จะทำอย่างไร ให้ดูดีกว่าเดิม ลงท้ายก็แนะนำว่า ครูมาคราวหน้า  ครูจะขอดูทั้งสูตรดั้งเดิม และสูตรใหม่ที่พวกหนู ๆ คิดเอง

ครั้งต่อมาไปอีกน่าดีใจครับ เด็กๆ เขาก็ดีใจที่ได้นำถั่วเน่ารูปแบบใหม่มาเสนอ ถามอะไรก็ตอบได้ฉอด ๆ  กันทุกคน

ขอย้ำว่าอย่ามองข้ามวิชาการงานอาชีพ เพราะจะเรียนอะไร  ๆ  สุดท้ายก็ทำงาน การปลูกฝังการทำงานที่ดี  ที่ต้องทำอะไร ๆ ร่วมกับคนอื่นให้ดี ก็อยู่ที่การปลูกฝังเมื่อยังเยาว์วัยใช่ไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 487489เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คุณครูจากอินโดนีเซีย เธอกำลังไปศึกษาดูงานอยู่ที่นิวซีแลนด์ feedผ่่าน facebook มา ก็นำมาให้ดูกันว่าต่างประเทศเขาสอนการงานอาชีพกันอย่างไร อยู่ใน album เฟสบุ๊คของผม lechat yaboon

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.236921549741730.39453.100002716617916&type=3

ผมลองคลิ๊กดู ก็ยังไม่เข้า อยากให้ดูว่าเป็นอย่างไรขอแอดเฟรนกับผมไปก่อนนะครับ  (จะเอาขึ้นโกทูโน ก็ยังทำไม่เป็นครับ 555) การสอนของเรากับของเขา แตกต่างกันอย่างไร   ที่เด็กไม่อยากเรียน วิชาช่าง ทั้ง ๆ ที่จำเป็นในชีวิต ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นการเรียนที่ยากลำบาก จะตัดไม้ ไสกบ นี่แสนยาก  เครื่องไม้ เครื่องมือ ก็ไม่พร้อมเรียนแล้ว  ยากลำบากไปเสียหมด ที่จะเรียนก็เพราะใจชอบจริง ๆ ฝรั่งเขาเรียนทั้งเด็กผู้ชายเด็กผู้หญิง คงเเป็นเพราะเรียนง่าย อีกทั้งดูดีมีระดับ อยากให้ปรับปรุงเรื่องการสอนวิชาช่างจริงๆ ครับ  ถ้าไม่ปรับ เราคงจะมีแต่ช่างไร้ฝีมือ ไปทำงานในอาเซียนเมื่อไร ก็คงต้องเป็นลูกไล่เพื่อนไปก่อนแน่ ๆ

ไม่แน่ใจว่าการดูภาพจาก facebook จะสะดวกหรือไม่ จึงนำมาให้ไว้ที่นี่อีก

ด้วยความห่่วงใยในการสอนวิชานี้จริง ๆ http://www.gotoknow.org/media/files/806061

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท