ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ความจริงในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของการให้อภัย


 

 

     

      ในสถานการณ์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อความขัดแย้งนั้น ภายหลังที่ความขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งบางสถานการณ์อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตและทรัพย์ สินนั้น สิ่งแรกที่กลุ่มคนต่างๆ พยายามที่จะถามคือ “ความจริงคืออะไร” และเราจะเข้าถึง และค้นหาความจริง (Fact-Finding) เหล่านั้นได้อย่างไร เพราะในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มคนต่างๆ มักจะมีมุมมองและท่าทีต่อความจริงที่ตัวเองประสบแตกต่างกัน คำถามในประเด็นนี้คือ “ความจริงตามที่มันเป็นคืออะไร”(What is reality as it is?) มิใช่ความความจริงที่เรา หรือกลุ่มคนบางกลุ่มปรารถนาที่จะให้มันเป็น (Reality as we want it to be) ดังนั้น การจะได้มาซึ่งความจริง (Truth) ดังกล่าว อาจจะตั้งคณะกรรมการที่ทุกฝ่ายยอมรับเพื่อแสวงหาความจริง เพื่อให้ความจริงปรากฎตามที่มันควรจะเป็น ทางเลือกอื่นๆ ในทางสันติวิธีอาจจะใช้วิธีการสานเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยการให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมแบ่งปันความทุกข์ที่เกิดขึ้น

 


       เมื่อได้เราสามารถค้นพบความจริงตามที่ความจริงปรากฎแล้ว มาตรการขั้นตอนต่อไปคือ “การใช้มาตรการทางกฎหมาย และ/หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สังคมสมมติใช้” เข้าไปจัดการกับความขัดแย้ง ซึ่งประเด็นใดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และหากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งการกระทำผิดจริงเห็นสมควรให้ดำเนินการตามที่กฏหมายกำหนด แต่ในบางสถานการณ์มาตรการทางสังคมก็อาจจะเข้ามาช่วยให้สถานการณ์ความขัดแย้งเป็นไปในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น

 



       ในบางสถานการณ์เมื่อใช้มาตรการทางสังคมแล้ว กระบวนการขั้นตอนต่อไปสำหรับกลุ่มคนที่ความจริงปรากฎชัดว่า มิได้กระทำผิด หรือเป็นไปในเชิงบวกอื่นๆ ควรนำสร้างความชอบธรรมผ่านทางกฎหมายที่เป็นธรรมแก่กลุ่มต่างๆ ถึงกระนั้น วิธีการสำคัญที่จะสามารถทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเกิดความรู้สึก “รับได้” ต่อผลกระทบคือ “มาตรการการเยียวยา” (Healing) ซึ่งอาจจะทำทั้งในมิติของการเยียวยาอารมณ์และความรู้สึกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรงของคู่กรณี และทั้งในมิติของการเยียวยาด้วยผลประโยชน์และความต้องการตามที่ผู้ได้รับผลกระทบสูญเสียจากสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่การที่ไม่สามารถเยียวยาได้อย่างทันต่อเวลาและสถานการณ์นั้น อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ตามมาเช่นกัน

 



       การสำนึกรับผิดชอบโดยการการเยียวยาทั้งความอารมณ์ความรู้สึก และผลประโยชน์และความต้องการที่ประสานสอดคล้องกัน ย่อมนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจจากคู่กรณีและก่อให้เกิดผลด้านความสัมพันธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ และผลที่จะเกิดตามมาก็คือ “อภัยทาน” ที่คู่กรณี หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มุ่งหวังการสนองตอบในเชิงบวกได้แสดงออกต่อกัน ซึ่งอภัยทานในประเด็นนี้ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งการยกโทษให้แก่บุคคลที่เคยกระทำผิดต่อตัวเอง และทำให้คู่กรณีหรือบุคคลอื่นๆ ไม่เกรงกลัวต่อการคิด การพูด และการกระทำตัวเอง สุดท้ายแล้ว ความปรองดอง (Reconciliation) ที่เกิดจากการที่แต่ละฝ่ายได้พยายามเยียวยาและสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างกันจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้คู่กรณีสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในครอบครัว ชุมชน และสังคมต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #forgiveness#truth
หมายเลขบันทึก: 487447เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • นมัสการท่าน
  • หายไปนาน
  • สบายดีไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท