ภาษาสันสกฤตก็มีเทนส์ (tense)


พูดถึงเทนส์ (tense) ในภาษาสันสกฤตหลายท่านอาจจะงง สงสัยว่าภาษาสันสกฤตก็มีเทนส์กับเขาด้วยหรือ

ภาษาสันสกฤตก็เหมือนภาษายุโรปหลายๆ ภาษา มีเทนส์ มีการเปลี่ยนรูปคำนาม เปลี่ยนรูปกริยา มีการประสมคำในแบบเดียวกัน และอื่นๆ อีกเยอะแยะ เพราะฉะนั้นผู้ที่เรียนภาษายุโรปมาก่อน เมื่อเรียนภาษาสันสกฤตก็พอจะจับทางได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ดีกว่าคนที่ไม่รู้ภาษายุโรปเลย ภาษายุโรปที่ว่านี้ก็เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาลี ฯลฯ ภาษาอังกฤษนั้นถือว่าหน่อมแน้มไปเลยเมื่อเทียบไวยากรณ์กับภาษาอื่น เพราะภาษาอังกฤษแจกรูปน้อย แต่ภาษาอื่น อย่างเยอรมัน หรือรัสเซีย แจกรูปมาก หลักเกณฑ์เยอะ

มาถึงเรื่องเทนส์ ภาษาอังกฤษมีเทนส์เยอะแยะตั้ง 12 แบบ ภาษาสันสกฤตนั้นมีน้อยกว่า คือ มี 10 เทนส์ แต่ว่าเยอะกว่า

หมายความว่ายังไง..

หมายความว่า ภาษาอังกฤษมี 12 เทนส์ก็จริง แต่ว่า แต่ละเทนส์มีรูปต่างกันแค่ 2 – 3 แบบเท่านั้นเอง อย่างเช่น

 

Past simple tense       

             to be    มี 2 รูป คือ was และ were   

                         เช่น   I was, you were 

              to go    มี 1 รูป คือ went       

                        เช่น       I went, he went, they went

Future simple tense   

             to do    มี 2 รูป คือ will do, shall do       

 

            ในภาษาสันสกฤตนั้น เทนส์หนึ่งมี 2 ชุด (กริยาของประธาน และกริยาของกรรม) และชุดละ 9 รูป  ตามประธาน คือ บุรุษที่ 1 บุรุษที่ 2 บุรุษที่ 3 และเอกพจน์ ทวิพจน์ พหูพจน์

               ยกตัวอย่าง ปัจจุบันกาล (ชุดที่ 1)

 

               กริยา นมฺ (nam) แปลว่า น้อมตัว, ก้ม, ไหว้

               ประธานบุรุษที่หนึ่ง               นมามิ      นมาวะ    นมามะ

               ประธานบุรุษที่สอง                นมสิ       นมถะ      นมถ

               ประธานบุรุษที่สาม                นมติ        นมตะ      นมนฺติ

              

               นี่แหละครับ นมฺ ตัวเดียว แปลงร่างเป็น นมามิ, นมาวะ, นมามะ, นมสิ, นมถะ, นมถ, นมติ, นมตะ และ นมนฺติ แค่เทนส์เดียวก็ท่องกันเหนื่อย

               อย่าเพิ่งไปดูรายละเอียดเลยครับว่าเปลี่ยนรูปเป็นอะไรบ้าง มาดูว่าเทนส์ทั้งหมดมีอะไรบ้างดีกว่า

 

               1. ปัจจุบันกาล ภาษาสันสกฤตว่า วรรตมานะ (วรฺตมาน) ใช้บอกเล่าเหตุการณ์ทั่วไป เล่าเรื่องในนิทานก็ใช้ปัจจุบันกาลนะครับ ปัจจุบันกาลจึงใช้มากในหนังสือสันสกฤต เช่น คจฺฉามิ (ข้าพเจ้าไปถึง), นมามิ (ข้าพเจ้าน้อมไหว้) นี่แหละ เป็นปัจจุบันกาล (ศัพท์ทั้งสองนี้ตรงกับบาลี)

               2. อาชญามาลา ภาษาสันสกฤตว่า อาชญารถะ (อาชฺญารฺถ) ใช้เป็นคำสั่ง หรือขอร้อง บางครั้งใช้แทนวิธิ เช่น โหตุ (จงเป็น), ศฺฤณุ (จงฟัง), อเปหิ (จงไป)

               3.  อดีตกาลไม่ใช่วันนี้ ภาษาสันสกฤตว่า อนัทยตนภูตะ (อนทฺยตนภูต) ใช้บอกเหตุการณ์ในอดีต แต่ใช้ไม่มาก เช่น อภวมฺ (ข้าพเจ้าเป็นแล้ว) (คำว่า อนัทยตน แปลว่า กาลที่ไม่ใช่วันนี้)

               4. วิธิมาลา ภาษาสันสกฤต วิธยรถะ  (วิธฺยรฺถ) ใช้เป็นคำอ้อนวอน รำพึง บางครั้งก็ใช้แทนอาชญา เช่น กุรฺยาตฺ (เขาพึงทำ)

               5. อดีตกาลสมบูรณ์ ภาษาสันสกฤตว่า ปโรกษภูต (ปโรกฺษภูต) ใช้บอกเหตุการณ์ในอดีตทั่วไป เช่น อุวาจ (เขาพูดแล้ว)

               6. อนาคตกาลไม่ใช่วันนี้ ภาษาสันสกฤตว่า อนัทยตนภวิษยัน (อนทฺยตนภวิษฺยนฺ) ใช้บอกเหตุการณ์ในอนาคต ทั่วไปที่ไม่ใช้วันนี้ แม้เป็นอนาคต ตัวอย่างเช่น ทาตาสฺมิ (ข้าพเจ้าจะให้)  (คำว่า อนัทยตน ในชื่อเทนส์นั้นแปลว่า กาลที่ไม่ใช่วันนี้)

               7. อนาคตกาลธรรมดา ภาษาสันสกฤตว่า ภวิษยัน (ภวิษฺยนฺ) มักใช้บอกเหตุการณ์ในอนาคตวันพรุ่งนี้ แต่ในสมัยหลังมีใช้น้อยมาก

               8. อาศีรมาลา ภาษาสันสกฤตว่า อาศีรรถะ (อาศีรรฺถ) ใช้ในการให้พร เช่น ภูยาตฺ ขอให้เขาเป็น

               9. อดีตกาลภูตะ ภาษาสันกฤตว่า ภูตะ (ภูต) ใช้บอกเหตุการณ์ในอดีตทั่วไป เช่นเดียวกับอดีตกาลอื่น แต่มีใช้ไม่มากนัก ในสมัยโบราณอดีตกาลชนิดนี้มักหมายถึงเหตุการณ์ที่เพิ่มเสร็จสิ้น โดยที่ผู้พูดเคยอยู่ในเหตุการณ์นั้น เช่น ภูยาสมฺ ข้าพเจ้าเคยอยู่/เป็น

               10. สังเกตมาลา ภาษาสันสกฤตว่า สังเกตารถะ (สํเกตารฺถ) ใช้บอกเงื่อนไข แปลว่า คงจะ นับว่ามีใช้น้อยที่สุดในบรรดาเทนส์ทั้งหลายในฤคเวทพบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เช่น อทาสฺยมฺ ข้าพเจ้าคงจะให้

 

               แต่ละเทนส์ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น อดีตกาลภูตะนั้นแบ่งออกได้อีก 7 แบบ อดีตกาลแต่ละแบบมีความหมายไม่แตกต่างกันนัก แต่ความนิยมใช้แตกต่างกันไป

               รู้จักเทนส์กันแค่นี้ก่อน ส่วนการใช้เทนส์แต่ละเทนส์นั้นค่อยเรียนรู้กันไปนะครับ 

               อ้าว ลืมบอก คำว่า เทนส์ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ลการ ครับ

คำสำคัญ (Tags): #tense#ลการ
หมายเลขบันทึก: 486966เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

โห อาจารย์คะเห็นแล้วอยากตายคะ อาจารย์เรียนเข้าไปได้ยังไงคะ ฮือๆ ท่านปาณินินี่ก็คิดอะไรออกมายากจริงๆ แต่ก็อย่างว่าภาษาสันสกฤตก็สวยงามไพเราะไม่เหมือนใคร สมเป็นภาษาขององค์พระผู้เป็นเจ้าจริงๆ

ว่าแต่สันสกฤตในยุคพระเวท ต่างกับยุคหลังๆอย่างไรคะ ได้ยินมาว่าสันสกฤตยุคพระเวทจะยากกว่า

มีโอกาสได้เรียนได้ถามกับอาจารย์ก็ต้องบอกว่ารู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะอาจารย์ใจดีด้วย หนูสัมผัสได้ถึงความเมตตาของคำว่าครูจริงๆคะ

แต่อย่างว่าตอนนี้คนเรียนสันสกฤตน้อยจัง เลยไม่ค่อยมีเพื่อนๆให้คอยถาม ลำพังแค่ไวยากรณ์นี่ก็จะหืดขึ้นคอแล้วนะคะ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการออกเสียง ฮ่าๆ

หนูรู้จักรุ่นพี่ท่านหนึ่งเรียนภาษาสันสกฤต รู้สึกจะอยู่ภาควิชาภาษาตะวันออก ศิลปากร แกเล่าให้ฟังว่าตอนเรียน ต้องเข้าเครื่องออกเสียงกันขนาดนั้นเชียว หินน่าดูนะคะอาจารย์หมู อิอิ

อาจารย์คะ แล้วภาษาบาลี ล่ะคะ

Thank you for this excellent "preamble" to Sanskrit tenses. (I am struggling with Pali tenses at the moment).

What is the difference between นมถะ and นมถ? Don't they "sound" the same?

สวัสดีครับ คุณ Ico48 sr

ท่านมองละเอียดมากครับ ;)

ในภาษาสันสกฤตนั้น มีหลักว่า ตัว สฺ หรือ รฺ จะอยู่ท้ายพยางค์ไม่ได้ครับ ต้องเปลี่ยนเป็นเสียงลมหายใจ เช่น มนัส (มนสฺ) หากอยู่ท้ายพยางค์จะเีขียน มนะ (ออกเสียงมะนะหะ) คุรุสฺ เป็น คุรุะ (ออกเสียง คุรุหุ), มุนิสฺ เป็น มุนิะ (ออกเสียง มุนิหิ)

 

นมถะ (namathaḥ) ก็คือ นม เติมเสียง ถะ (รูปเดิมคือ ถสฺ) คำนี้จึงอาจเขียนว่า นมถสฺ ก็ได้ แต่เมื่ออยู่ในประโยค ในตำแหน่งที่เหมาะสมจะกลายเป็น นมถะ

นมถ (namatha) ก็คือ นม เติมเสียง ถ

 

ทีนี้ ในรูปอักษรไทยอาจจะดูสับสนเล็กน้อย เพราะคำที่มี ะ หรือ ไม่มี ะ ก็ออกเสียงอะ เหมือนกัน แต่ในภาษาสันสกฤต คำที่มี ะ จะออกเสียงลมหายใจเพิ่มครับ

ถ้าเข้าใจเทนส์ภาษาบาลี ก็เทียบเคียงกับสันสกฤตได้มากเลยครับ

อาจารย์ Ico48 ภูสุภา ครับ

ภาษาบาลีก็คล้ายกันครับ (เทียบกับสันสกฤตไปเลยนะครับ)

1. ปัจจุบันกาล (บาลีเรียก วัตตมานา)

2. อาชญมาลา (บาลีเรียกว่า ปัญจมี)

3. อาศีรมาลา (บาลีเรียก สัตตมี)

4. อดีตกาลสมบูรณ์ (บาลีเรียก ปโรกขา)

5. อดีตกาลไม่ใช่วันนี้ (บาลีเรียก หิยัตตนี)

6. อดีตกาลวันนี้ (บาลีเรียก อัชชัตตนี)

7. อนาคตกาล (บาลีเรียก ภวิสสันติ)

8. อนาคตกาลแห่งอดีต (บาลีเรียก กาลาติปัตติ) **เข้าใจว่าตรงกับสังเกตมาลา

ป.ล. ผมไม่ค่อยสันทัดภาษาบาลีครับ

สวัสดีครับ คุณ Ico48 คุณ ศรี บรมอีศวรี

ก็คุยกับเพื่อนๆ เหมือนกันว่า ทนเรียนกันได้ยังไง

เรียนก็ยาก งานก็ไม่ค่อยจะมี อิๆๆ

ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่พัฒนาเป็นเวลานาน ก็เลยสะสมอะไรไว้มาก

แต่โชคดีที่เป็นภาษาแบบมีวิภักติปัจจัย ทำให้สืบสาวไปยังต้นตอได้ง่าย

ถ้าเป็นภาษาแบบไทย จีน ลาว แบบนี้ โอกาสจะสืบหาที่มานั้นยากมาก

ท่านปาณินิ เป็นผู้แต่งตำราไวยากรณ์ ไม่ได้สร้างไวยากรณ์ครับ ;)

ท่านไม่ได้กำหนดตายตัวนะครับ มีแบบแผนอื่นๆ ที่เป็นทางเลือก หรือสำเนียงอื่นในตำราของท่านเยอะเหมือนกัน

ภาษาพระเวทเป็นภาษารุ่นเก่า ใกล้ชิดกับภาษาในคัมภีร์อะเวสตะของเปอร์เซียมาก

เนื่องจากพระเวทเป็นคัมภีร์เกี่ยวกับบทสวดและสรรเสริญเทพเจ้า เนื้อหาจึงเป็นไปในแนวนั้น ไวยากรณ์จึงอยู่ในกรอบนั้นๆ แต่ไวยากรณ์มีความเป็นอิสระมากกว่า แต่ก็เข้าใจยากกว่าเพราะมีความหลากหลาย ภาษาสันสกฤตสมัยหลังเข้าใจง่ายกว่า เพราะมีหลักเกณฑ์ชัดเจนกว่า การเรียนสันสกฤตสมัยหลัง (เรียกว่าสันสกฤตแบบแผน) ทำให้เข้าใจภาษาพระเวทมากขึ้น ตำราส่วนมากจึงกำหนดให้เรียนภาษาแบบแผนก่อนภาษาโบราณครับ แล้วก็มีภาษาสันสกฤตผสมอีกกลุ่มหนึ่ง ใช้ในคัมภีร์พุทธศาสนาครับ

การออกเสียงถ้าจะให้แม่นก็ค่อนข้างยากเหมือนกันครับ โดยเฉพาะวรรค ฏ ออกเสียงยาก ลองเปิด youtube หาบทสวดฟังดูนะครับ แต่ผมก็ไม่มั่นใจมากนัก ว่าจะออกเสียงตรงกับสมัยพระเวทหรือเปล่า

การเีรียนสันสกฤตต้องมีสมาธิหน่อยครับ เพราะหลายเรื่องต้องเรียนต่อเนื่อง เนื้อหามาก หากขาดตอนไปก็เป็นอันจบข่าว ;)

 

อาจารย์คะ แล้วใครเป็นคนคิดภาษาสันสกฤตจริงๆ พอทราบไหมคะ ท่านปาณินิ เป็นคนเอามาจัดระเบียบไม่ตามหมายหมายของคำว่าสันสกฤตน่ะเหรอคะ ถ้าไม่ได้ท่าน ภาษามีโอกาสจะเละเทะกว่านี้ไหมคะ

โอ.... อ่านจบแล้วพูดไม่ออกเลยครับ ซับซ้อนมากเลยครับ

คุณศรีฯ ครับ

จะว่าปาณินิท่านจัดระเบียบก็ได้ แต่ไม่ถึงกับปฏิวัติ หรือสังคายนา

เพียงแต่มาทำเป็นตำรา เป็นหมวดหมู่มากกว่า

ภาษานี้มีที่มาจากภาษากลุ่มอินเดีย-ยุโรป ที่สืบสาวได้ยืดยาวไปถึงก่อนพุทธกาลเป็นพันปี แต่ก็เชื่อว่าภาษาสมัยหลังๆ อาจจะประดิดประดอยมากขึ้น เข้าใจว่าภาษาในพระเวทหลักน่าจะมีลักษณะธรรมชาติมากหน่อยครับ

ผมว่าปาณินิไม่ได้สร้างภาษาสันสกฤตใหม่ เพราะเทียบกันแล้ว ภาษาก่อนปาณินิ และหลังปาณินิก็ไม่ได้แตกต่างกันมากครับ

ส่วนชื่อต่างๆ ทางไวยากรณ์ของสันสกฤตนั้นอย่าไปยึดมาก เพราะไม่ค่อยนิยามกันชัดเจนนัก เน้นการใช้มากกว่าครับ

 

อาจารย์ธวัชชัยครับ

โอ๋ย นี่แค่ขยักๆ นะครับ, แหะๆ จะว่าไปก็ซับซ้อนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าเรียนๆ เล่นๆ ไปเดี๋ยวก็ไปได้ครับ ;)

 

สวัสดีคะ รอบนี้มาสามคำคะอาจารย์ อิอิ

Jñāna - gñāna = ชฺญาณ - คฺญาณ คำไหนถูกคะ ต่างกันอย่างไร หนูว่าอันหลังมันแปลกๆ

อันที่สองคือ ต้นไทร vaṭavṛkṣa วฎวฺฤกษ ถูกไหมคะ

ขอบพระคุณคะ

สวัสดีครับ

อ่านว่า ชฺญาน เหมือนกันครับ

ปัจจุบันนิยมใ้ช้แบบนี้ครับ jñāna

ส่วนแบบนี้ gñāna เคยใช้สมัยก่อน รู้สึกว่า g ต้องเป็นตัวเอนด้วย

 

vaṭavṛkṣa วฏวฺฤกฺษ ถูกแล้วครับ (มีจุดที่ ก ด้วย)

vaṭa เฉยๆ ก็ได้

 

อาจารย์คะ คำว่ากาฬ ในภาษาสันสกฤษมีไหมคะ ถ้ามีแล้วแปบว่าอะไรคะ หนูจะหาคำว่าเกียรติมุข ที่เป็นรูปอสูรที่เป็นกาลกินตัวเองอะคะ ตามซุ้มต่างๆของอินเดีย

ขอบคุณคะ

กาฬ สันสกฤตไม่มีครับ (ตัว ฬ มีเฉพาะในภาษารุ่นเก่า อย่างฤคเวทโน่นแน่ะครับ)

กาฬ เป็นภาษาบาลี เทียบกับสันสกฤตก็ กฺฤษณ หรือ กาล แปลว่าสีดำ หรือข้างแรม

รบกวนอาจารย์ใส่ชื่อเทนส์ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษไว้ด้วยได้ไหมค่ะ เพราะหนูจะเอาไปเปิดหาในตำราฝรั่ง

ขอบคุณคะ

ภาษาอังกฤษมีหลายชื่อครับ
1. ปัจจุบันกาล  present tense, present indicative
2. อาชญามาลา  imperative, present imperative
3. อดีตกาลไม่ใช่วันนี้ past tense, present imperfect, imperfect
4. วิธิมาลา potential, optative, present optative
5. อดีตกาลสมบูรณ์ perfect
6. อนาคตกาลธรรมดา  s-future, 1st future (1 และ 2 อา่จสลับกัน แล้วแต่จะเรียก)
7. อนาคตกาลไม่ใช่วันนี้ periphrastic future, 2nd future (1 และ 2 อา่จสลับกัน แล้วแต่จะเรียก)
8. อาศีรมาลา subjunctive, present subjunctive, benedictive
9. อดีตกาลภูตะ aorist
10. สังเกตมาลา conditional

เข้ามาอ่านที่นี่เป็นครั้งแรก ดีใจที่พบแหล่งความรู้ภาษาสันสกฤต ขอบคุณมากๆเลยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท