การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพทีมสนับสนุนงานวิจัย"R2R Facilitator Advance course" รุ่นที่1/2555


Fa ขั้นเทพ "R2R Facilitator Advance course" รุ่นที่1/2555 วันที่ 22 -24 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถ.วิภาวดีรังสิต กทม.

คุณอำนวย ขั้นเทพ

ราวๆ ปลาย ก.พ.55 ผู้เขียนได้รับเมล์จากทีมงาน R2R สวรส. ส่งร่างหลักสูตร R2R Facilitator Advance Course ครั้งที่ 1/2555 มาให้ช่วยแสดงความคิดเห็น ซึ่งหลักสูตรที่แปลเป็นไทยกำกับว่า “Fa ขั้นเทพ” ประกอบด้วยการอบรมครั้งละ 3 วัน รวม 3 ครั้ง ผู้เขียนอ่านแล้วก็ บรื่อ! หนาวจัง ตอนนั้นยังไม่ระบุวัน เวลา สถานที่อบรม กำหนดแต่ช่วงเวลาที่คาดว่าจะจัด ผู้เขียนก็ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นไปเล็กน้อย เพราะที่เขาเขียนมาก็ดูดีอยู่แล้ว จากนั้นก็ตั้งตารอฟังข่าวหลักสูตรที่จะคลอดออกมาใช้จริง

                พอต้นเดือน มี.ค.55 ก็ได้รับแจ้งจากประธานเครือข่าย R2R ภาคใต้ ผ.ศ.(พิเศษ) นพ.ไพโรจน์  บุญลักษศิริ ว่าเครือข่าย R2R ภาคใต้ จะได้รับโควตาเข้าร่วม 1 คน โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการเข้าร่วมอบรม ผู้เขียนก็ไปทาบทามน้องพยาบาลที่เข้ามาช่วยรับดูแลงาน R2R และเครือข่ายปฐมภูมิภาคใต้ หลังจากน้องเขารับแผนการจัดอบรมไปคิดสะระตะอยู่ 2 วัน ก็กลับมาบอกอย่างเกรงใจว่า”ผมคงไม่ไหวช่วงนี้ ยังลูกอ่อน ให้พี่ช่วยไปแทนก่อนได้ไหม” ใครที่เคยมีลูกคงเข้าใจดีกับประโยคข้างต้นที่ว่า ช่วงลูกเล็กการที่ใครสักคนในครอบครัวโดยเฉพาะคนหลักของบ้านไม่อยู่ คนที่เหลือจะโกลาหลกันขนาดไหน ยังหลับตานึกถึงเมื่อยี่สิบปีก่อน ถ้าต้องไปประชุมต่างจังหวัด และค้างคืนผู้เขียนต้องขอตัวช่วย(ช่วยดูลูก)ส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นคุณยาย คุณป้า เพราะฉะนั้น ถ้าประชุมไม่ใหญ่ ไม่สำคัญจริงๆ ก็เลือกที่จะไม่ไป ขณะนั้นพลันคิดได้ผู้เขียนก็เลยตอบน้องพยาบาลไปว่า”ได้ ไม่ต้องกังวลหรอก รอให้ลูกโตหน่อยก็ได้”  แต่ในใจก็ยังคิดว่าจะลองจีบน้องๆที่มากความสามารถคนอื่นไป แบบลงทะเบียนก็ได้ ส่วนโควต้า R2R ภาคใต้อาจต้องหาคนอื่นในเครือข่ายภาคใต้ไปแทน เพราะช่วงนี้ที่ทำงานมีการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง ลำพังทำงานทุกวันไม่หายหน้าไปไหนยังกลับบ้านค่ำทุกวัน ถ้าหายไปครั้งละ 3 วัน 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 2 กับ 3 ก็ยังไม่รู้ว่าจะงานเข้าหรือเปล่า เพราะอนาคตไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ว่าสถานการณ์ในที่ทำงานจะเป็นอย่างไร ทำให้รู้สึก Uncertainty มากเลย

                สุดท้ายถึงกำหนด Dead line ที่ต้องตัดสินใจส่งรายชื่อให้ทีมงาน เมื่อยังหาใครไม่ได้ก็ต้องไปเอง และเพียงชั่วอึดใจก็ได้รับคำตอบ และหนังสือเชิญจาก R2R สวรส. โดยในหนังสือเชิญระบุว่าต้องทำหน้าที่พี่เลี้ยงกลุ่ม ซึ่งมีรายละเอียดแผนงานกิจกรรมมาให้ศึกษา ดูแล้วก็แอบกังวลเล็กๆต้องเตรียมตัวเองล่วงหน้า เพราะคนที่มาคงไม่ธรรมดา ทุกคนตั้งใจจะมาเข้าอบรมเป็น”Fa ขั้นเทพ” ทั้งนั้น ผู้จัดก็ควรต้องทำให้ดีที่สุด อย่างแรกที่ต้องทำคือ จองตั๋วเครื่องบิน และแจ้งใบตอบกลับ ส่งให้ผู้จัด ขออนุมัติเดินทางจากผู้บังคับบัญชา จนหลังเลิกงานวันที่ 21 มีนาคม 2555 ก็ได้เหินฟ้ามาเหยียบสนามบินดอนเมือง ซึ่งเพิ่งเปิดบริการ แค่ 2 สัปดาห์ หลังปิดเนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ กทม.ปลายปี 2554 โดยย้ายมาเปิดทำการที่อาคาร 1 ซึ่งเดิมเคยเป็นอาคารระหว่างประเทศ พอออกจากเครื่องเข้าอาคารก็เจอกับอากาศเย็นมาก จากเครื่องปรับอากาศ คงเป็นเพราะผู้ใช้บริการมีน้อย แต่เดิมอาคารออกแบบไว้สำหรับผู้คนจำนวนมากกว่านี้หลายเท่า พอออกจากสนามบินดอนเมืองก็เรียกรถแท็กซี่ไปยังสถานที่ประชุม โรงแรมรามาการ์เด้น ถ.วิภาวดีรังสิต กทม. โรงแรมอยู่ฝั่งเดียวกับสนามบินห่างออกไป แค่ช่วงข้ามแยกหลักสี่ ถัดจากสโมสรกรมตำรวจ ก็ถึงแล้ว ค่ารถไม่ถึงร้อยบาท ทั้งที่รวมค่าธรรมเนียมรถแท็กซี่สนามบิน 50 บาท ถึงโรงแรมเข้าเช็คอิน แล้วแจ้งผู้จัดว่ามาถึงแล้ว คืนนั้นก็นอนรอการประชุมวันรุ่งขึ้น ผู้เขียนอยู่ไกล ถ้ามาเครื่องบินเที่ยวแรกที่ออกจากหาดใหญ่ มาถึง กทม. ก็ในราวๆ 10.30 น.ถ้าเครื่องไม่ Delay ก็พอดีเพื่อนๆประชุมจบไปแล้ว สำหรับช่วงแรก ซึ่งมักเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจทิศทางของวันต่อๆไป นี่คือเหตุผลที่ทำให้ ต้องมาก่อนวันประชุม

                22 มีนาคม 2555 ตื่นแต่เช้าเตรียมเอกสารที่จะเข้าประชุม ทานอาหารเช้าเสร็จเดินไปห้องประชุม เจอ อ.ไพโรจน์ ก่อนถึงหน้าห้องประชุม นั่งเสวนากันเรื่อง การจัดงาน รอเวลา เซ็นชื่อลงทะเบียนเข้าประชุมรับป้ายชื่อ เอกสารการประชุมก็ได้ทราบว่า ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงกลุ่ม 4 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน จาก 7 แห่ง พอเอาเอกสารขึ้นมาดูมีปากกามาให้ด้วย ยกปากกาขึ้นมาเห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า”ไอหย่าซ์ยกกำลัง2”(I-YA Z²) นี่ขนาดแค่ปากกานะ ยังไม่ได้เข้าประชุมเลย

                พอเข้าในกลุ่มทักทายคนที่นั่งอยู่เดิมแล้วลงนั่ง สมาชิกกลุ่มก็เริ่มทำหน้าที่ หาชื่อเพื่อจะตรวจสอบรายชื่อทันที โดยที่ผู้เขียนไม่ทราบว่าเข้าไม่ได้ใส่ชื่อพี่เลี้ยงไว้ในรายชื่อแบ่งกลุ่ม สมาชิกกลัวผู้เขียนจะนั่งผิดกลุ่ม รีบบอกทันทีว่า”ไม่มีรายชื่อ มาแทนใครครับ?” (พอดีตอนเข้าไปสมาชิกยังมาไม่ครบขาดอีก 3 คน เป็นชาย 2 หญิง 1) ผู้เขียนก็ยัง งงๆ กับคำถาม พอคิดขึ้นได้รีบตอบว่า”  อ่อ! ไม่ได้มาแทนใครค่ะ เป็นพี่เลี้ยงกลุ่ม”  ก็เลยสามารถนั่งอยู่ต่อได้  ก่อนอื่นผู้เขียน ขอแนะนำสมาชิกในกลุ่ม 4 ให้ผู้อ่านรู้จักหน่อยนะค่ะ คนที่ 1 คุณหว่อง เป็นสาวมั่นจาก รพ.พระนครศรีอยุธยา คนที่ 2 คุณอุ้มบุญ blogerมือโปรจาก รพ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร คนที่ 3 คุณจ้อย คนมีไฟจากสุพรรณ คนที่ 4 คุณทิพย์ บรรณารักษ์สาวจากศรีราชา และอีก 3 หนุ่ม 3 ทิศ คุณไพรัช จากพะเยา คุณเอก จากนครนายก และสุดท้ายคุณป่อง จาก สสจ.นนทบุรี เมื่อรู้จักกันแล้วก็เริ่มสู่บรรยากาศ การอบรม Fa ขั้นเทพกันเลยนะคะ

                หลังจากพิธีกรโดยคุณสุวรรณา จากทีมR2R สวรส. พูดคุยข้อตกลงทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรการอบรมครั้งที่1ทั้ง 3 วัน รศ.นพ.เชิดชัย  นพมณีจำรัสเลิศ และผศ.นพ.อัครินทร์  นิมมานนิตย์ คู่วิทยากรดูโอ ได้สลับกันดำเนินการประชุมรับส่งลูกกันตลอดเวลา และได้เชิญอาจารย์นพ.สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้ทำพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “คุณอำนวย  ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2R” อาจารย์สมศักดิ์ ท่านได้ชวนให้คนที่จะพัฒนาตนเป็น Fa ใน  5 x 5 ประเด็นดังนี้

  1. เหตุผลที่ทำไมต้องมีคุณอำนวย

1.1  บทเรียนที่ผ่านมาสอนเราว่าการให้ความรู้อย่างเดียวไม่พอ เพราะมีจำนวนมากที่อบรมแล้ว นอกจากจะไม่กลับไปทำวิจัย แล้ว ยังกลายเป็นกลัวการวิจัยไปเลยก็มี

1.2  ปัจจุบันเรื่องทุนไม่ใช่ปัญหา ทำนองว่าการได้ทุนกลับกลายเป็นทุกขลาภ แต่ปัญหากลับอยู่ที่คนมากกว่าเงินทุนทำวิจัย

1.3  เรื่องกำลังใจ และสิ่งแวดล้อมบรรยากาศในการทำการวิจัย(encourage and enabliry) คุณอำนวยต้องนอกจากคอยยุให้คนทำวิจัยแล้ว ยังต้องสร้างตัวช่วยทุกวิธีทางที่จะทำให้งานวิจัยเพิ่มขึ้น และเมื่อสามารถเริ่มทำงานวิจัยได้แล้ว ก็ต้องทำอย่างไรให้งานวิจัยสำเร็จลุล่วงถึงจุดหมายให้ได้

1.4  การเป็นที่ปรึกษา(ทุกเรื่อง)สำคัญมาก Fa ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องแต่สามารถเชื่อมคนที่รู้กับคนที่ต้องการคำปรึกษาให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันได้ ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ต่อกัน

1.5  การวิจัยทำแล้วต้องเอาไปใช้ได้ต้องทำให้งานดีขึ้น เบาขึ้น ไม่ใช่ทำวิจัยแล้วงานยิ่งหนักขึ้น ยุ่งขึ้นก็ผิดทางแล้วไม่ไช่R2R

  1. คุณอำนวยเป็นใคร

2.1   ผู้บริหารหน่วยงาน (ย่อย,ใหญ่)

2.2   ผู้มีความรู้ทางเทคนิค (Technical mentors)

2.3   ผู้จัดการหน่วยในองค์กร (R2R management)

2.4   ทีมงานในหน่วยจัดการ (R2R Facilitator team)

2.5   ผู้จัดการระดับ node และ ระดับประเทศ (nodal and national facilitator)

 

  1. บทบาท&กลุ่มคุณอำนวย

3.1  รุกสร้างเครือข่าย (ไม่ทำอยู่คนเดียว ไม่ทำแบบตั้งรับ รุกหาลูกค้า สร้างกระแสพร้อมมองหาคนที่มี demand / capacity แต่ยังรอคนมาเชื่อม / ช่วย)

3.2   สร้างการสนับสนุนระดับนโยบาย (Policy support)

3.3   สร้างการเรียนรู้ต่อเนื่อง (continuous learning)

3.4   สร้างคุณค่าของผลงาน (research utilization)

3.5  ให้ความรู้เทคนิค (technical)  หาทรัพยากรให้ (Financial)  ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์แต่ให้  เริ่มจากคนที่มีเชื้ออยู่ก่อนแล้ว  g]nvdd]6j,muj,uFvdkl0tmelegiH0wfh’jkpl6f-7ho,kmedjvo

  1. วิธีการทำงาน 5 ช. กับ customer centric

4.1   เชียร์ (benefits of R2R possibility mass vs individual communication)

4.2   ชี้ strategic starting points ,partners ,opportunities (entry point direction focus)

4.3   ช่วย whatever lacking to teach the goal (technical ,political ,financial ,marketing ,utility etc)

4.4   ชม to encourage &  continuous R2R and continue good practical

4.5  เชื่อมใจ to create broader enabling environment (to enhance learning recognition opportunity expand supportive partner) ให้ได้รู้สึกมีคุณค่า ให้รู้สึกว่างานวิจัยไม่ยากหรอก เพราะจะมีคนช่วย

  1. ขยายพัฒนาคุณอำนวย

5.1   สร้างกลไกในระบบ อำนวยสนับสนุน HRD

5.2   สร้างเครือข่ายการสื่อสารระหว่างคุณอำนวยเพื่อสร้างการเรียนรู้ผ่านการทำงาน

5.3   มองหาคนใหม่ๆ มาทำงาน(คนเชื่อมหายาก ไม่ค่อยมีใครอยากทำหน้าที่)

5.4   สร้างการรับรู้ของสังคมถึงคุณค่าของการทำงาน R2R และความสำคัญของการอำนวย / จัดการ

5.5   รวมตัวกันเป็นเครือข่าย (Beyond โครงการ สวรส.) business model ที่จะทำให้อยู่ได้

หลังจากฟัง อ.สมศักดิ์แล้วก็เริ่มเห็นแววตามีพลังของสมาชิกในกลุ่ม อยากจะบอกว่า อ.สมศักดิ์เป็น Model ของ Fa ขั้นเทพระดับชาติจริงๆทุกครั้งที่ฟังก็เกิดความหึกเหิมเห็นคุณค่าคล้อยตามที่อาจารย์พูดขึ้นมาทันทีเหมือนจะเก็บเอกสารลงกระเป๋ากลับที่ทำงานไปเริ่มทำวิจัยซะเดี่ยวนั้นเลย สำหรับ section ต่อไปก็มันส์ไม่แพ้กัน

ถ้าพูดถึงอาจารย์นพ.อนุวัฒน์  ศุภชุติกุล คิดว่าในวงการโรงพยาบาลแล้ว คงหาน้อยคนที่จะไม่รู้จักยิ่งถ้าบอกตำแหน่งว่า ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล รับรอง 100 ทั้ง 100 ต้องร้อง อ๋อ วันนี้อาจารย์มาพูดเรื่อง”การวิเคราะห์องค์กร / หน่วยงาน / เครื่องมือคุณภาพที่จำเป็น” วันนี้อาจารย์นำ Model 3P มานำเสนอ                                     

 Plan / design          Study/ lean

    Purpose                Process                                                

                                                                Performance

                                       Activity / improve

            R2R  กับความเป็น Learning organization ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  รองคณบดีและผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อาจารย์มีภารกิจต้องไปเปิดงานที่ชลบุรีแล้วยังรีบกลับมาเป็นวิทยกรบรรยายต่อที่งาน”Fa ขั้นเทพ” ระยะทางไม่ใช่ใกล้ๆ นับเป็นโอกาสที่สุดแสนโชคดีของผู้เข้าอบรม อาจารย์ท่านสามารถสอนแบบไม่ต้องสอน เพราะอาจารย์เล่าการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำ ซึ่งเป็น R2R ตลอดเวลา อาจารย์สามารถพูดให้เราเห็นการ integradให้เป็นเนื้อเดียวกับการปฏิบัติงานได้อย่างน่าทึ่ง อาจารย์วิเคราะห์กลไกการเกิด ทำ R2R ที่เกิดจากการแก้ปัญหาของลูกชายอาจารย์ ซึ่งยังเรียนอยู่ระดับประถมศึกษาแท้ๆ  ทำให้ทุกคนเห็นภาพเลยว่า R2R ใครๆก็ทำได้  อาจารย์ได้กรุณายกตัวอย่างที่ ลูกชายได้เล่าว่าเพื่อนที่โรงเรียนคุยกันว่า  การกินปลาเส้นซองสำเร็จรูปให้อร่อยยิ่งขึ้นต้องเอาไปอบในไมโครเวฟก่อน จะทำให้หอมกรอบอร่อยยิ่งขึ้น จึงเอาปัญหานี้มาปรึกษาอาจารย์ว่าจะทำอย่างไร อาจารย์ตอบลูว่า”พ่อไม่รู้”  และทำบทบาทคุณอำนวยโดย ยุลูก  “ลูกลองทำดูซิ ได้ผลยังไงแล้วมาบอกพ่อ” ผลการ ครั้งที่ 1 แกะเอาปลาเส้นใส่เข้าไปเวฟทั้งห่อ ผลปรากฏว่า ไหม้ทั้งห่อ เลยอดกิน อาจารย์ก็มาชวนให้ลูกคิดว่ามันน่าจะต้องปรับปรุงตรงไหน  เมื่อน้องทบทวนขั้นตอนการทำแล้ว ก็สรุปได้ด้วยตนเองว่าน่าจะใช้เวลามากไป ควรใช้เวลาน้อยลง (บทเรียนที่ 1 ) จึงทดลองครั้งที่ 2 ทีนี้มีบทเรียนว่า ไม่ควรใส่มาก เพราะถ้าเสียมันจะเสียทั้งหมด เลยแบ่งไปทดลองเพียงบางส่วน (บทเรียนที่ 2) หลังจากลดเวลาแล้วก็ยังไหม้  ก็มานั่งวิเคราะห์ว่า ลดเวลาแล้วก็จริงแต่ก็ลดจำนวนของปลาเส้นลงด้วย  แสดงว่า ควรต้องลดระดับการตั้งค่าความร้อน และเวลาลง ทำซ้ำอีกจนหมดวัตถุที่มีอยู่ก็ยังไม่ได้ลิ้มรสปลาเส้นที่ลือว่าอร่อยซักที น้องก็เลยโทรไปปรึกษาเพื่อนโดยคิดเองไม่ได้รับการชี้นำ (บทเรียนที่ 3) นี่ก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีใครบอก เมื่อได้ข้อมูลจากเพื่อนก็มาทดลองใหม่ตามที่เพื่อนบอก ก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ น้องก็สงสัยว่า ทำเหมือนที่เพื่อนบอกทุกอย่างแต่ทำไมได้ผลไม่เหมือนกับที่เพื่อนบอก น้องก็ตั้งข้อสังเกตเองว่า ไมโครเวฟที่บ้านกับของเพื่อนมันเหมือนหรือต่างกันหรืออย่างไร จึงให้ผลไม่เหมือนกัน (บทเรียนที่ 4) เขาก็ดูเครื่องของที่บ้านแล้วโทรไปถามเพื่อน แต่เพื่อนไม่สามารถบอกขนาดหรือคุณลักษณะของเครื่องได้ เมื่อเปรียบเทียบกันไม่ได้ เขาก็มาเริ่มทดลองใหม่ และจดบันทึกทำไปเรื่อยๆ จนได้ปลาเส้นที่หอมกรอบนุ่มลิ้นอร่อย จึงได้สูตรเฉพาะตัวที่ใช้กับไมโครเวฟเครื่องเฉพาะของตนเอง และทุกครั้งที่ใช้ตามสูตรที่ได้นี้ ก็จะได้ปลาเส้นที่เป็นที่ต้องการจนเชี่ยวชาญ นี่เป็นตัวอย่าง R2R ที่สุดยอด ใครฟังก็รู้สึกอยากทำ R2R ขึ้นมาในบัดดล

                นี่ไงคะเสน่ห์ของR2R คุณผู้อ่านที่ยังไม่มาร่วมอบรมกับเราคงอยู่เฉยไม่ได้แล้ว  รุ่นต่อไปรีบกรอกใบสมัครมาอบรมเป็นFa กับเรานะคะรับรองติดใจแน่ๆคะ

                                                                                                                                                                   

                                                            เจอกันฉบับหน้า(ถ้ามี)

                                                                                                                                                           

                                                                อมรรัตน์  ลิ่มเฮง

หมายเลขบันทึก: 486706เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท