ยกย่องโรงเรียนที่เป็นตัวอย่างด้านการชวนเชิญองค์กรในชุมชนเข้าร่วมจัดการศึกษา


 

          วันที่ ๒๖ - ๒๗ มี.ค. ๕๕ มีการสัมมนาวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนเพื่อสุขภาวะคนไทย”ที่ ม. ธุรกิจบัณฑิตย์   มีโรงเรียนจำนวนหนึ่งได้รับยกย่อง ด้านการชวนเชิญองค์กรในชุมชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษา    ผมจึงนำมาเผยแพร่ต่อ

 

โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกและยกย่อง
ในโครงการนำร่องการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชน
เพื่อสุขภาวะคนไทยระดับประเทศ

 

 

โรงเรียนนาทรายวิทยาคม

          โรงเรียนนาทรายวิทยาคม ตั้งอยู่เลขที่ ๒๑๙ หมู่ ๑๖ ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน  ปัจจุบัน ดร. ยงยุทธ ยะบุญธง เป็นผู้บริหารเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) มีครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสิ้น ๔๓  คน นักเรียนจำนวน ๔๗๐ คน หลักการสำคัญในการบริหารและจัดการศึกษาคือ เป็นโรงเรียนท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น เพื่อคนท้องถิ่น พัฒนานักเรียนให้เป็นคนดี มีอาชีพจึงสอดคล้องกับหลักการสำคัญของโครงการ ฯ ที่เน้นการจัดการศึกษาโดยยึดผู้เรียนในชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ที่มีการจัดทำสาระหลักสูตรสถานศึกษาที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น สื่อการเรียนรู้ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

          ในการดำเนินงานโครงการ ปศท. ๒ โรงเรียนใช้หลักการมีส่วนร่วมขององค์กรในท้องถิ่นมากกว่า๕ องค์กร เข้ามาร่วมคิดวางแผนการดำเนินงาน ร่วมทำกิจกรรม ตลอดจนร่วมรับผลตอบแทนความสำเร็จจากการดำเนินงาน โดยบูรณาการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ทั้งในด้านการอ่านเขียน  สุขภาพอนามัย การมีงานทำ การหารายได้ระหว่างเรียน การดำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรมประเพณีอันดีงาม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น  ภาพของพ่อแม่ผู้ปกครอง ภูมิปัญญา และผู้อาวุโสของท้องถิ่น เข้ามาทำกิจกรรมทางการศึกษา และช่วยดูแลอาคารสถานที่ เป็นกิจวัตร ที่ตระหนักในคุณค่าของสถานศึกษาท้องถิ่น เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจ ที่หาได้ยากยิ่งในสถานศึกษาอื่นๆ เป็นภาพประทับใจของผู้พบเห็นยิ่งนัก

          จากผลการบริหารจัดการของโรงเรียนที่เชื่อมประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังกล่าวส่งผลให้การขับเคลื่อนโครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย อย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนและชุมชนได้เป็นอย่างดีจนสามารถขยายเครือข่ายและช่วยเหลือเกื้อกูลทางวิชาการแก่โรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่บริการเครือข่าย ๗ โรงเรียน จึงเชื่อมั่นว่าโรงเรียนนาทรายวิทยาคมจะเป็นองค์กรหลักสำคัญในการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนเพื่อสุขภาวะคนไทยได้อย่างยั่งยืน

 

โรงเรียนภูดินแดงวิทยา

          โรงเรียนภูดินแดงวิทยา ตั้งอยู่ ณ ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาระดับตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ปัจจุบัน นางสาวโสภา ทวีพันธ์เป็นผู้บริหาร มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาในท้องถิ่นที่วาดหวังมาอย่างยาวนาน เมื่อมีโอกาส จึงได้เข้าร่วมโครงการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนเพื่อสุขภาวะคนไทย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ด้วยพลังของครู บุคลากร คนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยทำงานด้วยความกระตือรือร้น เพื่อสานฝันการทำงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

          จากโรงเรียนที่มีนักเรียนเพียง ๓๐๐ กว่าคน เมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมา พัฒนาเป็น ๘๐๐ กว่าคนในปัจจุบัน แสดงถึงศักยภาพและพลังเพียงพอที่หมุนกงล้อความตั้งใจให้ประสบผลสำเร็จ  โรงเรียนได้ร่วมมือกับองค์กรในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นเสาะแสวงหาองค์ความรู้ที่ฝังอยู่ในชุมชนมาช้านาน เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีการละเล่นพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมือง การทอผ้า การส่งเสริมอาชีพชุมชน มาจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ๘ หลักสูตรพร้อมเอกสารและสื่อประกอบการเรียนทุกรายวิชา ที่โดดเด่น และบูรณาการเข้าเป็นคาบการเรียนปกติของนักเรียนในทุกระดับชั้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการเรียนรู้ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในแต่ละภาคเรียน สูงขึ้นตามลำดับ

          ที่สำคัญ การให้ความรู้ มิหยุดอยู่เฉพาะภายในโรงเรียน แต่โรงเรียนภูดินแดงวิทยายังได้จัดศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นและชุมชนขึ้นเพื่อให้บริการชุมชนและโรงเรียนในเครือข่ายอีก  ๖ โรงเรียน และนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสถิติการศึกษาดูงานของโรงเรียนที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนถึงความมุ่งมั่น ร่วมกันพัฒนาการจัดการศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง ของครู บุคลากรที่เกิดจากการมีส่วนร่วมขององค์กรในชุมชนตามหลักคิดและกระบวนการดำเนินงานของโครงการอย่างแท้จริง ที่คาดได้ว่าจะได้รับการสานต่อและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในวันข้างหน้า อย่างยั่งยืนสืบไป

             โปรดสังเกตว่า โรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนในสังกัด อบจ.   และ อ. พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมทางการศึกษา  วิทยาลัยครุศาสตร์  ม. ธุรกิจบัณฑิตย์  บอกผมว่า ผู้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนทั้สองบอกว่า ผลการสอบ NT ของนักเรียนของโรงเรียนทั้งสองสูงขึ้นชัดเจน หลังจากทางโรงเรียนชักชวนฝ่ายต่างๆ ในชุมชนเข้าร่วมกันส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน  

            ผมได้เรียน อ. พิณสุดาว่า ผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาต้องดูที่ Learning Outcome   การมีหลักฐานว่า Learning Outcome ของโรงเรียนทั้งสองดีขึ้น จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดี   และผมใคร่ขอให้โรงเรียนทั้งสองดำเนินการ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาแนวทางของ 21st Century Learning เอามาประยุกต์ด้วย

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 486703เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท