ผญา : ปรัชญาคนอีสาน


ผญา

คำว่าผะหญา หรือจะเขียน (ผญา) ก็ได้ คือคำพูดที่ซ่อนคำคม อมความหมาย ให้ข้อคิดเป็นคติเตือนใจ มีความหมายแฝงอยู่ในคำ มีความหลักแหลม ลึกซึ้งกินใจ มีลักษณะเป็นคำพูดที่เป็นภาษิต ในเชิงเปรียบเทียบ คนที่จะพูดคำผะหญาได้จะต้องมีประสบการณ์เป็นผู้คงแก่เรียน สมัยก่อนเรียกว่าผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านมาแล้ว ที่มีความสนใจใฝ่รู้ เป็นคนช่างพูดช่างเจรจา มีปัญญาไหวพริบ ปฏิภาณดี

ผะหญามีลักษณะเป็นคำโคลง คำกลอน หรือคำคล้องจอง สั้นๆที่ฉุกคิดหรือเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่พบเห็น แล้วนำมาผูกเป็นผะหญา เช่น เห็นผักอีตู๋(แมงรัก) ก็ผูกว่า “เจ้าผู้ผักอีตู๋เตี้ยต้นต่ำใบดก  กกบ่ทันฝังแน่น สังมาจีจูมดอก ฮากบ่ทันหยั่งพื้น สังมาปี้นป่งใบ” หรือการเป็นฝูงหงษ์ก็นำมาผูกว่า “เจ้าผู้หงส์คำผ่าย เวหาเหินเมฆ กาดำขอเหนี่ยวน้อม นำก้นว่าจั่งใด” มองเห็นฝูงช้างก็นำมาผูกว่า “เจ้าผู้แนวนามช้างสัตว์สูงบ่ห่อนต่ำ บ่คือเชื้อไก่กุ้มหางสั่นๆ บ่ห่อนยาว”  เป็นต้น นอกจากนี้ ผะหญายังพบในวรรณกรรมอีสานเป็นส่วนใหญ่ เช่นในเรื่องนกจอกน้อยตอนหนึ่งว่า “ หรือว่าแม่เจ้าป้อนสี้นแข่ คางกะแตปากบ่ลั่น หรือว่ากินไข่ฮี้นแข็งลิ้น ปากบ่เป็น”(นกจอกน้อย : มจร.อุบลราชธานี ; ๒๕๔๔) และวรรณกรรมอีสานจำนวน    ๙๙ เรื่อง ที่เรียงลำดับตามตัวอักษร ตั้งแต่ ก่องเข้าน้อยฆ่าแม่ กาฬเกษ กาพย์ปู่สอนหลาน จนถึงฮีต สิบสองคลองสิบสี่ ล้วนแต่มีคำผะหญาแฝงไว้ในเนื้อเรื่องทั้งสิ้น (กรมศิลปากร,ตำนานและนิทานพื้นบ้านอีสาน:๒๕๓๑) ซึ่งเป็นการยกคำอุปมาว่ากล่าว เสียดสี หรือเปรียบเปรย ในการแสดงความรักต่อกันของหนุ่มสาว เรื่องราวต่างๆ ซึ่งในยุคแรกๆ เข้าใจว่าจะเป็นการใช้ภาษาพูดต่อกันแบบมุขะปาฐะ มากกว่าการเขียน

ผะหญาที่เป็นสำนวนคำพูดมี ๓ ลักษณะ คือ ๑)ผะหญาก้อม ซึ่งเป็นคำคมสุภาษิตสั้นๆ กะทัดรัดได้ใจความ เน้นให้ข้อคิด คติ เตือนใจ  ๒)ผะหญาเกี้ยว  มีลักษณะการพูดเป็นเครือเป็นการโต้ตอบกันและกันของหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่ ๓)ผะหญาอวยพร เป็นบทอวยพรสั้นๆที่สอดคล้องกัน ฟังแล้วไพเราะเป็นที่พึงพอใจของผู้ฟังยังความภูมิใจแก่ผู้ให้ (จารุวรรณ ธรรมวัตร : คติชาวบ้านอีสาน ; ๒๕๒๒)

ลักษณะการเปรียบเช่น  “บ้านอ้ายนั่น ดินดำน้ำซุ่ม ปลากุมบ้อน คือแข้แกงหาง  ปลานางบ้อน คือขางฟ้าลั่น  จักจั่นฮ้อง คือฆ้องลั่นยาม” ลักษณะการทำงานให้มีขั้นตอนเช่น “หมกปลาแดกให้มีครู กี่กะปูให้มีวาด” การบอกลูกสอนหลานให้หมั่นศึกษาเล่าเรียน เช่น “คันบ่อออกจากบ้าน บ่ฮู้ฮ่อมทางเทียว คันบ่ไปฮ่ำเฮียนสังสิมาความฮู้” นอกจากนี้ก็มีการเตือนใจเมื่อได้เป็นใหญ่เป็นโต เช่น “คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพญา  อย่าสุลืมชาวนาผู้ขี่ควายคอนกล้า”

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯอุบล
หมายเลขบันทึก: 485403เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2012 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คิดถึงจึงมาเยี่ยม
ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน
ยังอยู่บนที่นอน
คิดถึงก่อนจะตื่นเอย

สวัสดีครับ อ.สุพิมล อ่านผญาแล้วทำให้คิดฮอดบ้านในวัยอันล่วงเลยมาครับ

อนุโมทนาอุบาสด ผศ.สุพิมล ชอบงานแนวพื้นบ้านแบบนี้ จะรออ่านงานชิ้นต่อไปน่ะ

เจริญพร

เอางานมาฝากน่ะ

พระพุทธศาสนา: ศาสนาแห่งทุกข์นิยม??? http://www.gotoknow.org/blogs/posts/485331

htเพียงมุ่งมั่นต่อความฝัน... พลันทองคำจักปรากฎ!!!! tp://www.gotoknow.org/blogs/posts/485400

เรียน อาจารย์ครับ...เป็นคนอีสานห่วงจังครับว่า ผญา...จะหายไปกับโลกในไม่ช้าครับ

เหมือนเคยได้ยินว่า สอยๆๆ...ขึ้นต้นใช่ไหมครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท