แทบเล็ต


แทบเล็ตจะช่วยให้เด็กไทยอ่านหนังสือมากขึ้นหรือไม่

        แทบเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ ครม. เพิ่งมีมติให้เพิ่มจำนวนจาก ๘.๕ แสน เป็น ๑ ล้านเครื่องนั้น กำลังเป็นโจทย์ใหม่สำหรับอะไรอีกบางอย่าง  เช่น  เนื้อหาสาระ (contents) ที่จะบรรจุลงในเครื่อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นเรื่องการศึกษาโดยตรง  เรื่องนี้ทำให้ อีบุค กลายเป็นประเด็นอภิปรายของนักการศึกษาและผู้ที่ใช้กระดาษผลิตหนังสือต่างๆ ว่า อีบุค จะเข้ามาแทนที่หนังสือได้มากน้อยเพียงใด และเมื่อใด

        อีกเรื่องหนึ่งที่คนจำนวนไม่น้อยยังสงสัยอยู่ก็คือ แทบเล็ตจะช่วยให้เด็กไทยอ่านหนังสือมากกว่าเดิมหรือไม่ และรู้จักสืบค้นหาความรู้ให้เพียงพอก่อนจะตอบคำถามส่งครูได้จริงหรือไม่  และผู้ปกครองจะมีส่วนช่วยให้เด็กๆ เรียนด้วยการทำงานเองได้มากขึ้นจริงหรือไม่

        ที่สำคัญยิ่งไปกว่าสองประเด็นข้างต้นนี้ คือ ครูที่มีอยู่จะสามารถรับมือกับเนื้อหาสาระที่หลากหลายและลูกเล่นใหม่ๆที่มีมากับเทคโนโลยีรุ่นลูกรุ่นหลานได้หรือไม่  และบางกรณีถามตรงๆแบบไม่เกรงใจก็ยังได้ว่า “ครูจะทันเด็กหรือเปล่า”  (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก ม.หนึ่ง)

        อย่างไรก็ตาม พ่อแม่บางรายยังเหมือนกับจะไม่ค่อยวิตกกับเรื่องอย่างย่อหน้าข้างบนนี้  แต่วิตกกับภาระในการเป็นเจ้าของแทบเล็ตมากกว่า  เนื่องจากแทบเล็ตเป็นของที่รัฐบาลมอบให้เป็นสมบัติส่วนตัว  ดังนั้น การดูแลรักษา อัพเดท และซ่อมบำรุงจึงอาจจะเป็นเรื่องที่เจ้าของต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด  กระบวนการหลังนี้ คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหลายทราบดีว่าเป็นอย่างไร  ยิ่งเป็นของราคาถูกเพราะมีสมรรถนะจำกัดยิ่งเห็นชัดว่า รายจ่ายจะทยอยมาเล่นงานทีละน้อยแบบไม่ค่อยรู้สึก (ดังอุปมาของชาวเหนือที่ว่าเหมือน ตองกล้วยบาดมือ) แต่ยาวนานทั้งปี

       นโยบายประชานิยมที่ทุกพรรคการเมืองใช้หาเสียงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีส่วนฝึกให้คนไทยจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้ที่คอยแต่จะพึ่งพาผู้อื่นหรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากขึ้น  ถ้าคนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ที่เพิ่งจบปริญญาตรีมาทำงานใหม่  ไม่ใช่แรงงาน และไม่มีผลผลิตทางเกษตรไปจำนำ  เขาจะคิดอย่างไร ถ้าไม่คิดว่า มีคนอาสาจูงมือเขาไปส่ง แต่ส่งไม่สุดทางก็ปล่อยมือ  นี่คือข้อวิตกของผู้ปกครองบางรายซึ่งหวั่นว่า วันหนึ่ง แทบเล็ต อาจทำให้เขาน้ำตาแทบเล็ด ก็ได้

      ถ้ากระทรวงศึกษาธิการรับเป็นธุระเรื่องการหาซอฟต์แวร์มาให้โหลดฟรีตลอดจนการช่วยออกค่าดูแลรักษาด้วย  เชื่อว่าจะได้รับอนุโมทนาสาธุและคำแซ่ซ้องสรรเสริญแน่นอน  ข้อกล่าวหาว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้าคงจะเบาลง  แต่ที่แน่ๆ ทางฝ่ายผู้ที่จะได้สัมปทานเปิดศูนย์จำหน่ายซอฟต์แวร์  ศูนย์บริการซ่อมบำรุงพร้อมอะไหล่และช่างเพื่อรับมือกับแทบเล็ตที่จะต้องชำรุดอย่างแน่นอนจำนวนมากนั้น  เขาได้เตรียมลูกคิดหรือเครื่องคิดเลขไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว  และกระทรวงศึกษาธิการจะมีส่วนกับเรื่องนี้ในสถานะใด  บรรดาพ่อแม่ทั้งหลายคงไม่อยากกระพริบตา

       

หมายเลขบันทึก: 485344เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2012 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ผมอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีกับการศึกษาครับ ผมเห็นว่าแทบเล็ตนี้เป็นอุปกรณ์การศึกษาที่อย่างไรก็ต้องมาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอนครับ เป็น paradigm shift เหมือนสมุดมาแทนที่กระดานชนวนครับ

อย่างไรก็ตามผมไม่เห็นด้วยกับการเร่งแจกแทบเล็ตครับ เพราะ paradigm shift นั้นไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ชิ้นเดียว แต่อยู่ที่ "ระบบนิเวศน์" ของเครื่องมือนั้นๆ ครับ ในระบบนิเวศน์ที่เราอาจจะใช้คำเรียกว่า "แทบเล็ต" นั้น อุปกรณ์ที่จะไปอยู่ในมือเด็กเป็นเพียงแค่เครื่องมือปลายน้ำเท่านั้นเองครับ

การเอาอุปกรณ์ไปให้เด็กโดยไม่ได้พัฒนาระบบนิเวศน์ในภาพรวมขึ้นมาพร้อมๆ กันนั้นไม่มีประโยชน์แน่ๆ ครับ

  • คุณมะเดื่อขอแสดงความคิดเห็นบ้างนะจ๊ะ
  • การจะหยิบยื่น " แทบเล็ต" ให้กับนักเรียนนั้น ถ้าเป็นนักเรียนระดับมัธยมจะดีเยี่ยมเลยจ้ะ  เพราะการศึกษาระดับนั้นจะต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาปกติของยุคปัจจุบัน
  • แต่....การจะให้กับ เด็ก ป.1 นั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพราะเด็ก ป.1,ป.2,ป.3  เป็นชั้นที่เด็กจ้ะต้องฝึกทักษะการอ่าน และการเขียน  หากครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้แทบเล็ต ...ก็เป็นห่วงว่า เด็กจะเขียนหนังสือไม่เป็น แต่การอ่านก็คงจะพอไหว ( แต่ ก็ไม่แน่ใจนัก )
  • แต่ก็นั่นแหละ  การจัดกิจกรรมการสอน โดยเฉพาะชั้น ป.1 - ป.3 อาจจะต้องวุ่นวายกับการปรับเปลี่ยนกิจกรรม  แบบ 50/50 คือ สอนแบบอ่าน/เขียนอย่างทุกวันนี้ ครึ่งวัน  อีกครึ่งวันก็ใช้แทบเล็ต  มิฉะนั้น ถึงกาลอวสานหนังสือไทยแน่ ๆ
  • เพราะ ระบบ " กดปุ่ม " พิมพ์  ไม่มีการฝึกลากเส้นเขียนตัวอักษร  เด็กจะรู้จักการเขียน ก - ฮ แค่จิ้มไปบนแป้นพิมพ์จ้ะ

ลาว พม่า เขมร จะก้าวหน้าในอาเซียน เหนือไทย ในอีกไม่เกิน 10 ปี ก็ตรงที่ไทยคิดและคาดไม่ถึง ว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเด็ก ป.1 ไม่ใช่ แทบเล็ต แต่เป็น ทีชเชอร์ (ครู)และการเล่นปนเรียน (กิจกรรม) การพัฒนากล้ามเนื้อมือในชั้นอนุบาล 1 2 3
เพื่อต่อยอดลายมือในชั้น ป.๑ จะหยุดลงทันที เพราะระบบการศึกษาไทย และนักการเมือง งานนี้คนที่คิดเป็นไม่ได้ทำ แต่คนที่ทำ ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงจิตวิทยาการศึกษา

เด็ก ป.1 บางคนยังอ่านหนังสือไม่คล่องเลย ถึงมีข้อมูล เนื้อหา ก็คงไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรสักเท่าไร หรอกมั้ง จะเรียนรู้ได้ไว กลับจะยิ่งช้า เพราะว่ามัวเสียเวลากับ คำสั่ง ที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่ถ้าให้ เด็ก ม. 1 สิ ครูคงต้องถามเจ้าโอ๊ต กับบอลว่า เข้าเมนูไหน แล้วไปไงต่อ...........

ขอขอบคุณท่าน ดร.ธวัชชัย คุณมะเดื่อ คุณชยันต์ และคุณ Nopparat อย่างยิ่งครับสำหรับความเห็นซึ่งทั้งมีประโยชน์ต่อการศึกษาและ(น่าจะ)สะเทือนถึงคนในระดับที่บันดาลเรื่องนี้ได้ในกระทรวง ผมอยากให้คนเหล่านั้นได้อ่านด้วยจัง (หวังว่าเขาคงจะแวะมาที่GotoKnow บ้าง)

แทบเล็ต เป็นเครื่องมือทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประโยชน์มากค่ะ

เพียงแต่ "นักการเมือง" บางคน (เน้นว่าบางคน) และ ข้าราชการ บางคน (เช่นกัน) ที่แสดงให้คนเห็นและเข้าใจไปว่าเขามองถึง "ผลประโยชน์"ของตนและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ที่พึงมีพึงได้กับเด็กนักเรียน

และในฐานะประชาชนผู้จ่ายภาษี...เราจึงควรจับตามอง วิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุและผลอย่างไม่ลดละ...

คงทำได้แค่นั้นเอง...นะคะ

ปัญหาอยู่ที่.. ขาดการเตรียมความพร้อม (ทุกเรื่อง), กลุ่มเป้าหมายไม่เหมาะสม แค่นี้ก็เกินพอสำหรับ "แทบเล็ต"

 

 

ขอบคุณทั้งสองท่าน(หยั่งรากฝากใบ, kunrapee) ครับ เมื่อวานได้ฟังคำปรารภครูระดับพื้นฐาน ๒ ราย เขาว่าอีกหน่อยเด็กไทยจะเขียนหนังสือไม่เป็นเพราะช่วงที่ควรได้ฝึกใช้มือจับดินสอปากกา กลับได้ใช้แค่ปลายนิ้วเท่านั้น

ที่จริงแล้วการเขียนหนังสือด้วยปากกาไม่เป็นนี่อาจจะไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่อย่างที่เราคิดกันนะครับ ในภาพรวมแล้วเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันทั้งโลกครับ ผมอ่านเจองานวิจัยด้านการศึกษาของต่างประเทศก็ระบุทิศทางไปในด้านนี้เหมือนกันครับ

ที่จริงแล้วตัวผมเองแต่ละวันแทบจะไม่ได้จับปากกาเลยครับ ทั้งๆ ที่แต่ละวันผมเขียนเยอะมาก ทั้งเขียนเอกสาร เขียนอีเมล เขียนโปรแกรม และเขียนอื่นๆ ถ้าคิดเป็นหน้าแล้วผมคิดว่าเกินสิบหน้า A4 ครับ

ผมว่าที่สำคัญคือเราต้องให้เด็กเราอ่านออกเขียนได้เร็วที่สุด แต่การเขียนในที่นี้จะหมายถึงการพิมพ์บนแป้นพิมพ์ก็ได้ครับ แต่ผมก็ไม่เห็นความพร้อมของ "ระบบนิเวศน์ด้านการศึกษา" ของแทบเล็ตของไทย ดังนั้นแทบเล็ตพอเข้ามาก็จะต้องอยู่บนระบบนิเวศน์เดิม ก็จะกลายเป็นเครื่องใช้งานแทนหนังสือไปเท่านั้นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท