งบประมาณการศึกษาไทยมีมาก นั่นแหละคือหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ


ความจริงคือ นับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เป็นต้นมา การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยระดับอนุบาล ๑ ถึง ป.๖ ได้งบประมาณจัดการศึกษาเพียงหัวละ ๑,๗๐๐ บาท และ ๑,๙๐๐ บาทต่อปีเท่านั้น หาใช่หัวละ ๑๙,๔๗๕ บาท ดังข้อมูลงานวิจัยของ TDRI ไม่

ก่อนที่จะเข้าเรื่องที่จั่วหัว

ครูวุฒิขออนุญาตให้ข้อมูลสำคัญด้านการงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของไทย

ที่ TDRI ให้ข้อมูลว่ากระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ให้งบประมาณการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา ๑๙,๔๗๕ บาทต่อคนต่อปี

ซึ่งไม่เป็นความจริง

เป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อว่า สถาบันวิจัยระดับแถวหน้าของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ อย่าง TDRI จะผิดพลาด

เพราะความจริงคือ นับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๓ เป็นต้นมา

การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย

นับตั้งแต่อนุบาล ๑ ถึง ป.๖ ได้งบประมาณจัดการศึกษาเพียงหัวละ ๑,๗๐๐ บาท และ ๑,๙๐๐ บาทต่อปีเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ก่อนปี ๒๕๕๓ จะได้เท่าไร ก็คงไม่ต้องถาม

“น้ำและปุ๋ยที่คนเลี้ยงบอนไซให้ต้นไม้ของเขา ยังมากกว่าการศึกษาของไทยให้โรงเรียนบ้านนอก”

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

ครับ! เข้าเรื่องเลยดีกว่าว่า....

ชื่อบันทึกที่ครูวุฒิจั่วหัวน่ะ!.... ไม่ผิดหรอกครับ

เพราะ “งบประมาณการศึกษาไทยใช้มากถึงเกือบๆ ๒๐% ของ GDP หรือเป็นเงินกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ล้าน” ในแต่ละปี

นั่นแหละคือมูลเหตุสำคัญอันดับต้นๆที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ

และก็ครูวุฒิไม่ได้พูดบ้าๆ พูดเข้าป่าเข้าดง หรือพูดเข้ารกเข้าพงแต่อย่างใด

มันเป็นเพราะเหตุนี้จริงๆ คุณภาพการศึกษาไทยจึงตกต่ำ

ด้วยเหตุที่มีเงินมากๆนี่แหละ ที่มันทำให้ “ครูต้องทิ้งเด็กออกจากโรงเรียน”บ่อยๆ

เมื่อมีเงิน + ความเป็นยุคผลงานทางวิชาการเพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ

หน่วยเหนือทุกระดับจึงกลายเป็นเขื่อนใหญ่กั้นเงินงบประมาณไว้

แล้วก็คิดหา และโยนสารพัดโครงการลงมาเบื้องล่าง

เพื่อสร้างภาพ สร้างผลงาน สนองทั้งกิเลสส่วนตนและเจ้านาย

นัยว่า “เพื่อความก้าวหน้าในวิชาชีพ” อันชอบธรรมตามระบบระเบียบของทางราชการ

ซึ่งที่จริงก็เป็นเพียง.....

“ระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเหล่าคนของระบบราชการในแต่ละสายงาน” นั่นเอง

หาใช่เพื่อประโยชน์ของ “ปวงชน” เป็นสำคัญไม่

ซึ่งหากดูผิวเผิน ก็เป็น “ความชอบโดยธรรม” อันควร

แต่หากในความเป็นจริง กลับไม่ใช่ !

เพราะงานส่วนใหญ่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเพียงเพื่อ “ให้มีผลงาน” ประกอบ “ความก้าวหน้า” แบบซ้ำซ้อนกับระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ได้รับเหนือชาวบ้านอยู่แล้ว

และมักเป็นผลงานแบบลงทุนครั้งเดียวแต่ ได้ประโยชน์ตลอดอายุราชการ

และบ้างก็เป็นผลงานที่หลอกตาและก๊อปปี้กันไป-มา (จนเป็นที่รู้ๆกันทั่วไปนั่นแหละ)

อันเป็นความเลวร้ายที่ครูวุฒิจะได้จารนัยรายละเอียดให้ทรายในโอกาสต่อไป

เพราะเป็นมูลเหตุอันสำคัญมูลเหตุหนึ่งของความตกต่ำของการศึกษาไทยอีกส่วนหนึ่ง

..............................

วกมาว่าด้วยเรื่องของ “งบประมาณการศึกษาไทยมีมาก” กระทั่งเป็นที่มาของโครงการต่างๆที่สร้างปัญหาให้กับการศึกษาไทย

เพราะทั้งหลายทั้งหมดก็หนีไม่พ้นครูในโรงเรียนนั่นแหละคือ “เครื่องมือช่วยผลาญงบประมาณ” ตามโครงการเหล่านั้น

ทั้งหมดจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่

ปีทั้งปี ครูไทยจะต้องทิ้งเด็ก ทิ้งโรงเรียน ทิ้งชุมชน ออกมา “ช่วยใช้งบประมาณและสร้างผลงาน” ให้กับเจ้านายและบุคลากรของหน่วยเหนือ แทบหายใจหายคอไม่ทัน

โดยเฉพาะในห้วงช่วงปลายปีงบประมาณ (กรกฎา-สิงหา-กันยา ซึ่งฝนฟ้าและพายุกำลังชุกพอดี)

ครูไทยทุกคน จะต้องผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากัน

หอบหิ้วสังขารฝ่าพายุและฝนฟ้าคะนอง เข้าสำนักงานเขต-เข้าโรงแรมทั้งในและต่างจังหวัดกันอย่างทุลักทุเล

ไม่เว้นแม้แต่เสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

ซึ่งเรื่องที่หน่วยเหนือ (อันมีหลายระดับ และแต่ละระดับก็ยังแตกออกเป็นอีกหลายฝ่ายหลายกลุ่มงาน) ให้การอบรม

ก็มักเป็นแค่เรื่องของ “ทฤษฎี หลักการ ระบบระเบียบ และวิธีการอันกระด้างและแข็งทื่อ

และก็มักเป็นเรื่องเดิมๆ ซ้ำซากจำเจ วกไปเวียนมา (เปลี่ยนแค่วาทะกรรมใหม่ให้เท่ห์) เกือบทั้งนั้น

นี่.... ยังไม่นับรวมกับ เอกสารเนื้อหาความรู้ หลักการ กฏ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ

ซึ่งมักจะพิมพ์ๆๆๆ...ซ้ำๆๆๆๆ... แล้วส่งมาให้จนเต็มโรงเรียนอีกต่างหาก

และโทษที!...

ห้วงนี้ก็เป็นห้วงช่วงที่เด็กๆชอบกันมาก เพราะจะได้เล่นอย่างอิสระเกือบทั้งวัน

เพราะครูที่ยังอยู่ที่โรงเรียน ก็มักจะง่วนอยู่กับหน้าจอ “คอมพิวเตอร์”

ด้วยเหตุมีภารกิจต้อง “รายงานๆๆๆๆๆ...” อะไรต่อมิอะไร(แบบขยะๆ)ไปที่หน่วยเหนือ

ทั้งในรูปของเอกสารแบบหน้าสองหน้า ไปจนถึงสิบหน้ายี่สิบหน้า

และแม้กระทั่งแบบเป็นรูปเล่มมาตรฐานสี่สีกระดาษอาร์ต น้องๆการพิมพ์จากโรงพิมพ์

อันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูไทยต้องวุ่นวายกว่าคนขายปลาร้าในเรื่องของการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์

ซึ่งปั่นงานหนักจนเกินกำลังจะรับไหว

ลงท้ายครูต้องยกแบกยกหามเข้าเมืองหาร้านคอมพิวเตอร์

และสิ่งที่ตามมาก็คือ การเสียเวลาการเรียนการสอน และสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้ครูเพิ่มขึ้น

ทั้งในรูปของค่าน้ำมันยานพาหนะ ค่าอุปกรณ์อะไหล่ และค่าแรงช่าง นอกเหนือจากค่าตัวเครื่อง ค่าหมึกพิมพ์ตามปกติ ที่ครูส่วนใหญ่จำต้องจ่ายเองโดยอัตโนมัติ

นี่ก็เป็นมูลเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ครูมีหนี้สินพอกพูนไม่จบไม่สิ้น

โดยครูจำต้องทิ้งเด็กไปหาคนค้ำประกัน – ถ่ายเอกสารหลักฐานประกอบ - เข้าธนาคาร – เข้าสหกรณ์ออม(กู้)ทรัพย์เพื่อขอสินเชื่อมาเสริมสภาพคล่องของภาวะเศรษฐกิจส่วนตัว

แล้วเมื่อภาวการณ์เป็นซะเยี่ยงนี้ เราจะเอาคุณภาพการศึกษาตามแนว “จำ-จิ้ม” กันจากไหน

“การศึกษาไทยจึงตกต่ำเป็นสาละวันเตี้ยลงๆ” ด้วยเหตุฉะนี้แล

.....................................

ความจริงประการหนึ่งที่เราๆท่านๆเห็นกัยอย่างชัดเจนก็คือ

การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับพื้นฐานระดับชาวบ้านๆน้อยมาก

และเป็นเสมือนสูตรสำเร็จที่ไม่รู้เอาอะไร

ที่ต้อง “เท” ต้อง “ทุ่ม” ให้กับการศึกษาของคนส่วนน้อย (และมีโอกาสดีๆอยู่แล้วในสังคม)

เช่น การศึกษาในระดับ “มัธยมศึกษา” และ “มหาวิทยาลัย”

ที่งามเด่นและเพียบพร้อมในทุกด้าน

ทั้งพื้นที่ ตึก อาคาร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมืออำนวยความสะดวก ครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และบุคลากรอื่น (เช่น คนสวน คนขับรถ จนท.ธุรการ จนท.ประชาสัมพันธ์ ฯลฯ)

 ในขณะที่โรงเรียนบ้านนอก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก

อย่าว่าแต่เรื่องขาดครูเลย

ไม่มีกระทั่งตำแหน่งเล็กๆและสำคัญไม่แพ้ครู ก็คือ "นักการภารโรง"

ทั้งๆที่เงินเดือนก็ไม่ได้มากมายอันใด

เมื่อเทียบกับตำแหน่งฟุ่มเฟือยอื่นๆในหน่วยงานที่สูงขึ้นไป

ดังนั้น ครูไทยในโรงเรียนขนาดเล็กก็เลยต้องทำหน้าที่ควบรวมตำแหน่งนักการภารโรงไปด้วย

เด็กไทยบ้านนอกในโรงเรียนขนาดเล็กก็เลยขาดโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่เคยเข้าใจอะไรในเรื่องเหล่านี้ด้วยเหตุและผล

คิดอยู่แต่เรื่องกำไร-ขาดทุนแบบองค์กรเอกชน

โรงเรียนบ้านนอกบ้านนา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กจึงหนีจากความเป็น "บอนไซ" ไม่พ้น

ส่งผลให้เด็กไทยในชนบทแคะแกร็นทั้งทางกาย องค์ความรู้ และความคิดจิตใจ

อนิจจา "การศึกษาไทยในยุคงบประมาณล้นถัง"

........................

ท้ายนี้ ครูวุฒิขออนุญาตสรุปว่า

แม้งบประมาณการศึกษาไทยจะมีมาก แต่งบฯนั้นไปถึงโรงเรียนหรือสถานศึกษาน้อยมาก

โดยเฉพาะในระดับการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นระดับที่น่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีมากที่สุด

กลับได้รับงบประมาณรายหัวต่ำที่สุด

ซึ่งเป็นรูปแบบที่ขัดกับความน่าจะเป็นอย่างยิ่ง

คุณว่าไหมครับ?

...................

หมายเลขบันทึก: 485267เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2012 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมขอชื่นชมแนวคิดของท่านและจะติดตามบทความของท่านตลอดไป และอยากนำเรียนเพื่อนพี่น้องที่เข้ามาอ่านว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ ผมในฐานะผอ.โรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นครูมา ๒๖ ปี เป็นเรื่องจริงที่เห็นและเป็นอยู่ เป็นเรื่องจริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ในระดับรากหญ้า ที่น่าทุเรศ ในระบบการศึกษา ที่มีปัจจัยหลายด้าน นำพาการศึกษาตกต่ำ เด็กในระบบอ่านไม่ออกนับล้านคน ข้อมูลเก่าและใหม่...ครูหนี้ท่วม ครูทิ้งชั้นเรียน ครูลอกผลงาน ครูทำหน้าที่ภารโรง..ธุรการ แต่ที่หลายคนไม่รู้ก็คือ เจ้านายทุกระดับวิ่งตามนักการเมือง เพื่ออนาคตที่ยาวและใหญ่มากขึ้น งานหลักจึงกลายเป็นงานรอง ฐานรากการศึกษาจึงไม่แน่นจนถึงชาติหน้า ถ้าไม่แก้ไข

Ico48 ขอบคุณครับท่าน ผอ.ชยันต์ ที่ให้กำลังใจและช่วยยืนยันข้อมูล รวมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่ผมเองยังมองไม่เห็น (โดยเฉพาะกรณีเจ้านายวิ่งตาม....)

  • เราคงต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่งั้นการศึกษาของบ้านเราก็จะเป็นเช่นนี้ตลอดไป และซ้ำร้ายจะแย่ลงไปกว่าเดิมซะอีก
  • ตอนหน้า ผมจะว่าด้วยเรื่อง "วิทยฐานะ นำมาซึ่งความตกต่ำของการศึกษาไทย" ดังที่เกริ่นไว้ รบกวนท่านช่วยพิเคราะห์และชี้แนะด้วยนะครับ
  • ขอบคุณมาก
  • สวัสดีครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท