สมการ...การอดออม


"หากคุณคิดว่าการศึกษาเรียนรู้เป็นสิ่งที่แพงเกินไป ก็ลองไม่ใส่ใจมันดูสิ" (แล้วคุณจะรูว่าค่าของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นมันแพงสักเท่าใด)

หลายเดือนมานี้มีรายจ่ายก้อนใหญ่หลายก้อน และปีนี้ก็จะต้องใช้เงินอีกมากพอสมควรในการเตรียมตัวสู่วิถีชีวิตที่เลือกไว้ สองวันก่อนจึงได้มานั่งตรวจทานและวิเคราห์สถานภาพทางการเงินของตัวเอง ว่าแผนการเงินที่วางไว้ยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า หรือต้องการการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป การใช้เงินก็ต่างไปจากเดิม

หลายปีมาแล้วที่ได้รับเอาแนวคิดเรื่อง Jars money management system หรือการบริหารเงินในแบบกระปุกมาใช้กับตัวเอง หลังจากได้เข้ารับการอบรมสัมมนาเรื่องการจัดการด้านการเงิน โดยนักพูดนักเขียนด้านการเงินการลงทุนชื่อดัง ฮาร์ฟ เอ็คเคอร์ T. Harv Eker  เมื่อเขามาจัด workshop ที่สิงคโปร์

เมื่อได้มีโอกาสนั่งคิดเรื่องการเงินจึงอยากจะนำเอาวิธีที่ได้เรียนรู้มาแบ่งปันค่ะ

วิธีการจัดการด้านการเงินแบบง่ายๆ และมีประสิทธิภาพสูงที่ว่านั้นก็คือให้เราคิดว่าพอได้เงินเดือนมาเราจะเอาแบ่งใส่ไว้ในกระปุกที่มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันแล้วใช้เงินตามนั้น ซึ่งในความเป็นจริงเราอาจแยกรายได้ของเราไว้ใน 6 บัญชีต่างกันตามสัดส่วนของรายได้ดังนี้


1. บัญชีเพื่ออิสรภาพทางการเงิน (financial freedom account) 10%

2. บัญชีออมทรัพย์ระยะยาว (long term saving account) 10%

3. บัญชีเพื่อการเรียนรู้ (education account) 10%

4. บัญชีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (necessity account) 50%

5.  บัญชีเพื่อการผ่อนคลาย (play account) 10%

6.  บัญชีสำหรับการให้ (gift account) 10%


รายได้หรือเงินเดือนในที่นี้ยังไม่รวมโบนัสหรือเงินปันผลนะคะ โบนัสอาจเก็บไว้เป็นเงินสำรองในวันฝนตกก็ได้ หรืออาจใช้เสริมในส่วนที่เกินในบางบัญชี หรือใช้ในการลงทุนที่มีอัตราเสี่ยงสูงขึ้นได้

บัญชีเพื่ออิสรภาพทางการเงิน - บัญชีนี้จะไม่มีการนำมาใช้จ่ายเลย เงินในบัญชีนี้ควรเป็นบัญชีฝากประจำเท่านั้น ดอกเบี้ยจากเงินในบัญชีนี้ควรใช้สมทบเป็นต้นทุนให้งอกเงยต่อไป ไม่มีการถอนมาใช้ ให้เปรียบเงินในบัญชีนี้เหมือนแม่ห่านที่ออกไข่ทองคำ ถ้าเราใช้เงินในบัญชีนี้ก็เหมือนเป็นการฆ่าแม่ห่านที่จะออกไข่ทองคำ ถ้าเราเปรียบดอกเบี้ยที่ได้รับเป็นเหมือนลูกห่านที่รอวันเติบโตเป็นแม่ห่่าน ในวันข้างหน้าเราก็จะมีแม่ห่านที่จะออกไข่ทองคำให้เราได้มากขึ้น บัญชีนี้จะเป็นไปในลักษณะ compounding....


บัญชีออมทรัพย์ระยะยาว - ในบัญชีนี้ออมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่เป็นก้อนโตๆ เช่นดาวน์บ้าน ดาวน์รถ ค่าเล่าเรียนของลูกในวันข้างหน้า หรือเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน หากไม่มีเหตุดังกล่าวบัญชีนี้จะไม่ถูกแตะต้องเลย


บัญชีเพื่อการเรียนรู้ - สำหรับการเพิ่มความรู้ให้กับตัวเอง เช่นการซื้อหนังสือ การไปฟังการสัมมนา การเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ความคิด ฯลฯ เพราะเราทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง เราต้องสร้างความมั่นใจให้ตัวเองด้วยการเรียนรู้และลองทำดู ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเรา เราจะตามไม่ทันโลกในที่สุด

เบนจามิน แฟรงค์คลิน รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวเอาไว้ว่า "หากคุณคิดว่าการศึกษาเรียนรู้เป็นสิ่งที่แพงเกินไป ก็ลองไม่ใส่ใจมันดูสิ" (แล้วคุณจะรูว่าค่าของความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นมันแพงสักเท่าใด)


บัญชีค่าใช้จ่ายที่จำเป็น – เงินก้อนนี้ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายประจำวันค่ะ เช่นค่าผ่อนบ้าน เงินเดือนพ่อแม่ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ เสื้อผ้า อาหาร ค่าเดินทาง ค่าแต่งตัว ฯลฯ หาก 50% นี้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของเรา มีวิธีเดียวที่จะทำได้คือปรับแผนการใช้ชีวิตใหม่ คุยกับตัวเองให้มากขึ้น รู้จักตัวเองให้มากขึ้น หากขับรถก็คงต้องลองใช้บริการขนส่งอื่นๆ เช่นรถไฟ รถบัส รถแท็กซี่ อาจต้องกินข้าวในร้านอาหารน้อยลง อาจจะต้องใส่กางเกงยีนส์ลีวาย แทนที่จะซื้อของอามานี่ อาจใช้กระเป๋าแบรนด์ไทยที่อ่านชื่อได้ชัดเจนแทนที่จะใช้แต่คุณหลุยส์ อาจช้อปปิ้งน้อยลง

ช่วงแรกเราอาจรู้สึกอึดอัดกับการจัดขอบเขตการใช้จ่ายของตัวเอง แต่เชื่อเถอะค่ะมนุษย์เรามีพรสวรรค์ในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเสมอ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกว่าการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายมันไม่ได้ยากลำบากอย่างที่คิด ถ้าเรามีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ชัดเจน คิดเสียว่า we can never get enough of what we don't need.

แต่ถ้ายังจ่ายไม่หมดเงินส่วนนี้ก็สามารถเอาไปเก็บเพื่อลงทุนอื่นๆได้


บัญชีเพื่อการผ่อนคลาย - บัญชีนี้เราควรจ่ายให้หมดทุกเดือนหรืออาจทุก 3 เดือน ไม่ควรเก็บไว้เพราะมันเป็นเงินก้อนที่ต้องจ่ายเพื่อความสุขเล็กๆน้อยๆ เป็นการให้รางวัลชีวิต มันจะทำให้เรารู้สึกดีที่มีเงินใช้จ่าย เป็นกำลังใจให้เราทำงานต่อไป เราไม่ควรรู้สึกเสียดายที่จะใช้เงินก้อนนี้ ใช้เงินก้อนนี้ทำในสิ่งที่เราอยากทำเช่นไปเที่ยวพักร้อนกับครอบครัว ไปสปา ไปทานอาหารมื้อหรูกับคนที่เรารัก ซื้อของใช้ส่วนตัวที่อยากได้มานานเช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ กล้องถ่ายรูป ฯลฯ


บัญชีสำหรับการให้ - สำหรับการบริจาคทั่วไป ทำบุญ ช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา ให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือไว้ใช้ การให้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันทำให้เรารู้สึกดีที่มีโอกาสเป็นผู้ให้ ช่วยให้ชีวิตเรามีค่ามีความหมายมากขึ้น

โปรดสังเกตลำดับการจัดเงินใส่บัญชีนะคะ เงินเก็บสำหรับตัวเองจะมาก่อน (pay yourself first!) เพราะเราจะต้องจ่ายให้ตัวเองก่อนเสมอ

สมการ เงินเก็บ = รายได้ - รายจ่าย นั้นมักไม่ได้ผล เพราะส่วนใหญ่มันจะไม่เหลือให้เก็บดั่งที่ตั้งใจเอาไว้ ดังนั้นสิ่งแรกที่จะต้องทำในทุกๆเดือนเมื่อเงินเดือนออกก็คือเก็บก่อนแล้วจ่ายที่เหลือ

ถ้าอยากรู้ว่าตอนนี้เราควรจะเก็บเงินได้เท่าไหร่จึงจะอยู่ในระดับที่ว่าใช้ได้ คุณเดิมพัน อยู่วิทยาแนะนำสูตรเอาไว้คือ

รายได้ต่อปี / 10 x อายุ = เงินเก็บที่ควรจะมี

สมมติว่ามีรายได้ต่อปีปีละ 1,000,000 บาท ขณะนี้อายุ 40 ปี คนคนนี้คงจะมีเงินเก็บ 4,000,000 บาท :)

(แต่หากยังไม่มีมากมายตามนี้ก็ไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะเราอยู่ในกลุ่มคนหมู่ใหญ่ 90% มีเงินเก็บไม่ถึงตามสูตรนี้ค่ะ :)

วิธีการจัดการด้านการเงินวิธีนี้ใช้ได้ผลดีกับตัวเองมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่มาอยู่ที่นี่ อาจเป็นเพราะค่าครองชีพของที่นี่ต่ำกว่าที่เมืองไทยก็เป็นได้ ดังนั้นลองคำนวนดูนะคะว่าจะสามารถใช้วิธีนี้ได้หรือเปล่า อีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้วิธีนี้มีประสิทธิภาพคือความมีระเบียบวินัยในตัวเอง (self discipline) สำคัญอย่างยิ่ง ต้องทำจนเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเงินเดือนมากหรือน้อยก็ลองใช้ได้ และหากทำได้เมื่ออายุยังน้อยจะยิ่งดีค่ะ

เมื่อได้ตรวจสอบการใช้จ่ายและแผนชีวิตของตัวเองในอนาคตอันใกล้ วิธีการนี้ยังคงใช้ได้ผลค่ะ แต่ต้องระมัดระวังให้มากขึ้นโดยเฉพาะบัญชีสำหรับการให้เพราะปีนี้ทำบุญไปมากพอควร ปีนี้เงินโบนัสจึงถูกนำมาใช้ในการทำบุญ การบริจาคด้วยค่ะ ที่ผ่านมาวิธีการบริหารเงินแบบนี้นอกจากจะช่วยให้รู้สึกมีความมั่นคงด้านการเงินแล้ว และยังช่วยให้สามารถดำรงชีวิตแบบมีชีวิตได้เพราะวิธีนี้ครอบคลุมทุกส่วนของการเป็นอยู่ในสังคมของเรา


และในวันนี้วันที่คำว่า financial freedom จะยังไม่เป็นของเรา จะทำอย่างไรให้มีความสุข และรู้สึกเป็นอิสระ ต้องอ่านบันทึก สมการความสุข..อิสรภาพ ของอาจารย์หมอ ป. ค่ะ


แปลกใจไหมคะว่าทำไมจึงเอารูปนกมาประกอบเรื่อง ทั้งๆที่พูดถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ ลองเดาดูไหมคะ ไม่ยากหรอกค่ะ (not a rocket science.. )

แล้วจะมาเฉลยค่ะ..

 

The noble land by Ron Korb - เพราะมากค่ะ....

 

 

หมายเลขบันทึก: 485232เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2012 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ขออนุญาต "เมาหัวจ้น ๆ" ครับ 555

แต่สูตรน่าทดลองนำไปใช้ดูครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องการอดออมนะครับอาจารย์ ;)...

  • ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่แนวคิดดีๆเช่นนี้ค่ะ..นำทางชีวิตสู่ความสุขอย่างมั่นคง

  • อดออมถนอมใจ ..สร้างอริยทรัพย์ภายใน..ใฝ่ใจคุณธรรม..สะสมบุญกุศล..ส่งผลประเสริฐพร..

เห็นตัวเลข แล้วปวดหมองโตยเจ้า :) และทำให้คิดหนัก ถึงช่วงวัยเกษียณเลยค่ะ

นก อิสระ หรือบางครั้ง อิสระ เพลินเกินไป ต้องนำไปใช้ดู ขอบคุณ๖ บัญชีนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat Deemarn,

สงสัยบันทึกนี้มาแหวกแนวมากไปหน่อย ขออภัยค่ะที่ทำให้เกิดอาการ "เมาหัวจ้น ๆ" อย่างว่า...

พักผ่อนเยอะๆ นะคะจะได้หายเมาหัว ขอบคุณค่ะ :)

กราบขอบพระคุณคุณพี่ใหญ่ สำหรับกำลังใจค่ะ :)

ราตรีสวัสดิ์นะคะ

สวัสดียามดึกค่ะคุณปู

คิดหนัดตอนนี้คงดีกว่าไปคิดหนักหลัง 60 up นะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ :)

ที่ใช้นกเป็นภาพประกอบเพราะนกชนิดนี้คือนกตะขาบดง หรือ dollarbird ค่ะ อิอิอิ

ฝันดีค่ะคุณปู

โยมปริม...

นั่งเขียนงานอยู่...ปวดหัวมาก แต่เมื่อเจอตัวเลข... พลันงงเหมือนโยมปู อาการปวดหัวกำเริบเสริพสาน!!! สงสัยชาตินี้คงสมพงษ์กับทรัพย์ภายในเหมือนโยมนงนาทว่า!!! ส่วนทรัพย์ภายนอกบวกภายในมอบให้โยมปริม!!! พรเจริญ เอ้ย เจริญพร

กราบนมัสการค่ะพระอาจารย์

สงสัยบันทึกนี้จะทําให้ผู้อ่านปวดเศียรเวียนเกล้าจริงๆ ค่ะ รายไหนรายนั้นเลยค่ะ กราบขออภัยค่ะพระอาจารย์

เพียงแค่อยากแบ่งปันค่ะ ฟังเพลงเพราะๆก็ได้ค่ะ เผื่ออาการปวดหัวจะทุเลาลง

พระอาจารย์ทํางานดึกอย่างนี้ทุกวัน โปรดรักษาสุขภาพด้วยนะคะ พักผ่อนให้เพียงพอนะคะ จะได้มีแรงเผยแพร่พระธรรมตลอดไป

โยมปริม...

คืนนี้อาจจะทำงานจนรุ่งสาง... เพราะพรุ่งนี้ที่ ปปร. พระปกเกล้าไม่มีเรียน... สายๆ นัดลูกศิษย์ที่ห้องสมุด มธ. ขอบใจสำหรับ "เพลงแห่งสติ" ได้สมาธิมากขึ้น ทำให้กลืนน้ำลายสักอึก เพื่อให้มีกำลังลุยต่อไป

หัวข้อที่กำลังทำคือ "ปัญจสดมภ์: ค่านิยมแห่งชาติต่อการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองในสังคมไทย" ปัญจสดมภ์ประกอบด้วย ความจริง ความเป็นกลาง ความรับผิดชอบ ความรัก และความสามััคคี

ถัดจากนี้ จะนำค่านิยมทั้งห้าไปทำ Packeging เป็นหนังสือ เป็นกลอน บทเพลง และบทความ เพื่อนำไปเผยแพร่ และสื่อสารในเวป หนังสือพิมพ์ ยูทูป G2K และ FB ช่วยๆ กันหน่อยน่ะ ให้ความเห็นและแนวทางแก่อาตมาด้วย

โยมปริม...

จังหวะไหนอำนวยรบกวนไปช่วยเสนอแนะเพิ่มเติมที่ FB ตางลิงค์ http://www.facebook.com/profile.php?id=725727749&ref=tn_tnmn

เรียนคุณ ปริม

อ่านสมการ การอดออมแล้ว ได้แนวคิดหลายเรื่อง

นอกจากเรื่องทรัพย์สิสแล้ว เรื่องความดี ก็น่าจัดารออม

เวลาก็น่าจัดการออม

ชีวิต อันนี้ก็น่าจะมีสมการการออมชีวิต

เคยฟังอาจารย์ให้แบบทบทวนชีวิตไว้ น่าสนใจเหมือนกัน พอคิดเป็นตัวเลขแล้ว ชีวิตๆหนึ่งจะใช้เวลาไปในเรื่องไดบ้าง

หากมีชีวิตรอดตามเกณฑ์เฉลี่ยเช่น...

"แบบทบทวนชีวิต"

ชื่อ นายวอญ่า สกุล มีแรงผลักดันขยันเขียน

1 ปี มี 365 วัน

อายุเฉลี่ยของคนโดยประมาณ 85 ปี

เพราะฉนั้นอายุเฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 31025 วัน

1 ปี มี 365 วัน

อายุ ปัจจุบันของวอญ่า 55 ปี

วันทีผ่านมาของ"วอญ่า" 20075 วัน

อายุ เฉลี่ยของคน 31025 วัน

วันที่ "วอญ่า"ได้ใช้หมดไปแล้ว 20075 วัน

ดังนั้นวันที่ยังเหลืออยู่ของ "วอญ่า" 10950 วัน(หากอยู่รอดตามเกณฑ์เฉลี่ย 85 ปี)

ดังนั้น นาย วอญ่า ต้องทบทวนและคิด ว่าเวลาที่เหลืออยู่ "จะทำความดีอะไรไว้ให้ลูก จะทำสิ่งที่ถูกต้องอะไรไว้ให้หลาน

"หรือจะผลาญเวลาที่เหลือเพื่อความสุขของตัวเอง ( หมายเหตุใส่เครื่องหมาย บวก ลบ คูณ หารเอาเองครับ หาเครื่องมือไม่พบ ครับอาจารย์))

โยมพี่วอญ่า...

ชื่นชมที่สามารถถอดตัวเลขจาก "เชิงปริมาณ" ไปสู่ "เชิงคุณภาพ" ที่ว่า "จะทำดีอะไรเอาไว้ให้ลูกหลาน หรือจะผลาญเวลาที่เหลือเพื่อความสุขของเราเอง" แหลมคมยิ่งนัก... ประโยคดังกล่าวบ่งบอกถึง "วัย" อย่างมีนัยสำคัญ):

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณสำหรับความงดงามของวิธีการออมค่ะ

มาเรียนรู้การออม ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะคุณปริม จะลองทำดูค่ะ ช่วงนี้ใช้เงินกับบัญชีเพื่อการผ่อนคลายมากเหมือนกันค่ะ

 สวัสดีบ่ายวันอังคารค่ะคุณปริม...

...ขอบคุณแนวความคิดระเบียบวินัยทางการเงินที่นำมาแบ่งปันคะ.

...สำหรับอาชีพเกษตรกร การวางแผนชีวิตอยู่ให้ได้อย่างมีความสุขกับสุขที่มีอยู่เป็นสิ่งสำคัญค่ะ.

...เพราะเกษตรกรไม่มีเงินเดือนประจำ รายได้ไม่แน่นอนแต่รายจ่ายเพื่อดำรงชีพมีประจำ ซึ่งความท้าทายของชีวิตกลับอยู่ที่จะต้องวางแผนชีวิตให้สอดคล้องใน6ข้อที่คุณปริมกล่าวไว้ในเบื้องต้น (แผนชีวิตในที่นี้หมายถึงการวางแผนบริหารจัดการผลผลิต กิจกรรมด้านการเกษร "ที่มาของรายได้"ค่ะ)

...หลักปรัชญาเศรษกิจพอเพียง จึงถือเป็นสูตรสำเร็จที่่ใช้ได้ดีทั้งเกษตรกรและมนุษย์เงินเดือนค่ะ.

ปล.คุณปริมคะเรียกน้อยว่าคุณน้อยหรือน้อยเฉยๆก็ขอบคุณแล้วค่ะ ไม่ต้องถึงคุณพี่น้อยดอกนะคะ"เขิน"

...ขอบคุณค่ะ...

กราบนมัสการพระอาจารย์หรรษาค่ะ

ปริมคงจะเป็นคนไทยคนสุดท้ายที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองได้นะคะ เพราะไม่ถนัดจริงๆ ค่ะ

แต่เท่าทีเป็นความเชื่อส่วนตัวคือการแบ่งแยกของพี่น้องชาวไทยที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ดูเหมือนจะมีวงกว้างมากขึ้นในแทบทุกสาขาอาชีพในชุมชน ความคิดเห็นที่แตกต่างในตัวผู้นำทางการเมือง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่คลอนแคลนทั่วโลกและประเทศไทยเอง ทำให้ผู้คนหันไปพึ่ง ไปใส่ใจ ไปให้ความหวังกับผู้นำ นโยบาย ทางการเมืองเพิ่มขึ้น เมื่อเอาใจไปผูกพันมากขึ้นและหวังว่าพรรคการเมืองที่ตัวสนับสนุนจะสามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ และเมื่อพรรคการเมืองมีความขัดแย้งกัน รอยร้าวจึงเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน จากคนที่ไม่รู้จักกันสามารถด่าทอกันเพียงเพราะฝักใฝ่พรรคการเมืองหรือผู้นำพรรคที่แตกต่างกัน

ขณะนี้ที่หลายฝ่ายพยายามที่จะสานความเป็นหนึ่งให้กลับคืนมา หากทำได้จากทั้งสองขั้วก็คงจะดี จากทั้งด้านกฎหมายและสถาบันต่างๆ (Top down) ที่จะมีนโยบายยื่นลงมา ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในระดับบุคคลก็ควรจะดำเนินไปด้วย (bottom up) เมื่อทั้งสองขั้วทั้งเบื้องบนและปัจเจกบุคคลเดินเข้าหากันก็อาจพบทางออกบนความปรองดองที่ว่า

ทางด้านนโยบาย ภาพรวม (big picture) นั้นก็คงมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองทำอยู่ โดยการรณรงค์ใช้แนวคิดการแก้ปัญหา ปัญจสดมภ์ที่ท่านอาจารย์พูดถึง ในระดับสูงในด้านในการวางกฎหมายและเผยแพร่นโยบาย

ในระดับบุคคลก็สามารถทำได้ที่สาเหตุของปัญหาโดยการปลูกฝัง การยอมรับความเป็นจริงในชีวิต การมองสิ่งที่เห็นด้วยใจที่เป็นกลาง ความรับผิดชอบในชีวิตและอนาคตของตัวเอง ความรักต่อเพื่อนร่วมชาติ และการเห็นความสำคัญของความสามัคคี แล้วตั้งใจที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ธรรมะและเรื่องราวที่ก่อให้เกิดแรงบรรดาลใจอาจช่วยได้ค่ะ

โดยส่วนตัวไม่คิดว่าผู้นำทางการเมืองหรือพรรคการเมืองใดจะมามีบทบาทในการทำให้ชีวิตเราดีขึ้นมากมายใด นอกจากการพึ่งตัวเอง การทำงานหนัก การรับผิดชอบต่อชีวิตและอนาคตของตัวเองต่างหากที่จะช่วยให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หากเราไม่หวังพึ่งรัฐบาล เอาแรงกำลังสติปัญญาที่ใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม มามุ่งทำให้ชีวิตของตัวดีขึ้น ในที่สุดอนาคตของเราก็จะดีขึ้น และเมื่อไม่เอาใจไปมัวมุ่นกับการแตกแยก สันติภาพก็จะคืบคลานเข้ามา (law of attraction)...

แนวคิดนี้คงเป็นเพียงหยดน้ำในมหาสมุทรและเป็น ideal มากๆ แต่จากใจค่ะ มีนิทานเกี่ยวกับการรับผิดชอบในชีวิตตัวเองมาฝากถวายค่ะ :)

Alchemy - จากฝุ่นผงสู่ทองคำ

สวัสดีค่ะคุณ วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei,

เป็นทรัพย์ภายในที่ล้ำค่า ที่ควรมีเป็นอย่างยิ่งค่ะ

"จะทำความดีอะไรไว้ให้ลูก จะทำสิ่งที่ถูกต้องอะไรไว้ให้หลาน หรือจะผลาญเวลาที่เหลือเพื่อความสุขของตัวเอง"

คำคมในวันนี้ค่ะ จะจำไว้สอนใจตัวเอง ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะณัฐรดา

ขอบคุณมากค่ะที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมเยียนกันค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณ ถาวร

ขอบคุณสำหรับกำลังใจค่ะ ปริมไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะใช้ได้สำหรับบ้านเราหรือเปล่าเพราะค่าครองชีพในเมืองไทยสูงมาก ๆ แต่เพื่อนๆ ที่นี่หลายคนลองวิธีนี้แล้วทำได้ค่ะ ลองดูนะคะไม่มีลิขสิทธิ์ค่ะ

สวัสดียามค่ำนะคะ :)

สวัสดีค่ะคุณน้อย

ขอบคุณค่ะ ปริมคงต้องขอเรียนรู้รายละเอียดเพิ่มเติมในด้านปรัชญาเศรษกิจพอเพียงจากคุณน้อยบ้างนะคะ ในวันที่จะไม่มีรายได้ประจำในวันข้างหน้าค่ะ ขอบคุณค่ะ

สุขสันต์ค่ำวันอังคารนะคะ :)

เจริญพรยามค่ำ โยมปริม

อ่านมุมมองที่นำเสนอแล้วอิ่มใจ... ทั้งๆ ที่เหน็ดเหนื่อยจากการไปแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาค่านิยมแห่งชาติต่อการสื่อสารทางการเมืองที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาลมา...

แม้ตัวจะะอยู่สิงค์โปร์ แต่ได้ฉายภาพบริบทของการเมืองไทยออกเป็นฉากๆ ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้ง นโยบายพรรคการเมือง นักการเมือง และท่าทีต่อความเป็นไประหว่างพลเมืองกับประชาชน... การรับผิดชอบตัวเองมากกว่าพึ่งคนอื่น ทำงานหนัก และดำเนินชีวิตบนแนวทางแห่งสันติ นับเป็นท่าทีของ "คนดี" กับ "พลเมืองที่ดี" ที่ควรให้ความสำคัญ

"สยามเมืองยิ้ม" ที่เคยปรากฎก็นับวันจะลดหายกลายเป็น "สยามเมืองร้องไห้" แต่เชื่อว่าสิ่งนี้ไม่ได้หนีหน้าไปจากสังคมไทย เพราะแม้มีจะทุกข์ ทรมาน และร้องไห้เพียงใด คนไทยก็ไม่เคยท้อ และเชื่อมั่นว่า เราจะฝ่าพายุของ "ความเกลียดชัง" ไปได้

ขอบใจมากสำหรับแนวคิดดีๆ แม้จะเป็นนามธรรม แต่ถ้าเกิดจากใจ จำเป็นต้องรับไว้ด้วยไมตรีจิต...

ด้วยสาราณียธรรม

สักวัน ฉายา "สยามเมืองยิ้ม" จะกลับมาอีกค่ะพระอาจารย์ เพราะมีหลายต่อหลายฝ่ายที่มุ่งมั่นจะทำให้มันเกิดขึ้น มันคงไม่เกินความพยายามใช่ไหมคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะคนทำงานดีดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท