เงินจ๊าดลอยตัว: ที่มาที่ไปและความคาดหวัง


ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้พม่าปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ สาเหตุหลักก็คือปัญหาโรคดัช (DUTCH DISEASE) ที่เกิดขึ้นในพม่า การส่งออกก๊าซธรรมชาติ หยก และการประมูลหินมีค่าอย่างเช่นทับทิมและไพลินซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังรุ่ง ส่งผลให้ค่าเงินจ๊าดแข็งตัวมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

พม่าเพิ่งปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าด (KYAT) จากระบบเดิมที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนสองระบบ (DUAL EXCHANGE RATE SYSTEMS) มาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการบริหารจัดการ (MANAGED FLOAT SYSTEM) เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมานี้เอง

ภายใต้ระบบ เดิมนั้น อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้มีสองอัตราด้วยกัน คืออัตราแลกเปลี่ยนทางการ (OFFICIAL EXCHANGE RATE) และอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด โดยที่ก่อนการปฏิรูปทั้งสองอัตราแตกต่างกันมาก อัตราแลกเปลี่ยนทางการถูกตรึงไว้ที่ 6.41 จ๊าดต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในขณะที่ในตลาดมืดอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 820 จ๊าดต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้กันทั่วไปและสะท้อนถึงการทำงานของกลไกตลาดอย่างแท้จริง

สำหรับระบบลอยตัวระบบใหม่นี้ ธนาคารกลางแห่งพม่ากำหนดอัตราอ้างอิงไว้ที่ 818 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปล่อยให้ค่าเงินจ๊าดลอยตัวขึ้นลงได้ไม่เกินร้อยละ 2 นั่นหมายความว่า หากเงินจ๊าดมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเกินกว่า 2 เปอร์เซ็น จนอัตราแลกเปลี่ยนเข้าใกล้ 802 จ๊าดต่อดอลล่าร์สหรัฐฯธนาคารกลางก็จะเข้าแทรกแซงโดยการซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อเพิ่มซัพพลายของเงินจ๊าดในตลาดและจะทำให้ค่าเงินจ๊าดอ่อนตัวลง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเงินจ๊าดมีท่าทีจะอ่อนตัวลงเกินกว่า 2 เปอร์เซ็นหรืออัตราแลกเปลี่ยนเข้าใกล้ 834 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารกลางก็จะขายเงินตราต่างประเทศ เป็นการเพิ่มดีมานด์เงินจ๊าดเพื่อให้ค่าเงินปรับตัวแข็งขึ้น

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้พม่าปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ สาเหตุหลักก็คือปัญหาโรคดัช (DUTCH DISEASE) ที่เกิดขึ้นในพม่า การส่งออกก๊าซธรรมชาติ หยก และการประมูลหินมีค่าอย่างเช่นทับทิมและไพลินซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังรุ่ง ส่งผลให้ค่าเงินจ๊าดแข็งตัวมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2552 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1,055 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 820 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับว่าค่าเงินปรับสูงถึง 28.6 เปอร์เซ็นภายใน 3 ปี

แน่นอนเมื่อค่าเงินจ๊าดแข็งขึ้น ผนวกกับภาษีส่งออกและมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ย่อมทำให้ภาคการผลิตอื่นๆ ทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเบาเดือดร้อน ขีดความสามารถในการแข่งขันดิ่งลงอย่างมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประเทศ เพราะสาขาการผลิตดังกล่าวเป็นสาขาสำคัญที่ดูดซับแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ รายได้และความเป็นอยู่ของชาวนาและคนงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ ซึ่งนับว่าการแข็งค่าของเงินจ๊าดเป็นตัวถ่วงในการแก้ปัญหาความยากจนภายใน ประเทศอย่างยิ่ง

แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้พม่าปรับระบบ อัตราแลกเปลี่ยนก็คือ ความต้องการที่จะจัดตั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้ได้มาตรฐานสากล และให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดค่าเงินจ๊าด โดยหวังว่าการลอยตัวของค่าเงินอาจทำให้เงินจ๊าดมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนที่ลอยตัวจะเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการ ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคภายในประเทศอีกด้วย

พม่าเห็นตัวอย่างของไทยและอินโดนีเซียในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเซียปี 2540 หลังจากที่ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบที่ตรึงอยู่กับดอลลาร์ สหรัฐฯมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ค่าเงินบาทและรูเปียอ่อนลงเป็นอย่างมาก จนทำให้การส่งออกเป็นตัวดึงให้ประเทศฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้

แต่ว่าสถานการณ์ของไทยและอินโดนีเซียขณะนั้น กับสถานการณ์ของพม่าในขณะนี้แตกต่างกันมาก ก่อนวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจไทยและอินโดนีเซียอยู่ในช่วงขาลง และยากที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ในขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจพม่ากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากที่มีการปฏิรูประบบการเมืองเศรษฐกิจ การปฏิรูปกฏหมาย และการยุติความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย รวมทั้งหลังจากการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีฮิลลารี่ คลินตัน ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

ภาพลักษณ์และความมั่นใจในพม่าในสายตาของชาวโลกดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้พม่าเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงและการเคลื่อนย้ายฐาน การผลิตจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะ เป็นจีน อินเดีย ไทย และสิงคโปร์ ต่างก็สนใจที่จะเข้าไปแสวงหาโอกาสทางธุรกิจการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะจีนได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือและลงทุนสร้างทางรถไฟที่เชื่อมชายแดน จีนไปจนถึงอ่าวเบงกอล เป็นมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สถานการณ์เช่นนี้โดยรวมย่อมเป็นผลดีต่อพม่า แต่ทว่าสิ่งที่ต้องระวังคือการที่เงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมหาศาล จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินจ๊าดลอยตัวสูงขึ้น ธนาคารกลางต้องทำงานหนักขึ้นในการเข้าแทรกแซง เพื่อพยุงเงินจ๊าดไม่ให้แข็งค่าเกินไป ถ้าเงินจ๊าดลอยตัวสูงขึ้นจริงๆ จะเป็นการตอกย้ำให้ขีดความสามารถในการส่งออกแย่ลงไปอีก เป้าหมายหลักที่ต้องการในการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยน คือ ความหวังที่จะให้เงินจ๊าดอ่อนตัวลงเพื่อช่วยภาคการส่งออกอาจจะไปถึงได้ยาก ขึ้น

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับพม่า แน่นอนที่สุดระบบนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิรูปประเทศ แต่ก็ควรดำเนินมาตราการบางอย่างควบคู่ไปด้วยที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของ พม่า ที่สำคัญก็คือการยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าออกที่สูงถึงร้อยละ 10 ซึ่งเป็นการบั่นทอนความสามารถในการส่งออกของประเทศ

อีกประการที่ภาครัฐของพม่าต้องทำก็คือ การเร่งเจรจาให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตราการกีดกันทางการค้าและหันมาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคมากขึ้น เพื่อให้สินค้าออกของพม่าได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศพม่าต่อไป


โดย ดร. วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา
www.itd.or.th

หมายเลขบันทึก: 485140เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2012 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 12:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท