Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

น้องเขตไทมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยหรือไม่ ? อย่างไร ?


ข้อเสนอแนะในประการแรกที่ผู้บันทึกมีต่อศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในประการแรก ก็คือ การทบทวนความเข้าใจพื้นฐานทางกฎหมายดังกล่าวกับทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กดังน้องเขตไทและบุคคลในสถานการณ์เดียวกัน

กรณีศึกษาน้องเขตไท : สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ตอนที่ ๑ : น้องเขตไทมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยหรือไม่ ? อย่างไร ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกความเห็นทางกฎหมายเพื่อศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150796492483834

--------------

ที่มาของเรื่อง

--------------

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีหนังสือถีงผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ เพื่อขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก โดยหารือถึงประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติเด็กและกรณีแนวทางการช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากการรับจ้างตั้งครรภ์แทนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ มีการส่งข้อเท็จจริงของเด็ก ๓ คนมาให้ใช้เป็นกรณีศึกษา กล่าวคือ (๑) เด็กชาย ก. (นามสมมติ) ซึ่งเกิดในประเทศไทยอันเป็นผลมาจากการรับจ้างตั้งครรภ์แทนระหว่างประเทศ (๒) เด็กชายเขตไท ซึ่งเกิดในประเทศไทยจากบุพการีซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย ประเภท ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งออกให้แก่คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยในไทยตามกฎหมายคนเข้าเมือง และ (๓) เด็กชายนิกร ซึ่งเกิดในประเทศไทยจากบุพการีซึ่งได้รับการจัดทำทะเบียนบ้านตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทย ประเภท ท.ร.๑๓ ซึ่งออกให้แก่คนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในไทยตามกฎหมายคนเข้าเมือง

เพื่อการศึกษาข้อกฎหมายดังกล่าว รศ.ณรงค์ ใจหาญ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้หารือกับผู้บันทึกให้ศึกษาปัญหาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ที่จะจัดการปัญหากฎหมายที่เกิดขึ้นของเด็กในทั้งสามกรณีศึกษาตัวอย่างนี้

บันทึกฉบับนี้เป็นงานเขียนเพื่อตอบข้อหารือข้างต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กชายเขตไท หรือ “น้องเขตไท” โดยจะสรุปผลการศึกษาข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนวิเคราะห์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของเด็กชายผู้นี้ อันนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของน้องเขตไทซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ส่งมาโดยศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

-------------------------------------------

ที่มาของข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เกี่ยวกับน้องเขตไท

--------------------------------------------

การสรุปข้อเท็จจริงของน้องเขตไทมาจากเอกสารที่ส่งมาโดยศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ปกครองน้องเขตไทแทนบุพการี ซึ่งรวมแล้วมีจำนวน ๔ ฉบับ อันได้แก่ (๑) แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า “ท.ร.๓๘/๑” ซึ่งเป็นเอกสารบันทึกฐานะข้อมูลราษฎรฐานหนึ่งตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร กรมการปกครองได้ออกเอกสารลักษณะนี้ให้แก่นางเอ๋และนายจะเร ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของน้องเขตไท และระบุว่า การบันทึกในทะเบียนประวัติถูกจัดทำเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗  (๒) สูติบัตรสำหรับบุตรคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๐๓) เลขที่ ๑๒๐/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี (๓) สำเนาทะเบียนประวัติสำหรับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘) ซึ่งออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตจอมทองเพื่อน้องเขตไท เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ (๔) แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) ซึ่งกรมการปกครองออกให้แก่น้องเขตไทและระบุว่า การบันทึกในทะเบียนประวัติถูกจัดทำเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒

------------------------------------------

ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เกี่ยวกับน้องเขตไท

------------------------------------------

โดยพยานหลักฐานดังกล่าวข้างต้น เราอาจสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กชายเขตไท ไม่มีนามสกุล หรือที่เราเรียกว่า “น้องเขตไท” ได้ดังต่อไปนี้ เขาเกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๙ เวลา ๘.๑๑ น. ณ โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๗ ถนนปทุมลาดหลุมแก้ว ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี จากนางเอ๋และนายจะเร ซึ่งรัฐไทยรับฟังว่า เป็นคนสัญชาติพม่า ทั้งที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐบาลพม่า และกรมการปกครองไทยยังได้บันทึกรายการสถานะบุคคลของบุคคลทั้งสามนี้ในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ประเภท ท.ร.๓๘/๑

-------------------------------------------

น้องเขตไทมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยหรือไม่ ? อย่างไร ?

--------------------------------------------

โดยข้อกฎหมายและข้อนโยบายของรัฐไทยว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Legal Personality and Right to Recognition of Legal Personality) ความเป็นมนุษย์ที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยย่อมนำไปสู่สิทธิในศักดิศรีความเป็นมนุษย์ (Right to human dignity) ดังปรากฏตามข้อ ๑[1] แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งผูกพันประเทศไทยมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งต่อมาถูกรับรองอย่างชัดเจนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย[2]

แต่อย่างไรก็ตาม การยอมรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลต่อสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายนั้น ปรากฏในระบบกฎหมายไทยตั้งแต่ก่อนที่จะมีการยอมรับสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เราพบว่า กฎหมายไทยรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Legal Personality) ทั้งตามกฎหมายเอกชนและตามกฎหมายมหาชนมาตั้งแต่ต้นประวัติศาสตร์กฎหมายไทยสมัยใหม่ ซึ่งปรากฏขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕

เราพบอย่างชัดเจนในประการแรกว่า มนุษย์ที่ปรากฏตัวในสังคมไทยได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ พ.ร.บ.เลิกทาส พ.ศ.๒๔๔๘ และมาตรา ๑๕ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๗๗[3] และในกรณีที่มนุษย์หรือที่กฎหมายไทยเรียกว่า “บุคคลธรรมดา” ตกอยู่ในการขัดกันแห่งกฎหมายเอกชน การกำหนดกฎหมายที่มีผลกำหนดการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนก็ย่อมเป็นไปตามมาตรา ๑๐, ๓ และ ๖[4] แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ 

หากเราจะสรุปข้อกฎหมายจากบทบัญญัติทั้งหมดก็คือ มนุษย์ในสังคมไทยไม่อาจตกเป็นทรัพย์สินเพื่อการค้าเป็นทาสหรือเสมือนทาสได้อีกต่อไป ความเป็นบุคคลตามกฎหมายย่อมเกิดแก่มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองหรือาศัยผิดหรือถูกกฎหมาย การเริ่มต้น ความสมบูรณ์ ตลอดจนการสิ้นสุดในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนย่อมเป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายแพ่งสาระบัญญัติของรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับมนุษย์หรือบุคคลธรรมดานั้นๆ แต่หากบุคคลดังกล่าวตกอยู่ในการขัดกันแห่งอำนาจอธิปไตยของหลายรัฐ ปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคล อันได้แก่ กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติหรือกฎหมายของรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของบุคคล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะกรณีของบุคคลนั้นๆ โดยสรุป มนุษย์ในทุกสถานการณ์ได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนไทย โดยไม่มีข้อยกเว้น

นอกจากนั้น เราพบอย่างชัดเจนในประการที่สองว่า การรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนปรากฏในกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๒ จนถึงปัจจุบัน และกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดหน้าที่ในการรับรองสถานะคนเกิดไว้ใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งการรับรองคนเกิดตามกฎหมายไทยมีได้ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การรับรองคนเกิดในอาณาเขตของรัฐไทย ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๑๘ – ๒๐ และ ๒๓ และ (๒) การรับรองคนเกิดนอกอาณาเขตของรัฐไทย แต่เป็นบุตรของราษฎรไทยประเภทคนอยู่ถาวร ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๒๘

หากเราจะสรุปข้อกฎหมายมหาชนในเรื่องการรับรองสถานะคนเกิดทั้งหมดนี้ เราก็จะต้องยืนยันว่า รัฐไทยยอมรับหน้าที่ที่จะจดทะเบียนคนเกิดให้แก่มนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทยในทุกกรณีอย่างไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะในกรณีของการจดทะเบียนคนเกิดในประเทศไทยนั้น ความเป็นมนุษย์ที่เกิดในประเทศไทยเป็นข้อเท็จจริงเดียวที่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะได้รับการรับรองคนเกิดโดยรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิด ไม่ว่ามนุษย์นั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองหรือาศัยผิดหรือถูกกฎหมาย การจดทะเบียนคนเกิดในประเทศไทยถูกกำหนดในกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๒ แต่ด้วยความไม่ชัดเจนของการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรและทัศนคติแบบชาตินิยมของผู้รักษาการกฎหมายนี้ในบางช่วงเวลาก็อาจทำให้มนุษย์จำนวนไม่น้อยตกหล่นจากการจดทะเบียนการเกิดตามกฎหมายไทยทั้งที่เกิดในประเทศไทยหรือเกิดจากราษฎรไทย

โดยสรุป ความเป็นมนุษย์เป็นข้อเท็จจริงที่กฎหมายเอกชนไทยรับรองในสถานะแห่งสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน โดยไม่มีเงื่อนไข และความเป็นมนุษย์นี้ยังเป็นฐานแห่งสิทธิที่จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนในลำดับแรกของชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ “สถานะคนเกิด” หากรัฐไทยเป็นเจ้าของดินแดนที่มนุษย์นั้นเกิด รัฐไทยก็มีหน้าที่ต้องรับรองการเกิดให้แก่มนุษย์ผู้นั้น ไม่ว่าบุพการีของมนุษย์ผู้นั้นจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ หรือแม้บุพการีของมนุษย์ผู้นี้จะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองหรืออาศัยในลักษณะที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมืองก็ตาม หรือแม้มนุษย์ผู้นั้นจะเกิดนอกอาณาเขตแห่งรัฐไทย แต่เมื่อปรากฏว่า บุพการีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นราษฎรไทย รัฐไทยก็มีหน้าที่ต้องรับรองการเกิดให้แก่มนุษย์ผู้นั้นอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มนุษย์ในสถานการณ์ดังกล่าวตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐ อันทำให้ตกอยู่ในปัญหาความไร้รัฐ (Statelessness) หรือความไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Lack of Personal State) อันส่งผลต่อไปให้ตกอยู่ในปัญหาความไร้สัญชาติ (Nationalitylessness หรือความไร้รัฐเจ้าของสัญชาติ (Lack of State of Nationality) และสถานการณ์ไร้สถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของทุกรัฐบนโลกนี้ อาจนำไปสู่ความเป็นคนผิดกฎหมายคนเข้าเมืองในสายตาของทุกรัฐบนโลกอีกด้วย

ข้อเสนอแนะในประการแรกที่ผู้บันทึกมีต่อศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในประการแรก ก็คือ การทบทวนความเข้าใจพื้นฐานทางกฎหมายดังกล่าวกับทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กดังน้องเขตไทและบุคคลในสถานการณ์เดียวกัน


[1] ซึ่งบัญญัติว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสระเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง (All human beings are born free and equal in dignity and rights. They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brotherhood.)”

[2] ดังปรากฏตาม มาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ และมาตรา ๔ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งบัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

[3] ซึ่งบัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็น ทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตายทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลัง คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า

“ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สอง สัญชาติขึ้นไปอันได้รับมาเป็นลำดับ ให้ใช้กฎหมายสัญชาติที่บุคคลนั้นได้รับครั้งสุดท้ายบังคับ

ถ้าจะต้องใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ และบุคคลมีสัญชาติตั้งแต่สองสัญชาติขึ้นไป อันได้รับมาคราวเดียวกัน ให้ใช้กฎหมายสัญชาติของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศอื่นนอกจากประเทศซึ่งตนมีสัญชาติสังกัดอยู่ ให้ใช้กฎหมาย ภูมิลำเนาในเวลายื่นฟ้องบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศ ซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

ในกรณีใด ๆ ที่มีการขัดกันในเรื่องสัญชาติของบุคคล ถ้าสัญชาติหนึ่งสัญชาติใด ซึ่งขัดกันนั้นเป็นสัญชาติไทย กฎหมายสัญชาติซึ่งจะใช้บังคับได้แก่กฎหมายแห่งประเทศสยาม

สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้า ภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ

ถ้าในการใช้กฎหมายสัญชาติบังคับ จะต้องใช้กฎหมายท้องถิ่น กฎหมาย เหล่าประชาคม หรือกฎหมายศาสนาแล้วแต่กรณี ก็ให้ใช้กฎหมายเช่นว่านั้นบังคับ”

 

 

แผนผังแสดงประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้องเขตไท เด็กชายไร้สัญชาติซึ่งเกิดในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๓๙ จากบุพการีซึ่งเกิดในประเทศพม่าและอพยพเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย แต่รัฐไทยยอมรับบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเพราะเหตุที่เขาทั้งสองไร้รัฐ และแผนผังนี้ยังนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายให้บุคคลดังกล่าว

หมายเลขบันทึก: 485137เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2012 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท