อาเซียน : ที่มาของชื่อ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ South-East Asia และชื่ออื่น ๆ



อารัมภบท ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘  (ASEAN Community 2015)

          ๑๐ (+๑) ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า (และติมอร์ตะวันออก ในอนาคต) จะรวบพรมแดนเป็นพรมแดนเดียวกัน (นามธรรม) ภายใต้ชื่อ ประชาคมอาเซียน  หรือ ASEAN Community ภายในปี ๒๕๕๘ สื่อประเทศไทย องค์กรการศึกษาทุกระดับต่างตื่นตัวให้ความสนใจ พูดจนฟังแล้วเอียนแทบเบือนหน้าหนี สร้างฝันต่าง ๆ นานา โดยไม่รู้ว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะความแตกต่างกันเหลือเกินในด้าน การศึกษา ความคิด เชื้อชาติ ลักษณะการปกครอง ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ คุณภาพชีวิตของประชาชน ค่าแรง ความสามารถในการใช้ภาษากลาง ฯลฯ ผู้เขียนจึงได้แต่นั่งยิ้ม ๆ เมื่อใคร ๆ ต่างเพ้อฝันถึงการรวมตัว

           เรามักมองภาพที่ผู้นำแต่ละประเทศต้องการนำเสนอ เรามักมองความสวยงาม เรามักมองผลประโยชน์ ก่อนที่เราจะมองสิ่งที่ผู้นำประเทศไม่อยากให้มอง ความอัปลักษณ์ ผลเสีย ดังนั้น ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘ จึงเป็นวาดฝันไว้อย่างสวยหรู และนำพาประเทศต่าง ๆ สู้กับประเทศมหาอำนาจได้ ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะกับไอ้แค่การลบภาพมายาคติ อคติ ความเกลียดชัง การดูถูก ยังไม่สามารถทำได้ในระดับประชาชนเลย

           เรายังคงพูดเรื่องพรมแดนของเขา-ของเรา, ปราสาทเขาพระวิหารของใคร ?,  ประเทศไทยเจริญกว่าลาวกี่ปี ?, ศิลปะไทยสวยกว่าศิลปะพม่า ?, เขมรลอกรำไทย?, ฯลฯ  หากเรายังไม่ยอมเลิกตั้งคำถามเหล่านี้ คำว่า ประชาคมอาเซียน ๒๕๕๘  (ASEAN Community 2015) ก็เป็นเพียงเครื่องมือของนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินนั่นเอง

          ช่วงหัวมันเถอะครับ ปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองระหว่างประเทศ และนักวิชาการหัวปลวกไป เรามันแค่ประชาชนคนธรรมดาเดินดินกินข้างแกงทำได้แต่เพียงศึกษาเพื่อเตรียมตัวเอาไว้ก็พอ

 

ที่มาของชื่อ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ South-East Asia

 

          วันนี้ผมจะมาเล่าถึงชื่อ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร

          D.E.G.  HALL ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้แต่งตำรา A History of South-East Asia (พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. ๑๙๕๕ ที่นักวิชานิยมนำมาใช้อ้างอิงมากที่สุด และเป็นตำราประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดีที่สุด ขนาดที่ตำราประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับเคมบริดจ์ โดย นิโคลาส ทาร์ลิ่ง เป็น บรรณาธิการ ยังกล่าวชมว่า หากใครที่จะเขียนประวัติศาสตร์เอเชียเฉียงใต้หากเขียนได้ไม่ดีกว่า ดี.อี.จี. ฮอล์ล ก็อย่าเขียน) กล่าวถึงที่มาของชื่อเรียก “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และวิธีการเขียน “South-East Asia” ดังนี้

           คำว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (South-East Asia) ถูกเริ่มใช้กันทั่วไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙ – ๑๙๔๕) เป็นชื่อที่ฝ่ายสัมพันธมิตร โดยกองทัพเรืออังกฤษ ภายใต้ชื่อกองบัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asia Command : SEAC) ใช้เรียกเพื่อกำหนดพื้นที่ทางยุทธศาสตร์การทหาร โดยหมายถึงดินแดนในเอเชียตะวันออกส่วนที่อยู่บนผืนแผ่นดินใหญ่อันประกอบขึ้นเป็นแหลมอินโดจีน รวมถึงดินแดนที่เป็นกลุ่มเกาะขนาดใหญ่ รวมทั้งประเทศอินโดนีเชียและฟิลิปปินส์ โดยภาษาอังกฤษเขียนว่า South-East Asia การเขียนแบบอังกฤษนั้นมี – กลาง (South-East Asia)

           ในด้านการเขียนนั้นก็มีอยู่หลายแบบ กล่าวคือ นักเขียนอเมริกันเขียนคำนี้รวมเป็นคำเดียวว่า “Southeast Asia" โดยไม่มีขีดกลางขั้นแบบอังกฤษ เช่น วิคเตอร์ เพอรร์ซี่ (Victor Purcell) ตั้งชื่อหนังสือของเขาว่า The Chinese in Southeast Asia (1951) อี.เอช.จี. ดอบบี้ (E.H.G. Dobby) ใช้เป็น Southeast Asia

           แต่ในระยะหลัง  ๆ ทั้งสองชาติก็มีการใช้ทั้งแบบมี – และไม่มี รวมถึงประเทศไทยด้วย จึงไม่ใช่เหตุผลกลใดที่จะสนใจว่ามีหรือไม่มี กันได้ตามสะดวก

           ส่วนชื่อ “เอเชียอาคเนย์” นั้นเป็นชื่อไทยที่นักวิชาการไทย (ที่ว่างจัด) ตั้งขึ้นมาเท่ ๆ ให้เราสับสนเท่านั้นเอง

           และอีกชื่อหนึ่งคือ “อินโดจีน” (Indo China) นั้นนักวิชาการเรียกขึ้นเพราะต้องการเน้นความสำคัญของอิทธิพลของประเทศอินเดียและประเทศจีน ซึ่งตั้งขนาบดินแดนนี้อยู่ คือประเทศอินเดียทางทิศตะวันตก และประเทศจีนทางทิศตะวันออก แน่นอนว่า ปัจจุบันคนในภูมิถาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนแต่รับเอาวัฒนธรรมทั้งสองมาใช้ในชีวิตปัจจุบัน ผสมผสานจากกลายเป็นวัฒนธรรมของตนเองไปแล้ว อาจะรวมถึงวัฒนธรรมตะวันตกด้วยก็ได้

 

เรื่องเล่าจากเพื่อนชาวไทยเมื่อไปเยื่อนพม่า (เรื่องแถม อันเนื่องมากจากบทความปฐมฤกษ์)

            สุดท้ายนี้ผมมีเรื่องมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเดินทางไหเที่ยวประเทศพม่าของเพื่อนผมคนหนึ่งในมหาวิทยาลัยรามคำแหง

            เพื่อนผม นักศึกษาวิชาโทภาษาพม่า อหังการ์เดินทางไปเที่ยวประเทศพม่าคนเดียว ด้วยความที่มั่นใจในภาษาพม่า รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพม่าในระดับหนึ่ง การที่มีคนรู้จักอยู่ที่ประเทศพม่า และรักความอิสระจึงไม่สนใจบริษัททัวร์ เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านที่เป็นจุดหมายปลายทาง คนที่หมู่บ้านนั้นก็ทำการจัดการเตรียมตอนรับไว้ล่วงหน้า ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมาก เพียงจัดอาหารเลี้ยงต้อนรับเท่านั้น แต่คนในหมู่บ้านออกมารอต้อนรับมากเกินไป มาแม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นที่ผิดสังเกตของทางการ เพื่อผมจึงได้รับการต้อนรับองระดับ ระดับที่หนึ่งคือการต้อนรับของชาวบ้าน ระดับที่สองคือการต้อนรับระดับทางการ เพื่อนผมจึงถูกตีตราว่าเป็นสายลับจากประเทศไทยไปโดยปริยายอย่างไม่ทันตั้งตัว

            ก่อนออกเดินทางจากประเทศไทย เพื่อนผมได้เตรียมวางแผนการท่องเที่ยวเอาไว้เป็นอย่างดี แต่เมื่อเจอการต้อนรับจากรัฐบาลทหารพม่าแล้ว แผนการท่องเที่ยวก็ต้องเปลี่ยนทันทีทันใด กล่าวคือ

            เพื่อนผมไม่ได้นอนบ้านชาวพม่าคนรู้จัก และไม่ต้องเสียเงินนอนโรงแรมด้วย ทหารพม่าจัดโรงแรมระดับสามดาวให้เพื่อนผมนอนฟรี ๆ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในพม่า อีกทั้งยังจัดทริปท่องเที่ยวให้เสร็จสับ มีรถรับส่งมาบริการอีกต่างหาก เมื่อตื่นนอน รถทหารก็มารอหน้าโรงแรมแล้ว จำได้ว่า ทหารพาเพื่อนไปเที่ยวทะเล ไปเที่ยวตลาดและสถานที่สำคัญทางศาสนา พาไปหาบุคคลที่เพื่อนผมอยากเจอ ตลอดระยะเลาที่อยู่ในพม่าแทบไม่ใช้เงินเลยนอกจากซื้อของฝาก ทุกย่างก้างของเพื่อนถูกจับตาโดยทหารพม่าเสมือนองรักษ์ส่วนตัว

           สรุปทริปนั้นไม่รู้ว่าจะร้ายหรือดีสำหรับเพื่อนผม แต่ที่แน่ ๆ มันเป็นเรื่องเล่าที่เพื่อนเอามาเล่าให้ฟังแล้วทุกคนก็นั่งขำกันจนท้องแข็ง และถูกเล่าต่อไปอีกเรื่อย ๆ

           ปล. บทความนี้หากมีความดีขออุทิศให้กับ ผศ.ศิวพร ชัยประสิทธิกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ประสิทธิวิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับผู้เขียน

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

๑๔ เมษายน ๒๕๕๕

 

เอกสารประกอบการเขียน

 

ศิวพร ชัยประสิทธิกุล. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตถึงปัจจุบันโดยสังเขป = Historical survey of Southeast Asia : HI 330. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550.

 

ฮอลล์, ดี.จี.อี. ประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ : สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร : A history of South-East Asia / ดี. จี. อี. ฮอลล์ ; บรรณาธิการ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ; คณะผู้แปล, ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2549.

หมายเลขบันทึก: 485132เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2012 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอบคุณนะคะ สำหรับข้อมูลและความรู้ที่แบ่งปัน ขอนำบางส่วนไปอ้างอิงในบันทึกที่กำลังจัดทำต้นฉบับด้วยนะคะ
  • เสียดายว่าตอนที่ไปเที่ยวพม่า ไปกับ Group Tour เลยไม่ได้รับบริการที่น่าประทับใจจากทางการพม่า เหมือนกับที่เพื่อนคุณวาทินได้รับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท