๓๑๐.สืบชาตาให้ตน แต่กลับปล้นชาตาชาติ


ผู้เขียนสังเกตเห็นในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งมองแล้วอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ทว่าถ้าไม่เข้าใจในประเด็นและฝึกสอนกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เกรงว่าวัฒนธรรมนี้จะฝังลึก จนยากจะปรับแก้ ดังที่เราเห็นกัน เช่น การยื้อแย่งของแจกตอนน้ำท่วมของเด็ก ๆ การยื้อแย่งมงกุฏของนางงาม และการยื้อแย่งบางอย่างในสภาฯ

 

      วานนี้ ๑๓ เมษายน ๕๕ ทางวัดได้จัดพิธีสืบชาตาประจำปีขึ้น ให้กับชุมชนและคนทั่วไป ที่เดินทางมาท่องเที่ยวทั้งใกล้และไกล เนื่องในวโรกาสแห่งเทศกาลวันปีใหม่ไทย (สงกรานต์)

     หมายความว่า ทุกคนมีอายุเพิ่มขึ้นอีก ๑ ปี + การก้าวย่างอีก ๑ ปี รวมคร่าว ๆ ๒ ปี เช่น คนอายุ ๒๐ เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ หรือ พ.ศ.ใหม่ ก็เท่ากับอายุครบ ๒๑ ปีตาม พ.ศ. และเป็นการย่างก้าวไปสู่อายุที่ ๒๒ ปี แห่งชีวิต

     การสืบชาตาให้กับตนเอง ก็แสดงถึงว่ามนุษย์มีความกลัวตายอยู่ในจิตใจลึก ๆ ทุกคน นอกจากนี้แล้วยังได้มีความปรารถนาเพื่อให้มีสุขภาพกายใจอยู่ในสุขภาวะที่ดีงาม ดังนั้น การสืบชาตา จึงเป็นพิธีกรรมที่สื่อให้เห็นถึงนิมิตแห่งคุณงามความดีทั้งระบบ หรือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อก้าวย่างต่อไปในอนาคตที่ยั่งยืน

     แต่สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตมานาน ครั้นไม่พูดก็จะหาว่าละเลย ครั้นพูดออกไปก็จะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสังคม แต่มองอีกครั้งถ้าพระไม่ชี้นำ แล้วใครจะก้าวตามได้?

     มีประเด็นอยู่ว่า ในพิธีกรรมการสืบชาตานั้น ทางวัดได้เตรียมการโดยการโยงด้ายไปทั่วบริเวณพระวิหาร นอกจากนี้แล้ว ยังได้ทำด้ายเผื่อเอาไว้ขนาดยาว ๑ วา ม้วนไว้ เพื่อประชาชนคนทั่วไป เมื่อมาจับจองที่นั่งนั้น ๆ แล้ว จะได้คลี่ด้ายออกมาพนมมือ-ถือไว้ก็ได้ หรือพันไว้รอบศรีษะก็ดี หรือพันไว้กับหอเสื้อผ้าของบุคคลในครอบครัวก็ไม่มีปัญหา ซึ่งแสดงถึงว่านั้นเป็นสิทธิ์ของญาติโยมเองที่จะถือเอาด้ายนั้นไปภายหลังเมื่อเสริจพิธี

     ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า เมื่องานเลิกแล้ว หรือพิธีกรรมยังไม่ทันสิ้นสุด แต่คนโดยมากมักช่วยกันดึงและดัน ในลักษณะเหมือนกับแย่งกันเก็บด้ายในส่วนของตน ๆ

     ผู้เขียนมองว่า วัฒนธรรมการยื้อ-เพื่อแย่งมาจากอะไรหนอ? ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมีด้ายประจำของตน ๆ อยู่แล้ว ใคร ๆ ก็ไม่สามารถแย่งกรรมสิทธิ์ของตนไป แต่ในกรณีดังกล่าวกลับกลายเป็นว่า "แย่งกันเก็บของใครของมัน" นั่นก็หมายความว่า แม้จะเป็นสิทธิการถือเอาของส่วนบุคคล  แต่ทำไมต้องแย่งเอา?

     ๑.กลัวจะช้ากว่าคนอื่น หรือไม่?

     ๒.ต้องการแย่งเพื่อความเป็นที่หนึ่งหรืออย่างไร?

     มันสะท้อนถึงวัฒนธรรมอะไรบางอย่างหรือไม่? ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นเหมือน  "การสืบชาตาให้กับตน แต่เป็นการปล้นชาตาของชาติ"  

     ผู้เขียนสังเกตเห็นในหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งมองแล้วอาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ทว่าถ้าไม่เข้าใจในประเด็นและฝึกสอนกันตั้งแต่เนิ่น ๆ เกรงว่าวัฒนธรรมนี้จะฝังลึก จนยากจะปรับแก้ ดังที่เราเห็นกัน เช่น การยื้อแย่งของแจกตอนน้ำท่วมของเด็ก ๆ การยื้อแย่งมงกุฏของนางงาม และการยื้อแย่งบางอย่างในสภาฯ  

     ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ โดยการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องเล็ก ๆ จากวัฒนธรรมเดิม ๆ เพื่อลูกหลานไทยในอนาคต?

 

หมายเลขบันทึก: 485128เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2012 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2012 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท