โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกไม่ได้เป็นเพียงทุนศึกษาต่อ : (๓) เป็นพื้นที่ติดตามพรมแดนความรู้ และสร้างความร่วมมือวิจัย


การจัดการพรมแดนความรู้ สู่การวิจัยไทย

โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกไม่ได้เป็นเพียงทุนศึกษาต่อ  : (๓) เป็นพื้นที่ติดตามพรมแดนความรู้ และสร้างความร่วมมือวิจัย

เช้าวันที่ ๘ เม.ย. ๕๕ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ของ RGJ Congress XIII    ผมมีโอกาสซักถาม ศ. ดร. วิชัย ริ้วตระกูล ว่ามีวิธีหา keynote  speaker มาพูดใน RGJ – PhD Congress อย่างไร    เพราะเห็นว่าท่านเหล่านี้ ได้มาสร้างสีสันให้แก่การประชุมอย่างดีมาก   ช่วยให้นักวิจัยได้ติดตามพรมแดนความรู้/พรมแดนการวิจัย  ในหลากหลายด้าน     

ผมจึงได้เรียนรู้วิธีการจัดการทุนวิจัย คปก. ว่าที่ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่อย่างที่เห็นนั้น    เพราะมีผู้มี ความสามารถสูงมาก มาช่วยกันทำงาน   สร้างพื้นที่การทำงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง ดึงดูดคนเก่ง ที่ทำงานตรงพรมแดนความรู้ในต่างประเทศเข้ามาร่วมงานกับ คปก.

เสน่ห์ของ คปก. คือ นศ. ป. เอกที่สมองดี และมีความสนใจใฝ่รู้ มีแรงบันดาลใจที่จะบากบั่นขยันขันแข็ง มุ่งมั่นทำงานวิจัยในเรื่องที่ตนสนใจ   นักวิจัยที่พรมแดนความรู้จำนวนหนึ่งต้องการนักศึกษาคุณภาพสูง เข้าร่วมงาน   โดยที่ในบางโจทย์วิจัยเขาต้องการ material หรือวัสดุวิจัย จากดินแดนภูมิภาคตะวันออกของโลกด้วย   นี่คือเสน่ห์ประการที่สอง    และเสน่ห์ประการที่สามคือกลุ่มวิจัยไทยที่มีขีดความสามารถและผลงานในระดับที่จะ ร่วมมือกับเขาได้  

ผมมองว่า RGJ – PhD Congress คือพื้นที่สำหรับให้นักวิจัยตรงพรมแดนความรู้จากต่างประเทศ กับทีมนักวิจัยไทย ได้มีโอกาสพบปะกัน   เพื่อหาลู่ทางความร่วมมือกันต่อไป   ผมอยากให้ สกว. และองค์กรวิจัย ในประเทศไทย หาทางเพิ่มคุณค่าของ RGJ – PhD Congress นี้ ตามแนวทางดังกล่าว

ดังตัวอย่าง เมื่อเที่ยงวันที่ ๗ เม.ย. ๕๕ ผมได้พบและคุยกับทีมของ NECTEC นำโดย รศ. ดร. อัศนีย์ ก่อตระกูล ที่มาร่วมงานนี้เพื่อพบและเจรจาความร่วมมือกับ Prof. Michel De Lara จากฝรั่งเศส ผู้เป็น keynote speaker เรื่อง Smart Grids and Renewable Energies : The Optimization Challenge   แสดงคุณค่าของคณิตศาสตร์ ประยุกต์ใน การออกแบบการควบคุมระบบที่มีความไม่แน่นอนไร้แบบแผน   ซึ่งในที่นี้เขาใช้กับระบบเครือข่าย สายไฟฟ้า    แต่ระหว่างฟังการบรรยายผมนึกถึงการประยุกต์ใช้ในการจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อนำน้ำ ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ   

ที่จริงทีมงานจัดการเครือข่าย คปก. สามารถใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจาก RGJ Congress ได้หลากหลายแบบ    และเดาว่าทีมงานของ ศ. ดร. วิชัย ริ้วตระกูล และ ศ. ดร. มนัส พรหมโคตร คงจะได้ทำอยู่แล้วในหลายด้าน   ที่ผมขอเสนอคือเอาไปใช้ตั้งโจทย์วิจัย ให้เป็นโจทย์ตรงพรมแดนความรู้ และมีการร่วมมือกับนักวิจัย่างประเทศ ที่ทำงานวิจัยตรงพรมแดนความรู้นั้น

โดยน่าจะมีทีมงาน ทำหน้าที่ “จับภาพ” พรมแดนความรู้ จาก RGJ Congress ทั้งจากผลงานในประเทศ  และจาก guest speaker เอาไปสังเคราะห์นำเสนอโจทย์วิจัยออกเผยแพร่   เท่ากับทีมงานจัดการเครือข่าย คปก. เพิ่มการทำงานเชิงสาระความรู้ หรือโจทย์วิจัย    โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโจทย์วิจัยให้เข้าสู่พรมแดนความรู้ มากขึ้น

อาจเรียกว่า เป็นการจัดการพรมแดนความรู้ สู่การวิจัยไทย    ที่จะเชื่อมโยงกับงานวิจัยวิชาการ ที่สนับสนุนโดยทุนวิจัยอื่นๆ ของ สกว.  และของแหล่งทุนอื่น

วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม. ย. ๕๕ 

 

หมายเลขบันทึก: 485096เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2012 07:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การจัดการพรมแดนความรู้ สู่การวิจัยไทย   หนูขอสนับสนุนความคิดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท