ชีวิตที่พอเพียง : 1535a. บันทึกของคนรักประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้


นักวิชาการสาขามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ น่าจะได้ทำวิจัยเป็นทีม ทำความเข้าใจภาพใหญ่ของสังคมไทยในด้านต่างๆ จากมุมมองของวิชาการหลากหลายด้าน เช่นเรื่องการศึกษา คมนาคม สิ่งแวดล้อม อาหาร ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ สัมมาอาชีวะ เป็นต้น

ชีวิตที่พอเพียง  : 1535a. บันทึกของคนรักประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้

ระหว่างนั่งดู DVD รายการ BBC เกี่ยวกับนก ที่ผมได้รับจาก อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์   ผมสังเกตว่าผู้มาให้ความเห็น เป็นนักวิขาการที่มีตำแหน่งทางวิชาการ แปลกๆ   และกลุ่มหนึ่งคือนักวิชาการสาขาประวัติศาสตร์   เช่น Professor of Ornithology History, lecturer of rural history, cultural historian, environmental historian, historian of  science เป็นต้น

ทำให้เกิดความฝัน ว่าในประเทศไทยเราน่าจะมีนักประวัติศาตร์ในสาขาย่อย เช่นนี้ กระจายสาขาย่อยออกไปสู่เรื่องราวในชีวิตของผู้คน  สาขาหนึ่งที่ผมอยาก ให้มีมาก   คือ education history   เราควรมีนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องราว วิวัฒนาการด้านการศึกษาของประเทศไทย    

ด้านระบบสุขภาพ นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ. สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กำลังดำเนินการจัดทำหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย   แต่นั่นก็ไม่ใช่ งานประวัติศาสตร์โดยตรง   เพราะคุณหมอโกมาตรเป็นนักมานุษยวิทยาการแพทย์   ผมอยากเห็นนักประวัติศาสตร์ทำงานวิจัยประวัติศาสตร์ด้านระบบสุขภาพไทย มองเชื่อมโยงกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ของสังคม

ประวัติศาสตร์ศาสนา ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ และมีรายละเอียดให้ศึกษาได้มาก   ผมมองว่า แค่ในช่วงชีวิตผม ๗๐ ปี ก็มีเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของศาสนา ที่เชื่อมโยงกับชีวิตผู้คนมากมาย   รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนาผ่านทางชีวิตผู้คน

เรามักจะบ่นกันว่า คนไทยไม่ใช่นักบันทึก   ดังนั้น เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ของสังคมไทยจึงมักสูญหายไป   การมีนักประวิติศาสตร์ทำวิจัยเรื่องราวต่างๆ ในวิถีชีวิตผู้คน น่าจะช่วยสร้างความตระหนักในคุณค่าของการบันทึกเรื่องราวสำคัญๆ ในวงการต่างๆ ของไทย

คิดดังนี้แล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า สกว. และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กำลังสนใจ หาทางส่งเสริมการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนสังคม   การจัดให้มีการจัดการ เพื่อให้มีนักวิจัยรุ่นเยาว์ (นศ. ปริญญาเอก  และอาจารย์ใหม่ไม่เกิน ๕ ปี) ทำงานวิจัยประวัติศาสตร์ไทย เป็นเครือข่าย   ทำคนละด้าน แล้วนำมาเสนอเพื่อ ลปรร. ในเครือข่าย   และฟังคำเสนอแนะของนักวิจัย อาวุโส จากหลากหลายสาขาวิชา   มีการประชุมสม่ำเสมอ เช่นทุกๆ ๓ เดือน     อาจเป็น วิธีสร้างนักประวัติศาสตร์สังคมยุคใหม่ ให้แก่ประเทศไทย   เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ นักประวัติศาสตร์ ให้แก่สังคมไทย

โดยต้องมีนักวิจัยระดับอาวุโส ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการหรือประสานงานเครือข่าย   มีผู้ช่วย และงบประมาณให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และมีงบประมาณจัดการประชุม   ซึ่งวิธีการแบบนี้ สกว. ชำนาญอยู่แล้ว

ข้างบนนั้น เขียนเมื่อวันที่ ๙ เม.ย. ๕๕   พอวันที่ ๑๒ เม.ย. ๕๕ ผมไปประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์   ได้ทราบว่าทางสถาบันกำลังเตรียมจัดการประชุม นานาชาติ เรื่อง Holistic Learning ในต้นปี ๒๕๕๖   สาระทางวิชาการของการประชุม มีความกว้างขวางมาก   โดยจะมี Prof. John P. Miller จากโตรอนโต และ Prof. Yoshiharu Nakagawa จาก Ritsumeikan University ผู้เขียนหนังสือชื่อ Education for Awakening มาเป็น keynote speaker

ทำให้ผมเสนอแนะต่อ รศ. ประภาภัทร นิยม รองอธิการบดี และผู้นำของ การประชุมดังกล่าวว่า น่าจะหาทางร่วมมือกับ สกว. และ ศมส. ทำงานวิจัย การศึกษา ไทยในภาพรวม โดยมองจากหลากหลายมุม ตั้งเป็นโจทย์วิจัยมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ จากสภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษาใน ๑๐๐ปี ที่ผ่านมา  และมอง ไปข้างหน้า ๒๐ - ๕๐ ปี  โดยจะต้องทำวิจัยจากทุกมุมศาสตร์ เช่น มานุษยวิทยา  ประวัติศาสตร์  สังคมวิทยา  การจัดการ  จิตวิทยา  ประชากรศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ (ด้านนี้ TDRI กำลังจับอยู่)  foresight  เป็นต้น

ขึ้นต้นด้วยประวัติศาสตร์   แต่ลงท้ายด้วยการศึกษา   ประเด็นสำคัญคือ ควรมีการทำความเข้าใจการศึกษาไทยจากหลากหลายแง่มุม คือมองหา “ความจริง” ของการศึกษาไทย โดยสวมแว่นหลายๆ สี รวมทั้งสีประวัติศาสตร์ และสี มองอนาคต (foresight)   เพื่อช่วยกันกอบกู้การศึกษาไทย

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๕  เพิ่มเติม ๑๓ เม.ย.๕๕

หมายเลขบันทึก: 485094เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2012 06:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นข่าวดีมากครับ จำได้ว่าสมัยนั่งเสวนากันกับเพื่อนรุ่นราวคราวตอนเรียนอยู่ต่างประเทศ เราบ่นกันว่าประเทศไทยมัวแต่สนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในที่สุดแล้วก็จะไม่เหลืออะไรในเชิงประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาเลย ดูได้ง่ายๆ ก็คือในรุ่นที่ได้ทุนมาเรียนในเวลาใกล้เคียงกันย้อนหน้าย้อนหลังไปสักห้าปีในเครือข่ายที่รู้จักกัน ไม่มีคนได้ทุนมาเรียนสิ่งที่นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลยครับ

กราบเรียน อาจารย์ครับ... เป็นบันทึกที่น่าสนใจมากครับ... ตามจริงน่าจะมีทุนที่ให้แพทย์ไปเรียนต่อด้านประวัติศาสตร์... หรือให้นักประวัติศาสตร์ไปเรียนแพทย์.... เพราะเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ... และสามารถเชื่อมโยงขับเคลื่อนและเข้าใจกับเวลาและสุขภาพ.... ....วิถีชีวิต...

เพราะวิจัยด้านสุขภาพที่ใช้วิธีวิทยาด้านประวัติศาสตร์ของไทย... ยังแคบมากครับ ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ครับ.... เชียร์ครับ... สุขสันต์ทุกวัน...สุขสันต์วันสงกรานต์...ขอบคุณเสมอมานะครับกับการได้อ่านบันทึกที่ดีและน่าอ่านนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท