ครูอาสา (๑)


 

ฉันได้รู้จักกับโครงการแม้ลมหายใจสุดท้ายก็ไม่ท้อ จากเมลที่เพี้ย (เพื่อน TOT) ส่งต่อมาให้ ข่าวสารนี้มาถึงฉันในวันที่ครูน้อยกลับจากไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่เป็นมะเร็งที่โรงพยาบาลพอดี  สามปีที่ผ่านมานี้นักเรียนชั้นประถมต้นที่โรงเรียนเป็นมะเร็งกันทุกปี แต่ละคนล้วนเคยเป็นเด็กแข็งแรง การต้องนอนป่วย หรือต้องนั่งจับเจ่าอยู่บนเตียงจึงสร้างทุกข์ให้กับพวกเขาไม่น้อย 

 

แรงบันดาลใจอย่างหนึ่งของการไปฝึกเป็นครูอาสา สอนหนังสือให้กับเด็กป่วยเรื้อรังที่โรงพยาบาลก็เพื่อจะไปเอาประสบการณ์มาดูแลเด็กที่โรงเรียนด้วย เหตุผลส่วนตัวอีก ๒ เรื่องก็คือฉันเกิดที่โรงพยาบาลราชวิถี และเป็นโรคโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย) ตั้งแต่กำเนิด แต่อยู่ในกลุ่มที่มีอาการไม่มากนัก  การได้มาบำเพ็ญประโยชน์เป็นครูอาสาจึงเป็นความสุขที่ได้กลับมาทำประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลแห่งนี้

 

ชีวิตครูอาสาเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ มกราคม ๕๕ ทุกคนที่ทางโครงการฯ ตอบรับ จะต้องไปรับการอบรมที่ห้องประชุมภารกิจบริการวิชาการ ชั้น ๓ ตึกมหิตลาธิเบศร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในวันนั้น อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์ (นักเขียนนิทานเด็ก) มาแนะนำการเลือกหนังสือ สาธิตวิธีการใช้หนังสือ วิธีสอน วิธีเข้าถึงเด็กๆ 

 

แพทย์หญิงพัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง  ผู้จัดการโครงการฯ และ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะบำบัดฮิวแมนเซ็นเตอร์(องค์กรสาธารณประโยชน์) ที่พวกเราเรียกกันว่าคุณหมอโจ้

ได้มาแนะนำให้เรามีความรู้ในเรื่องเด็กป่วยและการตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม  การเข้าถึงจิตใจ การสร้างความภูมิใจและแรงบันดาลใจ วันนั้นคุณหมอนำคลิปวิด๊โอมาฉายให้ดูเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราด้วย

 

นอกจากนี้ยังมี อ.แสงอุษณีษ์ นวะมะรัตน  มาช่วยจัดกิจกรรมกลุ่มกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเพื่อการเรียนรู้

 

ครูอาสารุ่นนี้มี ๒๒ คนด้วยกัน  สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มเป็นนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ  พี่ๆ วัยทำงานมีกันประมาณ ๘ คน มาจากโรงเรียนเพลินพัฒนา ๓ คน  

เมื่อถึงตอนเลือกวิชาที่จะสอน ครูหนึ่ง – ศรัณธร เลือกวิชาคณิตศาสตร์   ครูแคท - เลือกวิชาวิทยาศาสตร์  ฉันเลือกสอนวิชาภาษาไทย  นอกจากนี้แล้วก็ยังมีกลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ  และกลุ่มวิชาสังคมด้วย

 

แต่เนื่องจากเป็นกลุ่มที่แบ่งตามความสมัครใจ แต่ละกลุ่มจึงมีสมาชิกไม่เท่ากัน กลุ่มภาษาไทย มีสมาชิก ๔ คนคือ  คุณเดือน (แสงเดือน นนทเปารยะ)  คุณเอ๋ (สุรพี  อภิมังคลากร)   คุณสุ (สุภัทร์กัญญา เอกนิล)  และฉัน 

 

เป้าหมายที่คุณหมอโจ้ ผู้จัดการโครงการนี้ตั้งไว้สำหรับวิชาภาษาไทยคือ

  • เด็กอายุ ๘ ขวบขึ้นไป สามารถอ่านหนังสือเรื่อง “หิ่งห้อยอายแสง” หรือ “มดกับนกเขา” ได้
  • เด็กอายุ ๑๐ ขวบขึ้นไป สามารถอ่านหนังสือเรื่อง “มหัศจรรย์พันธุ์กล้วยในเมืองไทย” ได้

 

หนังสือทั้ง ๓ เล่มนี้ คุณหมอเลือกออกมาหนังสือที่มีอยู่ในห้องกิจกรรมเด็กของวอร์ด ม. ๖ ก. และให้สมาชิกกลุ่มช่วยกันคิดวิธีการที่จะพาให้เป้าหมายที่ตั้งไว้บรรลุผล

 

ทุกกลุ่มมีเวลา ๙ สัปดาห์ และต้องเลือกวันที่กลุ่มพร้อมมาปฏิบัติหน้าที่สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง  คนที่เป็นอีสุกอีใส และเป็นหวัด ห้ามมาปฏิบัติงานเด็ดขาด และใครที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนเลย ต้องไปฉีดวัคซีน และหลังจากฉีดยาแล้ว ๓๐ วันจึงค่อยมาปฏิบัติงาน

 

ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับบ้าน พี่มด – ธนพร หันหาบุญ ก็มาพาพวกเราไปรู้จักวอร์ด ม. ๖ ก ที่ต้องมาทำงาน และพาไปดูห้องที่จะใช้ทำกิจกรรม ระหว่างที่เดินเข้าไปในวอร์ดก็ได้พบกับเด็กๆ ที่นอนตาแป๋วอยู่บนเตียง และมองมายังพวกเราด้วยแววตากระตือรือร้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 484724เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท