เวียงโกศัย ตอน 4 "ความประทับใจกับภาพประวัติศาสตร์เมืองแพร่"


ความประทับใจกับภาพประวัติศาสตร์

ในชุดภาพประวัติศาสตร์เมืองแพร่นั้น ชมได้ไม่เบื่อ ยิ่งดูยิ่งมีความหมายจริงๆ ขอยกมาพอเป็นสังเขปดังนี้

รูป "ขนทรายเข้าวัดที่ริมน้ำยม" รูปนี้ถ่ายก่อนผมเกิดอีก  กิจกรรมชุมชนสมัยก่อน ทำกันทุกรุ่นทุกวัย ความใกล้ชิดของผู้คนทำให้งานกลายเป็นความสุข เป็นการเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นโอกาสสาวเจอหนุ่ม ผมชอบแฟชัน "หมวก" ในรูปนี้ เด็กๆเอาขันมาครอบอย่างไม่เคอะเขิน หัวใหญ่ก็แปะไว้ หัวเล็กขันลงมาพอดิบพอดี มีประแป้งว่อกพองามด้วย

วันมหาสงกรานต์ตามประเพณีล้านนาจะมีสามวัน คือวันที่สิบสาม สิบสี่ แล้วก็สิบห้า วันที่สิบสามเรียก "วันปากปี สังขารร่อง" เสมือนวันละทิ้งสังขารเดิม แล้วก็วันที่สิบสี่เป็น "วันเนาว์" เป็นวันที่จะมีกิจกรรมครอบครัว ชุมชนเยอะ ขนทรายเข้าวัดก็จะทำกันในวันเนาว์นี้ แต่ละบ้านแต่ละครอบครัวจะทำขนม ทำอาหาร เพื่อจะเตรียมสำหรับพิธีวันมหาสงกรานต์ในวันรุ่งขึ้น วันนี้ (วันเนาว์) เขาจะห้ามพูดจาด่าทอ หรือพูดคำไม่ไพเราะกันเลย มิฉะนั้นจะไม่เป็นสิริมงคล กลายเป็น "วันเน่า" ไป พอวันรุ่งขึ้นวันที่สิบห้า เรียก "วันมหาสงกรานต์" หรือ "วันพญาวัน" ก็จะทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ รำลึกและทำบุญกราบไหว้บรรพบุรุษผู้มีพระคุณ แต่ละวัน "พิธีกรรม" จะมีส่วนทั้งกิจกรรมและเป็นสัญญลักษณ์ให้ความหมายที่ลึกซึ้งของเส้นใยแห่งสายสัมพันธ์และคุณค่าของรากเหง้า ชุมชน

วันปากปี สังขารร่อง = เพื่อตน

วันเนาว์ = เพื่อครอบครัว

วันพญาวัน = เพื่อสังคมและชุมชน ญาติพี่น้อง

(credit รายละเอียดของประวัติศาสตร์ล้านนามาจาก อ.แอ๊ด ครับ ผมเองไม่ทราบหรอก อิ อิ เดี๋ยวจะนึกว่าผมมีอาชีพเป็นนักประวัติศาสตร์ไป)

รูป "ขบวนแห่ศพ" นี่เป็นพิธีกรรมเพื่อการเยียวยา ชาวบ้านชาวช่องมีองค์ความรู้ รู้จักใช้ social therapy หรือสังคมบำบัดมาแต่ไหนแต่ไหน แต่ตอนนี้เรากำลังทำสังคมแยก นั่งอยู่หน้าแป้นคีย์บอร์ด เลิกไปรวมพลกัน หรือรวมกันก็เพื่อทำลาย มากกว่าเพื่อการเยียวยากันเสียแล้ว

สมัยก่อน เมรุไม่มิดชิดแบบสมัยนี้ ใช้เผาแบบเมรุกองฟอน (เผาเปลือยกลางแจ้ง เอากองฟืนตั้งซ้อนเป็นชั้น แล้วก็เอาโลงวาง) เห็นการดับไปของสังขาร ผู้มาร่วมพิธีกรรมได้ใช้เวลานั้นปลงสังขาร เห็นสัจจธรรมในชีวิตของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปด้วย ไปงานศพก็เป็นการปฏิบัติธรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ในสังคม

และเมื่อผนวกกับความเชื่อเรื่องชาติภพ บ้างก็จะเพิ่มพิธีกรรม มีปราสาท วิมานแมน เป็นสัญญลักษณ์แทนสรวงสวรรค์ที่ผู้ตายจะได้ไปเกิดในภพภูมิอันเป็นสิริมงคลนั้นๆ การตายเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ (ทุกเชื้อชาติก็ว่าได้) เพราะเป็นสัจจธรรมที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเจอะเจอทั้งของตนเองและของคนที่รู้จัก เป็นพื้นที่ที่บริสุทธิ์ที่จิตหยาบจะได้ถูกขัดเกลา มองเห็นบทเรียนแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ว่ามัจจุราชนั้นเหนือความไม่แน่นอน ความฟุ้งเฟ้อ อำนาจ ความอหังการใดๆที่มนุษย์สรรค์สร้างจำลองขึ้นจากความมัวเมา จากอวิชชา พิธีศพมักจะมีเรื่องของธรรมชาติ ความสัมพันธ์ ความดี ความงาม ความจริง ที่คนไปร่วมจะได้ตกผลึก ถอดบทเรียนไปใช้ต่อกับชีวิตของตนเองต่อไปได้

รูป "เพื่อนงานศพ" เห็นพิธีกรรมเยียวยา เพื่อนฝูง ญาติมิตร มาเป็นเพื่อนศพกันตอนกลางคืน บางทีก็มีมหรสพ เพื่อแก้ความเศร้าโศก จะเห็นมีขวดเหล้ายา นั่นไม่ใช่กินแบบเป็นอบายมุข แต่เป็นวิธีที่คนเก่า คนแก่ จะมารวมตัวกัน พูดถึงสิ่งดีงาม ความดีที่ผู้ตายเคยกระทำไว้ พูดถึงความสนิทชิดเชื้อที่ผู้ตายมีต่อตนเอง เป็นการเยียวยาที่ดีที่สุดสำหรับญาติครอบครัวใกล้ชิดที่เหลืออยู่ ความไม่เข้าใจ คอยแต่จะไปแบน ไปห้ามที่ปลายเหตุ จะทำลายพิธีกรรมไปหมดสิ้น

รูป "ประท้วงเขาพระวิหาร" ปี พ.ศ.๒๕๐๑ ประวัติศาสตร์ย้อนรอย แต่เป็นการเดินประท้วงโดยสันติ ความมุ่งมั่นไม่แพ้สมัยนี้ แต่ทำไมดูมันช่างแตกต่าง อะไรคือความแตกต่าง?

รูป "การจราจรเมื่อร้อยปีก่อน" ปี ๒๔๕๔ ยุคเดียวกันในหนังสือของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เรื่อง "เจ้าพ่อ" และ "เจ้าเมือง" เลย คนไทยยังไม่ใส่รองเท้าเดิน คนมีฐานะขี่ม้า สวมหมวกกะโล่

รูป "ดาราหนังไทยแอ่วเมืองแพร่" ได้รับคำเฉลยจากผู้อาวุโสที่สุดในคราวนี้ (คือพี่อ้อย) ว่านี่คือคุณสุภัค ลิขิตกุล

รูป "สงกรานต์" จะเห็นได้ว่าครั้งหนึ่ง เล่นสงกรานต์เราอาศัยแค่ขันหนึ่งใบ น้ำลอยดอกมะลิ ประแป้ง ก็พอ น้ำนั้นเอานิ้วจุ่มประพรมกันแถวใบหน้าลำคอพอชื่นใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มียิ้มหื่น กักขฬะ เต้นแกว่งนมเปิดอกกันแบบสมัยนี้

หมายเลขบันทึก: 484720เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้มาเยี่ยมชมนิทรรศการบ้านร้อยปี ขอบคุณที่นำภาพเก่าในงานมาให้ชม+คำบรรยาย ได้รับความรู้เพิ่มหลายเรื่องเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท