"ครูซิ้ม"ผู้ทุ่มเท ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน


พัฒนาเด็กเร่ร่อน ครูอาสา ครูข้างถนน

 

    ฉากชีวิต‘ช่วยเด็กมีปัญหา’ ‘มลวิภา เจ๊ะอะหยอ’ ‘ครูซิ้ม’ผู้ไม่เคยคิดเกษียณ

       “ครูข้างถนน” นั้นเป็นกระบวนการถากถางทางให้กับ “เด็กเร่ร่อน” เปรียบดั่งบ่อน้ำเย็นชุบหัวใจให้เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ คำกล่าวนี้เสมือนเป็นคำคารวะจากสังคมที่ยกย่องคนกลุ่มนี้ซึ่งทำงานเชิงรุกเพื่อเด็กเร่ร่อน จนทำให้ปัญหาหนักอึ้งในอดีตบรรเทาเบาลง และไม่ว่าจะเป็นในชื่อใด จะในชื่อครูข้างถนน หรือ “ครูอาสา” ชื่อเหล่านี้ก็ครอบคลุมความหมายเพียงหนึ่ง คือการมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้เด็กกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ และในจำนวนครูข้างถนนเหล่านี้ ก็ยังมีครูข้างถนนจำนวนไม่น้อยที่ครั้งหนึ่งตนเองก็เคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในปัญหา แต่ได้รับโอกาส จากเด็กในปัญหา ก็เลยกลายเป็นคนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาได้อย่างน่าชื่นชม อย่างเช่น “ครูซิ้ม - มลวิภา เจ๊ะอะหยอ”

      “เราเคยอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับคำว่าเด็กเร่ร่อนมาก่อน และเราก็เคยเป็นเด็กด้อยโอกาสคนหนึ่งที่เคยได้รับโอกาสจากครูข้างถนน เมื่อวันที่เราพ้นออกมา เราก็กลับมาคิดว่าเราน่าจะสามารถทำอะไรที่น่าจะมีประโยชน์กับโอกาสที่เราเคยได้รับนี้ได้บ้าง เราก็เลยกลับมาทำงานต่อให้กับมูลนิธิ” นั่นเป็นจุดพลิกจุดหนึ่งที่ ครูซิ้ม - มลวิภา เจ๊ะอะหยอ แห่ง มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เล่าให้เราฟัง กับแรงจูงใจจากอดีต ที่ทำให้อาสามารับภารกิจครูข้างถนนเพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน

      เธอเล่าว่า ในวัยเด็กอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดกับแม่และยาย แม่เธอต้องออกไปทำงานนอกบ้านจนไม่มีเวลาดูแลเธอ ทั้งยายก็มีอาการอัมพาตขยับตัวหรือดูแลเธอไม่ไหว เธอจึงออกไปใช้ชีวิตกับกลุ่มเพื่อนละแวกเดียวกัน เที่ยวตระเวนคุ้ยขยะเดินขอทานเพื่อหาเงินไปเรื่อยๆ และไม่ได้เรียนหนังสือ จนเมื่ออายุ 8 ขวบ ได้พบเจอกลุ่มครูข้างถนนที่มาเปิดศูนย์สอนหนังสือให้กับเด็กที่ติดตามพ่อแม่มาทำงานก่อสร้าง ครูเหล่านั้นสอบถามเธอว่าอยากเรียนไหม ถ้าอยาก ให้มาที่ศูนย์ชั่วคราวที่มีลักษณะเป็นเพียงเพิงข้างถนนสำหรับสอนเด็กเร่ร่อน เธอจึงอ้าแขนรับทันที

      “ตอนนั้นอายุประมาณแปดขวบเก้าขวบ ถ้าเรียนตอนนั้นก็คงเรียนอยู่ชั้น ป.5 ป.6 แล้ว แต่ไม่ได้เรียนเพราะไม่มีเงิน” ครูซิ้มบอกถึงเหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถเข้าโรงเรียนได้ จนเมื่อครูข้างถนนมาเจอเธอและชักชวนให้มาเรียนที่ศูนย์ชั่วคราวที่มีสภาพเป็นเพิ่งสังกะสีข้างถนนใกล้กับสถานที่ก่อสร้าง แม้จะต้องเดินเท้าไปเรียนเองไกลถึงกว่าหกกิโลเมตร แต่เธอบอกว่า ไปเสมอ ไม่เคยขาด เพราะอยากเรียนหนังสือเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ จนต่อมาเมื่อครูเห็นว่าเธอจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือต่อเนื่อง หากไม่ช่วยอาจเสี่ยงตกไปอยู่ในวังวนปัญหา จึงได้มาพูดคุยกับแม่ของเธอเพื่อบอกว่าทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจะช่วยดูแลในเรื่องนี้ เธอจึงมีโอกาสได้เข้าโรงเรียนในระบบจริงจังเป็นครั้งแรกในชีวิต

      “ครูมาขอ แม่ก็อนุญาต ไปสอบเข้า ป.5 แรก ๆ ก็พอได้ แต่ทีนี้พอไปเรียนในระบบมันก็มีปัญหาอีก คือเราไม่มีคนสอนการบ้าน แม่สอนไม่ได้ สุดท้ายเพื่อนชวนว่าถ้าไม่ส่งการบ้านครูตีนะ ก็ชวนกันหนีเรียนเพราะไม่อยากถูกตี หนีเลย 2 เดือนไม่มาเรียนเลย จนมีจดหมายส่งมาที่มูลนิธิ แม่รู้ก็โกรธมาก ด่าใหญ่เลย ทีนี้ครูเขาสอบถามก็เลยรู้ปัญหา เขาก็เลยคุยกับแม่ว่าขอให้เรามาอยู่ในมูลนิธิ จะได้มีคนช่วย เราก็เลยมาอยู่ในความดูแลของมูลนิธิตั้งแต่นั้น ถ้าครูไม่เข้าใจปัญหา ครูก็คงคิดว่าเราไม่เอาแล้ว แต่นี่ครูเขาเชื่อว่าปัญหาของเราไม่ได้เกิดจากความไม่อยากเรียน แต่เราต้องมีปัญหาอื่นทับซ้อนอยู่ เขาจึงพยายามทำความเข้าใจด้วยการซักถามจากเรา เมื่อรู้ปัญหา การแก้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก อันนี้ก็เป็นความประทับใจที่เรารู้สึกต่อบทบาทของครูข้างถนน” เป็นความรู้สึกที่ทำให้รับไม้ผลัดส่งต่อเจตนารมณ์ครูข้างถนนรุ่นก่อน ๆ

      หลังตั้งใจเรียนจนจบปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์ ก็มีเพื่อนหลายคนชวนให้ทำงานด้านเนิร์สเซอรี่ เพราะเห็นว่ารักเด็ก ระหว่างกำลังตัดสินใจ เผอิญ “ครูหยุย-วัลลภ ตังคณานุรักษ์” ซึ่งนับถือเสมือนพ่อ เอ่ยถามว่า จบแล้วจะทำอะไร สนใจทำงานกับมูลนิธิไหม เธอก็คิดว่าอยากตอบแทนมูลนิธิและครูหลายคน จึงตกลง จากวันนั้นถึงวันนี้ก็สิบกว่าปีแล้ว

เธอบอกว่า บทบาทครูข้างถนนครอบคลุมหลายเรื่อง เพราะเด็กแต่ละคน ชุมชนแต่ละแห่ง ก็มีปัญหาแตกต่างกันออกไป วิธีการหนึ่งเครื่องมือชิ้นหนึ่งอาจใช้แก้ปัญหาข้อหนึ่งได้ แต่อาจใช้ไม่ได้เลยกับปัญหาข้อต่อ ๆ ไป ครูข้างถนนจึงต้องพัฒนาวิธีการและเครื่องมือเสมอเพื่อให้ทันกับปัญหาของเด็ก ของสังคม เพราะเป็นการทำงานเชิงรุกที่ลุยลงไปในใจกลางปัญหา ไม่ได้ตั้งรับอยู่กับที่ สิ่งสำคัญที่ครูข้างถนนต้องพกติดตัวเวลาออกไปทำงานด้วยเสมอ ๆ และกับทุก ๆ คน คือ “หัวใจที่ปรารถนาดี” ที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้ก้าวข้ามพ้นออกมาจากปัญหา บางครั้งแม้จะท้อบ้าง ร้องไห้บ้าง พบกับความผิดหวังที่ไม่เหมือนกับความคาดหวังบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และเก็บกลับมาเป็นประสบการณ์

      ส่วนประเด็นที่หลายคนคิดว่าปัญหาเด็กเร่ร่อนลดลง เธอกล่าวว่า จากการทำงานเชิงรุกต่อเนื่องของครูข้างถนนและหลายมูลนิธิที่ทำด้านนี้ ก็มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงไปได้ แต่ปัญหายังไม่หมด หากแต่เปลี่ยนเป็นปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งแทน เนื่องจากเด็กเร่ร่อนกลุ่มเดิมเติบโตกลายเป็นวัยรุ่น ปัญหาเด็กจึงกลายเป็นปัญหาวัยรุ่นแทน ขณะที่ปัญหาใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาแทนก็คือ ปัญหาจากเด็กเร่ร่อนชาวต่างชาติ ที่เข้ามาแทนเด็กเร่ร่อนกลุ่มเก่า

      “การทำงาน ก็ยังคงต้องทำงานเชิงรุกต่อไป อย่างน้อยก็เพื่อบรรเทาปัญหาไม่ให้เพิ่มขึ้น เพราะสังคมเปลี่ยน ปัญหาก็เปลี่ยน ดังนั้นเราก็หยุดทำไม่ได้ มีคนเคยถามว่าเราจะเกษียณตัวเองเหมือนอาชีพอื่นไหม ตอบได้เลยว่าไม่ แม้ว่าเราจะมีครอบครัวมีลูกของเราเองแล้ว แต่เรายืนยันว่าความรักในตรงนี้ไม่เคยลดน้อยลงเลย เพียงแต่ในอีกช่วงเวลาหนึ่งเราเองก็อาจต้องส่งไม้ผลัดให้น้อง ๆ รุ่นต่อไปก้าวเข้ามา เราก็ต้องขยับไปทำงานในอีกบทบาทหนึ่ง แต่ยืนยันว่าจะยังอยู่ในเจตนารมณ์เหมือนเดิม เราคิดว่าครูข้างถนนคนอื่น ๆ ก็คงคิดคล้ายกันกับเรา” เป็นการทิ้งท้ายหนักแน่น สะท้อนหัวใจครูข้างถนน… “ครูซิ้ม - มลวิภา เจ๊ะอะหยอ”

 
      บทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2555

หมายเลขบันทึก: 484657เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอส่งกำลังใจไปให้คุณครูซิ้มด้วยนะครับ ;)...

ส่งกำลังใจด้วยจิตคารวะเจ้า :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท