ชมสวน(1) : สูตรปลูกผักหวานป่าที่ประหยัดที่สุด ตอนที่13


เพียงพื้นที่เล็กกว่าจะสร้างป่าให้ได้เท่านี้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี นับประสาอะไรกับธรรมชาติตามป่าเขาลำเนาไพรกว่าจะได้คำว่างดงามในวันนี้

 

     กับช่วงเวลานี้(ใกล้ๆวันสงกรานต์)ของทุกๆปีสำหรับผักหวานป่าอีกไม่กี่วันก็จะถึงฤดูกาลสุกของเมล็ดพันธุ์ให้ได้ขยายพันธุ์เพาะปลูก ในส่วนของฝนฟ้าที่โปรยปรายในช่วงนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับคนปลูกต้นไม้(เกษตรกร)...

 

...หลายปีแล้วที่ไม่ได้ออกจากสวนไปไหนในช่วงเทศกาล(ปีใหม่ สงกรานต์)รถเยอะ คน(เมา)เยอะก็เลยอยู่บ้านเล่นน้ำกับต้นไม้ดีกว่าค่ะ(ช่วยชาติประหยัดน้ำมัน)

 

...วันนี้ดิฉันขอนำทุกๆท่านเที่ยวชมต้นไม้ภายใน อุฑยานผักหวานป่า'๔๔ สำหรับในช่วงฤดูแล้ง(ฤดูหนาว,ฤดูร้อน) นับเป็นปีที่ต้นไม้ในสวนร่มรื่นที่สุดตั้งแต่ปลูกเพียรต้นไม้ ย่างเข้าปีที่15ในปีนี้ค่ะ...

 

...เนื่องจากสภาพพื้นที่ภายในสวนมีลักษณะพื้นดินที่สูงต่ำแตกต่างกันออกไป และส่วนมากทำงานสวนกันสองคนเป็นหลัก(ข้าพเจ้าและคุณโอภาส ไชยจันทร์ดี) ดังนั้นในแต่ละจุด(โซน)ของสวนจะมีชื่อเรียกเพื่อสื่อสารกันเวลาทำงานค่ะ(การทำสวนในระบบวนเกษตร-เกษตรผสมผสานใช้เพียงแรงงานในครอบครัวก็ทำได้ค่ะ)...

 

1.ภาพนี้เป็นประตูหน้าทางเข้าสวนค่ะ โซนนี้เรียกเกาะจันทร์ผา กลุ่มผักหวานหน้าบ้านค่ะ...

2.โซนนี้เรียกเกาะจันทร์ผาผักหวานป่าประตูทางเข้าด้านหน้าสวนค่ะ บริเวณเดียวกันกับภาพที่1 ต้นไม้ที่ยืนต้นตายในภาพคือต้นตะขบค่ะต้นผักหวานป่ากลุ่มที่อยู่บริเวณโคนต้นปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่7 อยู่ได้แม้ไม่มีต้นตะขบ...

 

3.ด้านหน้าจากประตูทางเข้าสวนที่เห็นรถจักรยานยนต์วิ่งผ่านเป็นถนนทางเข้าหมู่บ้านหนองอ้อน้อยและบ้านกุดกว้าง(หมู่บ้านที่ลำน้ำพองล้อมรอบจึงเป็นเกาจึงออกได้สะดวกทางเดียวเส้นนี้ค่ะ)...

 

4.จุดนี้เรียกโซนเรือนเพาะชำค่ะ เป็นแปลงสาธิตวิธีปลูกผักหวานป่าที่อยู่หน้าบ้านค่ะ(จากการที่มีคนแก่ผู้สูงอายุมาเยี่ยมชมสวนบางท่านเดินชมในสวนไม่ไหว จึงได้เกิดแปลงผักหวานตรงนี้ขึ้นมาค่ะ)...

 

5.ภาพนี้เป็นที่จอดรถอยู่ด้านหน้่าเรือนเพาะชำ(ภาพที่4) ที่อยู่ติดบ้านค่ะ...

 

6.ภาพนี้เรียกผักหวานป่าบ้านหลังเก่า(บ้านผักหวาน) แต่เดิมตรงจุดนี้เป็นบ้านหลังจากที่รื้อบ้านออกแล้วจึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นเรือนเพาะชำ และทดลองปลูกผักหวานกับต้นตะขบโดยทำการปลูกในจุดที่เป็นหลุมเสาบ้านเดิม(ทุบขอบปูนหลุมกว้าง50ซม.-1เมตร) ซึ่งผักหวานป่าได้ให้คำตอบ ต้นตะขบอยู่ได้ที่ไหนที่นั่นก็มีผักหวาน ในภาพต้นตะขบยืนต้นตายและปีนี้อายุของต้นผักหวานป่าย่างเข้าสู่ปีที่7ค่ะ...

 

7.โซนเดียวกันกับภาพที่6 แต่ถ่ายคนละด้าน(ที่ปล่อยให้ต้นสูงเพื่อต้องการให้เป็นต้นพ่อแม่พันธุ์ไม่เก็บยอดจำหน่าย)และปีนี้ผักหวานก็กลุ่มนี้ก็ทำให้คนชื่นใจกับการรอคอย7ปี (ได้ต้นตัวเมีย 3ต้น)...

 

8.โซนนี้เรียกถนนเข้าสวน(ต่อจากหน้าบ้านภาพที่3,5)...

 

9.โซนเดียวกันกับภาพที่8ค่ะ เพียงถ่ายออกมาจากมุมด้านในสวนป่าผักหวานหลังบ้าน ปลูกผสมผสานร่วมกับมะขามหวาน...

 

10.โซนนี้เรียกถนนเส้นหลังบ้านค่ะ แต่ก่อนตอนที่ข้าพเจ้าเข้ามาอยู่ใหม่ๆ(2540)ไม่มีต้นไม้เลยค่ะร้อนมาก(มีเพียงต้นตระคร้อและขนุนต้นเล็กๆ) ต้นจันทร์ผาอายุประมาณ10ปีค่ะ นำเมล็ดมาเพาะปลูกตั้งแต่เป็นต้นกล้าเล็กๆ(คุณโอภาสเป็นมือขุด ข้าพเจ้าเป็นมือปลูก)...

 

***วันนี้ขอนำชมรอบๆบ้านก่อนนะคะ บันทึกฉบับหน้าจะได้พาเข้าสวนด้านในค่ะ(ได้เวลาทำกับข้าว หมา แมว คนเริ่มงอแงแล้ว)*** ขอบคุณและสวัสดีค่ะ ***

 

หมายเลขบันทึก: 484397เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2012 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

สวัสดีครับคุณน้อย

   สะบายดีทั้ง2คนนะครับ (พี่โอภาส) คุณน้อยอาจจะจำชื่อผมไม่ได้พี่โอภาสน่าจะจำชื่อผมได้ชื่อพงศธร(หรืออาจจจะจำไม่ได้เพราะนานถึง3ปีแล้ว) ผมเคยไปเรียนรู้ที่สวนประทับใจผักหวานป่ามากๆ ผมประสบความสำเร็จในการปลูกผักหวานป่าเพราะคุณน้อยและพี่โอภาสครับ ทุกวันนี้ผมมีความรู้สึกรักและประทับใจต้นตะขบมากๆขับรถผ่านหรือเห็นต้นตะขบที่ไหนก็จะมองดู
   ปีนี้ผมวางแผนปลูกยางพาราระยะแถวของต้นยางพาราของผมจะกะว่าจะวางห่างถึง9เมตร(คิดไว้ในใจยังไม่ได้ลงมือ) ถ้าผมทำจริงคนอื่นเห็นคงจะแปลกใจที่ผมใช้ระยะห่างถึงขนาดนั้นและเขาคงจะแปลกใจมากกว่านั้นอีกเพราะผมยังวางแผนในใจอีกว่าจะปลูกตะขบแซมยาง เหตุผลที่ปลูกตะขบแซมยางด้วยเหตุผลง่ายๆ2ข้อครับ

  1. ต้องการปลูกผักหวานป่า
  2. ใบและลูกตะขบเปื่อยย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ไวดี ทำใหดินร่วนซุยเป็นปุ๋ยให้ทั้งผักหวานและยาง ขอเรียนถามคุณน้อยครับ
  3. 6 - 7ปีขึ้นไปกิ่งและใบของยางพาราชนกันทำให้ต้นผักหวานแทบจะไม่ได้รับแสงแดดผักหวานจะแตกยอดให้เราเก็บหรือไม่ครับ
  4. ปลูกตะขบแซมยางคุณน้อยเห็นว่าดีหรือไม่ อย่างไร

ขอบคุณมากๆครับ

* มาชมสวนผักหวานที่ร่มรื่นมากค่ะ..

* เก็บภาพสวนเล็กๆที่บ้านมาฝากค่ะ

แวะมาชมสวนค่ะ

ร่มรื่นดีจังค่ะ

ที่บ้านก็คล้ายๆแบบนี้ค่ะ

มีผักทุกชนิดแต่ก้ไม่เยอะมากนัก

เนื่องจากพื้นที่จำกัดค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณพงศธร โพนะทา...ดิฉันและคุณโอภาสสบายดีค่ะ คุณพงศธรสบายดีเช่นกันนะคะชื่อนี้ยังจำได้ดีค่ะเพราะในบรรดาชื่อที่ลงไว้ในสมุดเยี่ยมไม่มีชื่อซ้ำกับคุณพงศธรเลยค่ะ(ชื่อแปลกดีค่ะ)คุณสิน ปัญจิตรปละคุณประภาส ตุธรรมทั้งสองท่านสบายดีนะคะ...

...ยินดีต้อนรับเข้สู่Gotoknowค่ะ...

...คุณพงศธรกับเพื่อนๆมาเยี่ยมชมสวนเมื่อ 14มิถุนายน2552 ค่ะ...

...ต้นตะขบต้นผักหวานของคุณพงศธรโตขนาดไหนแล้วเก็บภาพมาให้ชมหน่อยนะคะ...

...ดีใจค่ะที่คุณพงศธรเข้ามาเป็นสมาชิกบ้านหลังเดียวกันแล้วจะได้เล่ามุมผักหวานป่ากับตะขบแห่ง อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ให้รับรู้ส่วนหนึ่งก็จะได้เป็นแรงบรรดาลใจให้ท่านอื่นๆด้วยค่ะ...

...ที่คุณพงศธรถามเกี่ยวกับการวางแผน(ขึ้นรูปในใจ)กับการปลูกยางพาราร่วมกันกับผักหวานป่า ระยะความห่างระหว่างต้นยาง7-9เมตร หากพื้นที่เยอะถือว่าดีค่ะ. เพราะระหว่างแถวตรงกลางของระยะ7-9เมตรต้องปลูกต้นตะขบ...

...ตัวอย่างรูปแบบยางพารากับผักหวานป่าค่ะ

     0      *              *       0
             *      #      *                                                               
     0      *              *       0                                 
             *       #     *                                                                     
     0      *              *       0                                    

...0 = ต้นยางพารา # = ต้นตะขบ * = แถวของผักหวานป่าที่อยู่ใต้ร่มเงาตะขบและอยู่ ใต้ร่มเงายางพาราค่ะ...

...ในประเด็นที่ถามหากยางพาราอายุ6-7ปีแผ่กิ่งก้านออกมาปกคลุมผักหวานป่าที่ปลูก ผักหวานจะออกยอดหรือไม่ ขอตอบว่าไม่มีผลกับผักหวานค่ะเนื่องจากผักหวานออกยอดในฤดูหนาว-ฤดูร้อน ยางพาราผลัดใบค่ะหรือแม้จะมีร่มเงาปกคลุมผักหวานก็ออกยอดปกติค่ะ...

...ในการวางแผนปลูกยางพาราร่วมกันกับผักหวานป่าคู่กับต้นตะขบตั้งแต่เริ่มแรกที่ปลูก เมื่อต้นตะขบย่างเข้าสู่ปีที่2-3จะต้องควบคุมความสูงของต้นตะขบ(ทำสาว)ให้ต้นมีความสูงจากพื้นดินประมาณ3-3.5เมตร เพื่อเปิดแสงแดดให้กับต้นยางพาราแต่ต้นตะขบก็ยังอยู่ผักหวานที่ปลูกและยางพาราก็จะเจริญเติบโตไปพร้อมๆกันค่ะ

...การเกษตร-ต้นไม้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการเวลา(สำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้)และต้องใช้เวลา(สำหรับผู้ปลูก) ในสูตรผสมผสานกันระหว่างยางพารา ตะขบ ผักหวานป่า(บริเวณโคนต้นตะขบปลูกไม้ผลลองกอง มะไฟฯลฯหรือไม้ใช้งานยางนา ประดู่ พยุงฯลฯ ไปพร้อมๆกันได้ยิ่งดีค่ะ) ในสูตรนี้หากวางแผนให้ดีตั้งแต่แรกเริ่ม บอกได้เลยค่ะสบายถึงลูกหลาน...

...รูปแบบแปลงยางทำแบบคร่าวๆนะคะ หากไม่เข้าใจขอให้คุณพงศธรนำภาพพื้นที่จริงมาประกอบการวางแผนด้วยก็ได้ค่ะจะให้คุณโอภาสช่วยแนะนำด้วยค่ะ หากรูปแบบยางพารากับผักหวานได้เกิดขึ้นจริงก็จะดีค่ะจะได้เป็นต้นแบบในโซนจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียงเพื่อศึกษาดูงานในอนาคตค่ะ...

...วางแผนปลูกสูตรนี้ปลูกผักหวานได้ทั้งสายพันธุ์ใบรี ใบมน ใบแหลมค่ะ...

ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อเมืองไทยชุ่มเย็นและสมบูรณ์ด้วยอาหารปลอดภัยนะคะ ปลูกที่ไหนก็เมืองไทยแผ่นดินเดียวกัน

จะปลูกผักหวานในแปลงยางต้องมีต้นตะขบค่ะหากปลูกผักหวานกับยางพารา"ปลูกได้"แต่โตช้ามากค่ะ ระบบน้ำคือหัวใจสำคัญ(น้ำหยดได้ยิ่งดี) และที่สำคัญปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยชีวภาพนะคะ

ขออภัยค่ะคุณพงศธร พยายามอธิบายภาพให้เป็นแถวแล้วก็ยังแตกแถวจนได้(เรื่องคอมก็ยังเรียนรู้อยู่ค่ะ ถูๆไถๆพอไปได้)

เอารูปผักหวานที่ถ่ายไว้ครั้งสุดท้าย(อายุ2ปี6เดือน)มาให้ชมครับ จะครบ3ปีเต็มเดือนมิถุนายนนี้ครับ

 ขอบพระคุณค่ะคุณนงนาท ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ...

...สวนข้างบ้านท่านดูเขียวสดชื่นเย็นใจดีค่ะ บ้านในเมืองแต่ต้นไม้ใบหญ้าได้อยู่รอบๆบ้านสุขทั้งคนและต้นไม้นะคะ.

อีกครับ (ผมยังใหม่กับเว็บนี้อยู่ต้องขออภัยครับ)

 ขอบพระคุณค่ะคุณBonnie สำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ...

...สำหรับปลูกต้นไม้ในความคิดเห็นของดิฉันขอบอกว่าพื้นที่น้อยๆดีแล้วค่ะทำได้พอดีแรงกายแรงใจแบบพอเพียง...

 ขอบพระคุณค่ะ ท่านดร.ธวัชชัย สำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ...

...ปลูกต้นตะขบไว้ได้มากกว่าผักหวานค่ะ.

ผักหวานป่าก็มีตัวผู้ตัวเมียเหมือนมะละกอเลยเนาะ

วันก่อน ปั่นจักรยานไปตลาด เห็นต้นไม้ยืนตายเป็นแถวเป็นแนวสูง

แต่ต่ำลงมา ใต้ต้นที่ยืนตาย จะมีไม้พุ่มรุ่นกลางๆอยู่ที่กอเดียวกันทั้งสวนเลย

ข้ามถนนไปจดๆจ้องๆ มันต้นอะไรนะ ก็ดูไม่ออก มีคลองรกๆกั้นอยู่

แถมบ้านกลางทุ่งซ้ายมือนั้น ยังมีต้นตะขบใหญ่ๆเรียงตั้งสี่ต้นแน่ะ

คิดถึงคุณน้อยกับพี่ตะขบผักหวานป่าขึ้นมาทันทีเลย

ขอบคุณมากนะคะที่นำภาพมาให้ชื่นใจ

 

 ขอบคุณค่ะพี่ตะวัน ขอบคุณที่คิดถึงกันสบายดีนะคะ...เก็บภาพเพิ่มเติมอยู่ค่ะจะทยอยๆนำมาฝากค่ะ...

 ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะคุณปริม...

อภิชาติ สลางสิงห์

อยากดูภาพผักหวานในสวนยางจังเลยครับ

 สวัสดีค่ะคุณอภิชาติ...ผักหวานป่าในสวนยางยังไม่ได้ปฏิบัติในระดับเป็นแปลงทดลองค่ะ แต่ถ้าหากคนที่จะปลูกยางพาราร่วมกับผักหวานป่าหรือที่มีแปลงยางพาราแล้วอยากจะปลูกผักหวานป่าเสริมเพิ่มเติม อุฑยานผักหวานป่า'๔๔ สามารถแนะแนว แนะนำความรู้ได้ค่ะ...สำหรับแปลงทดลองของอุฑยานผักหวานป่าเชื่อว่าอีก2-3ปีถึงจะมีข้อมูลและรูปถ่าย...

  • เมื่อสมัยคุณมะเดื่อยังเด็ก ๆ 
  • แถว ๆ บ้านคุณมะเดื่อ ผักหวานป่าหาง่ายจ้ะ
  • ออกไปริมทุ่งชายป่าก็หาได้
  • สมัยนี้ไม่มีแล้ว
  • ขอบคุณจ้ะ
 สวัสดีค่ะคุณมะเดื่อ ขอบพระคุณที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมชมสวนผักหวาน....

...ทุกวันนี้พืชพื้นถิ่นหลายๆชนิดที่เคยหากินได้อย่างง่ายดายไม่ต้องซื้อหา-แย่งกัน แต่วันนี้เริมหมดไปในหลายพื้นที่ค่ะ...

...เป็นหน้าที่ของผู้รู้ทั้งหลายที่จะช่วยอนุรักษ์และแนะนำลูกหลาน ให้พื้นคืนอาหารเป็นยาและเอกลักษณ์พื้นถิ่นของไทยค่ะ...

สวัสดีครับคุณน้อย จากที่ได้ปลูกผักหวานคู่กับตะขบและทำให้ตะขบงามดี ทนแล้ง ปลูกปีแรกหมดฝนไม่รดน้ำผักหวานก็ไม่ตาย อยากถามคุณน้อยเพิ่มเติมก็คือเคยปลูกไม้ป่า ไม้ผล คู่กับตะขบบ้างหรือเปล่าครับ ปลูกห่างแค่ไหนและผลเป็นอย่างไร ขอบคุณมากครับ

 สวัสดีค่ะคุณพงศธร...ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยือน.

...ผักหวานป่าสายพันธุ์ใบมน-ใบรี(ผักหวานโคก) เป็นสายพันธุ์ที่ทนกับสภาพความแห้งแล้งได้ดีค่ะ แต่ภายใน4-5ปีแรกต้องมีต้นตะขบให้ร่มเงา หากต้นตะขบตายขณะผักหวานป่าอายุได้1-3ปีผักหวานจะหยุดชะงักการเติบโต(ปรับตัว-เสียเวลา)แต่ไม่ตาย.

...ประโยชน์ที่เห็นกับตะขบอีกอย่างเมื่อปลูกผักหวานป่าภายใต้ร่มเงาคือการประหยัดน้ำเพราะต้นตะขบมีร่มเงาตลอดทั้งปีทุกฤดู ดังนั้นผักหวานที่ปลูกไว้ภายใต้ร่มเงาของตะขบถึงแม้จะไม่ได้รดน้ำเลยก็ไม่ตายค่ะ(รวมถึงสายพันธุ์ผักหวานป่าที่ปลูก).

...ในการค้นคว้าตามหาสูตรปลูกของผักหวานป่าของคุณโอภาส และดิฉัน กว่าจะมาถึงต้นตะขบนั้นได้ทำการปลูกผักหวานป่าร่วมกับต้นไม้หลากหลายชนิด ทั้งไม้ป่า(ไม้เศรษกิจ)ประดู่ สักทอง ยางนา ยมหอม กฤษณา ยูคาลิปตัส ฯลฯ ไม้ผลเช่น มะม่วง มะขาม(ทั้งเปรี้ยวและหวาน) กล้วย มะพร้าว ส้มโอ ขนุน ลำใย ลิ้นจี่ ลองกอง ฯลฯ ไม้ป่าไม้ผลพืชผัก(ประเภทไม้พื้นถิ่น)เช่น สะเดา ตะโก สะแก แค มะไฟ มะแงว มะงาว มะม่วงป่า ฯลฯ โดยการปลูกชิดคู่กับต้นและปลูกช่องว่างระหว่างแถว(ใต้ร่มเงา) คำตอบที่ได้คือผักหวานป่าสามารถปลูกร่มกับต้นไม้ชนิดต่างๆได้ แต่!สิ่งที่แตกต่างจากต้นตะขบคือการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าแม้จะดูแลรดน้ำให้ปุ๋ยให้ดีเท่าๆกันก็ตาม.

...เท่าที่ปลูกทดสอบในกลุ่มเครือข่ายไม้ผลที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของผักหวานรองลงมาจากต้นตะขบคือลิ้นจี่ค่ะ.

...สำหรับสูตรปลูกผักหวานป่า(ไม้พี่เลี้ยง)สิ่งที่หลายๆคน"คิด" คุณโอภาสกับดิฉันได้"ทำ"มาแล้ว เกี่ยวกับปลูกผักหวานกับไม้พี่เลี้ยงที่มีประโยชน์มากกว่า"ต้นตะขบ" (อยากจะบอกว่าสิ่งที่คนตามหลังกำลังคิด คนค้นคว้ามาก่อนทำมาแล้ว ทำแล้วทำอีกๆๆๆจนหายสงสัย หายคาใจ จนต้องยอมรับความจริง)

...ผักหวานเป็นพืชที่ไม่ธรรมดาค่ะหากปลูกอย่างยอมรับกับธรรมชาติที่ผักหวานป่าเลือกจะเป็นโดยไม่กำหนดจะพบว่าตัวตนผักหวานป่าเป็นมากกว่าราคาที่มนุษย์เรากำหนดให้.

...ผักหวานป่าเลือกที่จะอยู่คู่กับต้นตะขบ หากอยากปลูกผักหวานให้ได้เก็บกิน-เก็บทาน-เก็บขายได้รวดเร็วทันใจคนก็ต้องยอมรับความจริง"ปลูกต้นไม้ต้องตามใจต้นไม้"

...ผักหวานเลือกตะขบ ธรรมะที่ผักหวานป่าสอนผู้ปลูกตั้งแต่เริ่มแรกคือการทำทีละอย่าง เอา(ได้)ทีละอย่าง (ละความโลภ)...

ปล.ผักหวานป่าที่คุณพงศธรปลูกไว้ นำภาพถ่ายมาเขียนบันทึกในบล็อกของคุณพงศธรให้ชมให้อ่านหน่อยนะคะ(ภาพถ่ายให้เห็นแปลงตะขบกับผักหวานป่าในมุมต่างๆค่ะ จะได้เป็นกำลังใจให้ท่านอื่นๆที่กำลังปลูกผักหวานป่าเช่นกันค่ะ ภาพถ่ายที่ส่งมาให้ดูผ่านบันทึกนี้ประทับใจมากค่ะแต่อยากเห็นภาพแปลงโดยรวมจังค่ะ )

หลังจากที่ผมได้คลุกคลีและสังเกตุต้นตะขบมาประมาณ3ปีก็เลยมีความคิดอย่างนี้ครับคุณน้อย คือ ผมสนใจจะปลูกไม้ป่า เช่น ยางนา ตะเคียน ประดู่ มะค่าและมีความคิดแว๊บเข้ามาในหัวว่าหากปลูกคู่กับตะขบเพื่อให้ตะขบเป็นพืชพี่เลี้ยงช่วยดูแลให้มันทนแล้งในระยะ2-3ปีแรกจะได้หรือไม่ สำหรับท่านที่ต้องการดูสวนผักผักหวานป่าอันน้อยนิดของผมถ้าสนใจดูรูปแบบเต็มเหยียดเข้าไปดูในเว็บเกษตรพอเพียงนะครับในมุมสมาชิก ชื่อ login "เอ" หรือคลิกนี่ http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=9758.0

 สวัสดีค่ะคุณพงศธร...ต้นตะขบเป็นอีกต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์(อยู่ที่คนเราจะมองเห็น-หวังผลมากน้อยแค่ไหน) สิ่งที่เห็นในใจ สิ่งที่คิดแว็บในหัว เมื่อใดที่ลงมือทำผู้ปฎิบัติย่อมได้รับคำตอบ(ใช่หรือไม่ใช่ ก็คือคำตอบ) ปัจจัตตัง!

.....ขอบคุณค่ะ.....

ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจจากทุกๆท่านค่ะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท