การประกวดดนตรี


popularity กับ quality ไม่จำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป

       เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา  มีการประกวดขับร้องเพลงสุนทราภรณ์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ กับ ชมรมคนรักสุนทราภรณ์เชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสุนทราภรณ์เดินทางมาเป็นประธานการประกวดพร้อมกับส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการตัดสินร่วมกับกรรมการของผู้จัดงานในเชียงใหม่ด้วย

      เนื่องจากคนที่ชอบฟังและชอบร้องเพลงสุนทราภรณ์มีหลายรุ่นทั้งชายและหญิง  ผู้เข้าประกวดจึงถูกจัดเป็นสี่กลุ่ม คือชายวัยไม่เกินสามสิบปี  หญิงวัยไม่เกินสามสิบปี  ชายวัยเกินสามสิบปี และหญิงวัยเกินสามสิบปี 

      ภาคเช้า ผู้เข้าประกวดทุกคนจากทุกกลุ่มจะได้ร้องเพลงที่จะร้องประกวดโดยไม่มีวงดนตรีบรรเลงให้หรือดนตรีจากคาราโอเกะคนละประมาณหนึ่งนาที  กรรมการจะคัดเข้ารอบประเภทละแปดคน  ตอนบ่ายทั้งแปดคนจะจับฉลากบอกลำดับการขึ้นเวทีเพื่อร้องเพลงร่วมกับวงดนตรีวงใหญ่ซึ่งใช้โน้ตดั้งเดิมของวงดนตรีสุนทราภรณ์ หรือโน้ตที่ปรับเฉพาะบันไดเสียงจากต้นฉบับเดิมให้ตรงกับเสียงผู้ขับร้องประกวด  นักดนตรีส่วนหนึ่งมาจากมูลนิธิสุนทราภรณ์ อีกส่วนหนึ่งเป็นนักดนตรีสมทบจากหลายสำนักในเชียงใหม่

     แต่ละประเภทจะมีผู้ได้รับรางวัลไม่เกินสี่คน คือ รางวัลชนะเลิศ  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ และอันดับ๒  และรางวัลขวัญใจมหาชน (ซึ่งได้จากการนับจำนวนดอกไม้ที่ผู้ฟังมอบให้)  ผลการประกวดพบว่า ในบรรดาผู้ที่ได้รับรางวัลขวัญใจมหาชนทั้งสี่คนนั้น มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นหนึ่งในสามที่ได้รับรางวัลจริงๆด้วย นี่แสดงว่า popularity กับ quality  ไม่จำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป  และแสดงให้เห็นด้วยว่า กรรมการมีคุณวุฒิ มีวิจารณญาณ และความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าที่จะสนใจกับขนาดและเสียงของกองเชียร์

      อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การตัดสินและการจำแนกรางวัลที่เป็นสูตรตายตัวของการจัดการประกวดของหน่วยงานราชการมาช้านานแล้ว  สามารถทำให้ผู้ที่มีความสามารถเท่าเทียมกันสองหรือสามคนต้องถูกจัดอันดับให้อยู่คนละขั้นได้อย่างน่าเสียดาย  ในกรณีของการประกวดหรือแข่งขันที่เอาวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวช่วยได้นั้น  เรื่องนี้หาข้อยุติได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การแข่งขันกีฬา ซึ่งสามารถหาข้อยุติได้ร้อยหรือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอ  แต่การประกวดร้องเพลงนั้น เป็นการประกวดด้านศิลปะ ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระด้านมนุษย์ศาสตร์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์  เป็นเรื่องของความรู้สึก ของจินตนาการ และของอารมณ์  ไม่ใช่คณิตศาสตร์   คะแนนของกรรมการแต่ละท่านกลั่นกรองออกมาจากรากฐานของ อัตวิสัย (subjectivity) มากกว่า ภววิสัย (objectivity) ทำให้คะแนนของกรรมการสามารถแตกต่างกันเท่าไรก็ได้  เมื่อเป็นเช่นนี้ เกณฑ์การตัดสินและรางวัลจึงไม่สมควรจะแข็งทื่อราวกับเป็นซากโบราณ (fossil) ซึ่งมักมีปัญหาต่อท้ายอยู่เรื่อยๆ

      ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจที่ระหว่างทางไปห้องน้ำและในห้องน้ำ ผมได้ยินคำปรารภของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประกวดต่างๆนานา ทั้งอย่างเบาและอย่างแรง  ปฏิกิริยาเช่นนี้มีควบคู่กับเกณฑ์การตัดสินที่มุ่งหา “แชมป์” หรือ “หนึ่งเดียว” หรือ “นัมเบอร์วัน” หรือ ชื่ออื่นๆในประเภทเดียวกันนี้มานานมากแล้ว และคงจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังมีผู้เข้าใจว่า การใช้วิธี “คัดออก” คือการสนับสนุนให้กำลังใจคนสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

      การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ริเริ่มขึ้นในมหาวิทยาลัยศิลปากรและดำเนินมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ไม่มี รางวัลชนะเลิศ หรือรองชนะเลิศ และไม่มีตำแหน่ง แชมเปี้ยน หรือรองแชมเปี้ยน ให้แก่เจ้าของผลงานที่ดีเยี่ยมทั้งหลายในแต่ละปี  งานนี้มีให้แต่ เหรียญทอง และเหรียญเงิน ซึ่งแต่ละรางวัลไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ที่สมควรได้รับรางวัลไว้เลยว่าให้ได้ไม่เกินกี่คน  เจ้าของผลงานดีๆหลายท่านไม่ได้รางวัลชนะเลิศหรอก แต่ภายหลังได้เป็นถึงศิลปินแห่งชาติโน่น

     เมื่อเกือบสามสิบปีมาแล้ว วงโยธวาทิตของโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เป็นวงแรกจากประเทศไทยที่ไปประกวดแล้วได้รับรางวัลจากประเทศเนเธอร์แลนด์   รางวัลที่ได้ ไม่ใช่ “แชมป์โลก” อย่างที่ปรากฏบนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ แต่เป็น “เหรียญทอง”  และ โรงเรียนมงฟอร์ตเป็นหนึ่งในหลายโรงจากประเทศต่างๆที่ได้เหรียญทองจากงานเดียวกัน    เมื่อมีเหรียญทองหลายเหรียญ ก็ย่อมไม่มีคำว่า “แชมป์” แต่ทำไมคนไทย(ไม่ทุกคนหรอกครับ ผมรู้) ชอบคำว่า “แชมป์” กันจัง

     สองเรื่องข้างบนนี้ คือกติกาและรางวัลที่เหมาะสมกับการประกวดด้านศิลปะ (หรือมนุษยศาสตร์) อย่างแท้จริง เพราะนอกจากไม่สร้างศัตรูในหมู่ผู้เข้าประกวดด้วยกันแล้ว(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นความรู้สึกของรองแชมป์ที่มีต่อแชมป์บ่อยมาก) ยังทำให้หูตา(และใจด้วยยิ่งดี) เปิดกว้างขึ้นอีกมาก เพราะได้รู้ได้เห็น ได้ยินว่า สิ่งที่จริง สิ่งที่ดี และสิ่งที่งาม นั้นมีหลากหลาย  และที่สำคัญ ได้ตระหนักว่า เรามิใช่คนเก่งพวกเดียวบนดาวนพเคราะห์ดวงนี้  กติกานี้สอดคล้องกับเกณฑ์ตัดสินให้ค่าระดับคะแนน (เกรด) ในการศึกษาด้วย เช่น ถ้าได้คะแนนถึง ๘๐ (หรือ ๘๕ ในบางราย) ให้ได้ A ซึ่งอาจทำให้บางวิชามีคนได้ A ถึงครึ่งห้องหรือมากกว่าก็ได้ ไม่เห็นแปลกเลย

     แล้วทำไมเราจึงไม่ยอมให้ผู้มีความสามารถทางศิลปะทัดเทียมกัน ได้รับรางวัลที่เท่าเทียมกัน  ทำไมจึงตัดสินงานศิลปะด้วยวิธีตัดสินกีฬา ทำไมรางวัลจึงสำคัญกว่ามนุษย์ผู้สร้างสรรค์ผลงานดีๆ  ฯลฯ  

   

หมายเลขบันทึก: 483776เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2012 23:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"...popularity กับ quality ไม่จำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป และแสดงให้เห็นด้วยว่า กรรมการมีคุณวุฒิ มีวิจารณญาณ และความเชื่อมั่นในตัวเองมากกว่าที่จะสนใจกับขนาดและเสียงของกองเชียร์..."

Ummh, I don't know if this runs in parallel with our "political arena" and our "justice system".

I agree completely with the distinction of "popularity กับ quality" and the need to raise quality level in all arenas: education, defence, politics, arts and crafts and technologies, ... ethical practices included.

การประกวดงานเพลงในลักษณะเลียนแบบหรือเงาเสียงนักร้องต้นฉบับ..อย่างเช่นที่กล่าว..คงมีกรอบของการให้คะแนน..โดยเอางานของผู้ร้องที่มีการบันทึกไว้เป็นตัวตั้ง..แล้วจึงนำมาเทียบเคียงกับ งานของผู้ประกวดแต่ละคน..ศิลปะที่ได้จึงเป็นศิลปะของการลอกเลียนแบบ..ที่สร้างอารมณ์ย้อนกลับของผู้ฟัง..อันนี้ หาก กรรมการท่านใดซึมซับความรู้สึกย้อนยุคได้ใกล้เคียงและ มีสายตาและหูซึ่งจดจำได้ดีตามแบบฉบับเดิม..ซึ่งอาจแตกต่างจาก population..ก็อาจเป็นได้..แต่..ข้อสำคัญ คือ จำต้องมีความบริสุทธิ์ใจต่อการตัดสิน..ซึ่งผู้จัดได้วางกฏกติกามารยาทไว้แล้ว ตามนั้น..ซึ่งโดยปกติของการตัดสินการประกวดร้องเพลง(ที่ผมมีโอกาสรับเชิญไปตัดสินด้วย)..มักจะมีการพูดจากันก่อนในคณะกรรมการตัดสิน ว่า ควรคำนึงว่า..คณะกรรมการเป็นเสมือนตัวแทนของผู้ชมในขณะนั้นด้วย(แม้ว่าจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ/วัยวุฒิกว่า)..จึงมิควรใช้อัตตวิสัยของตน(ซึ่งอาจจะตกยุค หลงยุคไปแล้ว)..อย่างเดียว..ในการตัดสินใจ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท