คำนิยม หนังสือเคล็ดไม่ลับคุณอำนวย เล่ม ๒



          หนังสือเล่มนี้น่าจะออกเผยแพร่ในไม่ช้า หรืออย่างช้าในงาน มหกรรม R2R ครั้งที่ ๕ ในวันที่ ๑๑ - ๑๓ ก.ค. ๕๕ โดยติดตามข่าวได้ที่นี่

 

คำนิยม


หนังสือ เคล็ดไม่ลับ คุณอำนวย ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2R เล่ม ๒


วิจารณ์ พานิช
……………

          ขบวนการ R2R ประเทศไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ INN (Individual, Node, Network) เป็นกลไกขับเคลื่อน และใช้การจัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Interactive Learning Through Action) เป็นเครื่องมือของการขับเคลื่อน

          ท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับหนังสือ เคล็ดไม่ลับ คุณอำนวย ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2Rเล่ม ๑ โปรดหาหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำนิยมที่ผมได้เขียนไว้ เป็นถ้อยคำที่ยังไม่ล้าสมัย อ่านได้ที่ http://dspace.hsri.or.th/dspace/bitstream/123456789/3012/1/hs1713-1.pdf

          R2R (Routine to Research) เป็นสิ่งที่ก่อตัวขึ้นภายในประเทศไทย ไม่ได้ลอกเลียนมาจากที่ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการก่อเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ด้วยพลังของความเป็นมนุษย์ ที่มีความปรารถนา (หรือจินตนาการ) ที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าให้แก่องค์กร (เริ่มจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) แก่สังคมไทย และแก่เพื่อนมนุษย์ และด้วยคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อการเอื้ออำนวยให้เกิดพลังสร้างสรรค์รวมหมู่ (Collective Creativity) ของผู้ทำงานประจำ R2R จึงอุบัติขึ้น และเมื่อมีการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนาจ (Empower) แก่ผู้ทำงานประจำ ให้ได้แสดงความสร้างสรรค์ของตนออกมา ในลักษณะของการสร้างสรรค์รวมหมู่ที่กว้างออกไปจากเพียงองค์กรเดียว สู่เครือข่ายทั้งประเทศ ปรากฏการณ์ R2R ประเทศไทยจึงเกิดขึ้น

          ปรากฏการณ์เช่นนี้ ต้องการการสร้างสรรค์ต่อเนื่อง ต้องการการเรียนรู้ต่อเนื่อง และต้องการการกระตุ้นส่งเสริมเอื้ออำนวย (Facilitate) ต่อเนื่อง เพื่อยกระดับแรงบันดาลใจรวมหมู่ของคนหน้างาน หรือคนทำงานประจำ ยกระดับขีดความรู้ความสามารถในการตั้งคำถาม เพื่อนำไปสู่การดำเนินการเพิ่มคุณภาพของผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยที่มีข้อมูลหลักฐานที่แม่นยำเชื่อถือได้ นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ให้เป็นความรู้ปฏิบัติที่มีทฤษฎีหนุนได้

          กล่าวง่ายๆ ว่า ขบวนการ R2R ต้องการกลไกขับเคลื่อนการเรียนรู้ต่อเนื่อง

          บุคคลสำคัญที่สุดที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อน อำนวยความสะดวกของการเรียนรู้คือ “คุณอำนวย”(Knowledge Facilitator) คำกล่าวนี้พิสูจน์แล้วด้วยผลการดำเนินงานของเครือข่าย R2R ประเทศไทย

          การเสริมเพิ่มพลังให้แก่ “คุณอำนวย” จึงเป็นมาตรการเชิงยุทธศาสตร์สำคัญของขบวนการ R2R ประเทศไทย โดยที่วิธีการส่งเสริมเพิ่มพลังก็ง่าย ใช้เครื่องมือเดียวกันกับเครื่องมือทำงานของ“คุณอำนวย” นั่นเอง เครื่องมือนั้นคือ การจัดการความรู้ หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติ ในหมู่ “คุณอำนวย” และสังเคราะห์ออกมาเป็นหนังสือเผยแพร่ ดังหนังสือเคล็ดไม่ลับคุณอำนวย ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2R(เล่ม๑) ที่ตีพิมพ์ในปี ๒๕๕๓ และจนบัดนี้ก็ไม่ล้าสมัย

          หนังสือ เคล็ดไม่ลับคุณอำนวย ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2R(เล่ม๒) นี้ เข้มข้นขึ้นในการใช้เครื่องมือจัดการความรู้ ถอดความรู้ออกมาจากประสบการณ์ของคุณอำนวย R2R ทั้งประเทศ ทำให้ได้ความรู้ปฏิบัติที่หาอ่านจากแหล่งใดๆ ไม่ได้เลย หนังสือ เคล็ดไม่ลับคุณอำนวย ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2R(เล่ม๒) นี้ จึงเป็นการนำเอา “ความรู้มือหนึ่ง” เกี่ยวกับการทำหน้าที่ คุณอำนวย R2R ออกเผยแพร่ เป็นหนังสือที่จัดทำโดยคุณอำนวย จากความรู้ที่กลั่นออกมาจากการทำหน้าที่คุณอำนวย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คุณอำนวย R2R ทั้งหลายนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์

          หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือของคุณอำนวย โดยคุณอำนวย และเพื่อคุณอำนวย R2R

          แต่เป้าหมายของการจัดทำหนังสือเล่มนี้ยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะเราหวังให้หนังสือเล่มนี้เอื้ออำนาจ (Empower) คุณอำนวย R2R ให้ “ทำหน้าที่รับใช้ผู้อื่น” ซึ่ง “ผู้อื่น” ในที่นี้ก็คือเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนหน้างาน ที่มีจริตและความเชื่อในการทำงานประจำให้เป็นงานพัฒนา พัฒนาคุณภาพของผลงานของตนอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบที่ในภาษา KM เรียกว่า “คุณกิจ R2R”

          หนังสือ เคล็ดไม่ลับคุณอำนวย ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2R(เล่ม๒) จึงมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้สังคมไทยมีการขับเคลื่อนขบวนการ R2R อย่างมีพลัง ด้วยการลงมือทำของ “คุณกิจ” ที่เป็นคนหน้างาน หนุนด้วยพลังของ “คุณอำนวย” ที่มี ฉันทะ วิริยะ และปัญญา ในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” โดยที่ปัญญาในที่นี้เน้น “ปัญญาปฏิบัติ” (Phronesis)

          หนังสือ เคล็ดไม่ลับคุณอำนวย ฟันเฟืองขับเคลื่อน R2R(เล่ม๒) บรรจุ “ปัญญาปฏิบัติ” (Phronesis) สำหรับ “คุณอำนวย R2R” ไว้ตลอดเล่ม ในรูปแบบที่อ่านสบายๆ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 482988เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2012 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 00:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท