๒๗๓.สรุปเวที “ ฮอมกำกึ๊ด ฮอมผญา คนพะเยาสู่การจัดการตนเอง


โดย...แวว-มุทิตา สัตย์สม ขบวนการองค์กรชุมชนคนพะเยาและภาคประชาสังคมพะเยา

สรุปเวที “ ฮอมกำกึ๊ด ฮอมผญา คนพะเยาสู่การจัดการตนเอง ”

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2555 ณ หอประชุมภูกามยาว 1 มหาวิทยาลัยพะเยา

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

1.ปาถกฐานำ “ ฮอมกำกึ๊ด ฮอมผญา คนพะเยาจัดการตนเอง ” โดย พระครูโสภณปริยัติสุธี (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

     การฮอมกำกึ๊ด หมายถึง ทุกคนมาร่วมกันคิด สาระอยู่ที่เรายอมรับความคิดเห็นที่ต่างกัน

     ฮอมผญา หมายถึง การรวมปัญญาที่ตกผลึกทางความคิด สามารถนำไปปฏิบัติได้  คนพะเยา เกิดจากการมารวมกัน มากินน้ำกว๊านพะเยา กลายมาเป็นคนพะเยา การจัดการตนเอง ซึ่งเป็นการยกระดับความเป็นมนุษย์ การจัดการตนเองที่คนพะเยาต้องพึ่งตนเอง

            เมื่อคนพะเยารู้ว่าต้องมาปกป้องตนเอง จึงมาร่วมกัน แต่ก่อนต่างคนต่างคิด ไม่มีพลัง คนภูกามยาวคิดอย่าง คนดอกคำใต้คิดอย่าง มันไม่มีพลัง เพราะแต่ละคนมีสมอง มีกำกึ๊ด เมื่อมารวมกัน จึงทำให้มีพลัง มีการทำวิจัย โดยใช้หลักอริยะสัจ 4 เช่น เรื่องกว๊านพะเยา คนในเมืองมองอีกอย่าง คนฟากกว๊านมองอีกอย่าง เมื่อต่างคนต่างเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง หาสาเหตุในการแก้ปัญหา โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างพะเยาเป็นเมืองน่าอยู่ เพราะมีการคิดร่วมกัน

สรุปหลักการคิดปัญหา

  1. อัตตาธิปไตย อย่าคิดโดยเอาตนเองเป็นใหญ่ แต่จงนำความคิดเห็นของคนอื่น กลุ่มอื่น ๆ มารับรู้ด้วย
  2. โลกธิปไตย อย่าเอาคนอื่นเป็นใหญ่ หรือมวลชน เป็นใหญ่กว่าคุณธรรม โดยไม่ใช้ความคิดของตนเอง หรือความคิดที่เป็นธรรม นำมาเป็นกรอบไว้ด้วย อาจพลาดและกลายเป็นเอาความคิดที่ไม่ดี มาเป็นมาตรฐานได้
  3. ธรรมาธิปไตย แต่จงนำธรรมาภิบาลมาใช้ โดยทำทุกสิ่งซึ่งธรรมะเป็นตัวชี้นำทางเสมอ

 

2. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน โดย นายวุฒิชัย ไชยรินคำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยพะเยา

            วันนี้ได้เห็นพลังของคนพะเยาที่มารวมกัน ในบทบาทของสถาบันการศึกษา จะต้องมาร่วมกันพัฒนาเมืองพะเยา  โดยนำความคิดที่ต่างมาร่วมกันพัฒนาพะเยา ในมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ตั้งปณิธานในการพัฒนาพะเยา ตามปรัชญาที่ว่า “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” มหาวิทยาลัยพะเยา จึงเป็นมหาวิทยาลัยของคนพะเยา ซึ่งมหาวิทยาลัยยินดีในการช่วยเหลือทางวิชาการ ความรู้ และทิศทางการดำเนินงาน ที่อยากเห็นการพัฒนาพะเยา ให้มีการประสานงานจากทุกภาคส่วน อย่างยั่งยืน มีสติ และอยู่บนบริบทของพะเยา ที่มีความงามในตนเอง ที่จังหวัดอื่นไม่มี ซึ่งต้องคงความเป็นบริบทของคนพะเยา

 

3.ชมวีดีทัศน์ “พัฒนาการขบวนการขับเคลื่อนพลังของภาคประชาสังคมพะเยา”

 

4. ข้อเสนอการพัฒนาเมืองพะเยาจากเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรภาคเอกชน ดำเนินรายการโดยนางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล   มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา

            วันนี้เป็นวันดี ที่ทุกคนมารวมกัน เพื่อจะได้รับฟังข้อเสนอของคนพะเยา ซึ่งรวบรวมจากความร่วมมือ ความคิดของคนพะเยาในหลายเวที และประมวลมาเป็นข้อเสนอในวันนี้ ข้อเสนอเหล่านี้ต้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นพี่น้องชาวพะเยาต้องผลักดันให้ข้อเสนอไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม  วันนี้จะมีตัวแทนนำเสนอข้อเสนอที่เป็นหัวใจสำคัญ 7 ประเด็น ดังนี้

           

4.1 การจัดการลุ่มน้ำอิงยมที่เป็นระบบ

      จากปัญหาการจัดการลุ่มน้ำที่ยังไม่เชื่อมโยงทั้งระบบดิน น้ำ และป่า เราขอเสนอให้การจัดการลุ่มน้ำที่เป็นระบบ ดังนี้

1) จัดการกว๊านพะเยาและลุ่มน้ำอิงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน; โดยจัดตั้งสมัชชาพัฒนากว๊านพะเยา, จัดทำธรรมนูญกว๊านพะเยา และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการถือครองที่ดินรอบกว๊านพะเยา

2) จัดการป่าชุมชน; ให้ฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำกว๊านพะเยาทั้ง 12 ลำห้วย, ให้ อปท. จัดสรรงบประมาณร้อยละ 1 มาดูแลเรื่องป่าชุมชน, หน่วยงานภาครัฐควรทบทวนนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อลดการใช้น้ำ

3) จัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กในลุ่มน้ำอิงและลุ่มน้ำยม; เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในครัวเรือน, ให้หน่วยงานภาครัฐในส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนโยบาย และจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาลุ่มน้ำ

4) จัดการที่ดินโดยชุมชน ; ควรมีการจัดทำแนวเขตการปกครองและเขตพื้นที่ทำการเกษตรที่ชัดเจน เพื่อจัดทำ “โฉนดชุมชน”, ให้มีการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน และยกเลิก/ทบทวนนโยบายที่ให้เปลี่ยนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นที่ทำกินหรือที่ สปก. เพื่อจะได้ป้องกันการรุกป่าเพื่อให้เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

 

4.2 การจัดสวัสดิการชุมชน  

     ปัจจุบันในจังหวัดพะเยามีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน แต่ยังไม่ครอบคลุมครบทุกตำบล เราจะทำอย่างไรให้เกิดการจัดตั้งให้ครอบคลุมครบถ้วน จึงขอเสนอว่า

1) เราควรมีกลไกที่ทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนในระดับตำบลและทำโดยเป็นระบบจังหวัด ปัจจุบันแต่ละกองทุนได้ และเสริมศักยภาพในการทำงานของคณะทำงานของทุกกองทุน และให้ อปท. กำหนดเป็นข้อบัญญัติ อปท. ในการสนับสนุนการทำงานของกองทุน ส่วนในระดับจังหวัดควรจะให้ อบจ. สนับสนุน

2) ให้มีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน โดยการระบุไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและให้หน่วยงานนำไปกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการในพื้นที่

3) ส่วนในระดับประเทศนั้น เราสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายด้านบำนาญภาคประชาชน ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐมี พรบ. กองทุนการออมแห่งชาติแล้ว จะทำอย่างไรที่กองทุนสวัสดิการชุมชนมีศักยภาพในการออมเพื่อบำนาญชราภาพได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

4.3 สิทธิชุมชน สถานะบุคคลและสัญชาติ   

     กรณีคนไร้สัญชาติ เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนไทย และรัฐไทยออกเอกสารบางอย่างให้ ส่วน “คนไร้รัฐ” คือ คนที่ไม่มีรัฐใดรับรองสถานะ ทั้งนี้ในจังหวัดพะเยามีคนที่ไร้สัญชาติอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอยากเสนอดังนี้

1) ให้ที่ไร้รัฐได้สัญชาติไทย ให้คนไทย โดยจังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดนำร่อง เพื่อกำหนดให้เป็นรูปแบบในการนำไปใช้พื้นที่อื่น ๆ เพราะตอนนี้มติ ครม. ยกเลิกการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ไปแล้ว อยากให้คนพะเยาช่วยกันผลักดันให้สิทธิคนกลุ่มนี้ด้วย

2) ผลักดันให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสัญชาติทุกกลุ่มได้รับสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกัน โดยไม่แย่งแยกจากความแตกต่างของประเภทกลุ่มบุคคล

 

4.4 อาชีวะอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน  

     ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตทางการเกษตร ทั้งการพัฒนาอย่างรวดเร็วในการลงทุนข้ามชาติ ดังกรณีการสร้างถนนเชื่อมจากประเทศจีน ผ่านลาว เข้าสู่ประเทศไทย (ถนน R3A) ทำให้เกิดภาวะการขายที่ดินให้กับนายทุน การเปลี่ยนแปลงพืชจากนาไร่เป็นยางพารา การใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มข้น และนโยบายการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการทำนาปรัง จึงมีปัญหาการสูบน้ำจากบ่อสาธารณะไปทำนาปรัง ซึ่งเหล่านี้กระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันซึ่งต้องให้ความสำคัญกับนาไร่ ข้อเสนอที่จะเปลี่ยนคนพะเยา โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยดังต่อไปนี้

1) สนับสนุนให้อยู่บนฐานของเกษตรอินทรีย์ โดยมุ่งการเอาไว้กินเอง และแบ่งปันให้พี่น้อง

2) สร้างกลไกการรวมกลุ่มระดับจังหวัด

3) สร้างกระบวนการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

4) ออกกฎหมายการคุ้มครองเกษตรกรรม

5) ออกกฎหมายเพื่อจำกัดการถือครองที่ดิน

 

4.5 การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน

            ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องหมอกควันได้ส่งผลกระทบต่อคนพะเยา ที่ผ่านมามีข้อเสนอมากมายเกี่ยวกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม แม้จะมีการเสนอแนวทางการแก้ไข แต่ยังไม่ค่อยมีการนำไปสู่การปฏิบัติการจริงได้เท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงเสนอว่าควรจะให้คนพะเยาลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเองดังนี้

1) ติดตามข้อมูลข่าวสารอันอาจจะเกิดขึ้นเช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง ฯลฯ

2) เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาช่วยกัน

3) ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

4) อยากให้เกิดระบบตัวแทนในการส่งคนเข้ามาแก้ไขปัญหาในส่วนกลางด้วย

5) มีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐมาร่วมจัดการ และมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาคประชาชนทั้งหญิงและชายส

 

4.6 สภาองค์กรชุมชน ประชาธิปไตยชุมชน

            ปัจจุบันมี พรบ.สภาองค์กรชุมชน ที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยมุ่งหวังให้องค์กรชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยให้สิทธิแก่ภาคประชาชนได้มีการจดแจ้งและจัดตั้งองค์กรชุมชน ให้บรรลุเป้าหมายระดับสภา และนำไปสู่การหาทางออกของปัญหาทั้งระดับตำบล จังหวัด และชาติ

            ในจังหวัดพะเยามีการประกาศรับรองเพียง 25 องค์กร ปัญหาจากการทำงานที่ผ่านมาคือ คนยังไม่รู้จักความเป็นองค์กรชุมชน โดยเฉพาะบทบาทและหน้าที่ นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ให้การสนับสนุนเท่าที่ควร อีกทั้งสภาฯ ที่มีการประกาศรับรองก็ ยังไม่มีพื้นที่ทำงานที่ชัดเจน และคนทำงานก็ขาดการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอต่อการพัฒนาครั้งนี้คือ

1) ส่งเสริมให้มีการประกาศรับรองให้เต็มทั้งพื้นที่

2) เสริมศักยภาพคณะทำงานต่อเนื่อง

3) สนับสนุนให้ อปท. สนับสนุนการทำงานของสภา

4) ให้สภาที่จัดตั้งแล้วเป็นแบบอย่างขององค์กรอื่น ๆ ที่จะจัดตั้งต่อไป

5) ผลักดันประเด็นปัญหาของชุมชนให้ได้รับการแก้ไข

หมายเลขบันทึก: 482486เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2012 15:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท