"ครู" กับปัญหาของครูและสังคมไทย (ตอนที่ 1)


ในระหว่างที่คุยอยู่กับ ดร.กะปุ๋ม เมื่อคืนนี้ ท่านกะปุ๋มได้ส่ง url บันทึกของอาจารย์สิริพรเรื่องเกี่ยวกับปัญหาของ “ครู” ที่เดินทางเข้าไปอบรมตามสถานที่ต่าง ๆ จนไม่สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่หลักนั่นก็คือ “การอบรมพ่มเพาะลูกศิษย์” ได้อย่างเต็มที่ จนเป็นที่มาของประเด็นการถกเพียงเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง


ซึ่งในฐานะของคนที่ไม่เคยคิดอยากเป็นครู แต่ก็เคยไปเป็นครูอยู่พักหนึ่ง ตอนนี้ก็ก้าวย่างออกอาชีพนั้นโดยตำแหน่ง แต่ก็ยังมีจิตวิญญาณของความเป็นครูและมุ่งมั่นจะที่กลับไปเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม

ก็จะขอขออนุญาตเล่าที่มาที่ไปของปัญหาตามมิติที่เคยพบและเคยวิเคราะห์ไว้ในหลาย ๆ ประเด็น ดังต่อไปนี้ครับ

ประเด็นเรื่องของการที่ครูไปอบรมกันนั้นนับได้ว่าเป็นปัญหาปลายเหตุ

เป็นผลที่เกิดขึ้นจากเหตุนานานับประการครับ

เหตุซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ของปัญหาต่าง ๆ ในทุกวันนี้

ก่อนอื่นก็ต้องนับย้อนกลับไปตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับทุกฉบับที่ผ่านมา ที่มีการเน้นการเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจมากกว่าระบบสังคม ทำให้เกิดอุปสงค์ในเรื่องของความต้องการแรงงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก

ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการศึกษาของไทยในสมัยนั้น ที่จะต้องปรับเปลี่ยนและพลิกผันตนเองเพื่อตอบรับกับกระแสความต้องการบุคลากรที่เรียกว่า "แรงงาน" เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และรองรับต่อความเจริญทางด้านเทคโนโลยีทั้งทางด้านพื้นฐานและเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกมากมาย

 

ดังนั้นมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ก็เร่งทำการผลิตแรงงานในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอต่ออุปสงค์ต่าง ๆ เหล่านั้น

โดยเฉพาะแรงงานความรู้ที่จะต้องมีใบปริญญาเพื่อการันตีความสามารถและเป็นใบเบิกทางเข้าทำงานในหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ บริษัทและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศ


โดยหากคิดย้อนกลับไปสมัยนั้นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศยังไม่มีมากมายเท่ากับในปัจจุบัน


คงเพียงจะมีแต่มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ซึ่งส่วนมากอยู่ในกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย


ระบบเอนทรานต์ เพื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจึงเป็นระบบที่มีการแข่งขันการสูงมาก เพื่อที่จะเข้าเก้าอี้และที่นั่งในการเรียนในระดับบัณฑิตเพื่อให้ได้ปริญญาดังกล่าวมา


จากภาวะเก้าอี้นั่งเรียนไม่เพียงพอโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยปิดชื่อดังต่าง ๆ นักเรียนผู้ที่มีความประสงค์อยากเรียนจึงจำเป็นต้องหาทางเลือกต่าง ๆ เพื่อที่ขวนขวายให้ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพราะในขณะนั้นไม่ว่าใครจบปริญญาใดมา ตลาดอ้าแขนรองรับเกือบทั้งหมด

โดยเฉพาะปริญญาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์


นักเรียนส่วนหนึ่งที่มีฐานะทางด้านดี ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางออกไปศึกษาต่าง ๆ ประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะศึกษาในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา ซึ่งเปิดรับนักศึกษาและมีเก้าอี้ให้เด็กได้นั่งมากกว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยรวมกันหลายเท่า


แต่นักเรียนที่ไม่มีฐานะเทียบเท่ากับนักเรียนกลุ่มแรก ซึ่งเป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ก็มีความวิริยะอุตสาหะที่จะศึกษาและเล่าเรียน

ส่วนหนึ่งก็ได้เข้ารับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเปิดหลาย ๆ แห่ง ที่สามารถรองรับนักศึกษาได้อย่างมากมาย

แต่ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยเปิดเหล่านี้ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น และไม่มีการขยายศูนย์บริการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเทียบเท่ากับในปัจจุบัน

จึงทำให้เป็นการปิดโอกาสสำหรับนักศึกษาต่างจังหวัดในที่ที่ห่างไกล ที่จะเข้าศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงมากในเมืองหลวง


ดังนั้นจึงเป็นภาระสำคัญที่ตกไปอยู่กับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในท้องถิ่นที่มีชื่อว่า “วิทยาลัยครู” ซึ่งมีเปิดอยู่ในหลายๆ จังหวัดทุกภูมิภาค กว่า 30 แห่งของประเทศไทย


นโยบายของรัฐบาลสมัยนั้น ก็ได้มอบภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงนี้เข้าไปสู่ “วิทยาลัยครู” ให้แปลเปลี่ยนจากรากฐานเดิมที่เป็นโรงเรียนการฝึกหัดครูทำการผลิตครูที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของชาติออกไปเพื่อสร้างรากฐานการศึกษาที่สำคัญต่าง ๆ ของประเทศทั้งในระดับ ประถม และมัธยมศึกษา


ให้ปรับเปลี่ยนพลิกผันตนเองกลายเป็นสถาบันการศึกษาแบบสหวิทยาการที่มีชื่อเรียกว่า “สถาบันราชภัฏ”

นับตั้งแต่นั้นมา จากวิทยาลัยครู มาเป็นสถาบันราชภัฏ ก็ได้มีคณะต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะเกษตรศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะวิทยาการจัดการ ซึ่งเป็นคณะน้องใหม่ที่เกิดหลังสุด แต่ในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดของหลาย ๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะเป็นคณะที่มีผู้ต้องการศึกษาเล่าเรียนมากที่สุดในปัจจุบันตามกระแส “นักเรียนนิยม” เพื่ออุดมไปด้วยเอกอันสวยหรูและงดงาม ไม่ว่าจะเป็น บริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ การบัญชี การโรงแรม การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ รากฐานสำคัญของสถาบันนั่นก็คือ “การผลิตครู” นั้น ถูกบดบังและลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันได้ผนวกกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาการนำสถานศึกษาออกนอกระบบ จึงทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นแห่งปัญหาหรือว่าผลต่าง ๆ ในปัจจุบัน ยังมีเหตุที่สำคัญต่าง ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดปัญหากับครูและสังคมไทยในปัจจุบัน

ติดตามต่อได้ใน "ครู" กับปัญหาของครูและสังคมไทย (ตอนที่ 2) ครับ


ขอให้พลังแห่งวิชาชีพครูสถิตกับครูที่ดีทุก ๆ ท่านตลอดไปครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

 

หมายเลขบันทึก: 48208เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท