โรงพยาบาลสนาม (Field Hospital)


โรงพยาบาลสนาม / โรงพยาบาบรองรับภัยฉุกเฉิน / โรงพยาบาลเฉพาะกิจ

โรงพยาบาลที่ตั้งขี้นเพื่อรองรับการเจ็บป่วย บาดเจ็บ อุบัติเหตุของประชาชนอันเนื่องมาจากอุบัติภัยต่างๆ

หมายเลขบันทึก: 482028เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2012 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

          โรงพยาบาลสนาม (Field Hospital)/รองรับภัยฉุกเฉิน/เฉพาะกิจ โรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อรองรับการการเจ็บป่วย บาดเจ็บของประชาชนที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และจากการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นภัยพิบัติทั้งที่เป็นธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว สึนามิ เกิดโรคระบาด เป็นต้น และเกิดขึ้นจากการดำเนินการของมนุษย์โดยตรง สงคราม จลาจล ภัยจากการรั่วของสารเคมี ภัยจากการขนส่ง การดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น  ที่ส่งผลถึงสุขภาพและการดำรงชีวิตปกติของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ หรือขยายผลออกไปในวงกว้างออกไปทั่วทั้งจังหวัด หรือภูมิภาค ระบบบริการสุขภาพเดิม หรือสถานบริการสุขภาพที่มีอยู่ไม่สามารถทำงานให้ตอบสนองต่อพันธกิจ ให้บรรลุเป้าหมายได้อันเนื่องมาจากอุปสรรคดังกล่าว หรือต้องทำการอพยพออกจากที่ตั้งเพื่อความปลอดภัย หรือการดำเนินงานที่มากเกินกำลังอันเนื่องจากปริมาณงานของโรงพยาบาลในพื้นที่นั้นๆเพิ่มมากขึ้นเกินกว่าศักยภาพของโรงพยาบาลที่มีอยู่เป็นอย่างมาก ระบบการส่งต่อไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเช่นภาวะปกติ จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมาเพื่อรองรับการเจ็บป่วยของประชาชนที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เช่นผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆที่ต้องการดูแลอย่างต่อเนื่อง และเกิดการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากภาวะเหตูการณ์ดังกล่าว ตลอดจนเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่มีข้อกำกัดในการช่วยเหลือตนเอง และจะเป็นภาระอุปสรรคเป็นอย่างมากเมื่อเกิดภัยดังกล่าว  โรงพยาบาลสนาม จะตั้งขึ้นในช่วงระยะเวลาส้นๆไม่เกิน 60-90 วัน และส่งมอบภาระงานให้แก่สถานบริการสุขภาพหรือโรงพยาบาลพื้นที่เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ เราเรียกโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นในลักษณะนี้ว่า โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลรองรับภัยฉุกเฉิน หรือโรงพยาบาลเฉพาะกิจ...


 

ความหมายและความสำคัญ

          โรงพยาบาลสนาม หมายถึงสถานพยาบาลที่มีเตียงไว้สำหรับรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เป็นที่ทำงานของบุคลกรทางการแพทย์วิชาชีพต่างๆ ให้การบริการทั้ง 4 มิติ  ทั้งการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในสภาพปกติ และเกิดจากอุบัติเหตุ ที่เชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยทั้งที่โรงพยาบาล และที่บ้าน ในช่วงเวลาสั้นที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ (พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541, องค์การอนามัยโลก, วิศิษฎ์ พิชัยสนิธ. 2536) ดังนั้นโรงพยาบาลสนาม จึงได้แก่สถานบริการสุขภาพที่มีเตียงไว้รับผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บค้างคืนที่ตอบสนองต่อการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุในยามที่ไม่ปกติ โดยมีผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์วิชาชีพต่างๆ ที่มาจากหลายแห่งหลายหน่วยงาน ผ่านกลไกการอาสาสมัครเข้ามาทำงาน ในกรณีที่มีเหตุการณ์ ทำให้กลไกการทำงานของสถานพยาบาลที่มีอยู่ไม่สามารถทำงานได้ตามจุดมุ่งหมายได้ อันมีเหตุมาจากภัยธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ บางครั้งก็อาจจะเรียกว่าโรงพยาบาลรองรับภัยฉุกเฉิน โรงพยาบาลเฉพาะกาล โรงพยาบาลเฉพาะกิจ    เป็นต้น โรงพยาบาลในลักษณะนี้จะเปิดให้บริการตลอดเวลา (24 ชม.) ในช่วงสั้นๆตั้งแต่ 10 วัน จนถึง 2-3 เดือน และเมื่อเสร็จภารกิจแล้วก็ส่งมอบภารกิจหรือพื้นที่คืนให้แก่สถานพยาบาลหลักๆ ที่ดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมาโดยทั่วไปภาคราชการโดยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือเอกชน[1]  หรือเป็นการบูรณาการทั้งภาคราชการ เอกชน มูลนิธิซึ่งจะเห็นความร่วมมืออย่างเต็มใจ จริงใจของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ ที่แสดงบทบาทเป็นอาสาสมัครเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลสนามนั้นๆ



[1] ในกรณีโรงพยาบาลสนามสร้างขึ้นโดยภาคเอกชนต้องอยู่ภายใต้การดูแลประสานงานของกระทรวงสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคได้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในกรุงเทพมหานครได้แก่สำนักงานแพทย์ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลสนามจะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และในความรับผิดชอบแง่กฎหมายขาดความชัดเจน

          โรงพยาบาลสนามนี้จัดว่าเป็นองค์กรบริการสุขภาพที่เข้ามามีบทบาทในการเติมเต็มในการดูแลสุขภาพของประชาชนเสริมให้แก่โรงพยาบาลหลักๆ ในพื้นที่ที่ไม่สามารถทำภารกิจดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควรหรือทำไม่ได้เลยเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น เช่นโรงพยาบาลถูกน้ำท่วม โรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่ของการรบซึ่งอาจจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลนั้นๆ และประชาชนที่มารับบริการใน โรงพยาบาล

         สนามที่ตั้งขึ้นแต่ละครั้งจะมีการกำหนดนโยบายอย่างมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในระดับพื้นที่  และเป้าหมายตลอดวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์สถานการณ์ของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น  การบริหารจัดการที่ละแต่ครั้งก็ต้องให้ตอบสนองและสอดคล้องกับอุบัติภัยดังกล่าวนั้น เช่นในกรณีน้ำท่วมก็จะเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตลอดจนทางจิตเวชที่มีความจำเป็นในทุกครั้งของการตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือกรณีเกิดสงครามก็จะเน้นทางศัลยกรรม เพิ่มขึ้นในพื้นอยู่ใกล้พื้นที่รบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางสุขภาพระดับหนึ่งที่จะดูแลปะชาชนที่ได้รับการบาดเจ็บจากสงครามและอุบัติเหตุจากการเดินทางเพื่อหนีภัยดังกล่าว  ซึ่งทางการทหารก็มักจะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของตนเองเพื่อรองรับการเจ็บ การบาดเจ็บจากการปฏิบัติภารกิจด้วย[1]  หรือการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการเจ็บป่วยอันมีเหตุมาจากการรั่วไหลของสารเคมีของโรงงานที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้าง หรือการประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างเกิดการเจ็บป่วยและบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นต้น



[1] เมื่อเกิดการรบระหว่างประเทศ หรือการรบในประเทศที่เป็นบริเวณกว้าง ฝ่ายทหารโดยกองทัพ และกรมการแพทย์ทหารจะตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อดูแลการเจ็บป่วยของทหารที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่และการบาดเจ็บจากการทำการรบ การต่อสู้กับศัตรู/ข้าศึก เรามักจะเรียกโรงพยาบาลที่ตั้งขึ้นในลักษณะนี้ว่า โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลศัลยกรรม

ศักยภาพของโรงพยาบาลสนาม

          โดยปกติโรงพยาบาลสนามจะมีภารกิจของตนเองชัดเจน เช่นโรงพยาบาลสนามที่อยู่ส่วนหน้าพื้นที่ทำการรบ ในภาวะสงคราม หรือโรงพยาบาลสนามในพื้นที่การเกิดการจลาจลก็จะเน้นหนักไปทางศัลยกรรมทั่วไป และศัลยกรรมกระดูก ในสมัยก่อนการคมนาคมยังไม่สะดวกก็จะเป็นโรงพยาบาลเฉพาะโรคทางศัลยกรรม   โรงพยาบาลสนามที่จะรองรับประชาชนในขณะเกิดสงคราม ซึ่งจะมีศักยภาพลดลงจากโรงพยาบาลสนาม/โรงพยาบาลศัลกรรมที่อยู่ในส่วนหน้าของทหาร  หรือโรงพยาบาลสนามสำหรับการเกิดอุทกภัย วาตภัย ก็จะเน้นที่จะให้การดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บทั่วไปที่เกิดจากน้ำ เช่นน้ำกัดเท้า ท้องร่วงที่เกิดจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด เป็นต้น  หรือโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเกิดโรคระบาดก็จะมุ่งจัดการบริการในกรณีของการเกิดโรคนั้นๆ เช่น การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม(Non-traditional site)[1] เพื่อรองรับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด  เป็นต้น และโดยปกติของโรงพยาบาลสนามในทุกภารกิจจะมีการเพิ่มเติมศักยภาพการให้บริการทางจิตเวชในทุกๆโรงพยาบาลสนามที่ตั้งขึ้นมา ศักยภาพของโรงพยาบาลสนามแต่ละแห่งจะมีศักยภาพ[2] ในระดับที่ไม่น้อยกว่า 2.1 กล่าวคือจะต้องมีผู้ประกอบวิชาชีพหลักๆทางการแพทย์ครบทุกสาขา(เวชกรรม เภสัชกรรม พยาบาล) โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเวชกรรมจะมีแพทย์ทั่วไปให้บริการเป็นหลัก หรืออาจจะมีศักยภาพถึงระดับ 2.2 ที่เพิ่มเติมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมบางสาขาหลักเข้ามา ได้แก่ทางอายุรกรรม สูติ-นรีเวชกรรม และกุมารเวชกรรม หรือระดับ F1[3] เพื่อทำให้ศักยภาพของโรงพยาบาลฯเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่พบมากกับประชากรของประเทศ เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด โรคไต หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ด้อยโอกาสก็มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะเช่นกัน การให้บริการดังกล่าวที่เป็นการให้บริการในการเจ็บป่วยแบบปกติที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยคงที่ ดังนั้นการตั้งโรงพยาบาลสนามในกรณีนี้จึงมักจะตั้งอยู่ในศูนย์พักพิงที่อพยพประชาชนออกมาจากพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติดังกล่าว และหากเกิดภาวะเร่งด่วนฉุกเฉินของผู้ป่วยโรงพยาบาลสนามต้องวางระบบการส่งต่อให้เชื่อมโยงกับสถานบริการที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดภัย หรืออยู่ในพื้นที่และให้บริการได้ตามปกติ (Referral Hospital Cascade)



[1] โปรดดูรายละเอียดใน “แนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Non-traditional site)”. กระทรวงสาธารณสุข.

[2] โปรดดูรายละเอียดใน “ศักยภาพโรงพยาบาล” ในหนังสือ การบริหารโรงพยาบาล 1  

[3] โปรดดูรายละเอียดใน “คณะกรรมการอำนวยการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ”.

การบริหารจัดการโรงพยาบาลสนาม

           การบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามที่ต้องทำงานแข่งขันกับเวลาหัวใจที่สำคัญจะอยู่ที่การประสานงานกับหน่วยงานหลักในพื้นที่อย่างมีเป้าหมาย โดยกระทรวงสาธารณสุข (หากพื้นที่กว้างหลายจังหวัด) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน  สถานพยาบาลหลักๆ  โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อประเมินความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งทีมงาน สถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น การกำหนดกรอบการบริการ และการประสานทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่ หน่วยงานองค์กรสนับสนุนต่างๆ เช่นมูลนิธิ สถานบันการศึกษาโดยเฉพาะที่เปิดสอนทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ  และองค์กรวิชาชีพต่างๆ ตลอดจนข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งรายชื่อ ที่อยู่ วิธีการติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ผู้พิการในพื้นที่  เด็กและผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ที่ไม่สามารถจะช่วยเหลือตนเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ  ผู้ป่วยและผู้ด้อยโอกาสกลุ่มนี้สมควรได้รับการดูแลเป็นกลุ่มแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคลื่อนย้าย การจัดการเรื่องที่พักอาศัยในพื้นที่อพยพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภารการช่วยเหลือเมื่อต้องเผชิญกับภัยดังกล่าว  การระดมทรัพยากรด้านต่างๆในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร สถานที่ พาหนะการขนส่ง อาหารและน้ำ เป็นต้น โดยแกนนำในการประสานงานหลัก และสาธารณสุขอำเภอ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น

ครัว คลัง ช่าง หมอ หัวใจของการดำเนินงาน

การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดดำเนินการ  ครัว คลัง ช่าง หมอ หัวใจของการดำเนินงาน รวมถึงพลังจิตอาสาของผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่างๆและอาสาสมัครอื่นๆ  การตัดสินใจว่าจะดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมานั้นต้องได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่าระบบบริการตามปกตินั้นไม่สามารถตอบสนองต่อการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ในระดับจังหวัด ป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ นายอำเภอ องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานสาธารณกุศล เช่นมูลนิธิ สมาคมสงเคราะห์ต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานราชการหลักต่างๆ ช่วยกันประเมินสภาวการณ์และร่วมกันพิจารณาร่วมตัดสินใจในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามพร้อมทั้งพิจารณาหาสถานที่ที่มีความปลอดภัยของคนทำงานและผู้ป่วย ผู้มาติดต่อ เป็นจุดศูนย์กลางหากเลือกได้  และสามารถเข้าถึงได้ง่าย  โรงพยาบาลสนามที่เกิดขึ้นต้องมุ่งไปในประเด็นที่อาจจะเป็นปัญหาสุขภาพและผู้จะเป็นภาระทางสาธารณสุขในพื้นที่หลักๆ[1] โดยการเชื่อมโยงข้อมูล สารสนเทศที่สำคัญกับระบบสุขภาพ  และอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล  เป็นต้น พร้อมวางระบบการเคลื่อนย้ายประชากรกลุ่มดังกล่าวก่อนภัยพิบัติจะมาถึง



[1] ผู้ที่สมควรได้รับหารดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือกลุ่มนี้จะเป็นภาระของประชาชนในพื้นที่เมื่อเกิดอุบัติภัย หรือภัยพิบัติและทำให้เกิดการสุญเสียในทรัพยากรมาช่วยเป็นอย่างมากเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อยหรือช่วยตนเองไม่ได้ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีโดยเฉพาะที่ตั้งครรภ์ ู้พิการ ผู้ที่มีภาวะทางจิตผิดปกติ เป็นต้น

เนื่องจากสถานบริการทางสุขภาพในพื้นที่อาจจะอยู่ในฐานะที่ไม่พร้อมในการดูแลสุขภาพของประชาชนภายใต้สภาวะการณ์นี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้นำท้องถิ่นต้องเป็นแกนนำหลักในการประสานงานและดำเนินการประสานงานเพื่อทำให้เกิดความพร้อมของ สถานที่ตั้งโรงพยาบาลฯ และที่สำคัญได้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สนับสนุนต่างๆ ตลอดจนสาธารณูปโภคที่จำเป็น  ได้แก่น้ำสะอาด  ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสารที่จำเป็น เป็นต้น โดยการสื่อสารผ่านทางสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพต่างๆ หรือองค์กรอื่นๆที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า เช่นจังหวัดคู่แฝด โรงพยาบาลคู่แฝด อำเภอคู่แฝด[1]  ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งได้แก่ เตียงนอนและสิ่งจำเป็นของผู้ป่วย  และครุภัณฑ์ที่สำคัญที่ใช้กับโรงพยาบาลสนาม เช่น เต็นท์สนาม โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร ครุภัณฑ์ที่ใช้ในการเก็บรักษาครุภัณฑ์และวัสดุประเภทต่างๆ เป็นต้น ที่ผู้บริหารโรงพยาบาลสนามต้องวางระบบไว้ล่วงหน้า



[1] หน่วยงาน องค์กรที่มีภารกิจเหมือนกันและมีข้อตกลงที่จะช่วยเหลือกันเมื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้รับอุบัติภัย หรือภัยพิบัติจนไม่สามารถให้การบริการของประชาชนได้ตามปกติได้ก็จะมาชวยเหลือในระยะเวลาสั้นๆและเข้าสู่ภาวะปรกติก็ส่งมอบภารกิจคืนให้หน่วยงาน องค์กรในพื้นที่

           ครัวหรือหน่วยงานบริการทางโภชนาการที่ตอบสนองความเป็นอยู่ในด้านอาหาร  เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ต้องให้การบริการทั้งผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เป็นอาสาสมัครมาทำงานในโรงพยาบาลสนาม และญาติผู้ป่วยหรือผู้มาติดต่อ โดยเฉพาะอาหารของผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุและเป็นโรคที่ต้องอาศัยอาหารเฉพาะโรคในการรักษาร่วมด้วย เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ที่ต้องการอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการทีครบถ้วน และเพียงพอ การตั้งโรงครัวชั่วคราวที่ทำให้การจัดการมีความยุ่งยากมากขึ้นทั้งเรื่องการหาสถานที่ เครื่องครัว การจ่ายของสดของแห้ง เป็นต้น ในภาวะเช่นนี้ผู้บริหารต้องทำให้เรื่องดังกล่าวนี้ให้ง่าย โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และเป็นภารกิจขององค์กรอื่นที่ทำด้านนี้อยู่แล้ว(ในขณะเกิดภัยพิบัติ) เช่น มูลนิธิ สมาคม วัดต่างๆ ที่ตั้งใจมาช่วย โรงพยาบาลจะต้องส่งโภชนากรประสานการบริการเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย สถานที่อาจจะใช้พื้นที่อื่นๆก็ได้ แต่ให้สามารถจัดส่งได้ตามเวลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท