อุดมศึกษาจะแสดงบทบาทเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรมของประเทศไทยได้อย่างไร


 

          เมื่อวันที่ ๒๐ ก.พ. ๕๕ ธนาคารโลกและ สศช. ร่วมกันจัดการสัมมนาเชิงนโยบาย “Implementing the 11th National Economic and Social Development Plan : Skills and Higher Education for Ideas-Led Growth with Equity in Thailand” ผมได้รับเชิญไปร่วมเป็นเป็นผู้อภิปรายในช่วงก่อนเที่ยง เรื่อง Strengthening the contribution of higher education to Thailand’s competitiveness

          ผมได้เตรียมPptนี้  เพื่อเสนอ มรรค ๘ เพื่อให้อุดมศึกษามีบทบาทต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความเป็นธรรมในสังคมของประเทศ

          แต่ตอนประชุมจริงๆ ผมพูดเป็นคนสุดท้าย ตอนเกือบบ่ายโมง ใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาที   พูดได้ไม่ชัด

          จึงขอนำสิ่งที่ผมต้องการสื่อสารมาบันทึกไว้ที่นี่   เป็นการ ลปรร.

          เป้าหมายที่เราต้องการร่วมกันคือ (๑) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ   (๒) ความเป็นธรรมของสังคมและของระบบการศึกษา    (๓) การศึกษาเพื่ออนาคต ไม่ใช่การศึกษาตามรูปแบบในอดีต  (๔) เพื่อปลดพันธนาการการศึกษาจากความล้มเหลว

          ผมได้เสนอมรรค ๘ ประการเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง ๔ นั้น   ตามที่ระบุในสไลด์ที่ ๓ ของ Ppt

          มรรคที่ ๑ กำหนดเป้าหมายและวิธีการบรรลุเป้าหมายให้ถูกต้อง    คือต้องเป็นการศึกษาที่ beyond knowledge สู่ทักษะ ที่เป็นทักษะเชิงซ้อนเรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑และตีความทักษะให้ลึกและเชื่อมโยงกว่าที่พูดกัน   คือไม่ใช่เพียงทักษะในการทำงานเท่านั้น   แต่รวมครอบคลุมทักษะที่เป็นผลการเรียนรู้ทั้ง 3 domain คือ cognitive, affective และ psychomotor และเมื่อเป็นทักษะก็หมายความว่าปฏิบัติได้ และทำได้ช่ำชองถึงขนาดเป็นอัตโนมัติ   ซึ่งจะต้องฝึกฝน หรือเรียนรู้จากการปฏิบัติ (Learning by Doing)   แนวคิดเรื่องทักษะจึงนำไปสู่รูปแบบการเรียนรู้แบบลงมือทำ ที่เรียกว่า PBL (Project-Based Learning) ซึ่งจะต้องเรียนเป็นกลุ่มหรือทีม เพื่อให้เกิด Collaborative หรือ Team Skills ด้วย   การศึกษาแนว 21st Century นี้ต้องเริ่มตั้งแต่ ป. ๑ หรืออนุบาล พื้นฐานทักษะที่ละเอียดอ่อนหลายๆ ด้านจึงจะเข้มแข็งจริง 

          และครูอาจารย์ก็ต้องเรียนรู้แบบ PBL ด้วย   โดย project ของครูเป็นกิจกรรมจริง คือการอำนวยความสะดวกการเรียนรู้ของนักเรียน   ครูอาจารย์ต้องรวมตัวกันเป็น PLC (Professional Learing Community) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติหน้าที่อาจารย์

          มรรคที่ ๒  ทำหน้าที่อย่างบูรณาการ คือทำหน้าที่ ๓ อย่าง (การเรียนรู้ วิจัย บริการ) เป็นหนึ่งเดียว    คือการที่ นศ. รวมกลุ่มกันเรียนแบบ PBL หากโครงการนั้นมาจากการทำงานจริง  ในสถานทำงานจริง ก็จะเป็นการให้บริการ   และหากตั้งคำถามให้คม เก็บข้อมูลให้เป็นระบบน่าเชื่อถือ นำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ ได้ความรู้ใหม่ ที่เป็นความรู้ปฏิบัติ ก็จะเป็นผลงานวิจัยประเภท Implementation Research

          กิจกรรม ๓ อย่างที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียวนี้ สามารถออกแบบให้ร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ (เช่นตัวอย่างโครงการ LLEN)  ก็จะเป็นความเชื่อมโยงหรือบูรณาการสู่การศึกษาระดับพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพของการศึกษาระดับพื้นฐาน

          หากเชื่อมโยงกับภาคชีวิตจริง คือการทำงานหรือประกอบสัมมาชีพ   และเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของโลก ก็จะเป็นบูรณาการที่กว้างขวางมาก

          มรรคที่ ๓  ทุกคน และทุกภาคส่วนเพื่อการศึกษา    เรื่องนี้ระบุใน พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และกฎหมายอื่นด้านการศึกษา ว่าต้องระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ อย่างกว้างขวาง มาใช้พัฒนาการศึกษา    แต่ที่ผ่านมา มีการนิยามความหมายของคำว่า “ทรัพยากร” ในความหมายที่แคบว่าหมายถึงเงินเท่านั้นแต่ผมกลับมองว่าภาคชีวิตจริงมีทรัพยากรที่สำคัญที่จะกระตุ้นแรงบันดาลใจใฝ่เรียนรู้ให้แก่นักเรียนนักศึกษา    ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ทรงพลังคือแรงบันดาลใจ   และทรัพยากรที่จะให้เกิดแรงบันดาลใจคือกิจกรรมในภาคชีวิตจริง

          ในภาคชีวิตจริงมีความรู้ที่เป็น tacit knowledge หรือความรู้ปฏิบัติมากมายสำหรับให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ   โดยทั้ง นศ. และอาจารย์ต้องไม่สวมวิญญาณผู้รู้เข้าไปถ่ายทอดความรู้   แต่ต้องเข้าไปทำงานด้วยความเคารพความรู้ปฏิบัติที่มีอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงาน   สวมวิญญาณร่วมทำงานและร่วม ลปรร.

          โดยนัยนี้ ภาคชีวิตจริงจึงสามารถให้ empowerment แก่ PLC ของครูอาจารย์ได้ จากมุมของแหล่งความรู้ปฏิบัติ

          มรรคที่ ๔  มุ่งช่วยผู้อ่อนแอ  เพื่อให้ช่วยเหลือตนเองได้   ผู้อ่อนแอหมายถึงสถาบันอุดมศึกษาที่ยังอ่อนแอก็ได้  หมายถึงอาจารย์ที่ยังอ่อนแอก็ได้   ต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีแรงบันดาลใจ  รู้จักตนเอง  วาง positioning ของตนเองเป็น   และดำเนินการพัฒนาตนเอง จากจุดแข็งของตน   ให้มีทักษะของการเรียนรู้  และช่วยให้ feedback เพื่อปรับปรุงตนเอง    แต่ถ้าตนเองไม่ตั้งใจและมานะพยายามพัฒนาตนเอง   หรือพยายามอย่างไรก็ไม่ดีขึ้นเพราะขาดความสามารถ ก็ต้องใช้มรรคที่ ๕

          มรรคที่ ๕  ขจัดผู้ไม่เอาถ่าน   หลังจากส่งเสริม PLC ไประยะหนึ่งยังมีครู/อาจารย์ ที่ไม่พัฒนาตนเอง   ก็งดเว้นการขึ้นเงินเดือน (ต้องแก้ไขกฎระเบียบ)    สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่พัฒนาตนเองอย่างชัดเจน   ขจัดโดยไม่ให้โควต้าเงิน กยศ. เป็นเบื้องต้น ตามมาด้วยมาตรการลงโทษอื่นๆ 

          มรรคที่ ๖  การกำกับดูแลระบบอุดมศึกษา  ใช้หลักการ stewardship ตามที่เสนอโดยธนาคารโลก   โดยการสร้างสารสนเทศเพื่อการสื่อสารสาธารณะ   ให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนกำกับดูแล ตามผลงาน   สารสนเทศได้จากการประเมินผลลัพธ์ในการทำงาน   โดยมีเกณฑ์ประเมินที่หลากหลายตามประเภทหรือจุดเน้นของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา

          ให้มี Accountability Report

          มรรคที่ ๗  ระบบการเงินเพื่อการอุดมศึกษา   ต้องเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง เพราะระบบที่ใช้ในปัจจุบันเป็นระบบอุปถัมภ์หรือระบบเล่นพวก  ที่ผู้บริหารต้องไปวิ่งเต้นที่สำนักงบประมาณ   ไม่ใช่ระบบ merit system

          ควรตั้งคณะทำงานวางระบบใหม่   เพื่อให้เป็นระบบที่ใช้ผลงานเป็นหลัก   และมี competitive grant ด้านการวิจัยและการพัฒนาสถาบัน เพื่อทำงานให้แก่บ้านเมือง   สถาบันที่ผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน ให้ความช่วยเหลือภายใต้เงื่อนไข และเงื่อนเวลา    หากปรับปรุงตนเองได้ไม่เข้าเป้า ลดการสนังสนุน   โดยใช้หลักการสนับสนุนผู้แข็งแรงและทำประโยชน์แก่สังคมสูงสุด 

          ระบบทั้งหมดโปร่งใส   มีผลการวิจัยระบบสนับสนุน

          มรรคที่ ๘  ใช้การประเมินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเริ่มด้วยการพัฒนาขีดความสามารถในการประเมิน ระบบ  สถาบัน  และตัวบุคคล   เน้นที่ formative assessment  (ประเมินเพื่อพัฒนา)   ผลการประเมินต้องนำไปสู่มาตรการเชิงบวก และมาตรการเชิงลบ ตามความเหมาะสม   มาตรการเชิงบวกคือให้การสนับสนุนหรือการช่วยเหลือ   มาตรการเชิงลบคือลดการสนับสนุน

          ผู้พูดใน session ของผม และ session ก่อนหน้า    ระบุชัดเจนว่า การบริหารระบบการศึกษาของไทยล้มเหลว   ผมจึงเสนอมรรค ๘ ที่เน้นปรับปรุงการบริหารเป็นส่วนใหญ่ 

          หากให้คนในระบบการศึกษามานำเสนอเรื่องทำนองนี้   ผมมีข้อสังเกตว่า เราจะได้รับรู้โครงการต่างๆ มากมาย   ทำให้ผมวินิจฉัยโรคทางการศึกษาไทยว่า เป็นโรค “ทำมาก ได้ผลน้อย”   แบบเดียวกับ “สอนมาก เรียนน้อย”   เวลาสอนของครูไทยมากชั่วโมงแต่เมื่อวัดความรู้ของนักเรียนได้ผลเป็นกลุ่มโหล่ในโลก

 

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.พ.๕๕

 

บรรยากาศในห้องประชุม

 

ผู้นำเสนอและผู้วิพากษ์ใน  session ที่ผมร่วมวิพากษ์

 

ผู้นำเสนอและผู้วิพากษ์ใน session ก่อนหน้า เรื่อง Addressing the challenges and opportunities in Thailand’s skills development

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 482021เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2012 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท