สถานศึกษาต้นทุนต่ำ


สถานศึกษาต้นทุนต่ำ

     ประสบการณ์บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๙ทำให้พอจะมองออกถึงทิศทางความน่าจะเป็นในโรงเรียนว่าอะไรคือสาเหตุแห่งปัจจัยปัญหาทั้งปวง

     ทุกวันนี้ นโยบายการปฏิรูปการศึกษา ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของบุคลากรในโรงเรียนขนาดเล็กมาก จึงมีเสียงตอบรับจากหลายโรงเรียน แบบเบื่อหน่าย จะยุบหรือจะควบรวม ก็ทำไปเถอะ และเสียงต่อต้านด้วยเหตุผลว่าเอาอยู่ แบบพึ่งพาตนเองได้

     ปัจจุบันมีการจัดทำแผนบริหารจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น ว่าโรงเรียนขนาดเล็กจะอยู่กันอย่างไร โดยเฉพาะที่มีเด็กไม่ถึง ๖๐ คน หลายพันโรง ที่เอาคุณภาพเป็นเดิมพัน โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ให้ต้นสังกัดจับตาดูผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ผลการทดสอบระดับชาติ และผลการประเมินภายนอกรอบ ๓ ว่าโรงเรียนขนาดเล็กทำได้อย่างที่พูดไว้หรือไม่

     บางประเด็นที่หลายคนไม่รู้ และต้นสังกัดยังไม่ยอมสรุปก็คือ ความตกต่ำของคุณภาพนักเรียนไม่ได้เกิดจากโรงเรียนขนาดเล็กเพียงอย่างเดียว โรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของ สพฐ. ก็มีค่าคะแนนในวิชาหลักไม่ดีไปกว่าโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อเทียบสัดส่วนครูและความพร้อม

     ถ้าจะมองกันให้ลึกซึ้งถึงระดับรากหญ้า โรงเรียนเล็กยังมีคุณค่าต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่บ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมและช่วยเอื้ออาทรต่อความเป็นอยู่ที่ยากจนของผู้ปกครอง

    ในทางกลับกันรัฐยังคงมองอยู่ในจุดเดิมคือไม่คุ้มทุน ที่ต้องจ่ายเงินเดือนครูมากมาย แต่สอนเด็กไม่กี่คน และระยะหลังจะอ้างถึงปฏิสัมพันธ์ของเด็กจะไม่เพียงพอถ้ายังขืนอยู่ในโรงเรียนเล็กๆ โดยลืมนึกถึงขีดความสามารถของผู้ปกครอง

     ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องหันมาใส่ใจและจริงใจกับโรงเรียนขนาดเล็ก และรับฟังให้มาก ถึงแนวทางการบริหารจัดการ และถ้าหากโรงเรียนเล็กอยู่อย่างมีคุณภาพ จะดูแลส่งเสริมสนับสนุนเขาอย่างไร

     ผู้เขียนมีความเชื่อว่าการดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด แก้ปัญหานักเรียนได้รายบุคคล การพัฒนาคุณภาพให้บังเกิดขึ้นเชิงประจักษ์อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โรงเรียนขนาดเล็กจะเป็นสถานศึกษาต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินรายหัวการจัดสรรวัสดุครุภัณฑ์ ที่รัฐไปทุ่มเทให้กับโรงเรียนในฝันและโรงเรียนดีประจำตำบล รุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยไม่ได้ประเมินว่าจริงๆแล้วคุ้มทุนหรือไม่

     สถานศึกษาต้นทุนต่ำแต่มาตรฐานคุณภาพครูและนักเรียนสูงขึ้น เป็นเรื่องที่ท้าทายบุคลากรในโรงเรียนที่ยึดรูปแบบ stand alone ที่ควรมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับการทำงาน และเชื่อว่าอีกไม่นานคงได้คำตอบ...ว่าเราเดินมาถูกทางหรือไม่ หรือเป็นอย่างที่เขาว่าจริงๆ

 

    

หมายเลขบันทึก: 481861เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2012 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ผู้บริหารนโยบาย มักมองประสิทธิผล = ผลตอบแทน/ ต้นทุน

การศึกษา และ การแพทย์ มีส่วนคล้ายกันคือปัญหาการวัดค่ะ

ผลตอบแทนที่เป็นนามธรรมวัดได้ยาก เช่น คุณธรรม, ความผูกพันกับชุมชน

ส่วนต้นทุน ก็ไม่ใคร่มีใครอยากวัด เพราะมองเป็นเรื่องมนุษยธรรม

ขอบตุณ คุณ ป.นะครับ

ข้อเท็จจริง เป็นดั่งที่ คุณ ป.คิดนั่นล่ะ

พอดีพวกเรามาอยู่ในยุคสมัยที่เอาเงินหรือเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง

จึงกลายเป็นธุรกิจการศึกษา ที่อาจพาชาติล่มสลายแบบผ่อนส่ง

คำว่าต้นทุนต่ำ มีนิยามและความหมายในตัวมันเอง

ว่าได้รับการดูแลด้านบุคคลและงบประมาณน้อยอยู่แล้ว

ถ้าทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่วัดได้

รัฐก็ควรปรับเปลี่ยนแนวคิดบ้าง ในทางส่งเสริมความก้าวหน้า

ให้กับโรงเรียนของชุมชน ประทับตราคุณภาพให้เขาบ้าง

ดีกว่าชักนำเข้า ICU อย่างเดียว

  • ผอ สู้ๆๆครับ
  • มีปลัดท่านหนึ่งของเลาขวัญชื่อสถาปนา รู้จักท่านผอ.ด้วยครับ
  • ท่านปลัดทำเรื่องการศึกษาทางเลือก
  • เผื่อเป็นเครือข่ายกันได้ครับ

 

 

 

Ico48

เรียน ผอ.  ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ 


- P'Ple....ไม่เคยจะพบว่า...อะไรก็ตาม....ทำคุณภาพ (ไม่ว่าคุณภาพของรพ. /คุณภาพโรงเรียน/คุณภาพองค์กร......การทำคุณภาพ...ต้องใช้งานค่ะ)


- ของดีม่จำเป็นต้องแพง...แต่...ของแพง.....มักจะดีค่ะ (ค่อนข้างเสมอ)

 

- ทำงานให้เกิดประสิทธฺภาพ   (เกิดหลังประสิทธิผล=outcome) .... ต้องใช้ 4M2T (อย่างน้อย)

   @ Man = มีประสิทธิผล+ประสิทธิภาพ

   @ Money = ไม่มีเงินจะทำอย่างไร ทำอะไรได้+ให้ดีด้วย


   @  Management = ต้องมีการบริหาร+การจัดการที่ดี


   @ Materials/ Method =  เครื่องมือ / วิธีการต่าง...ให้บรรลุเป้าหมาย


   @ Time = เวลา ให้ศึกษา+ตั้งตัวพอสมควร...+....ไม่ใช่สั่งปุ๊บ..เอาปรั๊บ


   @ Technology= จำเป็นมากในยุคIT (เด็กป.1 ก็ต้องรู้แล้ว)

 

----ท่านเป็นผู้บริหาร ... ในยุคใหม่ "คิดได้ + ทำดี" .... แต่ต้องสู้กับสิ่งแวดล้อม(ไม่พ้น 4M2Tอีนั้นแหละ..สิ่งแวดล้อมที่ท่านต้องรับมือนะคะ)......

 

 P'Ple...เอาใจช่วย..นะคะ...รพ. ก็ไม่ต่างจาก โรงเรียน.....งานบริการ...เช่นกันค่ะ

ขอบคุณท่าน Dr.มากๆ เลย

อย่างน้อยก็ช่วยเปิดหูเปิดตา

และทำให้ตาสว่างขึ้น

ผมนำเก็บไว้อ่านทบทวนอีกหลายรอบครับ

มาให้กำลังใจค่ะ สู้ๆๆนะคะ ทำดี ต้องได้ดีค่ะ

อาจารย์เขียนได้ตรงกับกระติกคิดถามว่า....

หากยุบโรงเรียนเล็กๆ แล้วเด็กเหล่านี้จะไปเรียนที่ไหน.......

โรงเรียนเหล่านี้ล้วนเป็นโรงเรียนในชุมชนใกล้ตัว ใกล้บ้าน ใกล้ใจ........

 

การประเมินคืออะไร  ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการประเมิน

เพิ่งได้มาอ่านโพสต์ของท่านผอ.ก็วันนี้เองค่ะ ซึ่งตรงใจและตรงกับความคิดน้องที่เพิ่งมาเป็น ผอ.รร.ขนาดเล็กแค่เพียง 4 ปี คิดมาตลอดว่าจะมีใครสนับสนุนรร.เราบ้างนะ โชคดีที่เราสามารถพัฒนาคุณภาพของเราได้ด้วยตนเอง ทั้งๆที่เราได้รับงบประมาณสนับสนุนน้อยมาก แค่เป็นเพราะเราเป็นรร.ขนาดเล็ก แต่ตรงกันข้ามกันรร.ที่เขาคัดเลือกว่าดีประจำตำบล คุณภาพก็ทำได้ไม่คุ้มทุนที่เขาสนับสนุนกันอย่างเต็มที่ ใช้งบมหาศาล แถมจำนวนนักเรียนก็ลดลงทุกปี…คิดว่าจะทำทางใดได้บ้างนะที่เหล่าบรรดานายๆที่อยู่เบื้องบนจะให้ความสำคัญกับเราบ้าง จะได้ยินสิ่งที่เราคิด เราฝันบ้าง วันนี้เห็นมีการสำรวจรร.stand alone จึงหาข้อมูล และได้พบบทความของท่านผอ.จึงรู้สึกทึ่งและสงสัยว่าเรื่องแบบนี้มีมานานแล้ว ผอ.รร.เล็กๆหลายท่านได้สะท้อนแนวคิดมาตั้งหลายปีแล้ว ทำไมรร.เล็กจึงไม่ได้รับการดูแลด้านต่างๆให้เทียบเคียงรร.อื่นๆ บ้างดั่งที่ท่านผอ.ชยันต์ ได้กล่าวไว้มานานแล้ว…ขอบคุณนะคะที่แนวคิดของท่านผอ.อาจจะเป็นตัวส่งผลทำให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้เริ่มมามองรร.ขนาดเล็กของเราบ้างแล้ว…ถึงแม้นจะเป็นแค่แบบสำรวจเท่านั้นก็ตามค่ะ #ขอบคุณค่ะ#

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท