วิธีสร้างความรู้ที่นอบน้อมและกตัญญูต่อชีวิตการงานของผู้คน


บทเรียนและสิ่งที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติและนำไปใช้ในชีวิตการทำงานได้อย่างเหมาะสมต่อบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งจากเวทีคนหนองบัว ที่สมควรนำมาทบทวนและนำมาแบ่งปันเป็นแรงบันดาลใจให้กันต่อๆไปก็คือ วิธีลงไปเรียนรู้ชุมชน แล้วนำมาสร้างความรู้เพื่อนำมารวบรวมเป็นข้อมูลชุมชนและเขียนบันทึกถ่ายทอดในสื่อออนไลน์ดังเช่น gotoknow โดยวิธีนั่งสัมภาษณ์และสนทนากับคนเก่าแก่ของชุมชน ในโอกาสที่ยืดหยุ่นต่อวิถีชีวิตของชุมชนและลดความเป็นทางการ

ในเวทีคนหนองบัวนั้น ข้อมูลและความรู้ทางด้านต่างๆหลายอย่าง เป็นความรู้และข้อมูลที่ไม่เพียงมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชุมชนชาวหนองบัวเท่านั้น แต่มีคุณค่าต่อสังคมในวงกว้างด้วย ซึ่งชุดความรู้และข้อมูลดังกล่าว ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านได้ใช้วิธีถือโอกาสที่ตนเองเป็นคนหนองบัวและเมื่อได้ไปเยี่ยมญาติโยมหรือมีกิจให้ได้ไปหนองบัว ขอไปพบแล้วนั่งสัมภาษณ์และสนทนากับแหล่งข้อมูลบุคคล เช่น เรื่องราวการก่อตั้งสุขศาลาลาและพัฒนาการทางด้านสาธารณสุขกับระบบบริการสุขภาพของอำเภอหนองบัวนับแต่ยุคแรกเริ่มที่เชื่อมต่อกับยุคปัจจุบันได้อย่างสมบูรรณ์มากขึ้นจากการไปนั่งสนทนากับหมอหนิม หรือนางถนิม อ่วมวงษ์ หมออนามัยคนแรกของหนองบัว การตรวจสอบข้อมูลภาพถ่ายและรวบรวมข้อมูลจากความทรงจำร่วมสมัยของกำนันผล ญาติโยม และคนรุ่นเก่าของหนองบัว ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและพัฒนาการหลายด้านของชุมชนหนองบัวในอดีต เหล่านี้เป็นต้น

การเรียนรู้ชุมชนของตนเองและวิธีสร้างความรู้ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ได้ก่อให้เกิดผลสืบเนื่องหลายอย่างตามมาเป็นทุนต่อทุน เช่น ทำให้เกิดความเชื่อมโยงไปถึงคนรุ่นเก่า ทั้งอดีตนายอำเภอหนองบัวซึ่งมีบทบาทต่อการสวร้างแหล่งน้ำที่เกาะลอยหนองบัวและอีกหลายด้าน หมออรุณซึ่งเป็นหมอฝรั่งที่มาใช้ชีวิตและทำงานเป็นหมอโรงพยาบาลคริสเตียนของหนองบัว ทำให้นอกจากได้ทราบว่าท่านผู้เป็นคนเก่าแก่เหล่านี้ นอกจากยังมีชีวิตอยู่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศแล้ว ก็ยิ่งทำให้ได้เห็นเค้าโครงความเป็นจริงอีกหลายด้านที่คนหนองบัวภูมิใจแต่ไม่เคยรู้ที่มาและรายละเอียดที่ขาดหายอีกหลายด้าน

ขณะเดียวกัน คนเก่าก่อนที่เป็นแหล่งข้อมูล ก็สะท้อนคิดว่ารู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสรำลึกถึงชีวิตการงานและสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับหนองบัวในอดีตที่ร่วมสมัยกับยุคท่าน ข้อมูลและองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับ ก็มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์ความเปลี่ยนแปลงสุขภาวะสังคมของชุมชนหนองบัวอย่างมีความสืบเนื่องกับสิ่งดีงามที่มีอยู่แต่ก่อนเก่าของชุมชน เป็นความรู้และวิธีเรียนรู้ชุมชนที่ทำให้ผู้คนรักถิ่นรฐานพร้อมไปกับเกิดความเคารพผู้คน น้อมตนปฏิบัติเพื่อเชื่อมโยงผูกพันกันและกันด้วยการสร้างความดีงามในชีวิตและการงานให้กัน.

หมายเลขบันทึก: 481640เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2012 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • เมื่อเรียนรู้และเข้าใจ ย่อมเห็นคุณค่า อันที่จริงแต่ละชุมชนบ้านเรา โดยเฉพาะที่เก่าแก่ ล้วนน่าสนใจ แต่การรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่มาที่ไป ให้เป็นระบบอย่างนี้ คงมีน้อย ว่าไปแล้วน่าเสียดายมากนะครับ.. 
  • ขอบคุณความรู้ครับ

เป็นสิ่งที่ผมอยากทำ...และอยากถ่ายทอดเรื่องราวในชุมชนแบบนี้บ้างจังเลยครับอาจารย์

ขอบพระคุณบันทึกที่กระตุ้นความคิดและความอยากทำสิ่งดี ดี ให้กับชุมชนบ้านเกิดของตัวเองมากนะครับอาจารย์

ด้วยความระลึกถึงครับ

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ
ขอเห็นด้วยอย่างแรง และอยากเสริมว่าแง่มุมที่อาจารย์กล่าวถึงนี้เป็นสาระสำคัญที่มีความหมายมากต่อสังคมไทยเลยละครับ การสร้างลูกหลานและคนมีความรู้ของเรา หากไม่สามารถใช้ความรู้กลับไปอ่านและเขียนสังคมของตนเองแล้วละก็ องค์ความรู้มีชีวิตมากมายที่อยู่ในพ่อแม่ปู่ย่าตายายและงวิถีชีวิตของชุมชนที่กำลังเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลานั้น ล่มสลายมลายสิ้นอย่างน่าเสียดายมากมายเลยละครับ บันทึกนี้เลยอยากนำเอาบทเรียนเล็กๆแต่แหลมคมนี้มาถอดบทเรียนไว้ครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
วิธีต่างๆในบันทึกของคุณแสงแห่งความดีนี่ เป็นอย่างนี้อยู่แล้วละครับ
รวมทั้งชีวิต การงาน และการทำงานเพื่อสังคมของคุณแสงแห่งความดี
ก็เป็นความรู้มีชีวิต ที่ต้องมีคนไปอ่านและถ่ายทอดไว้ ที่ดีมากอย่างยิ่งอีกด้วย

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยือนและทักทายเป็นกำลังใจกันครับ อ.นุ อ.ศิลา คุณเอกจตุพร คุณแสงแห่งความดี อาจารย์ธนิตย์

...

เรานอบน้อมต่อชีวิตคือคิดดี
เรายอมพลีต่อพ่อแม่มิแพ้พ่าย
เราศรัทธายินยอมและพร้อมใจ
เป็นคนดีนั้นไซร้ของสังคม

ความง่ายงามของชีวิตเรื่องนิดเดียว
เอาใจเกี่ยวความดีงามตามประสม
ไม่คิดร้ายหมายเลวด้วยอารมณ์
ดั่งน้ำมนต์ปะพรมกลมเกลียวกัน

...

(เรื่องราวของท่านพี่ ยากนักที่แต่งบทกวีสักบทได้ ขออภัยครับ)

งดงามยิ่ง เราจะนอบน้อมและรู้บุญคุณทุกสรรพสิ่งในโลก ขอบคุณเจ้าค่ะ

สวัสดียามเย็นค่ะอาจารย์

เวทีคนหนองบัว...เป็นเทียนส่องทาง

ให้คนสระใครเห็นตัวอย่าง  แง่คิด  องค์ความรู้ที่ควรศึกษา

ตอนนี้  ๑  คน ก่อน...ก็ไม่เป็นไรนะคะ  ค่อยเป็นค่อยไป

ชีวิตช้า  ค่อย ๆ เดิน....งามทั้งเส้นทางและคงถึงจุดหมายสักวัน

ขอบพระคุณมาก ๆ นะคะอาจารย์

 

.................. ฯ

ความง่ายงามของชีวิตเรื่องนิดเดียว
เอาใจเกี่ยวความดีงามตามประสม
ไม่คิดร้ายหมายเลวด้วยอารมณ์
ดั่งน้ำมนต์ปะพรมกลมเกลียวกัน

อาจารย์ Wasawat Deemarn
สะท้อนคิดและสะท้อนความบันดาลใจ

...............

เกลียวกลมผสานผสมเป็นสายธารชีวิต
น้อมครุ่นคิดลิขิตตามความสร้างสรรค์
ถ่ายทอดชีวิตเป็นทุนชีวิตเสริมกันและกัน
'เธอ' และ 'ฉัน' สานความเป็นเรา เป็นสังคม

ต่อความคิด : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

สวัสดีครับคุณ Poo
เป็นวิธีฝึกหัดและอบรมตนเองไปในตัวเหมือนกันนะครับเนี่ย

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
ที่สระใครถิ่นฐานคุณหมอนั้นก็มีทุนประสบการณ์มากเลยนะครับ
แม้นจะค่อยๆเดิน แต่ก็มีบทเรียนที่หยั่งลึกไปบนสุขภาวะในชีวิตของการอยู่อาสัย
ยิ่งได้ถอดบทเรียนมาแบ่งปันกัน ก็เลยต่างได้เป็นแสงเทียนส่องทางให้กัน
เป็นมิตรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันกับคนหนองบัวได้เป็นอย่างดียิ่งเชียวครับ

อ่านบทความนี้ของอาจารย์แล้ว ช่วยเพิ่มความหวังให้กับ "หลุมมืดช่องว่างระหว่างยุคสมัย"

ที่ว่าเป็นหลุมมืดนั้น ก็เพราะคนต่างวัย ต่างยุค ต่างความคิด ต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน และไม่สามารถเปิดใจพูดคุยกัน

ยิ่งปล่อยนานไป หลุมนี้ก็ยิ่งลึกขึ้นทุกทีค่ะ

...

การสัมภาษณ์ผู้มีอาวุโสแบบไม่เป็นทางการ น่าลองไปใช้ในชีวิตตัวเองบ้างค่ะ

  • อาจารย์ครับ
  • สบายดีไหม
  • เข้าใจว่า น่าจะถ่าย Video เรื่องที่ชาวบ้านเล่าไว้จังเลย
  • บางเรื่องนับวันจะสูญหายไปนะครับ

       ยิ่งศึกษาค้นคว้า ด้วยตนเองมากเท่าไร ทำให้เห็นบริบทและความเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ชุมชนมากขึ้นเท่านั้น อย่างกรณีศึกษาเครือข่ายเวทีคนหนองบัวผ่านเว็บบล็อกโกทูโนและจากการลงพื้นที่ปฏิบัติจริง.. เจริญพรขอบพระคุณมากครับโยมอาจารย์..

สวัสดีครับคุณหมอ ป.ครับ

ชอบการเปรียบเทียบช่องว่าทางยุคสมัยของสังคมและช่องว่างระหว่างรุ่นคนทางสังคม ว่าเป็นหลุมมืดอย่างหนึ่งจังเลยครับ ผมเห็นนัยสำคัญของแง่มุมนี้อย่างยิ่งครับ และคิดว่ามีความเป็นหลุมมืด ที่โดยส่วนตัวแล้วก็คิดว่าในฐานะสมาชิกของสังคมและคนไทย ในความหมายที่ไม่ใช่เรื่องของการรักชาติ แต่เป็นเรื่องของการที่จะต้องสร้างสังคมเพื่ออยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้อาศัยและได้โอกาสต่างๆอย่างเดียว หากใครมีความสามารถดูแลตรงไหนได้ ก็จำเป็นต้องเดินเข้าไปสร้างและรักษาสิ่งนั้นไว้ แม้นอกจากจะเป็นหลุมมืดอย่างที่คุณหมอเปรียบเปรยแล้ว เรื่องอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกกระแสนิยมของสังคมที่มุ่งแต่ไหลตามแรงกดดันทางวัตถุ ไม่ทำเงิน ไม่มีราคาเป็นตัวเงิน ซึ่งดูราวกับไม่มีอนาคต ไม่รู้จุดหมาย ไม่รู้ว่าทำแล้วได้อะไร เรียกว่านอกจากรู้ว่าเป็นหลุมมืดแล้ว ก็รู้ว่าหากต้องเดินเข้าไปก็มืดอย่างไร้อนาคตอีกด้วย แต่หลุมมืดอย่างนี้ ก็จำเป็นที่ต้องมีคนทำเพื่อส่งไม้ต่อกันไว้ แม้นเล็กน้อยก็มีความหมายตรงที่ไม่ขาดหาย หากสักวันหนึ่งเมื่อมีความจำเป็น หันมาดูก็ยังได้เห็นและมีสิ่งที่ต้องการสั่งสมไว้เป็นทุนทางสังคม

ขอบคุณข้อสนทนาที่ให้พลังคิดมากอย่างยิ่งครับ และถ้าหากอาจารย์มีโอกาสได้เขียนความรู้แบบนี้บ้างเมื่อมีโอกาสแล้วละก็ มุมมองเรื่องต่างๆของคุณหมอ วิธีเดินเรื่อง วิธีคิดบนงานเขียน จะทำให้เป็นเรื่องที่น่าอ่านและได้ท่องประสบการณ์ต่อสังคมที่ให้หลายอย่างมากทีเดียวครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ
กำลังคิดอยากซื้ออปุกรณ์มาทำสตูดิโอเล็กๆในบ้านอยู่เรื่อยๆเลยครับอาจารย์
ต้องทำครับต้องทำ แต่วิธีอย่างนี้ก็จะทำไปด้วยให้ยิ่งมากๆขึ้นไปอีก
เพราะเป็นวิธีที่ไม่ได้ได้เพียงข้อมูลสารสนเทศ แต่จะทำให้เกิดศักยภาพของสังคม และสร้างศักยภาพการปฏิบัติที่พึ่งตนเองของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน มากขึ้นเรื่อยๆไปด้วย

กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
ขออนุโมทนาที่ท่านได้ทำสิ่งสร้างสรรค์การจรรโลงวัฒนธรรมทางจิตใจแก่สังคมในอีกเงื่อนไขแวดล้อมหนึ่ง และได้ร่วมเป็นกำลังสร้างงานทางปัญญาขึ้นจากแหล่งชุมชนที่ยังขาดโอกาสอีกหลายอย่างที่รอคอยการได้ร่วมลงไม้ลงมือไปตามกำลังของตนได้อีกเยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท