ชีวิตที่พอเพียง : 103. สมัครเป็นผู้อำนวยการ สกว.


         ตอนนั้น ปี ๒๕๓๕ มี พรบ. กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ. ศ. ๒๕๓๕ แล้ว      มีการตั้งสำนักงานชั่วคราวของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแล้ว     แต่ชื่อย่อยังใช้ว่า สกจ. เป็นการลำลองอยู่     และมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี คุณเปรมศรี เกตุวงศ์  เป็นผู้รักษาการชั่วคราว

         ผมมาเรียน วปอ. ซึ่งเรียนครึ่งวัน     ตอนบ่ายกลับไปทำงานที่สำนักงานประสานงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ที่ชั้น ๑๑ ของ อาคารทบวงมหาวิทยาลัย  ถนนศรีอยุธยา      บางวันไปกินข้าวเที่ยงที่โรงอาหารที่ชั้น ๒ ของ ทบวงฯ      พบ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน ปลัดทบวงฯ ก็ถามท่านว่ากองทุนสนับสนุนการวิจัยจะเปิดให้ทุนหรือยัง     โดยไม่เคยคิดฝันเลยว่าตัวเองจะต้องเป็นผู้มาทำหน้าที่นี้

        วันหนึ่งพบ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ น่าจะในการประชุมของศูนย์พันธุ (ศูนย์พันธุวิศวกรรมเและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ)     ผมถามถึงเรื่องนี้     ดร. ยงยุทธ เอ่ยว่า "เขากำลังหาตัวผู้อำนวยการอยู่  คนแบบยูนี่แหละเหมาะ"      ดร. ยงยุทธกับผมเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน  แต่ไม่เคยเรียนด้วยกัน     แต่ก็สนิทสนมกันดี     ดร. ยงยุทธบอกว่าจะไปเสนอ (nominate) ชื่อผมให้     ผมก็รับฟังเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก     ไม่เชื่อว่าตัวเองจะเหมาะ หรือจะมีความสามารถถึงขนาดนั้น

        ต่อมาอีกหลายวัน ดร. ยงยุทธ โทรศัพท์มาหา บอกว่า "ผมเป็นกรรมการสรรหา ผม nominate คุณไม่ได้    ขอให้ยื่นใบสมัครเอง    จะแฟ็กซ์แบบฟอร์มใบสมัครไปให้"     ผมได้แบบฟอร์มแล้วผมก็เก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้คิดจะสมัคร      แต่คล้ายเทวดาดลใจ ผมคิดว่าน่าจะลองสมัครดู  ไม่ลองไม่รู้  ว่าเขาสรรหากันอย่างไร     เคยได้รับการชักชวนให้เป็น candidate ตำแหน่งใหญ่ในทบวงฯ     และปฏิเสธด้วยเจียมตัวว่าไม่เหมาะ     แต่นี่เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการ เขาสรรหาคนมาทำงานอย่างไร น่าสนใจ น่าลองดู     ถือเป็นการเรียนรู้

         ในวันสุดท้ายของกำหนดรับสมัคร ผมก็ส่งใบสมัคร พร้อมแนบประวัติ หนา ๓๐ หน้า    ไม่น่าเชื่อนะครับว่าผมจะมีประวัติหนาถึง ๓๐ หน้า  แต่เป็นความจริง      ผมรวบรวมไว้อย่างละเอียด โดยเขียนด้วยมือ     พอมีคอมพิวเตอร์ ผมก็ให้เลขาช่วยพิมพ์ แล้วผมเอาเก็บไว้ใน โน้ตบุค ยี่ห้อซัมซุง หนักเกือบ ๔ กิโล ที่ผมแบกไปมาระหว่างกรุงเทพกับหาดใหญ่     พอจะสมัครงานก็เอาใส่ diskette ให้เจ้าหน้าที่ช่วยพิมพ์ด้วย printer     ปรากฎว่ามีคนพิมพ์เป็นอยู่คนเดียว  ผมยังนึกขอบคุณเธออยู่จนบัดนี้     และขอบคุณตัวเองด้วยที่เก็บรวบรวมประวัติการทำงาน และผลงานของตัวเองไว้อย่างละเอียด

        เข้าใจว่า ประวัติของผมคงเข้าตากรรมการ     จึงเรียกตัวผมไปสัมภาษณ์    โดยมีผู้เข้าสัมภาษณ์ ๔ คน     วันสัมภาษณ์ตรงกับช่วงที่ วปอ. มี ทริปไปดูงานภาคอีสานและเลยไปลาว      ผมต้องนั่งเครื่องบิน (การบินไทย) จากเลย - พิษณุโลก - กรุงเทพ ในตอนเช้า     เพื่อเข้าสัมภาษณ์ในช่วงบ่าย     แล้วรีบกลับไปดอนเมืองจับเครื่องบินไปขอนแก่น     และขอรถของ มข. (ตอนนั้น ศ. นพ. วันชัย วัฒนศัพท์ เป็นอธิการบดี) ไปส่งที่อุดร     เพื่อสมทบกับคณะ วปอ. ไปเวียงจันทน์ในวันรุ่งขึ้น

        ตอนไปรอสัมภาษณ์ ผมไม่รู้ว่ามีใครบ้างที่ได้รับเชิญมาสัมภาษณ์     ผมไปถึงก็พบผู้มาสัมภาษณ์คนที่ ๒ รออยู่     ผมเป็นคนที่ ๓     ถามท่านที่สองว่าใครกำลังเข้าไปรับการสัมภาษณ์อยู่ในห้อง     ระหว่างนั้นได้ยินเสียงหัวเราะดังมาจากในห้องสัมภาษณ์เป็นระยะๆ     พอรู้ชื่อ candidate ท่านนั้นผมก็รู้แล้วว่าเขาได้ตัวผู้อำนวยการกองทุนฯ แล้ว

        ผมบอก candidate เบอร์ ๒ ว่าผมจะต้องรีบไปขึ้นเครื่องบิน     ผมขอเข้าเป็นลำดับที่ ๒ ได้ไหม     ท่านใจดีมากตกลงให้ผมเข้าก่อน      สาระสำคัญของการสัมภาษณ์ก็เป็นการถามประสบการณ์ที่มี    ถามว่าถ้ามาเป็น ผอ. สำนักงานกองทุนฯ จะจัดองค์กรอย่างไร      มีแนวทางการบริหารงานอย่างไร     ตอนหนึ่งท่านปลัดเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ) ถามว่า     "คุณหมอมีแนวทางหาเงินทุนวิจัยจากต่างประเทศอย่างไรบ้าง"      ผมตอบโพล่งไปว่า "หาไม่ได้ครับ"     "ทำไมหาไม่ได้ล่ะ คุณหมอ" ท่านถามต่อ     "ถ้าหาได้ก็ไม่ต้องตั้งหน่วยงานนี้ครับ"     "ที่เราต้องมีสำนักงานกองทุนฯ ก็เพราะต่างประเทศเขาเลิกให้ทุนช่วยเหลือเราแล้วครับ    เขาไม่มองว่าเราเป็นประเทศยากจนที่เขาต้องช่วยเหลืออีกต่อไปแล้ว     เขามองเราเป็นคู่แข่งด้วยซ้ำ     ดังนั้นจึงต้องไม่มุ่งหวังขอทุนช่วยเหลือจากเขา     ทางที่จะได้ทุนวิจัยจากต่างประเทศมีทางเดียวคือเป็นโครงการร่วมมือกัน"

         ผมไม่เคยถามกรรมการคัดเลือกคนใดคนหนึ่ง ว่าทำไมเขาเลือกผม     ทำไมเขาไม่เลือกคนที่เก่งกว่าผมมาก     แต่ผมทราบภายหลังจากการปะติดปะต่อ ว่ากรรมการเขาพิถีพิถันในการตรวจสอบคุณสมบัติหลายด้าน    และด้านหนึ่งที่เขาเที่ยวถามมากคือด้านความซื่อสัตย์สุจริตและ integrity     เพราะตำแหน่งนี้ต้องดูแลเงินเป็นหมื่นล้าน     และต้องดูแลระบบที่คล่องตัวด้วย    คล่องตัวมากๆ ก็โกงง่ายนะครับ     เอาเป็นว่าผมเดาว่าผมได้คะแนนรวมสูงสุด แม้คะแนนความเก่งด้านการจัดการงานวิจัยของผมจะไม่สูงที่สุด (เดาเอาครับ)     ศ. นพ. ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี เล่าในภายหลังว่าท่านได้รับโทรศัพท์สอบถามเรื่องผมด้วย      ผมสรุปกับตัวเองว่า คำที่ผมท่อง "สุจริตคือเกราะบัง  ศาสตร์พ้อง"  (ซึ่งผมน้อยใจอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมผมไม่ค่อยได้รับคุณประโยชน์จากเกราะนี้เลย) ก็เริ่มให้คุณแก่ผมบ้างแล้ว

         มาถึง พศ. ๒๕๔๙ การบำเพ็ญสุจริต ซื่อสัตย์ ให้คุณแก่ชีวิตผมมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ     อ่านเรื่อง "ชีวิตที่พอเพียง" ไปเรื่อยๆ จะยิ่งเห็นคุณของการสะสมทุนสังคม  ทุนความเชื่อถือจากสังคม  ที่สั่งสมอย่างอดทน ในระยะยาว

วิจารณ์ พานิช
๒๓ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 48092เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2006 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท