กินยาลดกรดนานเพิ่มเสี่ยงกระดูกโปร่งบาง(พรุน)


สำนักข่าว BBC ตีพิมพ์เรื่อง Ulcer drugs 'link to fractures' = "ยาลดกรด (ulcer = แผล; drugs = ยา; รวม = ยาแก้แผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้เล็ก) เพิ่มเสี่ยง (link to = มีความสัมพันธ์กับ เชื่อมโยงกับ) กระดูกโปร่งบาง/กระดูกพรุน", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
.
การศึกษาใหม่ (ตีพิมพ์ใน Br Med J) พบว่า ผู้หญิงที่กินยาลดกรดนานๆ เพิ่มเสี่ยงกระดูกต้นขาท่อนบน หรือกระดูกสะโพกหัก (hip fracture) เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะถ้าสูบบุหรี่จะเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก
.
ยาลดกรดกลุ่มที่เพิ่มเสี่ยงกระดูกโปร่งบาง-กระดูกพรุน ซึ่งจะหักได้ง่ายเมื่อได้รับแรงกระแทก เช่น หกล้ม ฯลฯ เป็นยากลุ่มยับยั้งการสร้างกรด (proton pump inhibitors / PPIs) หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า 'PPIs'
.
ยาลดกรดกลุ่ม PPis (เติม 's' เนื่องจากมีหลายชนิด) ใช้ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน (GERD) และแผลกระเพาะอาหาร-ลำไส้เล็กได้ดี
.
สมัยก่อนมีคนไข้กระเพาะอาหารทะลุบ่อย หลังจากมียาลดกรดเป็นเม็ดรุ่นใหม่พบว่า คนไข้กระเพาะฯ ทะลุลดลงไปมาก
.
การศึกษาทำในพยาบาล อายุ 30-55 ปี เกือบ 80,000 ท่านพบว่า คนที่กินยาลดกรดกลุ่ม PPIs นานๆ เพิ่มเสี่ยงกระดูกสะโพก หรือกระดูกต้นขาท่อนบนหัก (hip fractures) 50%
.
โอกาสที่เพิ่มขึ้นหลังกินยา PPIs นานเป็นปีๆ = 5:10,000/ปี = ถ้ามีผู้หญิง 10,000 คน จะพบเสี่ยงกระดูกสะโพก หรือต้นขาท่อนบนหักเพิ่มขึ้น 5 ราย/ปี
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้ยา PPIs ระยะสั้น = 1-2 เดือน หลังจากนั้นควรหยุดใช้ หรือใช้ขนาดต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรสูบบุหรี่ และไม่หายใจเอาควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบเข้าไป เนื่องจากจะเพิ่มเสี่ยงมากขึ้น
.
โรคกระดูกต้นขาท่อนบน หรือสะโพกหักในคนสูงอายุ มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 20% หรือถ้าหัก 5 คน จะพบตาย 1 ราย โดยเฉพาะถ้านอนนานและมีโรคแทรก เช่น ปอดบวม กรวยไตติดเชื้อ หลอดเลือดดำขาอุดตัน ฯลฯ
.
วิธีป้องกันกระดูกต้นขาท่อนบนหักที่สำคัญได้แก่
.
(1). กินอาหารสุขภาพตั้งแต่เด็ก เน้นให้มีแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฯลฯ โดยกินนมไขมันต่ำ ถั่ว ผักใบเขียว (แคลเซียมในตำลึง ถั่วพู ดูดซึมได้ดีมาก ใกล้เคียงกับนม), ตั้งแต่ก่อนอายุ 20-25 ปี สะสมไว้คล้ายธนาคารกระดูก
.
(2). ลดอาหารที่ทำให้เสียแคลเซียม เช่น น้ำอัดลม ฯลฯ
.
(3). ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนสะโพก-ต้นขาด้านหน้า, วิธีที่ดี คือ หาโอกาสขึ้นลงบันได 4 นาที/วัน หรือนั่งเก้าอี้สลับลุกขึ้นยืน 10 ครั้ง/เซ็ต, ทำซ้ำ 3 เซ็ต
.
การออกกำลังหลายๆ แบบจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เกิดแรงตึงไปดึงกระดูก (กล้ามเนื้อจะมีแรงดึงต่ำในระยะพัก และมากขึ้นในระยะหดตัว-ทำงาน) ทำให้กระดูกแข็งแรงไปด้วย
.
การออกกำลังส่วนใหญ่มีแรงกดจากแรงดึงดูดโลก ไปกระแทกกระดูกเบาๆ ทำให้กระดูกแข็งแรงขึ้น เช่น วิ่ง เดิน กระโดดเชือก ฯลฯ (การออกกำลังที่ไม่มีแรงกดแบบนี้ คือ จักรยาน ว่ายน้ำ)
.
(4). ฝึกการทรงตัว เพื่อลดโอกาสหกล้ม เช่น ไทชิ-ชี่กง มวยจีน โยคะ เต้นรำ ฯลฯ, แม้กระดูกจะโปร่งบาง แต่ถ้าไม่หกล้ม... โอกาสกระดูกหักจะลดลงมาก
.
(5). หาโอกาสรับแสงแดดอ่อน 15-20 นาที/วัน โดยเฉพาะการออกกำลังกลางแจ้งในชุดกางเกงขาสั้น-เสื้อแขนสั้น-ไม่ทายากันแดด เพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามิน D
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 1 กพ.55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 480891เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2012 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท