ผอม(เกิน)ไป-ไม่ดีกับสุขภาพ [EN]


สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์เรื่อง 'Hunger hormone' could help chemo patients: study = "ฮอร์โมน(กระตุ้น)หิว" ช่วยคนไข้เคมี(เคมีบำบัด ส่วนใหญ่ใช้รักษามะเร็ง): (งานวิจัย), ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
  • [ chemo ] > [ คี้ - โหม่ ] แบบอเมริกัน หรือ [ เค้ - โหม่ ] แบบอังกฤษ> http://www.thefreedictionary.com/chemo > noun = เคมี ชื่อย่อของเคมีบำบัด

คำ "คี้ - โหม่" ออกเสียงคล้ายคำ "ขี้โม้" ในภาษาปักษ์ใต้ ยาเคมีบำบัดส่วนใหญ่ไม่ใช่ยาขี้โม้ เพราะมีงานศึกษาวิจัยรับรอง

  • [ chemotherapy ] > [ คี้ - โม - เต้อะ - รา - ปี่ ] แบบอเมริกัน หรือ [ เค - โม - เต้อะ - รา - ปี่ ] > http://www.thefreedictionary.com/chemotherapy > noun = เคมีบำบัด = ยาฉีด ยากิน ยาทา ส่วนใหญ่ใช้รักษามะเร็ง, นิยมให้เป็นชุดๆ เพื่อให้เซลล์ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมความเสียหาย และรอดตายสูงกว่าเซลล์มะเร็ง
ขอให้สังเกตว่า 'th' (ใน chemotherapy) ออกเสียงคล้าย "ฏ" บาลี หรือ "ต" ไทยเสียงหนักๆ ไม่ใช่ "ธ"
.
ภาษาอังกฤษ - คลิกที่ลิ้งค์เพื่อฟังเสียงเจ้าของภาษา; แถบแต้มสี = ให้ย้ำเสียงหนัก (accent) ซึ่งส่วนใหญ่คำนานเน้นพยางค์หน้า, กริยาเน้นพยางค์หลัง
.
การศึกษาใหม่จากญี่ปุ่นพบว่า ฮอร์โมนกระตุ้นความหิว (hunger hormone) ที่ชื่อ "เกรล-อิน (ghrelin)" อาจช่วยคนไข้มะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดให้กินข้าวได้มากขึ้น
.
เกรลอินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากลำไส้ (gut) เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร (appetite) ทำให้กินได้มากขึ้น
.
ปัญหาที่พบบ่อยในคนไข้มะเร็ง คือ เบื่ออาหาร ซึ่งอาจเป็นมากขึ้นหลังได้รับเคมีบำบัด หรือฉายแสง
.
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนอ้วนอาจมีระดับฮอร์โมนหิว (เกรลอิน) หรือสมองตอบสนอง (ไว) ต่อฮอร์โมนหิวมากกว่าประชากรทั่วไป ทำให้กินบ่อยขึ้น มากขึ้น เร็วขึ้น หรือนานขึ้น
.
การศึกษาที่มาแรงอย่างหนึ่ง คือ ความพยายามผลิตวัคซีนต้านโรคอ้วน โดยสร้างภูมิต้านทานต่อฮอร์โมนหิว ทว่า... การศึกษายังไม่สำเร็จ และไม่รู้ว่า ถ้าไม่อยากอาหารเลย หรือความอยากอาหารต่ำลงมากหลังได้รับวัคซีนจะเป็นอย่างไร
.
เช่น คนที่เบื่ออาหาร หรือมีความอยากอาหารต่ำมากหลายๆ คน กินอาหารน้อยมาก หรือกินนานๆ ครั้ง จนผอมลงไปเรื่อยๆ... ที่ผอมจนตายไปเลย หรือผอมจนมีโรคแทรก เช่น แผลกดทับ ปอดบวม กรวยไตอักเสบติดเชื้อ ติดวัณโรค ฯลฯ ก็มี
ยารักษามะเร็งไฮเทคสุดหรูชนิดหนึ่ง คือ ซิสพลาทิน (cisplatinum) ค้นพบจากการสังเกตว่า สารละลายทองคำขาวรอบๆ ขั้วไฟฟ้าที่จุ่มไปในวุ้นเพาะเชื้อ "อี. โคลาย (E. coli)" มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียได้ [ wikipedia ]
.
ต่อมามีการพัฒนายาจากทองคำขาวเป็นยาเคมีบำบัด ซึ่งชื่อการค้าที่รู้จักกันดี คือ ซิสพลาทิน (cisplatin) เปรียบคล้ายการฉีดทองคำขาวเข้าไปช่วยรักษาโรค นับเป็นอะไรที่สุดหรูอย่างหนึ่งของชีวิต
.
ซิสพลาทินออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อมะเร็งได้ดี ทว่า... ทำให้เกิดอาการข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ความอยากอาหารลดลงได้บ่อย เนื่องจากยานี้ทำให้ระดับฮอร์โมนหิว (เกรลอิน) ลดลง
.
การศึกษาใหม่ ทำในคนไข้มะเร็งหลอดอาหารที่ลุกลามไปมากแล้ว (advanced cancer) ที่ได้รับยาซิสพลาทิน 41 ราย สุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
.
กลุ่มหนึ่งให้เกรลอินหยดเข้าหลอดเลือดดำ อีกกลุ่มหนึ่งให้น้ำเกลือหยดเข้าหลอดเลือดดำ
.
ผลการศึกษาพบว่า คนไข้กลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนหิว (เกรลอิน) มีความอยากอาหารมากขึ้น กินอาหารคิดเป็นหน่วยกำลังงาน หรือแคลอรีได้เพิ่มขึ้น 50%
คนไข้กลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือมีอาการคลื่นไส้ (nausea) เกิน 1/2, มากกว่ากลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนหิว ซึ่งคลื่นไส้ 1/6 ของทั้งหมด
.
ยังไม่ทราบแน่ว่า ฮอร์โมนหิวช่วยลดความรู้สึกคลื่นไส้ได้หรือไม่ ทว่า... กลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือน่าจะคลื่นไส้จากฤทธิ์ยาหลอก (placebo)
.
เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไข้เคมีบำบัดหลายๆ รายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนทันทีที่เดินเข้ามาในรั้วโรงพยาบาล บางรายคลื่นไส้เมื่อเห็นขวดน้ำเกลือ เนื่องจากประสบการณ์คลื่นไส้-อาเจียนหลังได้รับยาครั้งก่อนๆ ตามมาหลอกหลอน (ในใจ)
.
มีการใช้ยาคลายเครียดที่มีฤทธิ์ช่วยให้ "ลืม" เรื่องร้ายๆ เพื่อให้ความรู้สึกหลอกหลอนแบบนี้ลดลง
.
อ.ดร.ยูอิชิโระ ฮิอูระ และคณะ จากมหาวิทยาลัยโอซากะ ญี่ปุ่น กล่าวว่า คนไข้ที่ได้รับยามีอาการคลื่นไส้-อาเจียนทุกรายตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกของการรักษา
.
การรักษาเคมีบำบัดแบบเข้มข้น (intensive chemotherapy) นิยมใช้ยาหลายชนิดร่วมกับซิสพลาทิน เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งที่ลุกลามไปมากแล้ว (advanced-stage cancer)
 
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า คนที่อ้วนหรือผอมมากๆ มีแนวโน้มจะมีอายุสั้นกว่าคนที่มีรูปร่างปานกลาง
.
คนที่อ้วนมากๆ เพิ่มเสี่ยงความดันเลือดสูง เบาหวาน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต และมะเร็งหลายชนิด (เช่น มะเร็งเต้านม ฯลฯ)
.
การป่วยหนักหรือนาน เช่น อุบัติเหตุหนัก เป็นวัณโรค เป็นมะเร็ง ฯลฯ ทำให้คนผอมเสียมวลกล้ามเนื้อได้มาก
.
ความผอมมากๆ หรือภาวะขาดอาหาร ทำให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานเชื้อโรค (antibody) ได้น้อยลง ภูมิต้านทานตกลง เป็นโรคแทรก เช่น ปอดบวม กรวยไตอักเสบติดเชื้อ ฯลฯ ได้ง่าย
.
มวลกล้ามเนื้อเป็นแหล่งพลังงานสำรองสำคัญ ทั้งเวลาป่วยหนักและป่วยนาน คนที่ใส่ใจสุขภาพควรสร้างเสริมมวลกล้ามเนื้อสำรองไว้ ไม่ให้ลดลงตามอายุ (มวลกล้ามเนื้อเริ่มลดตั้งแต่หลังอายุ 18-20 ปี)
.
วิธีเพิ่มมวลกล้ามเนื้อที่ดี คือ เดินขึ้นลงบันได เล่นเวท ยกน้ำหนัก กายบริหารบางอย่าง เช่น พิลาทิส บริหารกล้ามเนื้อโครงสร้าง ฯลฯ
 
การเดินขึ้นลงบันได 4 นาที/วัน ช่วยเสริมมวลกล้ามเนื้อจากเอวถึงขาท่อนล่างได้ดี และถ้าจะให้ดีขึ้นอีก... ควรเดินต่อให้เหนื่อยน้อยลง และกินอาหารที่มีโปรตีน-คาร์โบไฮเดรตหลังออกแรง-ออกกำลังภายใน 30 นาที เช่น นมไขมันต่ำ นมถั่วเหลือง ฯลฯ
.
หลังออกแรง-ออกกำลังใหม่ๆ กล้ามเนื้อจะดูดซับน้ำตาล โปรตีนได้มากขึ้น 1/2-17 ชั่วโมง ช่วยป้องกันเบาหวาน ไขมันในเลือด(โคเลสเตอรอล)สูง
.
การออกกำลังเพื่อสุขภาพที่คนส่วนใหญ่ควรทำ คือ เดินสะสมเวลาให้ได้ 40 นาที/วัน (ถ้าเดินเร็ว 30 นาที/วันพอ, ถ้าวิ่ง 20 นาที/วันพอ), และ ขึ้นลงบันได 4 นาที/วัน
 
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ] & ติดตามบล็อกของเราได้ที่นี่ > [ บ้านหมอ ]

  • Thank Reuters > SOURCE: bit.ly/wB771x Cancer, online January 26, 2012.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 12 กพ.55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 480887เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2012 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท