ประวัติที่มาโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด


โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเนื่องด้วยกระทรวงศึกษาธิการ เกิดขึ้นจากนโยบายเปิดโรงเรียนอนุบาลขึ้นในจังหวัดต่างๆ ภายหลังการก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศในปี พ.ศ. 2483

ประวัติที่มาโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด

ประวัติโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเรียบเรียงจากข้อเขียน ดร.ธำรงค์ น่วมศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ ได้เรียบเรียงไว้ในความเป็นมาของการจัดการเรียนรู้ระดับอนุบาลศึกษาและที่มาของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด

ปี พ.ศ. 2482 กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของรัฐเต็มรูปแบบขึ้น เพราะก่อนหน้านี้การอนุบาลศึกษาของไทยมีโรงเรียนที่จัดสอนชั้นอนุบาลเป็นโรงเรียนเอกชน 2 แห่ง คือ โรงเรียนมาแตร์เดอี และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โดยมีการประกาศรับสมัครผู้สนใจเพื่อสอบชิงทุนไปศึกษาและดูงานด้านการอนุบาลที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 เดือน ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก คือ นางจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา (คุฯหญิงจิตรา ทองแถม ณ อยุธยา) เมื่อกลับจากการศึกษาและดูงาน ได้จัดตั้งโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ในบริเวณโรงเรียนการเรือนพระนคร (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2483 ซึ่งถือเป็นโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของกระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเปิดโรงเรียนอนุบาลขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ ให้ครบทุกจังหวัด ในปี พ.ศ. 2486 จึงมอบหมายให้นางสาวเบญจา ตุงคะสิริ (คุณหญิงเบญจา แสงมะลิ) ซึ่งได้รับทุนไปศึกษาด้านอนุบาลศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกฝึกหัดครูอนุบาล ซึ่งนางสาวเบญจา ตุงคะสิริ (คุณหญิงเบญจา แสงมะลิ) ถือเป็นหนึ่งในสี่ของผู้ได้รับทุนไปศึกษาด้านการอนุบาลศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นรุ่นแรก อีกสามคน คือ นางสาวสมถวิล สวนสำอาง นางสาวสวัสวดี วรรณโกวิท และนางสาวเอื้อนทิพย์ เปรมโยธิน

ปี พ.ศ. 2484 ได้เปิดแผนกฝึกหัดครู โดยรับนักเรียนฝึกหัดครูเข้าศึกษาวิชาอนุบาล หลักสูตร 1 ปี

โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดทั้งสิ้น 80 โรงเรียน (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ยังไม่รวมจังหวัดบึงกาฬ) โดยแต่ละจังหวัดจะมีโรงเรียนอนุบาลจังหวัดละ 1 โรงเรียน ยกเว้นกรุงเทพมหานครมี 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง โรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ และโรงเรียนอนุบาลสามเสน และจังหวัดพิจิตรมี 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนอนุบาลพิจิตร และโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก"ราษฎร์อุทิศ" (ซึ่งเป็นบ้านเกิดคุณหญิงเบญจา แสงมะลิ)

ต่อมาในเดือนกันยายน 2555 ได้มีการประกาศรายชื่อโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเพิ่มอีก 1 จังหวัด คือ โรงเรียนอนุบาลบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ จึงทำให้มีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด 81 โรงเรียน (ตามประกาศ สพฐ. ลงวันที่ 13 กันยายน 2555 เรื่องรายชื่อโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด)

นอกจากนี้ยังมีชื่อโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดที่มีชื่อโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้ชื่อจังหวัดเพียงอย่างเดียว คือ โรงเรียนราชานุบาล (โรงเรียนนอนุบาลประจำจังหวัดน่าน ชื่อโรงเรียนได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ที่ รล/0741 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2507) โรงเรียนอนุบาลเมืองอุทัยธานี (โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดอุทัยธานี) โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา) โรงเรียนอนุบาลวัดพิชัยสงคราม (โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสมุทรปราการ) โรงเรียนอนุบาลวัดอ่างทอง (โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดอ่างทอง) โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช ณ นครอุทิศ (โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช) และโรงเรียนอนุบาลลำปาง(เขลางค์รัตน์อนุสรณ์) (โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดลำปาง)

ตราสัญลักษณ์โรงเรียนอนุบาลเป็นรูปอักษร อ สามเหลี่ยม มีดอกบัวอยู่กลางอักษร

โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดมีการตั้งเป็นสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดแห่งประเทศ โดยมี ดร.สำเริง กุจิรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครปฐม เป็นนายกสมาคมคนแรก ปัจจุบันมี ดร.ธำรงค์ น่วมศิริ เป็นนายกสมาคมฯ

ต่อมามีการแต่งตั้งโรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่อีกจำนวน 183 เขตพื้นที่ 183 โรงเรียน ดูได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/502563

หมายเลขบันทึก: 479330เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2012 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2016 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โรงเรียนอนุพิจิตรมากแต่ขยะเยอะไปหน่อย

ดีจังได้รู้ประวัติโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท